PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2559

มองชีวิตสมคิด ศรีสังคม ผ่านสายตาลูกชาย-ศักดา ศรีสังคม


“น้ำตาคลอ! ลูกเป่าแคนให้พ่อวัยชราที่นอนป่วยอยู่ฟัง”
เป็นชื่อคลิปอันเป็นภาพของบุตรชายคนหนึ่งกำลังเป่าแคนอย่างเต็มกำลังฝีมือให้แก่คุณพ่อในวัยชราภาพซึ่งนอนพักอยู่บนเตียงได้รับฟัง
ชายชราที่ดูอ่อนแรงนั้นกลับขยับไม้ขยับมือด้วยท่าทางเปี่ยมสุข ตามจังหวะของเสียงแคนที่ลูกชายบรรจงบรรเลงอย่างต่อเนื่อง
ไม่นานนักคลิปนี้ได้แพร่หลายในสื่อโซเชียลจนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ได้สร้างความซาบซึ้งใจแก่ผู้คนที่ได้รับชมเป็นอย่างมาก
“ปู่ท่านนี้คือ พ.อ.สมคิด ศรีสังคม เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.อุดรธานี อดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.อุดรธานีเด้อครับ?”
นี่คือหนึ่งในคำพูดในสื่อโซเชียลที่มีต่อคลิปนี้
จนนำไปสู่การสืบเสาะตามหา สุดท้ายแล้วก็พบว่าชายชราผู้นี้คือ พ.อ.สมคิด ศรีสังคม อดีตหัวหน้าพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย, อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.อุดรธานี, อดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.อุดรธานี, ประธานโครงการรณรงค์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย (ครป.) เพื่อรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2521 และเป็นผู้เขียนหนังสือประวัติศาสตร์เศรษฐกิจทวีปยุโรป จากยุคดึกดำบรรพ์ถึง ค.ศ.1750
ปัจจุบันอายุ 100 ปีแล้ว
ส่วนชายผู้เป่าแคนนั้นก็คือ ศักดา ศรีสังคม บุตรชายคนสุดท้องของ พ.อ.สมคิด
หลังจากเหตุการณ์ในคลิปไม่นานนัก วิวรรธนไชย ณ กาฬสินธุ์ อดีต ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคไทยรักไทย ได้นำคณะ ส.ส.เข้าเยี่ยม พร้อมด้วย หมอแคนแห่งรัฐสภา อดิศร เพียงเกษ ที่มาเป่าแคนให้ฟังถึงที่เพื่อเป็นกำลังใจ
ทั้งนี้ ศักดาเล่าว่า ปัจจุบันคุณพ่อมีอาการนอนหลับลึกกว่า 90%  ลืมตาได้บ้างบางครั้ง รับอาหารผ่านทางช่องท้อง เนื่องจากมีการเจาะที่คอเพื่อช่วยหายใจ จึงไม่สะดวกรับอาหารทางปาก เพราะจะทำให้สำลัก แต่ถึงอย่างไรเมื่อฟังเสียงแคนท่านจะมีปฏิกิริยาตอบรับเสมอ
“ท่านชอบเสียงแคนมากแม้จะเป่าไม่เป็น ผู้มาเยี่ยมเยียนจึงมักจะนำแคนมาเป่าให้ท่านฟัง เพราะทุกคนต่างทราบดีเมื่อท่านฟังเสียงแคน จะมีความสุขยกมือทำท่าทางตามเสียงแคน” ศักดาเล่าให้ฟัง
แต่นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น จากชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ทางการเมืองของ พ.อ.สมคิด
เรื่องเล่าจากบรรทัดต่อไปนี้ จะเพิ่มเติมส่วนที่เหลือในชีวิตของอดีตหัวหน้าพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย
ผ่านสายตาของบุตรชาย “ศักดา ศรีสังคม”

 นิยามเมื่อพูดถึงคุณพ่อ ?

ท่านไม่ใช่คนดุดัน แต่เป็นนักสู้ ล้มแล้วลุก สู้ต่อ สู้ไปเรื่อยๆ จะเห็นหนทางชนะหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ท่านก็ยังคงสู้ต่อไป
ช่วงเวลาในชีวิตที่ท่านดูท้อแท้ เศร้าซึม เคยเห็นอยู่ครั้งเดียวคือตอนที่ท่านมีหนี้มากจากการที่ไปค้ำประกันผู้อื่นแล้วต้องมารับภาระหนี้แทน ท่านก็สู้นะครับ ขายทรัพย์สินบ้านช่อง ให้หักเงินเดือนผู้แทนผ่อนหนี้เป็นเวลานาน จนมีผู้ใหญ่เห็นใจ เจรจาลดหนี้ให้
ท่านเคยสอนว่าทุกข์ไหนไม่มีเท่าทุกข์จากหนี้ พอหมดจากภาระหนี้ ท่านมีพลังเพิ่มขึ้นมหาศาล

สิ่งที่คุณพ่อมักพูดให้ฟังเมื่อสมัยยังเด็ก ?

ตอนเด็กๆ เวลาคุณพ่อขับรถไปส่งที่โรงเรียนหรือพาไปทำธุระที่ไหน ท่านจะคุยเรื่องบ้านเมืองให้ฟังระหว่างนั่งในรถ วิจารณ์ปัญหาต่างๆ เช่น การขาดการวางผังเมืองของกรุงเทพฯสมัยนั้น ท่านก็จะบอกว่าสมัยก่อนพระมหากษัตริย์ท่านเสด็จฯยุโรปเห็นบ้านเมืองเขาเป็นระเบียบ ก็กลับมาออกแบบถนนให้ใหญ่กว้างขวางอย่างถนนราชดำเนิน
แต่สมัยหลังผู้ปกครองประเทศเอาแต่แย่งชิงอำนาจกัน ไม่สนใจเรื่องการวางแผน ปล่อยให้สร้างถนนหนทางกันอย่างไร้ระเบียบ
ส่วนผู้คนก็ไม่ค่อยมีใครยอมเสียสละ สร้างรั้วเสียติดขอบที่ดินทำให้เป็นซอยแคบๆ เล็กๆ สวนทางกันลำบาก ท่านเองก็ทำตามความเชื่อของท่านว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ คือ บ้านที่ซอยอารีย์สัมพันธ์ของท่าน ท่านก็เว้นที่สร้างรั้วโดยขยับจากขอบแนวที่ดินเข้ามาประมาณเมตรครึ่งแล้วปลูกหญ้าให้ที่ดูกว้างสบายตา ถ้ารถจะหลบหลีกทางกันก็ทำได้สะดวก

สิ่งที่เรียนรู้จากคุณพ่อคืออะไร ?

หลายอย่างก็เรียนรู้จากการกระทำของคุณพ่อ โดยซึมซาบเข้าไปเอง เช่น การพูดดีๆ ไม่ดูถูกคน มองทุกคนเหมือนญาติ ไม่ว่าจะคนที่ช่วยงานในบ้านเรา บ้านญาติ บ้านเพื่อน หรือคนบริการขายของ หรือคนงาน ชาวไร่ชาวนา
ผมก็เพิ่งมารู้เมื่อไม่นานนี้เองตอนมาอ่านประวัติที่ท่านเขียนว่า แม่ของท่านสอนไม่ให้ด่าว่าคนอื่น แม้เป็นลูกจ้าง ซึ่งคุณพ่อเขียนไว้ว่า “…แม่ยังสอนให้นำกิริยามารยาทอันดีงามดังกล่าวไปใช้กับลูกจ้าง คนงานของเราด้วย เมื่อแม่ได้ยินลูกๆ ด่าติเตียนบุคคลเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ แม่ก็จะตักเตือนว่า หากคนงานหรือคนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นกับเราทำอะไรไม่เป็นที่พอใจของเราแล้ว อย่าไปด่าไปว่าเขา พูดกับเขาดีๆ สอนเขาดีๆ ถ้าเขาดีหรือเก่งเหมือนเรา เขาก็ไม่มารับจ้างเราหรอก ไม่หนีร้อนมาพึ่งเย็นกับเราหรอก… คำสอนของแม่ยังคงก้องอยู่ในหูของข้าพเจ้ามาจนกระทั่งทุกวันนี้…”

ส่วนตัวเคยนำคำสอนของคุณพ่อไปปฏิบัติจริงอย่างไรบ้าง

คำสอนของท่านทำให้เวลาเห็นชาวบ้านที่ไหนก็ไม่รู้สึกแบ่งแยก เขาอาจจะเป็นญาติเราก็ได้ มีอะไรช่วยได้ก็ช่วย ครั้งหนึ่งตอนผมไปเรียนอยู่ญี่ปุ่นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว มีชาวบ้านที่แอบไปทำงานที่นั่น อยากกลับเมืองไทย เลยมาติดต่อผมและขอให้พาไปมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่น เราก็พาไปให้ ดีที่ผมพูดภาษาญี่ปุ่นได้ เลยบอกว่าเจออยู่ข้างถนนเลยพามา ไม่งั้นเจ้าหน้าที่จะเข้าใจผิดว่าไปเกี่ยวข้องกับการลักลอบคนงานเข้าเมือง (หัวเราะ)

นอกจากมุมจริงจัง ในอีกมุมท่านเป็นคนอย่างไร ?

ตอนเป็นเด็ก ก็จะได้นั่งรถไฟชั้น 1 ติดตามคุณพ่อที่ได้สิทธิของผู้แทนฯขึ้นฟรี ตอนนั้นคุณพ่อน่าจะเริ่ม 50 กว่า ตู้ชั้น 1 ตอนถึงอุดรฯจะอยู่ห่างจากตัวสถานีไปหน่อย ทำให้ต้องลงเดินข้างรางรถไฟ เช้าวันนั้นมืดๆ หน่อย เจ้าหน้าที่รถไฟก็ตะโกนมาว่า ลุงๆ มาทางนี้ คุณพ่อทำเป็นไม่ได้ยิน บ่นอุบว่ามาเรียกเราว่าลุงได้ยังไง (หัวเราะ)
มีอยู่เรื่องหนึ่งอย่างกับนิยายแผลเก่า ตอนพ่อไอ้ขวัญบุกไปขอเมียให้ไอ้ขวัญที่กำลังคร่ำครวญอยู่ คือว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งตอนผมเป็นนักเรียนนอกญี่ปุ่นและยังโสด เคยรำพึงกับคุณพ่อว่าเสียใจเพราะสาวที่บ้านนอกมีคู่แล้ว ปรากฏว่าคุณพ่อเป็นทุกข์ตาม ไม่ถามอะไรผมเลยแต่ให้ญาติไปติดต่อทางโน้นและมาบอกผมว่าเขายังไม่มีแฟน
แต่คนที่ไม่มีแฟนนั่นมันคนน้อง แต่คนที่ผมหมายถึงคือคนพี่…
สุดท้ายแล้วเขินมากตอนคนพี่โทรมาบอกว่าน้องเขายังไม่มีแฟนนะ เลยต้องสารภาพบอกความจริงกันทางโทรศัพท์ สุดเขินเลยครับตอนนั้น พ่อนะพ่อ (หัวเราะ)

ตอนเติบโตเห็นชีวิตการทำงานและด้านอื่นอย่างไรบ้าง ?

คุณพ่อขยันมาก รักงานวิชาการ ช่วงไม่มีงานสภาให้ทำ ท่านก็ค้นคว้าเขียนหนังสือประวัติศาสตร์เศรษฐกิจทวีปยุโรป จากยุคดึกดำบรรพ์ถึง ค.ศ.1750 ท่านทุ่มเทเวลากับหนังสือเล่มนี้มาก จะพูดเสมอว่าการเข้าใจประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของโลกนั้นสำคัญมาก ไปอังกฤษท่านก็จะเข้าร้านหนังสือ อ่านเพลินจนโดนคนขโมยกระเป๋าเอกสาร ยังดีครับที่ขโมยยังใจดีเอาแต่เงินแล้วโยนกระเป๋าที่มีพาสปอร์ตทิ้งไว้ในที่จอดรถใกล้ๆ ตำรวจลอนดอนเลยหาคืนมาให้ได้

ช่วง 6 ตุลาคม 2519 เกิดอะไรขึ้นบ้าง ?

คุณพ่อกลับจากประชุมระดับนานาชาติของสมาชิกสภาทั่วโลกที่สวิตเซอร์แลนด์ มาถึงเช้าวันที่ 7 ตุลาคม ผมเป็นคนไปรับคุณพ่อจากสนามบินดอนเมืองและพาไปซ่อนตัว โดยญาติที่เป็นตำรวจสั่งให้พามาอยู่เงียบๆ ที่แฟลตตำรวจแถวเตาปูน แม้แต่แม่หรือพี่สาว ผมก็ไม่บอกว่าพาคุณพ่อไปไว้ที่ไหน
จากนั้นคุณพ่อก็จะให้คอยไปถามเพื่อนของท่านที่เป็นนักกฎหมายซึ่งมีฐานะจากตระกูลเก่าแก่ จำได้ว่าท่านมีออฟฟิศแถวสี่แยกคอกวัว ผมโทรติดต่อขอเข้าไปพบ ออฟฟิศท่านอย่างกับหนังเจมส์บอนด์เลยครับ มีประตูกระจกเงาให้ผลักเข้าไปเหมือนประตูลับ ท่านก็บอกว่าไม่เป็นไร ไม่มีใครทำอันตรายคุณพ่อหรอก คุณพ่อไม่ได้เป็นเป้าหมายอะไร
หลังจากนั้นคุณพ่อก็กลับมาอยู่บ้านที่ซอยอารีย์สัมพันธ์ จำได้ว่าท่านกำลังทำสวนก็มีคนเอาหนังสือพิมพ์ที่พาดหัวข่าวว่า “สมคิดข้ามไปลาว” มาให้ท่านดู ก็ตลกดี คงเป็นเพราะเราพาท่านไปเก็บตัวได้ดีมาก นักข่าวเลยไม่รู้ว่าอยู่กรุงเทพฯมาโดยตลอด

ส่วนตัวมีส่วนช่วยการทำงานของคุณพ่ออย่างไรบ้าง ?

ทั้งครอบครัวที่มีคุณแม่ พี่สาว 3 คน และผม จะช่วยหาเสียงในการเลือกตั้งเมื่อมีโอกาส ผมเป็นผู้ชายก็จะได้บู๊กว่าหน่อย ยุคหนึ่งที่มักมีการก่อกวนกัน ก็มีเรื่องตื่นเต้นอยู่เรื่อยๆ เช่น ตอนเยี่ยมหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ได้ข่าวไม่ดีมาก็ต้องรีบถอยออกก่อนมืด ผมต้องนอนหมอบราบไปกับตำรวจคุ้มกันบนหลังคารถสองแถวที่เร่งความเร็วหนีไปตามทางลูกรัง
มีอีกครั้งที่ทุ่งศรีเมือง อุดรฯ คุณพ่อปราศรัยได้ไม่นานก็มีรถบัสขนคนมา ผมยังวัยรุ่นก็ชอบถ่ายรูป แต่พอระเบิดควันลงเท่านั้นแหละ ก็วิ่งขึ้นรถปิกอัพที่กำลังออกตัวหนีแทบไม่ทัน (หัวเราะ)

แล้วคุณแม่ ?

คุณแม่เป็นคนไม่พูดไม่บ่นให้ได้ยินว่าเหตุการณ์อันตรายขนาดไหน แต่ท่านก็คอยระวังเรื่องความปลอดภัยของลูกๆ แทนคุณพ่อ ผมมาทราบภายหลังว่าที่เด็กๆ ต้องย้ายไปอยู่บ้านเพื่อนคุณแม่คนละแห่งอยู่พักหนึ่งเพราะถูกเตือนว่าช่วงนั้นอยู่บ้านอาจไม่ปลอดภัย
ความที่คุณแม่เป็นคนอังกฤษที่ไม่เก่งภาษาไทย ทำให้แม้คนจะด่าว่าขู่เรื่องคุณพ่อทางโทรศัพท์ บทความหนังสือพิมพ์ หรือวิทยุ ท่านก็ไม่เข้าใจเท่าไร จึงไม่เครียดตามไปด้วยมากนัก (ยิ้ม) คุณแม่ชอบไปเยี่ยมชาวบ้านตามหมู่บ้านในภาคต่างๆ ช่วยนำสินค้าหัตถกรรมมาขายในหมู่เพื่อนฝูงชาวต่างประเทศของท่าน

อุดมการณ์ที่ท่านยึดถือมาโดยตลอด ?

ช่วยชาวบ้านที่ลำบากและมาร้องทุกข์ จะเห็นภาพคุณพ่อนั่งพิมพ์สองนิ้วอย่างคล่องแคล่วที่เครื่องพิมพ์ดีดตั้งแต่กลางวันจนดึกดื่นเพื่อทำเรื่องร้องทุกข์ให้ชาวบ้าน ทั้งในช่วงที่ได้เป็นผู้แทนและช่วงที่ไม่ได้เป็น นั่นคือสิ่งที่ท่านยึดเป็นหลักในการทำงานมากที่สุด

ทำไมท่านชอบเสียงแคน ?

น่าจะชอบมาตั้งแต่เกิดมั้งครับ ดนตรีท้องถิ่นทุกอย่างท่านชอบ การร้องหมอลำเล่าเรื่องต่างๆ ท่านชอบฟังมาก แต่ท่านเองเล่นเครื่องดนตรีไม่เป็น คงเป็นเพราะไม่มีเวลาให้ด้านนี้ ด้วยต้องทำงานไปพร้อมกับเรียนหนังสือตั้งแต่เล็ก ท่านถูกพี่ชายบังคับให้จากบ้านเกิดตั้งแต่อายุ 11 ขวบ โดยพี่ชายให้ขี่ซ้อนหน้ารถจักรยานถีบไปตามทางเกวียนกว่า 70 กม.เข้าสู่เมืองอุดรธานี มาฝากกับภรรยาข้าราชการในเมืองอุดรให้อาศัยอยู่บ้านช่วยงานพร้อมกับเรียนหนังสือ
ดังนั้น ท่านจะผูกพันกับพี่ชายมาก ที่สำคัญพี่ชายของท่านจะเป็นคนที่ชอบเป่าแคน เมื่อถึงเวลาที่ต้องแยกจากกัน เสียงแคนจึงเป็นเสมือนตัวแทนของพี่ชายของท่านเสมอ
 ที่มา : http://www.matichon.co.th/news/107321
ชีวิตของ ศักดา ศรีสังคม กับเสียงแคนที่สร้างโอกาส
ถามถึงความทรงจำเกี่ยวกับ พ.อ.สมคิด ผู้เป็นพ่อไปมาก
ศักดาเองก็ได้เผยชีวิตส่วนตัวให้ฟังกับความทรงจำในมุมหนึ่งกับเรื่อง “แคน”
ศักดาเล่าว่า จุดเริ่มต้น คือ คุณพ่อพาหมอแคนที่ชื่อว่า ผ่าน เป็นคนตาบอดซึ่งเป่าแคนเก่งมากให้มาพักที่บ้านในกรุงเทพฯ อยู่ 2-3 เดือนเพื่อสอนตน
“พี่ผ่านเป่าลายเพลงเป็นท่อนๆ ให้ผมดูนิ้วและฟังเสียง แล้วผมก็เป่าตาม จากนั้นช่วงปิดเทอมผมก็ตามไปเรียนกับพี่ผ่านต่อที่หมู่บ้านเขาในต่างจังหวัด
“บางวันก็พายเรือตามไปนอนเรียนที่แพติดสะดุ้ง หรือยอขนาดใหญ่ไว้จับปลาที่ห้วยน้ำใหญ่ พี่ผ่านจับปลาไปด้วย สอนแคนไปด้วย แกตาบอดแต่มีเมีย-มีลูก
“สองคนผัวเมียหาปลาได้ก็ทำปลาร้าปลาแดกใส่ไหบรรทุกท้ายรถ 3 ล้อเครื่อง ที่พี่ผ่านเป็นคนขับแล้วเมียเป็นคนบอกทางไปขายถึงขอนแก่น” ศักดาเล่า
ต่อมาเขาก็ไปเรียนกับคุณลุง “คำผอง” พี่ชายของคุณพ่อ เป็นลุงคนที่พ่อผูกพันมากและเป็นคนเดียวกันกับที่บังคับให้พ่อเรียนหนังสือ
“คุณลุงมีประวัติที่น่าทึ่งมาก ท่านเป็นทั้งกำนัน พ่อค้า ครูประชาบาล ท่านเป็นคนรูปหล่อสูงเพรียว เดินทางค้าขายทั้งสองฝั่งโขงด้วย สมัยนั้นแม่น้ำโขงไม่ได้เป็นพรมแดน แต่เป็นเส้นทางคมนาคมไปมาหาสู่กัน
“เล่าลือกันว่าท่านจะมีแคนติดมือไปด้วย และตกค่ำจะเป่าเพลงเย็นๆ จีบสาวในหมู่บ้านที่ท่านไปค้างแรม ชาวบ้านสมัยนั้นมักจะพูดให้หัวเราะกันว่า สองมือก็ไม่พอนับจำนวนผู้สาวที่ท่านมีตามหมู่บ้านสองฝั่งโขง”
หลังจากเล่าเรียนจนเป่าได้ชำนาญ ต่อมาศักดาได้ทุนไปเรียนมัธยมปลายที่แคนาดาก็เอาแคน พิณ และหึนไปแสดงด้วย จนได้อยู่ในคณะวัฒนธรรมของโรงเรียนเวลาแสดงงานต้อนรับแขก
“ตอนนั้นมีเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เป็นประธานและพระองค์ท่านก็เสด็จมาเยี่ยมโรงเรียน ผมเป็นหนึ่งในนักดนตรีที่ได้แสดงถวาย เลยได้รับคัดเลือกให้นั่งโต๊ะทานอาหารเย็นกับพระองค์ในโรงอาหารพร้อมกับนักดนตรีอื่นอีก 6-7 คน ก็ต้องขอบคุณแคนนี่แหละครับ
สมคิด ศรีสังคม
“นอกจากนี้ตอนโบกรถข้ามประเทศแคนาดา 8,000 กม. ก็หอบแคนไปเป่าให้คนที่ใจดีรับเราไปส่งด้วย จนบางคนพาไปพักบ้านเลี้ยงดูอย่างดี ไปถึงเมืองหลวงออตตาวาก็ลองยืนเป่าหาตังค์จนคนมามุงดูกันมากมาย
“มีงานมหกรรมดนตรีในสวนสาธารณะเมืองแวนคูเวอร์ก็เอาแคนตามไปแจมกับเขาด้วย เขียนจดหมายมาเล่าให้คุณพ่อและญาติที่อุดรฯอ่าน ทุกคนก็ดีใจและภูมิใจ”
ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ เสียงแคนนี่แหละที่เป็นจุดกำเนิดของ “มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา”ของ พ.อ.สมคิด
“ผมได้ทุนต่อปริญญาโทที่ญี่ปุ่นก็เอาไปเป่าจนได้เพื่อนชาวญี่ปุ่น ที่หลงใหลในเสียงแคนและตามมาดูบ้านเกิดของคุณพ่อ จนเกิดเป็นโครงการทุนการศึกษาช่วยเหลือเด็กยากจนที่ได้ผู้บริจาคมากมายจากญี่ปุ่นจนช่วยเด็กได้ทั้งภาคอีสาน
“สุดท้ายก็พัฒนากลายเป็นมูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา ที่คุณพ่อเป็นประธาน และขยายกิจกรรมไปภาคอื่นของประเทศ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านด้วย”
ศักดาทิ้งท้ายกับความทรงจำที่มีต่อเสียงแคนที่ได้เปิดโอกาสมากมายในชีวิตของเขา
รวมทั้งโอกาสให้ความสุขแก่บิดาในช่วงบั้นปลาย

ไม่มีความคิดเห็น: