PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ทำไมเออร์โดกันต้องล้างบาง?

โดย คุณนิติ นวรัตน์

เรื่องของตุรกีกำลังมั่ว ความเชื่อของผู้คนทั้งโลกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งก็เชียร์ประธานาธิบดีเออร์โดกัน อีกฝ่ายหนึ่งก็เชียร์นายเฟตฮุลเลาะห์ กูเลน ที่ขณะนี้ลี้ภัยอยู่ในสหรัฐฯ ฝ่ายที่เชียร์นายเออร์โดกันบอกว่า รักแก เพราะแกกล้าต่อกรกับอิสราเอล หลายคนถึงขนาดยกย่องให้แกเป็นคอลีฟะห์ หรือกาหลิบ ซึ่งคำนี้ใช้เรียกประมุขของอาณาจักรอิสลาม

ขอเรียนนะครับ ว่ารากฐานสำคัญของการก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกีก็คือ Secularism หรือหลักการแบ่งแยกศาสนาออกจากการเมืองอย่างเด็ดขาด มีความพยายามของหลายพรรคที่นายเออร์โดกันเคยสังกัด จะนำศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองอยู่หลายครั้ง แต่ก็โดนศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งปิดพรรคเหล่านั้นไปจนสิ้น

พ.ศ.2465 สมัชชาใหญ่แห่งตุรกีมีมติเลิกตำแหน่งสุลต่าน แต่ยังคงตำแหน่งกาหลิบซึ่งเป็นตำแหน่งผู้นำทางศาสนาอิสลามไว้ อีก2ปีต่อมา รัฐบาลใหม่ของสาธารณรัฐตุรกีเลิกตำแหน่งกาหลิบ และประกาศปิดโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามทั่วประเทศ พร้อมทั้งห้ามผู้ชายโพกศีรษะ ห้ามสตรีคลุมฮิญาบ ให้ยกเลิกกฎหมายฉบับใดที่ยึดตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลามหรือกฎหมายชาลีอะห์ และเอากฎหมายแบบตะวันตกมาใช้แทน

พ.ศ.2471 มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้ตัดคำว่า ศาสนาประจำชาติคือศาสนาอิสลาม ออก และให้เลิกตัวอักษรอารบิก หันมาใช้ตัวอักษรละตินแบบตะวันตก

พ.ศ.2480 หนึ่งปีก่อนที่มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกีจะถึงแก่อสัญกรรม ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตุรกีเป็น Secular State แปลเป็นไทยน่าจะเท่ากับรัฐโลกวิสัย หรือรัฐฆราวาส หมายถึงรัฐที่เป็นกลางด้านศาสนา ไม่สนับสนุนหรือต่อต้านความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนาใดๆ ไม่มีศาสนาประจำชาติ แต่ถ้ามีก็เป็นแต่เพียงความหมายทางสัญลักษณ์ ไม่กระทบต่อชีวิตประจำวันของคน ทุกคนมีเสรีในการนับถือศาสนา คนในพรรคการเมืองไหนมีหัวเอียงไปทางศาสนา พรรคนั้นจะโดนศาลรัฐธรรมนูญปิด

พ.ศ.2513 นายเออร์บากันตั้งพรรคการเมืองสายนิยมอิสลามขึ้นมาเป็นครั้งแรก ชื่อว่าพรรค National Order อยู่ได้เพียงปีเดียว ศาลรัฐธรรมนูญก็สั่งปิด (ครั้งที่ 1) นายเออร์บากันต้องลี้ภัยไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ปีต่อมาก็ได้รับอนุญาตให้กลับประเทศ แกก็มาตั้งพรรคใหม่ชื่อพรรค National Salvation ได้ ส.ส. มากถึงร้อยละ 11.8 ได้ร่วมรัฐบาลผสม

แต่พอถึง พ.ศ.2523 ก็โดนทหารทำรัฐประหาร นายเออร์บากันพร้อมสมาชิกพรรค 21 คนถูกจำคุกและถูกห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองข้อหาต่อต้านหลักการแยกศาสนาออกจากการเมือง (ครั้งที่ 2)
ผู้ใกล้ชิดนายเออร์บากันจึงต้องมาตั้งพรรคใหม่ชื่อพรรค Welfare และเมื่อมีการเลือกตั้ง พรรคก็ได้ ส.ส.เยอะมากที่สุด เป็นรัฐบาล นายเออร์บากันพ้นโทษและพ้นวาระที่ถูกห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง มาแล้ว ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

เป็นได้เพียงปีเดียว กองทัพก็เคลื่อนไหวต่อต้านทำให้พรรคล่ม ศาลรัฐธรรมนูญปิดพรรค Welfare ข้อหาขัดหลักการการแยกศาสนาออกจากการเมือง (ครั้งที่ 3) 
พวกที่ไม่โดนจำคุกก็ออกมาตั้งพรรคใหม่ชื่อว่าพรรค Virtue เลือกตั้งก็ได้ ส.ส. มากถึงร้อยละ 15.4 แต่ก็โดนศาลรัฐธรรมนูญปิด ข้อหาขัดหลักการการแยกศาสนาออกจากการเมืองอีก (ครั้งที่ 4)

นายเออร์โดกัน (ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน) จึงออกมาตั้งพรรค Justice and Development เมื่อสิงหาคม พ.ศ.2544 ลงเลือกตั้งก็ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ในรอบ 15 ปี แต่นายเออร์โดกันเป็นนายกฯ ไม่ได้ เพราะโดนโทษจำคุกและถูกห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง 4 ปี ข้อหาอ่านบทกวีหนุนอิสลาม เมื่อพ้นโทษแล้วจึงค่อยมาเป็น

พ.ศ.2545 อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งปิดพรรค Justice and Development เช่นเดียวกัน แต่คราวนี้รอด

ท่านลองนึกถึงการสู้กับศาลรัฐธรรมนูญและทหารของพรรคสายอิสลามของตุรกีดูนะครับ ตั้งพรรคมากี่ครั้งก็ถูกปิด สมาชิกพรรคถูกจำคุก ถูกตัดสิทธิ์ คนที่ไม่โดนจำคุกก็มาตั้งพรรคใหม่ กว่าจะถึงวันนี้ ต้องสู้กันจนทุกคน ตกผลึกทางการต่อสู้ จนกลายเป็นเพชร
15 กรกฎาคม 2559 พรรคสายอิสลามชนะทหารและศาล
จึงต้องล้างบางฝ่ายตรงข้ามให้สิ้น

ไม่มีความคิดเห็น: