PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ผ่าน-ไม่ผ่าน เกิดอะไร ทายท้าวิชามาร

ใบตองแห้ง

ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน-ไม่ผ่าน จะเกิดอะไร เป็น Scenario ที่คนจำนวนมากยังคลุมเครือและมีผลต่อการตัดสินใจ บ้างก็กลัวว่าถ้าไม่ผ่านจะเกิดความวุ่นวาย จะไม่มีเลือกตั้งตามโรดแม็พ ฯลฯ

ผู้มีอำนาจก็พยายามทำให้คลุมเครือเข้าไว้ เพื่อให้ประชาชนไม่มีทางเลือก จะได้ยอมจำนนแต่โดยดี พวกที่สายตาสั้นอยู่แล้วก็เชื่อว่าหยวนยอมไปเถอะ อย่างน้อยบ้านเมืองก็ยังสงบ จะได้ทำมาหากิน เดี๋ยวก็มีเลือกตั้งจะต้องไปขัดขวางเขาทำไม

เช่น ตอนนี้มีข่าวสะพัดว่า สถาบันใหญ่ๆ ภาคเอกชนบอกสมาชิกให้รับร่าง จะได้เศรษฐกิจดี แต่ไม่รู้เพราะสายตาสั้นหรือมีผลประโยชน์กับรัฐบาลทหารกันแน่

ถ้าพูดไปถึงอนาคต ร่างรัฐธรรมนูญวางกับระเบิดไว้ให้เกิดความแตกแยกรุนแรงมากมาย โดยเฉพาะรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ไม่ว่าฝ่ายไหนก็อยู่ยาก แค่มีเลือกตั้งก็วุ่นวาย แต่เมื่อคนไทยสายตาสั้น พูดไปก็ไลฟ์บอย คนไทยแค่อยากฟังว่าหลังประชามติจะเกิดอะไร ส่วนที่เหลือก็แก้ปัญหากันไปเฉพาะหน้า

Scenario ที่จะเกิดขึ้นหลังประชามติคืออะไร หนึ่ง ผ่านอย่างโล่งโจ้งโปร่งใส สังคมได้ฉันทามติ คสช.ชนะใจคนไทย เดินหน้าไปสู่เลือกตั้ง หรือสอง ไม่ผ่านก็ไม่เห็นเป็นไร คสช.ยังอยู่ต่ออย่างสบายใจ ร่างเอง ร่างใหม่ ยังไงๆ ก็ยังมีเลือกตั้งตามโรดแม็พ

ไม่ว่าผ่านหรือไม่ผ่าน ก็ไม่เกิดทั้งสองอย่างนั่นละครับ โลกหมุนไปแล้วไม่มีหวนกลับ 3 เดือนที่ผ่านมา เราเห็นกระแสไม่รับเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากเสื้อแดง เพื่อไทย ไปจนภาคประชาสังคม หรือบางคนที่เคยเป่านกหวีด พร้อมๆ กับเห็นการปิดกั้น หวั่นไหว ไล่จับ ตั้งแต่ขบวนการประชาธิปไตยใหม่รณรงค์ไม่รับ ไปถึงจับเด็ก จับลิง และห้ามโฆษณากาแฟ “กาโน”

ฉะนั้น Scenario ที่จะเกิดขึ้นจริงก็คือ ถ้าผ่าน จะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ยอมรับว่าประชามติไม่ Free ไม่ Fair โดยกระแสต้านจะกว้างขวางขึ้น ผนวกกระแสความไม่พอใจเรื่องอื่นๆ ขณะที่ คสช.ก็จะอ้างความชอบธรรมจากประชามติ ซึ่งรับรอง ม.44 ในบทเฉพาะกาล ใช้อำนาจควบคุมอย่างเข้มงวดขึ้น ท่ามกลางกองเชียร์ทั้งสื่อและมวลชนที่เลือกข้าง

อย่าลืมว่า การเลือกตั้งยังไม่เกิดทันที บทเฉพาะกาลมาตรา 267-268 ให้เวลากรธ.ร่างกฎหมายลูกอีก 8 เดือน หลังกฎหมายเกี่ยวกับเลือกตั้ง 4 ฉบับเสร็จ จึงเลือกตั้งใน 3 เดือน ไม่เหมือนปี 50 ที่มีเลือกตั้งใน 4 เดือน ในช่วงเวลาปีกว่าๆ ที่ คสช.ยังไม่ลงจากอำนาจ ยังอาจเกิดชนวนขัดแย้งอีกหลายจุด

ถ้าไม่ผ่าน จริงหรือที่ คสช.จะอยู่อย่างสบายใจไม่สะดุ้งสะเทือน ไม่เกี่ยวไม่ข้องไม่ต้องรับผิดชอบ อาจมีสื่อมีลูกไล่ตีขลุมว่าประชาชนไม่รับเพราะอยากให้อยู่นาน แต่ความจริงก็รู้กันเพราะอะไร

แน่ละ ฐานกองทัพมั่นคงปึกแผ่น ไม่มีใครล้มได้ แต่การตัดสินใจอะไรต่อไปจะยากลำบาก จะมีคนกล้าคัดค้านมากขึ้นเรื่อยๆ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็ไม่เห็นทางออก จะถูกกดดันจากภาคประชาสังคม นักวิชาการ พรรคการเมือง ว่าต้องให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม แม้มีอำนาจร่างเองประกาศใช้เลยแต่ก็ไร้ความชอบธรรม จะลงจากอำนาจไม่ได้หรือลงไปก็ตาไม่หลับ

เว้นแต่จะปรับตัวถูกกดดันจนต้องผ่อนคลายอำนาจ หันมา “ปรองดอง” กับทุกฝ่าย หาฉันทามติไปสู่เลือกตั้งแล้วกองทัพถอยไป นั่นเป็น Scenario ที่ต้องวัดใจกันอีกยก ถ้าไม่ผ่าน
                                                                                                                ใบตองแห้ง

ไม่มีความคิดเห็น: