PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

"อภิสิทธิ์"กับการตัดสินใจ"โหวตโน"


จากFB ศิโรจน์ คล้ามไพบูลย์

คุณอภิสิทธิ์เป็นผู้นำการเมืองที่สำคัญที่สุดคนนึงในสังคมไทย ใครจะชอบหรือไม่ชอบเป็นอีกเรื่อง แต่ในฐานะหัวหน้าพรรคใหญ่อันดับสอง ในฐานะอดีตนายก และในฐานะ ส.ส.กรุงเทพมหานคร 24 ปี คุณอภิสิทธิ์รู้แน่ๆ ว่าคำประกาศบ่ายสองวันนี้จะส่งผลอย่างไรต่อการเมืองไทย

บ่ายสองโมงวันนี้คุณอภิสิทธิ์จะแถลงท่าทีว่า “ไม่รับ” หรือ “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ สาระสำคัญของเรื่องเป็นการประกาศว่าพรรคเก่าแก่และอดีตนายกของประเทศเอาอย่างไรกับร่างฉบับนี้ จะตัดสินใจแบบไหนย่อมมีคนด่าและคนวิพากษ์วิจารณ์่ ถ้า “ไม่รับ” ก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งด่า แต่ถ้า “รับ” ก็จะมีคนอีกกลุ่มวิจารณ์เหมือนกัน เรื่องเสียงวิจารณ์จึงไม่ควรเป็นประเด็นในการตัดสินใจ

คิดอย่างผิวเผินแล้ว “ไม่รับ” หรือ “รับ” เหมือนเป็นการเมืองน้ำเน่าประเภทใครขั้วไหน ใครสนับสนุนใคร ใครต่อต้านใคร แต่คุณอภิสิทธิ์ย่อมประเมินออกว่าการ “ไม่รับ” มีนัยยะกว่าการแย่งอำนาจเฉพาะหน้าเยอะ การตัดสินใจของคุณอภิสิทธิ์ควรคิดถึงนัยยะของร่างนี้ให้มากๆ และนิ่งพอจะไม่สนใจคำโจมตีจากฝ่ายซึ่งหมกมุ่นเรื่องแย่งอำนาจการเมือง ไม่ว่าจะจากสีเสื้อไหน พรรคอะไร และก๊วนไหนก็ตาม

ใครอ่านร่างมีชัยก็เห็นตรงกันว่าประเทศไทยในอนาคตจะสืบทอดเส้นทางแบบที่เป็นหลังปี 2557 ประชาชนคุมนโยบายรัฐบาลไม่ได้ พรรคการเมืองเป็นแค่ไม้ประดับของรัฐบาลแบบตอนนี้ วุฒิสมาชิกคือพรรคือพรรคใหญ่ที่ทหารจองที่นั่ง 250 คน ไว้เลือกนายก และมีโอกาสสูงที่็ข้าราชการจะคุมกลไกบริหารประเทศหนักกว่าปัจจุบัน

คุณอภิสิทธิ์รู้เท่าทุกคนที่มองสถานการณ์ออกรู้ว่าประเทศไทยปี 2559 อยู่ด้วยกลไกนี้ไม่ได้ ร่างมีชัยเอาเรื่องปฏิรูปประเทศ/ ยุทธศาสตร์ประเทศ ฯลฯ ปนกับการสืบทอดอำนาจ ใครไม่ทำตามแผนของรัฐตอนนี้ถูกปลดได้หมด แต่สถานการณ์ตอนนี้และอีกหลายสิบปีเป็นแบบนี้ไม่ได้ การพัฒนาประเทศ การปฏิรูปประเทศ การสร้างยุทธศาสตร์ประเทศ ฯลฯ ต้องทำผ่านประชาธิปไตย ให้ประชาชนกำหนดอนาคตของเขาเอง

ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองในไทยมานาน คุณอภิสิทธิ์ย่อมทราบว่าคนจำนวนหนึ่งในวงการเมืองและสังคมมีมุมมองแบบสุดขั้ว แต่ตอนนี้ปัญหาของประเทศไม่ใช่เรื่องประเภทประชาธิปัตย์ vs เพื่อไทย , ไม่ใช่ ทักษิณ/เกลียดทักษิณ และไม่ใช่ ประชาธิปไตย vs เผด็จการ ด้วยซ้ำไป โจทย์ตอนนี้มันง่ายมาก นั่นก็คือประโยชน์สาธารณะจะเสียไปหมด และทุกฝ่ายจะเสียหาย หากร่างมีชัยสร้างกลไกการเมืองอย่างที่ต้องการขึ้นมา

เดาได้ไม่ยากว่าในพรรคและคนที่ล้อมรอบคุณอภิสิทธิ์จำนวนหนึ่งคงอยากให้คุณอภิสิทธิ์ประกาศ “รับ” โดยเฉพาะพวกคนแก่ที่หมกมุ่นเรื่องประเภท “ระบอบทักษิณ” มากกว่าสิบปี หรือคนใหม่ๆ ที่เข้าการเมืองตอนที่ประเทศตีกันเละเทะ แต่คุณอภิสิทธิ์ไม่ใช่คนสองกลุ่มนั้น คุณอภิสิทธิ์มองออกแน่ๆ ว่าร่างนี้จะทำให้เกิดระบอบใหม่ซึ่งน่ากลัวกว่าทุกระบอบที่เราตีกันตลอดสิบปี

ต่อให้คิดแบบอยากได้อำนาจ ร่างนี้ก็ไม่ทำให้ประชาธิปัตย์ได้อำนาจ เป็นได้อย่างมากก็รัฐมนตรีพลเรือนในรัฐบาลแบบนายกปัจจุบัน

ในร่างมีชัย อย่างดีที่ประชาธิปัตย์จะได้คือเป็นรองนายกแบบที่หม่อมอุ๋ยเคยเป็น นั่นคือเป็นมือเป็นไม้แบบต่อรองเรื่องนโยบายเรื่องประโยชน์ประเทศไม่ได้ และหากทำพลาด ก็ถูกเขาไล่ออกอย่างไม่ใยดี ส.ส.ในพรรคจะมีเกียรติยศไม่ต่างจากส.ส.พรรคสามัคคีธรรม หรือ “พรรคมาร” สมัยพฤษภาคม 2535 หรือพรรค “สหประชาไทย” ยุคถนอม กิตติขจร

เด็กๆ ในพรรคอยากรู้ว่าสถานะ ส.ส.ตอนนั้นเป็นอย่างไรก็ลองถามคุณชวน หลีกภัย หรือคนในพรรคที่ทันเหตุการณ์ปี 2535 อย่างคุณองอาจหรือคุณนิพิฎฐ์ดู

การตัดสินใจของคุณอภิสิทธิ์วันนี้จะเปิดหมุดหมายใหม่ของประเทศว่าเราต้องหยุดความขัดแย้งที่ทะเลาะกันกว่าสิบปี ประเทศไทยตอนนี้เผชิญปัญหาที่ใหญ่กว่าเยอะ เป็นปัญหาที่จะฉุดประเทศถอยหลังไปหลายสิบปี เป็นปัญหาที่จะสร้างภาระให้คนในอนาคตมาแก้ เป็นปัญหาที่อาจพาประเทศสู่การเผชิญหน้าที่เลวร้ายที่สุด และเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันทุกวิถีทางที่จะหยุดยั้งมัน

มั่นใจว่าตอนนี้คุณอภิสิทธิ์กำลังเผชิญสถานการณ์ที่ตัดสิน และ “จัดการ” ได้ยากครั้งหนึ่งในชีวิต ตัดสินใจแบบไหนก็จะมีคนตำหนิ แต่ในฐานะคนที่เคยผ่านเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 คุณอภิสิทธิ์รู้อยู่แล้วว่าว่าการตัดสินใจแบบไหนจะปกป้องประโยชน์สาธารณะของประเทศ ปกป้องประเทศไทยปัจจุบัน และหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่จะตามมา

ไม่มีนักการเมืองคนไหนอยากเผชิญเสียงตำหนิจากประชาชน แต่ในเวลานี้ เสียงของพวกสุดโต่งคือเสียงที่เราต้องฟังให้น้อยที่สุด ปล่อยพวกหมกมุ่นกับอดีตให้หมกมุ่นกับอดีตต่อไป เพราะถึงอย่างไรเสียงประชาธิปไตยก็จะดังที่สุดในปัจจุบันและอนาคตครับ ประวัติศาสตร์ที่ไหนก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน

ในฐานะเป็นคนในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ผมจำได้ว่าคุณอภิสิทธิ์ตอนนั้นเป็นอาจารย์หนุ่มที่มาร่วมประชุมกับนักศึกษาพร้อมคนในประชาธิปตย์ปัจจุบันและคนจากพรรคอื่นหลายครั้งในเวลาที่ยังไม่รู้ว่าประชาชนจะชนะหรือแพ้ คุณอภิสิทธิ์คงจำได้เหมือนกันว่าผู้นำพรรคยุคนั้นคือคุณชวนร่วมต้านรัฐธรรมนูญมีชัยเคียงข้างกับผู้นำพรรคอื่นอย่างคุณจำลอง คุณอุทัย และ พล.อ.ชวลิต เพราะทุกพรรคและทุกคนรู้ว่ามีแต่การร่วมมือกัน ยุติความขัดแย้งในอดีต เราถึงจะยุติปัญหาที่จะเป็นภัยคุกคามทุกคนได้จริงๆ
ขอให้การตัดสินใจวันนี้บ่ายสองเป็นการตัดสินใจเพื่อประชาธิปไตยและประโยชน์สาธารณะครับ Abhisit Vejjajiva

ไม่มีความคิดเห็น: