PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2559

ข้าหลวงสิทธิ UN เรียกร้องทางการไทย-ยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อแกนนำทัวร์ราชภักดิ์

Fri, 2016-01-22 17:51

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกร้องรัฐบาล คสช. ยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อนักกิจกรรม 11 คน ที่ถูกจับกุมข้อหาละเมิดข้อห้ามการชุมนุม พร้อมแสดงความกังวลกรณีทหารใช้ถุงคลุมศีรษะ 'จ่านิว' และมีการตบและเตะในช่วงถูกควบคุมตัว โดยขอให้รัฐบาลสอบสวนการกระทำดังกล่าว
22 ม.ค. 2559 สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (United Nations Human Rights Office for South-East Asia (OHCHR) กระตุ้นรัฐบาลทหารไทยให้ยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อแกนนำนักศึกษา 11 คนที่ถูกจับกุมข้อหาละเมิดข้อห้ามการชุมนุม
โดยในใบแถลงข่าวของ OHCHR ระบุว่า สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ แกนนำนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่กล่าวว่า เขาถูกกลุ่มผู้ชายที่ไม่ได้แสดงตนจับกุมที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วิทยาเขตในกรุงเทพฯ เมื่อค่ำวันพุธ ในวันพฤหัสบดีตอนเช้า น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว น.ส.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ และนายกรกช แสงเย็นพันธ์ ได้ไปเยี่ยมนายสิรวิชญ์ที่สถานีตำรวจที่เขาถูกควบคุมตัว นักศึกษาเหล่านี้ถูกตั้งข้อหาด้วยความผิดเดียวกัน
มีการนำตัวนักศึกษาทั้งสี่คนไปยังศาลทหารเมื่อวันพฤหัสบดี และมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างรอการไต่สวน ศาลทหารได้ยกคำร้องที่ให้ควบคุมตัวชั่วคราวต่อนักกิจกรรมทั้งสี่คน
นักศึกษาเหล่านี้ถูกออกหมายจับเนื่องจากละเมิดคำสั่งของรัฐบาลทหารที่ห้ามการชุมนุมทางการเมือง ทั้งนี้โดยได้โดยสารรถไฟเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558 ไปยังโครงการอุทยานที่กองทัพไทยจัดสร้างขึ้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้เพื่อรณรงค์ให้เห็นการทุจริตตามข้อกล่าวหาว่ามีขึ้นกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ เจ้าหน้าที่ได้โดยสารไปพร้อมขบวนรถไฟและขัดขวางไม่ให้นักกิจกรรมเหล่านี้ไปถึงจุดหมายปลายทาง
ต่อมามีการตั้งข้อหาจากเหตุการณ์เดียวกันกับนักศึกษาอีกเจ็ดคน
“สิทธิที่จะชุมนุมโดยสงบและสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพด้านความเห็น เป็นสิทธิพื้นฐาน และไม่ควรถือเป็นความผิดอาญาร้ายแรง” Laurent Meillan ว่าที่ตัวแทนภูมิภาค OHCHR กล่าว “เรากระตุ้นให้ทางการยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อนักศึกษาเหล่านี้”
นักศึกษาเหล่านี้ถูกตั้งข้อหาละเมิดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดหกเดือน
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนกังวลกับการใช้คำสั่งคสช. แทนที่จะใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 อันเป็นเหตุให้คดีเหล่านี้ต้องเข้ารับการไต่สวนในศาลทหาร เสี่ยงที่จะเกิดการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมและเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์คดี
OHCHR ยังกังวลกับข้อกล่าวหาว่าทหารได้ใช้ถุงคลุมศีรษะนายสิรวิชญ์ระหว่างที่เขาถูกจับกุม ทั้งยังมีการตบและเตะเขาระหว่างการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ผู้ทำการจับกุมไม่ได้แสดงตน ไม่ได้บอกเหตุผลของการควบคุมตัว ทั้งยังไม่ได้ให้ข้อมูลกับนายสิรวิชญ์ว่าจะนำตัวเขาไปควบคุมตัวที่ใด
OHCHR กระตุ้นให้รัฐบาลสอบสวนตามข้อกล่าวหาว่ามีการปฏิบัติที่โหดร้าย และอนุญาตให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทำหน้าที่สอบสวนกรณีนี้อย่างเป็นอิสระ
“ทางการรวมทั้งเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไม่เพียงมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย หากยังต้องดูแลให้เจ้าหน้าที่ของตนปฏิบัติตามกฎหมายเหล่านั้นในทุกสภาพการณ์ด้วย” Meillan กล่าว
ในฐานะรัฐภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) รัฐบาลไทยมีพันธกรณีต้องคุ้มครองเสรีภาพของพลเรือนของตน รวมทั้งสิทธิที่จะปลอดพ้นจากการควบคุมตัวโดยพลการ การได้รับแจ้งข้อกล่าวหาที่มีต่อตน การเข้าถึงทนายความ และการไต่สวนโดยศาลที่เป็นอิสระและไม่ลำเอียง

ไม่มีความคิดเห็น: