PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ไม่ควรสงสัยว่าผู้ใดอยู่เบื้องหลัง 14 นักศึกษา โดย สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

(ที่มา:มติชนรายวัน 6 ก.ค.2558)
http://www.matichon.co.th/online/2015/07/14361632831436167105l.jpg

ผู้ที่ศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้นต้องยอมรับว่าเป็นผู้มีมันสมองรู้จักใช้ความคิดของตนเอง และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดมาชี้นำ โดยให้เขากระทำในเรื่องที่เขาเหล่านั้นไม่เห็นด้วย หรือเห็นว่าสิ่งที่ชี้นำนั้นไม่ถูกต้อง 


ดังนั้นสิ่งที่ควรต้องสงสัยจึงมิใช่เรื่องที่มีผู้อยู่เบื้องหลัง14 นักศึกษาหรือไม่ แต่ที่สมควรทำเป็นอย่างยิ่งก็คือพิจารณาว่าการแสดงออกตามความคิดของนักศึกษาเหล่านั้นถูกต้องหรือผิดในความคิดของวิญญูชนโดยทั่วไปทั้งประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศ

การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาแม้จะเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่นักศึกษาเหล่านั้นก็เป็นปัญญาชนและมิได้ใช้ความรุนแรงให้เป็นที่เดือดร้อนแก่ผู้อื่น เช่น ปิดถนน ปิดสถานที่ราชการ ปิดสนามบิน เป็นต้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะเข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 หรือ 116

เหตุการณ์จับกุมนักศึกษาในข้อหาตามมาตรา 113 และมาตรา 116 นี้ เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาแล้ว เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งในเวลาดังกล่าวมีสาเหตุจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนชุมนุมประท้วงรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร มีประชาชนกรูเข้าไปในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โดยมีมหาดเล็กเป็นคนเปิดให้เข้าไป 

ในที่สุดจอมพลถนอม กิตติขจร ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสทางวิทยุและโทรทัศน์แก่ประชาชนชาวไทย โดยทรงเรียกวันดังกล่าวว่า "วันมหาวิปโยค" เพราะเกิดการปะทะกันทำให้คนไทยต้องเสียชีวิตจำนวนมาก

ปรากฏในพระราชดำรัสว่า "วันนี้เป็นวันมหาวิปโยคที่น่าเศร้าสลดอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ตลอดระยะเวลา 6-7 วันที่ผ่านมาได้มีการเรียกร้องและเจรจากันจนกระทั่งนักศึกษาและรัฐบาลทำข้อตกลงกันได้ แต่แล้วมีการขว้างระเบิดขวดและยิงแก๊สน้ำตาขึ้น ทำให้เกิดการปะทะกันและมีคนได้รับบาดเจ็บหลายคน ความรุนแรงได้ทวีขึ้นทั้งพระนครถึงขั้นจลาจลและยังไม่สิ้นสุด มีคนไทยด้วยกันต้องเสียชีวิตนับร้อย ขอให้ทุกฝ่ายทุกคนจงระงับเหตุแห่งความรุนแรงด้วยการตั้งสติยับยั้งเพื่อให้ชาติบ้านเมืองคืนสู่สภาพปกติเร็วที่สุด.............."

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นน่าจะเป็นประวัติศาสตร์ที่ชาวไทยทุกคนจดจำได้และไม่ประสงค์ให้เกิดขึ้นอีกโดยนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นหลักในการแก้ปัญหาในการชุมนุมของ 14 นักศึกษาครั้งนี้คือ "ทุกคนจงระงับเหตุแห่งความรุนแรงด้วยการตั้งสติยับยั้ง"

กล่าวคือ ผู้มีอำนาจไม่ควรจะไปสืบค้นหาตัวผู้อยู่เบื้องหลังนักศึกษา ซึ่งอาจจะเป็นการจุดไฟก่อเหตุรุนแรงขึ้น แทนที่จะเป็นการระงับเหตุด้วยสติดังพระราชดำรัส

ผู้เขียนมีข้อสังเกตเรื่องสงสัยว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังการแสดงออกของนักศึกษาครั้งนี้ดังต่อไปนี้

1.ความคิดดังกล่าวนี้เหมือนความคิดของบุคคลบางส่วนที่ว่าประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ขายเสียงเมื่อมีการเลือกตั้ง แล้วผู้กล่าวหาหรือฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาแพ้การเลือกตั้ง ความคิดดังกล่าวนอกจากจะเป็นความคิดที่ไร้ประโยชน์แล้วยังเข้าตำราที่ว่า "รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง"

2.หากการแสดงออกของนักศึกษาถูกต้องเพียงแต่ไม่เหมาะกับสถานการณ์ ผู้มีอำนาจก็ควรใช้วิธีการทำความเข้าใจกับนักศึกษาในลักษณะผู้ใหญ่ตักเตือนเด็ก มิใช่ดำเนินการตามกฎหมายเหมือนดังนักศึกษาเหล่านั้นเป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งไม่มีอะไรดีขึ้น กลับจะทำให้สถานการณ์ลุกลามเป็นภัยร้ายแรงต่อไปอีกก็เป็นได้

3.การที่ผู้มีอำนาจให้ความเมตตาและเข้าใจนักศึกษาไม่คิดแต่จะใช้อำนาจและมองเขาในแง่ร้ายว่าพฤติการณ์นี้มีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง และควรคิดว่าผู้ที่ยินยอมให้ผู้อื่นชักใยได้น่าจะเกิดขึ้นเฉพาะผู้ที่ไร้สติ ไม่ใช่คนชั้นปัญญาชนพึงกระทำ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนเคยพลั้งพลาดยกตัวบทกฎหมายที่ยกเลิกแล้วมาอ้างแต่มีนักศึกษาเขาทักท้วงว่ามีกฎหมายใหม่ออกมาแล้วเมื่อตรวจดูก็พบว่าเป็นความจริงดังที่นักศึกษาอ้าง

ผู้เขียนจึงยอมรับว่าขอโทษ อาจารย์ผิด นักศึกษาถูก บรรยากาศในห้องบรรยายดีขึ้นจนผิดคาด เหตุการณ์นั้นทำให้เกิดข้อคิดว่านักศึกษาเขามิได้ฟังคนพูดแล้วทำตามไปทุกอย่างโดยไม่ใช้สมองของเขา แม้ผู้นั้นจะเป็นอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการให้พวกเขาก็ตาม

ผู้เขียนจึงมั่นใจว่าไม่มีผู้ใดที่จะมาอยู่เบื้องหลังและชักจูงความคิดอ่านของนักศึกษาได้
4.หากนักศึกษาเหล่านั้นจะนำความคิดอ่านของอาจารย์หรือนักวิชาการที่แสดงออกให้ปรากฏต่อสังคมแล้วนำความคิดนั้นมาไตร่ตรองด้วยสมองของตนเอง และนำแนวความคิดของอาจารย์และนักวิชาการเหล่านั้นเป็นหลักในการแสดงออก ก็หาใช่เป็นเรื่องที่มีบุคคลอยู่เบื้องหลังการแสดงออกของนักศึกษาไม่ เพราะเป็นการแสดงออกอย่างผู้มีสติว่าอะไรผิดหรือถูก

5.วัฒนธรรมทางความคิดหรืออุดมคติที่ยึดถือของบุคคลแต่ละสาขาวิชาชีพย่อมแตกต่างกันเช่น นักกฎหมายย่อมมีความคิดเป็นอิสระ ชี้นำได้ยาก โดยเฉพาะที่เห็นได้ชัดคือผู้พิพากษาตุลาการ ประมุขของศาลต้องให้ความอิสระแก่ผู้พิพากษาตุลาการทุกคนซึ่งเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญทุกฉบับ หากเข้าไปก้าวก่ายสั่งการใดๆ อันกระทบถึงความเป็นอิสระแก่ผู้พิพากษาตุลาการทั้งหลาย เช่น จ่ายสำนวนคดีให้องค์คณะใดแล้ว จะสั่งโอนไปให้คณะอื่นวินิจฉัยเพราะผลไม่เป็นไปตามความประสงค์ของผู้เป็นประมุข ต้องถือว่าผู้เป็นประมุขปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพราะเข้าไปก้าวก่ายดุลพินิจของผู้พิพากษาตุลาการ ซึ่งผิดกับวัฒนธรรมทางความคิดของบางอาชีพที่มีวินัย โดยต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะถ้าไปใช้ความคิดของตัวเองไม่ทำตามผู้บังคับบัญชา อาจเกิดผลเสียหายอันเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ

6.ถ้าจะตั้งข้อกล่าวหาว่านักศึกษาทั้ง 14 คน มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113, มาตรา 116 การกระทำของนักศึกษาดังกล่าวน่าจะยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดเพราะขาดเจตนาล้มล้างการปกครองอันเป็นเจตนาพิเศษเพราะนักศึกษาเพียงแต่มีความประสงค์ที่จะให้ประเทศกลับคืนเข้าสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดมาจากปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริงเท่านั้น

ถ้าจะกล่าวว่าฝ่าฝืนประกาศ คสช. ประกาศไม่ใช่กฎหมาย เพียงแต่การออกประกาศต้องอาศัยกฎหมายเท่านั้น ทั้งการกระทำของนักศึกษาที่รวมกลุ่มกันแสดงออกก็มิได้ขัดขวางการจราจรหรือสร้างความเดือดร้อนแก่คนส่วนใหญ่ในประเทศโดยการปิดสถานที่ราชการหรือปิดสนามบินแต่อย่างใด

วิธีการที่จะใช้กับนักศึกษาทั้ง 14 คนจึงควรใช้วิธีการอันละมุนละม่อมโดย ใช้หลัก "เมตตาธรรมค้ำจุนโลก" ดูจะเหมาะสมกว่า

7.การใช้กระบวนการปราบปรามอย่างแข็งกร้าวต่อผู้ที่มีความคิดเป็นของตนเองนั้นบังคับได้แต่เพียงร่างกาย แต่ไม่มีผลต่อจิตใจ เพราะวิสัยบัณฑิตหรือผู้ที่จะเป็นบัณฑิตนั้นย่อมไม่ค้อมหัวให้สิ่งที่เขาไม่เห็นด้วย

วิสัยบัณฑิตผู้ ทรงธรรม์

ไป่เปลี่ยนไป่แปรผัน ไป่ค้อม

ไป่ขึ้นไป่ลงหัน กลับกลอก

กายจิตวาทะพร้อม เพียบด้วยสัตยา

ศาสตราจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการ ป.ป.ช.

ไม่มีความคิดเห็น: