PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศจุดยืน ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เสนอนำรธน. 2550 กลับมาประกาศใช้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวที่พรรคและถ่ายทอดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ไม่รับร่างรัญธรรมนูญ พร้อมเสนอให้นำรัฐธรรมนูญปี 2550 มาใช้ พร้อมวิพากษ์ แนวทางแก้คอร์รัปชั่นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้องค์กรตรวจสอบทุจริตขาดการถ่วงดุลและไม่เป็นอิสระ ขณะที่บทบัญญัติเกี่ยวกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมืองอาจเปิดโอกาสให้จำเลยคดีทุจริตจำนำข้าวได้อุทธรณ์เพื่อพิจารณาโดยองค์คณะใหม่ได้

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า มี 3 ประเด็นที่ควรจะพิจารณาประกอบในการตัดสินใจรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นแรก คือต้องพิจารณาว่าจะกำหนดทิศทางของการพัฒนาประเทศอย่างไร รัฐธรรมนูญหรือกติกาของบ้านเมืองจะส่งผลให้ทิศทางของประเทศเดินไปทางไหน ทั่งนี้เป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือต้องทำให้ระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนที่ด้อยโอกาส ไม่ค่อยมีสิทธิมีเสียง ยากจน ถ้าสามารถทำให้คนอ่อนแอที่สุด ด้อยโอกาสที่สุดยากจนที่สุดมีความเข้มแข็งได้ นั่นจะเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งที่สุดของประเทศและเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน
ประเด็นที่สองคือ การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจในทางที่ผิดไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะมาด้วยวิธีใด ซึ่งส่งผลเสียอย่างมหาศาลกับประเทศทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง 
และประเด็นที่สาม คือ คนไทยคงไม่ต้องการเห็นวัฎจักรของความขัดแย้งทางการเมืองอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรัฐประหาร การชุมนุมประท้วง การใช้ความรุนแรง การสร้างความเกลียดชัง

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของการเมืองในประเทศนอกจากเรื่องประชาธิปไตยแล้วต้องมีการกระจายอำนาจ แต่ร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นไม่ได้เดินไปในทิศทางที่สอดคล้องกับแนวคิดเหล่านี้ โดยรัฐธรรมนูญในหมวดสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นให้หลักประกันน้อยกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 และยังเปิดช่องให้ออกกฎหมายมาจำกัดสิทธิและการมีส่วนร่วมและการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ

นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จำกัดบทบาทประชาชนที่จะมีส่วนร่วมในการแสดงออกโดยขยายบทบาทของภาคราชการ นอกจากนี้ยังขาดการตรวจสอบถ่วงดุลที่เหมาะสม โดยร่างฯ วางน้ำหนักการตรวจสอบถ่วงดุลจากสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่มาจากการเลือกกันเองในหมวดถาวร และการคัดเลือกแต่งตั้งในบทเฉพาะกาล ซึ่งพูดไม่ได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง และการใช้กลไกแบบนี้นอกจากจะไม่แก้ปัญหาความขัดแย้งกลับจะเป็นการสร้างคู่ขัดแย้งใหม่ในทางการเมือง

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวว่ากระบวนการทำประชามตินี้เป็นกระบวนการที่ค่อนข้างผิดปกติ ไม่ได้เป็นไปตามที่เคยปฏิบัติกันมา มีการจับกุม และใช้วิธีที่ไม่ปกติจากหลายฝ่ายและนำมาสู่ประเด็นข้อโต้แย้งไม่จบสิ้นว่าฝายต่างๆ ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ ไม่เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้ และจะกลายเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งต่อไปในอนาคต

ในส่วนของการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ที่เป็นจุดเด่นที่ถูกหยิบยกขึ้นมา และเขาสนับสนุนหลายมาตรา แต่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนั้นทำให้ ปปช. ในฐานะองค์กรหลักในการปราบปรามทุจริตคอร์รัปช่น ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลจากภายนอกและไม่เป็นอิสระ ขณะที่บทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นอีกองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบนักการเมืองกลับเปิดโอกาสให้มีการอุทธรณ์คดีได้และพิจารณาโดยองค์คณะใหม่ เหมือนเปิดโอกาสให้มีการพิจารณาซ้ำสองครั้ง และด้วยบทบัญญัติแบบนี้ ผู้ที่จะได้ประโยชน์ก็เป็นนักการเมืองที่ทุจริต เช่นจำเลยคดีจำนำข้าว ซึ่งโดยช่วงเวลาแล้วถ้ารัฐธรรมนูญผ่าน จำเลยคดีทุจริตจำนำข้าวก็จะเป็นกลุ่มแรกที่อุทธรณ์ด้วยกระบวนการใหม่นี้ได้ทันที

จากนั้น นายอภิสิทธิ์ประกาศว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และย้ำว่าร่างฯ นี้ไม่ตอบโจทย์ประเทศ ไม่สามารถเป็นกติกาถาวรที่เอื้อให้ประเทศไทยพ้นจากสภาพปัญหาเดิมๆ ได้ และเสนอให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาใช้ เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบประชามติมาแล้ว และศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าถ้าจะรื้อทิ้งควรไปถามความเห็นชอบของประชาชนก่อน อีกทั้งรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดการรัฐประหาร และหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน ก็ยังเป็นการเปิดโอกาสให้สังคมได้สิ่งที่ดีกว่า และหลุดพ้นจากวังวนเดิมๆ ที่ติดหล่มกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปี
นายอภิสิทธิ์กล่าวทิ้งท้ายว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องการเริ่มต้นก้าวใหม่ในการเมืองใหม่ ต้องพิจารณาเรื่องต่างๆตามหลักการ อุดมการณ์ ประโยชน์ส่วนร่วมและประโยชน์ประเทศโดยเอาข้อเท็จจริงและเหตุผลมาพูดกัน

ไม่มีความคิดเห็น: