PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ชาติเจ้าหนี้กุมขมับ!

ชาติเจ้าหนี้กุมขมับ!
ฝ่ายโหวต “No” จ่อคว้าชัยขาด 60:40 ลงประชามติกรีซ ผู้นำฝรั่งเศส-เยอรมันนัดถกด่วนหาทางออก
รอยเตอร์ / เอพี / เอเอฟพี -ผลสำรวจความคิดเห็นครั้งสุดท้าย ที่มีการเผยแพร่ภายหลังการปิดหีบลงประชามติในกรีซในวันอาทิตย์ ( 5 ก.ค.) ชี้ ฝ่ายโหวต “No” หรือพวกที่ “ไม่เอาด้วย” กับเจ้าหนี้ต่างประเทศเป็นฝ่ายมีคะแนนนำฝ่ายที่โหวต “Yes” ขณะที่ผลการนับคะแนนการลงประชามติล่าสุดพบว่า ฝ่ายโหวต “No” เป็นฝ่ายที่มีคะแนนนำฝั่งที่โหวต“Yes”แบบค่อนข้างทิ้งช่วงห่าง ที่ 59.8 เปอร์เซ็นต์ ต่อ 40.1 เปอร์เซ็นต์ และส่อเค้าว่าอาจได้รับชัยชนะด้วยคะแนนอย่างเป็นทางการที่มากเกินกว่า “61 เปอร์เซ็นต์” เมื่อการนับคะแนนเสร็จสิ้นลง
รายงานข่าวล่าสุดซึ่งอ้างผลการสำรวจความคิดเห็นของ 3 สำนักวิจัย คือ จีพีโอ , เมตรอน อนาไลซิส และเอ็มอาร์บี ที่เพิ่งถูกเผยแพร่สู่สาธารณะหลังปิดหีบการจัดลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ในกรีซ ต่างระบุตรงกันว่า ฝ่ายที่เลือกโหวต “โน” หรือฝ่ายที่ไม่ยอมรับเงื่อนไขและข้อเสนอต่างๆของเจ้าหนี้ระหว่างประเทศเป็นฝ่ายที่มีคะแนนนำอยู่ประมาณ“3 เปอร์เซ็นต์ ”
ขณะที่ผลการนับคะแนนการลงประชามติซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้นไปเพียง 10 เปอร์เซ็นต์พบว่า ฝ่ายโหวต “No” เป็นฝ่ายที่มีคะแนนนำฝั่งที่โหวต“Yes” ที่ 59.8 เปอร์เซ็นต์ ต่อ 40.1 เปอร์เซ็นต์ และมีความเป็นไปได้สูงมากที่ฝ่ายโหวตโนจะเป็นฝ่ายชนะโดยได้เสียงสนับสนุนจากการทำประชามติคราวนี้ทะลุ “61 เปอร์เซ็นต์” ซึ่งนั่นจะหมายถึงชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของรัฐบาลเอเธนส์ภายใต้การนำของอเล็กซิส ซีปราส
ด้านนิคอส ฟิลิส โฆษกของพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย “ซีริซา” ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งในวันอาทิตย์ ( 5) โดยแสดงความเชื่อมั่นว่า ผลการลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์นี้ จะช่วยเปิดทางให้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอเล็กซิส ซีปราสสามารถเดินหน้าต่อในการบรรลุข้อตกลงกับเจ้าหนี้ทรอยก้า 3 ฝ่าย ที่ประกอบด้วยสหภาพยุโรป (อียู), กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้ในที่สุด
โฆษกพรรคซีริซารายนี้ยังระบุด้วยว่า ผลการลงประชามติซึ่งมีแนวโน้มว่า ฝ่ายโหวต “No” จะได้รับชัยชนะแบบขาดลอย น่าจะช่วยให้ภาคการเงิน-การธนาคารของกรีซกลับเข้าสู่สภาวะปกติ หลังต้องเผชิญกับ “ มรสุมแห่งความไม่แน่นอน” มาตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะที่กาเบรียล ซาเคลลาริดิส โฆษกรัฐบาลกรีซตลอดจนโฆษกกระทรวงการคลังกรีซ ออกมาแถลงในวันอาทิตย์ (5) โดยระบุ ทางกระทรวงการคลังของกรีซเตรียมนัดหารือด่วนกับผู้บริหารของธนาคารพาณิชย์ต่างๆภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อหามาตรการรองรับ “เหตุไม่คาดฝัน” ที่อาจเกิดขึ้นหลังการจัดลงประชามติ
ล่าสุดทางทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสออกคำแถลงที่ระบุว่า ประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ โอลลองด์ ผู้นำแดนน้ำหอมมีกำหนดพบหารือนัดพิเศษร่วมกับนายกรัฐมนตรีหญิงอังเกลา แมร์เคิลแห่งเยอรมนี เกี่ยวกับอนาคตของกรีซและทางออกที่เหมาะสมต่อปัญหาหนี้สินของกรีซ ในช่วงค่ำคืนวันจันทร์ (6 ก.ค.) นี้ที่กรุงปารีส
ก่อนหน้านี้ กรีซมีอันต้องถูกจารึกชื่อเอาไว้ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลกว่า เป็นประเทศพัฒนาแล้วชาติแรกที่ “ผิดนัดชำระหนี้” ต่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) หลังไม่สามารถจ่ายคืนหนี้สินจำนวน 1,500 ล้านยูโร (ราว 50,680 ล้านบาท) ที่ครบกำหนดชำระคืนไปเมื่อเวลา 05.00 น.ของวันพุธ ( 1 ก.ค.) ที่ผ่านมาตามเวลาในประเทศไทย
ที่ผ่านมา รัฐบาลฝ่ายซ้ายของกรีซภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอเล็กซิส ซีปราสและกลุ่มการเมือง “ซีริซา” ได้พยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อทาบทามเหล่าเจ้าหนี้นานาชาติจนถึงในนาทีสุดท้าย เพื่อขอความช่วยเหลือทางการเงินในวันอังคาร (30 มิ.ย.) แต่มันก็ยังไม่เพียงพอที่จะปกป้องกรีซจากการกลายเป็นประเทศพัฒนาชาติแรก ที่ต้องผิดนัดชำระหนี้ไอเอ็มเอฟนำมาซึ่งความโกลาหลทางการทูตและภาวะตื่นตระหนกตกใจของบรรดานักลงทุนทั้งรายใหญ่รายย่อยทั่วโลก ที่ต่างไม่คาดคิดว่าการเจรจารอบแล้วรอบเล่าระหว่างกรีซและเจ้าหนี้ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 5 เดือน จะจบลงแบบพังครืนไม่เป็นท่า และปราศจากข้อสรุปที่เป็นชิ้นเป็นอัน
ด้านหนังสือพิมพ์ “Sddeutsche Zeitung” ของพวกเสรีนิยมหัวก้าวหน้าและพวกกลุ่มการเมืองสายกลาง-ซ้าย ซึ่งมีฐานอยู่ที่นครมิวนิคของเยอรมนี เปิดเผยข้อมูลซึ่งอ้างเอกสารลับของรัฐบาลเยอรมนี ที่ระบุว่า ในความเป็นจริงแล้ว ภาวะหนี้สินของกรีซนั้นสูงลิ่วกว่าที่หลายฝ่ายคาดคิดเอาไว้ถึงขั้นที่ว่า เมื่อถึงปี ค.ศ. 2030 ยอดหนี้สินของกรีซในเวลานั้นก็จะยังคงพุ่งสูงถึงระดับ 118 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเลยทีเดียว ถึงแม้ว่ากรีซจะยอมถอยด้วยการรับข้อเรียกร้องทั้งหมดของเจ้าหนี้ 3 ฝ่าย
ทั้งนี้ มีข้อมูลว่า ในเวลานี้กรีซซึ่งต้องแบกรับตัวเลขหนี้สินที่มีสัดส่วนสูงถึง 175 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพี ถูกมองว่า กำลังนับถอยหลังสู่การก้าวออกจากกลุ่มยูโรโซนหรือกลุ่ม 19 ประเทศในยุโรปที่ใช้เงินสกุลยูโรร่วมกัน แต่นั่นก็ถือเป็นผลโดยตรงจากความไร้วินัยทางการเงินการคลังของกรีซตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา


ไม่มีความคิดเห็น: