PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ชุมพร-เมืองคอน ทยอยจอดเรือประมงนับพันลำ อาหารทะเลเริ่มแพง

ชุมพร-เมืองคอน ทยอยจอดเรือประมงนับพันลำ อาหารทะเลเริ่มแพง

โดย ไทยรัฐออนไลน์ 1 ก.ค. 2558 10:55

เรือประมงชุมพรนับพันลำ จอดสนิท หลังรัฐบาลดีเดย์ ตรวจเข้มเรือเข้า-ออกท่า ขณะอาหารทะเลเมืองนครศรีธรรมราช เริ่มแพง แม่ค้าข้าวแกง ใช้เนื้อ สุกร-ไก่ แทน ...
วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 เรือประมงส่วนใหญ่ในจังหวัดชุมพร หลายร้อยลำ ที่ไม่มีอาชญาบัตรต้องจอดลอยลำเทียบท่า บริเวณปากน้ำชุมพร ไม่สามารถออกทำการประมงได้ หลังครบกำหนดผ่อนผันของศูนย์ตรวจเรือประมง เข้า-ออก ขณะที่ชาวประมงเตรียมเคลื่อนไหว หากรัฐบาลยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือจากมาตรการตรวจเข้มของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มอีกหลายล้านบาทต่อลำ
เรือประมงจำนวนมากหลายร้อยลำเข้าจอดอยู่บริเวณท่าเทียบเรือประมงปากน้ำชุมพร และแพปลาต่างๆ ในปากน้ำชุมพร หลังต้องหยุดการออกเรือเนื่องจากมาตรการตรวจเข้มของศูนย์ตรวจเรือประมงเข้า-ออก (Port in-Port out หรือ PI-PO) ที่มีการตรวจละเอียดทั้งทะเบียนเรือ อาชญาบัตร การใช้แรงงานในเรือประมง โดยเรือประมงส่วนใหญ่นั้น ไม่มีอาชญาบัตร หรือมีอาชญาบัตร แต่ไม่ตรงกับเครื่องมือทำการประมงภายในเรือ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการผ่อนผันมาแล้วถึง 3 ครั้ง แต่เมื่อครบกำหนดเส้นตาย ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ เป็นต้นไป เรือส่วนใหญ่ที่ผิดกฎหมายจึงไม่สามารถออกทำการประมงได้ เพราะจะต้องผ่านการตรวจสอบอย่างถูกต้องทุกขั้นตอนก่อนออกเรือ
ด้าน นายพิศาล ศันติวิชยะ นายกสมาคมประมงปากน้ำชุมพร กล่าวว่า ในส่วนของเรือประมงในพื้นที่ จ.ชุมพร ซึ่งมีอยู่มากกว่า 1 พันลำ ส่วนใหญ่ไม่มีอาชญาบัตรไม่ตรงกับเครื่องมือทำการประมง เนื่องจากหากจะทำให้ถูกต้อง ก็จะต้องเปลี่ยนเครื่องมือทำการประมงใหม่ ต้องลงทุนอีกอย่างน้อยลำละกว่า 2-3 ล้านบาท ชาวประมงคงไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีเงิน สัตว์น้ำหายากขึ้น รายได้ลดลง จึงต้องขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องผ่อนผันออกไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้ชาวประมงตั้งตัวได้ เพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้เรือประมงจำนวนนับพันลำ เข้ามาจอดเทียบท่าต่างๆ ในพื้นที่ จ.ชุมพร โดยจะมีการประชุมกันเพื่อกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวต่อไป
ขณะที่ ผู้สื่อข่าวรายงาน บรรยากาศโดยทั่วไปตามตลาดสดในเขตเทศบาลนคร นครศรีธรรมราช โดยทั่วไปพบว่า พ่อค้า-แม่ค้า ที่ขายอาหารทะเลสด ได้ทยอยหยุดการขายอาหารทะเล เนื่องจากเรืออวนลากได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ว่า จะหยุดออกเรือ ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.เป็นต้นไป ตามมติของชาวประมงทั่วประเทศ
นางกรรณิกา ยอดคุณ แม่ค้าขายอาหารทะเล ตลาดเย็น เขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งปลาทะเลแหล่งใหญ่ของนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ทางแผงได้รับแจ้งจากแพปลาแล้ว ในห้วงเวลาดังกล่าว จะไม่มีอาหารทะเลจำหน่าย และหากยังพอมีเหลืออยู่ก็อาจจะต้องปรับราคาสูงขึ้น เนื่องจากอาหารทะเลมีน้อย และคาดว่า หลังวันที่ 2 ก.ค.แล้ว ในพื้นที่นครศรีธรรมราช จะไม่มีอาหารทะเลจำหน่ายอย่างแน่นอน ส่วนปลาน้ำจืดที่เลี้ยงในกระชัง ก็ยังคงมีจำหน่ายอยู่เช่นเดิม แต่ราคาอาจจะสูงขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากอาหารทะเลขาดแคลน
“ขณะนี้ตนได้จัดส่งอาหารทะเลสดให้กับลูกค้าประจำตามร้านซีฟู้ด ซึ่งเป็นขาประจำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และแจ้งให้ทราบล่วงหน้าเช่นกัน และหากว่าหยุดยาวมีผลกระทบต่อการส่งออกอาหารทะเลอย่างแน่นอน” นางกรรณิกา กล่าว
เรือประมงทยอยจอดเทียบท่า หวั่นถูกจับ
ขณะที่ในโลกโซเชียล “ร้านคนจับปลานครศรีฯ” เว็บไซต์ที่จัดจำหน่ายอาหารทะเลในอ่าวทองคำ บ้านในถุ้ง อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ได้บอกบรรดาสมาชิก ว่า เรืออวนลากจะหยุดออกหาปลาในวัน-เวลา ดังกล่าว ด้วยเช่นกัน
นางสาวสิริรักษ์ สุขสวัสดิ์ ผู้ประกอบการร้านอาหาร เปิดเผยว่า ตนได้แจ้งลูกค้าแล้ว ว่า อาหารทะเลไม่มี ขาดตลาดเนื่องจากมีราคาแพง มากๆ จนต้องนำอาหารประเภทอื่น มาขายทดแทน อย่างเช่น เนื้อสุกร เนื้อไก่ จะทำให้อาหารลดความหลากหลายลง ส่วนข้าวแกงก็คงต้องลดปริมาณประเภทของอาหารลงบ้าง
ที่บริเวณท่าเทียบเรือในพื้นที่ อ.ขนอม สิชล ท่าศาลา เมืองปากพนัง หัวไทร เรือประมงขนาดใหญ่หลายร้อยลำ ทยอยเทียบท่า เพื่อรับมือมาตรการเข้มกฎหมายประมง ได้เริ่มเข้ามาจอด ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา โดยในวันที่ 1 กรกฎาคม ไม่มีเรือวิ่งหาปลาในทะเลทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่
นายประเทือง ทิพยมาศ นายกสมาคมประมง อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ชาวประมงไม่ได้ต่อต้านหรือประท้วง แต่เรือประมงต้องหยุดทำประมงก่อน เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม เนื่องจากข้อหา และระวางโทษนั้นรุนแรงมาก เป็นความเข้าใจ ที่ไม่เข้าใจ เพราะรายละเอียดปลีกย่อยอีกหลายอย่าง ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ทันในคราวเดียวกัน ภาครัฐเองมีไม่เพียงพอที่จะดำเนินการต่ออาชญาบัตร การทำประมงที่ผิดประเภท ผู้ประกอบการเรือจึงไม่สามารถดำเนินการได้ทัน เราเพียงแต่ต้องการให้ชะลอ แต่ รบ.ดูเหมือนว่า จะทำตามกำหนดของ อียู ทุกคนเข้าใจ แต่สภาวะเช่นนี้หากเข้าใจว่า ผู้ประกอบการประมงเดือดร้อนตามๆ กัน เมื่อจูนไม่ตรงกัน ก็ต้องให้เป็นแบบนี้ เราไม่กดดันใคร และไม่มีใครกดดันเรา
“อุตสาหกรรมทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นโรงน้ำแข็ง แพปลาใหญ่ แหล่งขายน้ำมันเรือ จะทยอยหยุดพร้อมกัน เรืออวนลากในทุกอำเภอ จะนำเรือมาจอดเทียบท่าในจุดเดียวกันทั้งหมด และหากว่าจะถูกจับก็ให้จับไปเลย ไม่ต้องไปดักจับเอาในทะเลอีก มาจอดให้จับแล้วเช่นกัน” นายประเทือง กล่าว
ต่อข้อถามมีการมอง ว่า อาชีพประมงคุยกันไม่รู้เรื่อง ไม่ฟังเสียง ว่า ย้อนถามไปว่า ที่ผ่านมาอาชีพประมงถูกเมินจากการช่วยเหลือจากรัฐบาลมาเนิ่นนาน และหากให้ย้อนถามและตรวจสอบในเรื่องของอาชญาบัตร หรือทำประมงให้ถูกต้อง ไม่ใช่เป็นความผิดของพวกเรา แต่เป็นเพราะภาครัฐไม่เอาใจใส่ในการแก้ไขปัญหาเสียมากกว่า เวลาชอบรับ แต่เวลาผิดต้องช่วยแก้ไข และยอมรับผิดด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: