PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558

ดิ้นรนหาเงิน โดย วีรพงษ์ รามางกูร


มติชน17/9/58


เศรษฐกิจของจีนชะลอตัวเร็วกว่าที่คาด กำลังเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจไปทั่วโลก เป็นที่รู้กันไปทั้งโลกว่าเศรษฐกิจของจีนนั้นเปราะบางเพียงไร ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของจีนก็กำลังปักหัวลง ทั้งที่ตลาดเซี่ยงไฮ้และตลาดฮ่องกง ทางการต้องทุ่มเงินเป็นแสนล้านหยวนเพื่อพยุงเอาไว้ด้วยการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น แต่ก็คงจะเอาไม่อยู่ ถ้าภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงหรือ real sector ยังคงหดตัวอยู่ ภาคการเงินหรือ financial sector ก็ต้องปรับตัวตามเป็นของธรรมดา

สาเหตุหลักที่เป็นเหตุให้เศรษฐกิจของจีนปักหัวลงก็เป็นที่รู้กันคือ การหดตัวของมูลค่าการส่งออกที่หดตัวถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เศรษฐกิจที่นำด้วยการส่งออกอย่างจีนหดตัว เมื่อเศรษฐกิจหดตัว การนำเข้าก็ย่อมหดตัวลงไปด้วย มูลค่าการนำเข้าของจีนหดตัวถึง 15 เปอร์เซ็นต์

ในขณะที่เศรษฐกิจของจีนขยายตัวในอัตราที่สูง ราคาสินค้าขั้นปฐมและสินค้าเกษตรกรรม เช่น น้ำมัน ถ่านหิน แร่ธาตุต่างๆ เช่น เหล็ก ทองแดง อะลูมิเนียม ทองคำ ราคาสินค้าเกษตรที่สามารถผลิตพลังงานทดแทนได้ เช่น อ้อย น้ำตาล ข้าวโพด ข้าว ข้าวสาลี ถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม รวมถึง ถั่วลิสง ถั่วเขียว ราคาก็ถีบตัวสูงขึ้นไปหมด

ขณะที่จีนนำเข้าสินค้าขั้นปฐมเหล่านั้นเป็นจำนวนมากจนมีราคาสูงขึ้น จีนก็ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของตน โดยการตั้งราคาที่ต่ำกว่าราคาอุตสาหกรรมอย่างเดียวกันที่ผลิตจากโรงงานในยุโรปและสหรัฐอเมริกา จนทำให้ยุโรปและอเมริกาขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนัก เศรษฐกิจชะลอตัวลง อัตราการว่างงานสูงขึ้น เป็นเวลานานกว่า 10-15 ปีมาแล้ว



บัดนี้เกิดเหตุการณ์ตรงกันข้ามกับที่เคยเป็น กล่าวคือเศรษฐกิจของจีนเริ่มชะลอตัว สถานการณ์ในด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นคู่ค้ากับจีนก็เริ่มชะลอตัวลง ราคาสินค้าขั้นปฐมที่เคยทะยานตัวขึ้นก็ปักหัวลง ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าขั้นปฐมเหล่านี้ เช่น ซาอุดีอาระเบีย อิหร่านและประเทศอื่นในตะวันออกกลาง รวมถึงเวเนซุเอลา ในกรณีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ออสเตรเลียและอินโดนีเซีย ในกรณีของถ่านหิน เหล็ก ทองแดงและอื่นๆ ก็มีปัญหาเรื่องดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดทันที

การที่ราคาพลังงานลดลง ราคาสินค้าเกษตรที่สามารถผลิตพลังงานทดแทน เช่น อ้อยและน้ำตาล ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด มันสำปะหลัง ข้าวและสินค้าประเภทแป้งก็มีราคาลดลงด้วย เพราะเกษตรกรก็ลดพื้นที่การปลูกอ้อย มันสำปะหลัง หันมาปลูกข้าวและข้าวโพดแทน

ราคาน้ำตาลที่เคยสูงถึง 15 เซ็นต์ต่อปอนด์ ขณะนี้ลดลงมาเป็น 10 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งลงมาถึงจุดที่อาจจะเกิดปัญหาเพราะราคาประกันของอ้อยตามระบบ 70:30 ของโรงงานอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาทต่อตันอ้อย ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก็อาจจะยังไม่มีปัญหาแต่ถ้าราคาน้ำตาลในตลาดโลกต่ำกว่า 10 เซ็นต์ต่อปอนด์เงินบาท หากธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยเงินบาทแข็งขึ้นเป็น 30-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปัญหาก็คงจะเกิดขึ้นแน่อย่างที่เคยเกิดขึ้น สมัยหลังวิกฤตการณ์น้ำมันคลังที่ 2 ราคาน้ำมันลดลง ทำให้ราคาน้ำตาลลดลงเหลือเพียง 4 เซ็นต์ต่อปอนด์ อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 21-23 บาทต่อดอลลาร์ ปัญหาการเมืองเกิดขึ้นทันที ทุกแห่งที่มีโรงงานน้ำตาล เช่น สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ถ้าคราวนี้ราคาน้ำตาลตกต่ำอีกซึ่งคงเกิดแน่ เพราะราคาน้ำมันปักหัวลงอย่างนี้ ปัญหาคงลุกลามไปหลายจังหวัดในภาคอีสานและภาคเหนือ ไม่จำกัดวงอยู่แต่ภาคกลาง 

รัฐบาลควรเตรียมการไว้ได้แล้ว อย่าปล่อยให้เหมือนกรณีราคายางพารา ข้าว และพืชไร่อย่างอื่น เพราะชาวไร่อ้อยนั้นมีการจัดตั้งเป็นองค์กรที่แข็งแรงกว่าชาวประมง ชาวสวนยาง ชาวนาและชาวเกษตรกรอื่นๆ



เมื่อเศรษฐกิจของจีนเริ่มชะลอตัวลง ทางการจีนก็พยายามทุ่มเทกำลังเงินและนโยบายต่างๆ นโยบายอันหนึ่งที่สำคัญก็คือ การทุ่มการลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ระบบถนนหนทาง ระบบขนส่งทางราง สนามบิน และอื่นๆ

ระบบขนส่งทางรางเป็นโครงการที่ต้องลงทุนสูง จีนลงทุนเชื่อมทุกภาคด้วยระบบราง มีรถไฟฟ้าเชื่อมกับทุกมณฑล รวมถึงเมืองลาซาในมณฑลทิเบต เมื่อลงทุนเสร็จประธานบริษัทรถไฟฟ้าของจีนถูกตัดสินประหารชีวิต เพราะถูกจับได้ว่าทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นข่าวไปทั่วโลก หลังจากที่ได้เห็นผลงานของตนไม่นาน

ระบบขนส่งมวลชนและสินค้าทางรางของจีน ประสบกับปัญหาการขาดทุนมโหฬาร ทั้งในเรื่องก่อสร้าง การบำรุงรักษา การบริหารจัดการที่ยังไม่ได้มาตรฐานของโลก จีนใช้วิธีปราบทุจริตคอร์รัปชั่นโดยการลงโทษอย่างรุนแรง ทั้งการจำคุกและประหารชีวิต แต่การทุจริตคอร์รัปชั่นก็ไม่บรรเทาเบาบาง

บริษัทก่อสร้างของจีนจึงไม่ได้รับความไว้วางใจจากประเทศต่างๆ ที่บริษัทจีนเข้าไปร่วมประมูลงาน เพราะบริษัทของจีนได้ฝากผลงานที่ไม่ได้มาตรฐานไว้ในประเทศต่างๆ ที่อาจจะมีราคาถูกแต่คุณภาพต่ำ ระหว่างก่อสร้างก็มีปัญหา ไม่เป็นไปตามแบบที่ตกลงกันไว้ เมื่อจะถูกปรับก็ไม่ยอมให้ปรับ บริการหลังการขายก็ไม่รับผิดชอบ เพื่อนบ้านรอบประเทศไทยล้วนแต่มีประสบการณ์ที่ขมขื่น ในที่สุดโครงการต่างๆ เหล่านั้นก็ใช้ไม่ได้ แต่รัฐบาลต้องผ่อนชำระหนี้ระยะยาวไปเรื่อยๆ รัฐมนตรีที่เป็นผู้รับผิดชอบตัดสินใจก็พ้นจากตำแหน่งเกษียณอายุไปแล้ว ไม่ต้องรับผิดชอบ ในที่สุดโครงการที่จีนรับสัมปทานไปที่ว่าราคาถูกก็ถูกไม่จริง กลายเป็นของที่แพงที่สุดไป เพราะปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในจีนยังมีระบาดอยู่มาก มีภาษิตจีนแต้จิ๋วอยู่ประโยคหนึ่งว่า "ตายไม่กลัว กลัวไม่กำไร" จีนจึงทำสินค้าปลอมแปลงได้ทุกอย่างแม้แต่ข้าวสารก็ปลอมได้

เครื่องจักรเครื่องกล เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นกังหันไอน้ำ กังหันน้ำ กังหันก๊าซ ของจีนมีราคาถูกกว่าของเยอรมนีและญี่ปุ่นมาก หัวรถจักร รถยานเกราะ เรือรบ ก็ไม่มีใครกล้าใช้ถ้าต้องซื้อ ซื้อแล้วก็มีปัญหามาก ได้ไม่คุ้มเสีย เราจึงไม่ค่อยเห็นบริษัทเอกชนของเราที่ได้สัมปทานโรงไฟฟ้าก็ดี เครื่องกำเนิดไฟฟ้าติดตั้งที่เขื่อนก็ดี ยอมใช้ของจีนเพราะความต่ำกว่ามาตรฐานของสินค้าจีนในเกือบทุกด้าน



ขณะที่ระบบขนส่งทางรางของจีนขาดทุนอย่างมหาศาล ตัวผู้บริหารบริษัทที่ทำรางก็ดี ทำรถไฟความเร็วสูงก็ดี ทำหัวรถจักรความเร็วปานกลางก็ดี หรือแม้แต่หัวรถจักรรถไฟความเร็วธรรมดาก็ดี กำลังเดือดร้อน กำลังจะถูกเล่นงานกันเป็นแถว จึงออกมาวิ่งเต้นกับรัฐบาลของประเทศที่ระบบการตรวจสอบรัฐบาลของประชาชนอ่อนแอ เพื่อเสนอกดดันให้สัมปทานโครงการขนาดใหญ่กับบริษัทจีน เพื่อให้ผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่ของจีนซึ่งส่วนมากเป็นรัฐบาลจีน สามารถออกข่าวว่าตนได้โครงการที่ประเทศนั้นประเทศนี้แล้ว เพื่อมาชดเชยกับการขาดทุนของตน แต่เมื่อทำไปนานก็พบว่าประเทศผู้ลงทุนรับไม่ได้ ก็เลิกกันไป เช่น อินโดนีเซีย เมื่อเร็วๆ นี้

ถ้าใครเคยขับรถยนต์เข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านของเราทั้งทางตะวันออกและทางตะวันตก โดยใช้ทางหลวงที่สร้างด้วยเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย ก่อสร้างโดยบริษัทรับเหมาก่อสร้างของไทย กับทางหลวงที่สร้างด้วยเงินช่วยเหลือของรัฐบาลจีน ก่อสร้างโดยบริษัทรับเหมาของจีน จะเห็นความแตกต่างของมาตรฐานของทางหลวงที่ก่อสร้างโดยบริษัทไทยและทางหลวงที่ก่อสร้างโดยบริษัทจีน ทั้งมาตรฐานความปลอดภัย คุณภาพ ความทนต่างกันราวฟ้ากับดิน ทั้งๆ ที่ราคาค่าก่อสร้างเท่าๆ กัน เพราะออกกันคนละครึ่ง เห็นแล้วยังดีใจที่เห็นความแตกต่างในเรื่องมาตรฐานการก่อสร้างของไทยสูงกว่าจีนเป็นอันมาก คิดว่าประชาชนในประเทศที่รับความช่วยเหลือเขาก็คงคิด

พูดถึงมาตรฐานคุณภาพของรถยนต์ จักรยานยนต์ จักรยาน เครื่องปั่นไฟ มอเตอร์ของไทยกับของจีนที่วางขายในตลาดประเทศเพื่อนบ้านของไทยเรา ราคาแพงกว่าของจีนมากกว่าเท่าตัว แต่คนมีเงินจะซื้อของไทยไม่ยอมซื้อของจีน เพราะคุณภาพผิดกันมาก

บัดนี้รัฐบาลไทยกำลังคิดอ่าน จะให้สัมปทานบริษัทจีนมาพัฒนาการขนส่งระบบรางในไทย จะให้จีนต่อเรือดำน้ำมาขายให้ไทย จะใช้เงินกู้ดอกเบี้ยแพง 3-4 แสนล้านบาทจากจีน ใช้คืนเป็นหยวนหรือดอลลาร์ก็ยังไม่ชัด

ได้ยินแล้วใจหาย

ไม่มีความคิดเห็น: