PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

"มีชัย"ซัด แถลงการณ์ยูเอ็นอาจมีเบื้องหลังแอบแฝง ยัน คว่ำ รธน.ให้บิ๊กตู่อยู่ยาวไม่จริง

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่สำนักงานใหญ่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการกำหนดวันเลือกตั้งว่า หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ตามกระบวนการที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จะมีเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2560 แต่ต้องขึ้นอยู่กับการทำกฎหมายลูกด้วยว่าจะมีปัจจัยหรือเงื่อนไขใดที่ต้องทำให้เพิ่มเวลาต่อหรือไม่ ส่วนประเด็นการเรียกร้องให้คว่ำรัฐธรรมนูญ ตนมองว่า นายกฯได้ลั่นวาจาไว้ว่าจะมีการเลือกตั้งภายในปี 2560 ดังนั้น คสช.ต้องเคี่ยวเข็ญให้จัดเลือกตั้งให้ได้ภายในเวลาที่ระบุไว้ ที่มีคนปล่อยข่าวว่า หากจะให้นายกฯอยู่ยาวต้องคว่ำรัฐธรรมนูญ นี่ไม่ใช่ความจริงเพราะจะมีคนออกมาเดินขบวนขับไล่แน่

เมื่อถามว่า กระบวนการดังกล่าวจะมีปัจจัยแทรกซ้อนหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า “ผมไม่ได้เรียนโหราศาสตร์ จึงไม่ทราบว่าดวงดาวไหนจะทับซ้อนดวงดาวใด จึงตอบไม่ได้ จะช้าหรือเร็วก็ไม่ห่างกันเกิน 2-3 เดือน”

เมื่อถามถึง กรณีที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ท้วงติงว่าการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญยังเข้าไม่ถึงประชาชน นายมีชัยกล่าวว่า กรธ.ทำได้เท่านี้ เหมือนที่นักข่าวหนึ่งคนได้สัมภาษณ์ตน แต่ไม่ได้สัมภาษณ์นายกฯ ดังนั้น กรธ. 21 คนก็ทำได้เท่านี้ วันนี้ตนมองว่าคนส่วนใหญ่รู้เรื่องรัฐธรรมนูญมากขึ้น แต่คงยากที่จะบอกว่าคนรับรู้แล้ว 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะคนบางคนก็ปิดประตูไม่รับรู้

เมื่อถามถึงกรณีที่หัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 กับนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายก อบจ.เชียงใหม่ จะมีผลต่อการทำประชามติหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ตนไม่ทราบรายละเอียดของคำสั่งดังกล่าว แต่คิดว่าคงไม่มีผลต่อการทำประชามติ เพราะประชาชนที่จะตัดสินใจว่าจะลงคะแนนอย่างไร ล้วนมีปัจจัยอยู่แล้ว และปัจจัยจะไม่เปลี่ยน ส่วนกรณีที่นายบุญเลิศเป็นเครือข่ายของพรรคเพื่อไทยนั้น ตนมองว่าหากเขามีเครือข่ายจริงคงสั่งให้เครือข่ายไม่รับมาตั้งแต่ต้น

เมื่อถามถึงกรณีที่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกแถลงการณ์กดดันให้เปิดเสรีภาพช่วงประชามติ ประธาน กรธ.กล่าวว่า ต้องถามยูเอ็นว่าเสรีภาพรวมถึงการเอาความเท็จไปให้ประชาชนด้วยหรือไม่ เพราะสิ่งที่รัฐบาลทำ ไม่ได้ห้ามคนให้แสดงความเห็น เขาห้ามคนไม่ให้ไปเอาความเท็จไปพูด คล้ายกับกรณีสมมติที่ยูเอ็นสั่งเจ้าหน้าที่ของยูเอ็นไม่ให้พูดว่า ยูเอ็นอยู่หลังฉากการฆ่ากันตายที่ลิเบีย จอร์เจีย หรือประเทศอื่นๆ เพราะประเด็นดังกล่าวไม่ใช่ความจริง ดังนั้นกรณีดังกล่าวยูเอ็นถือว่าปิดเสรีภาพเขาหรือไม่ คำตอบคือไม่เพราะยูเอ็นไม่ได้ทำ ดังนั้นสิ่งที่กำลังห้ามก็คือ การพูดเท็จ ที่ผ่านมาทั้ง กรธ.และ กกต.เองก็ไม่ได้ห้ามคนออกมาพูดเลย กรณีที่ยูเอ็นออกแถลงการณ์ดังกล่าวอาจมีกระบวนการเบื้องหลัง ตนคิดว่ายูเอ็นต้องเป็นกลางไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการยอมรับ

ไม่มีความคิดเห็น: