PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ขมวดพิรุธ อผศ.ขุดคลองก่อนสรุป 'คนใน'ไม่ผิด! ‘อิศรา’คุ้ย-กก.สอบไม่เจอ?

“…หากผลสรุปออกมา ‘ค้านสายตา’ สาธารณชนอย่างนี้ ใครจะต้องรับผิดชอบ หรือจะปล่อยให้ผ่านไปกับสายลมเหมือนกับกรณีการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ... หากเป็นเช่นนั้นจริง คงไม่สามารถพูดว่า ‘ทหาร’ เข้ามาเพื่อ ‘ปฏิรูป-ปราบคอร์รัปชั่น’ ได้อย่างเต็มปากนัก…”
 PIC apsapsss 22 7 59 1
“เรื่องนี้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างขั้นตอนยื่นเรื่องต่อผู้บังคับบัญชาพิจารณา เบื้องต้นไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่จากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) เกี่ยวข้อง โดยมีการสอบถามจากบริษัทเอกชนแล้ว คณะกรรมการฯ ยังไม่พบข้อมูลที่ชัดเจนในกรณีนี้”
เป็นคำยืนยันบางห้วงบางตอนจาก พล.ท.สวัสดิ์ ทัศนา รอง ผอ.อผศ. ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีร้องเรียนกลุ่มเอกชนเรียกรับหัวคิวในการขุดคลองของ อผศ. ทั่วประเทศ
เมื่อได้รับคำตอบมาเช่นนี้ อาจทำให้สาธารณชนคลางแคลงใจกับผลสอบดังกล่าวแน่นอน ?
เนื่องจากก่อนหน้านี้ที่กลุ่มธรรมาภิบาล และสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบและนำเสนอมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงองค์กรอิสระที่เข้าไปตรวจสอบอย่าง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ต่างพบความไม่ชอบมาพากลในการดำเนินโครงการดังกล่าว
โดยเฉพาะประเด็น เอกชนเข้าไปรับงานทำเอง (ซึ่งอาจขัดกับมติของคณะกรรมการสิทธิพิเศษฯ กระทรวงการคลัง ที่ระบุให้ อผศ. ต้องเป็นคนทำเอง) และปล่อยช่วงให้ผู้รับเหมารายย่อยในพื้นที่ทำต่อ มีการร้องเรียนเรื่องหักหัวคิวที่ถูกร้องเรียนอย่างหนัก มีการทำหนังสือไปยื่นถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และองค์กรอิสระต่าง ๆ ให้เข้าไปตรวจสอบด้วย
เพื่อขยายข้อเท็จจริงให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงหลักฐาน-ข้อร้องเรียนต่าง ๆ ลงพื้นที่พิสูจน์ร่วมกับภาคประชาชน (กลุ่มธรรมาภิบาล) และข้อมูลจาก สตง. มานำเสนอให้เห็นกันอีกครั้ง ดังนี้
พล.อ.รณชัย มัญชุสุนทรกุล ผอ.อผศ. เคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ระบุว่า ในการขุดคลองทั่วประเทศมีทั้งหมดประมาณ 1,300 สัญญา วงเงินรวมประมาณ 4,800 ล้านบาท โดยหน่วยงานรัฐที่ว่าจ้างมากที่สุดคือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย
ประเด็นอ้างปล่อยเอกชนเช่าเครื่องจักร 
กรณีนี้คณะกรรมการสิทธิพิเศษของหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง มีมติเห็นชอบให้สิทธิพิเศษแก่ อผศ. เมื่อช่วงปี 2556 ก่อนที่ประชุม คสช. จะมีมติอนุมัติตามกระทรวงการคลังเสนอเมื่อปี 2557 โดยประเด็นสำคัญที่ทำให้ อผศ. ได้รับสิทธิพิเศษคือ คณะกรรมการสิทธิพิเศษฯ ระบุว่า อผศ. มีเครื่องมือเพียบพร้อมในการทำงานขุดลอกแหล่งน้ำ และมีบุคลากรเพียงพอ
ทว่าข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบพบคือ อผศ. กลับทำสัญญาโดยอ้างว่าเช่าเครื่องจักรจากเอกชนเพื่อเข้าไปทำงานขุดคลองในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ พล.อ.รณชัย มัญชุสุนทรกุล ผอ.อผศ. เคยให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า มีอุปกรณ์-เครื่องจักร ไม่เพียงพอจริง และไม่อยากจัดซื้อเพราะเกรงว่า ในปีงบประมาณต่อ ๆ ไป อาจไม่คุ้มค่า จึงใช้วิธีเช่าจากเอกชน
ประเด็น อผศ. ไม่ทำ แต่ให้เอกชนเข้าไปทำงานเอง
กรณีนี้เกิดจากการร้องเรียนของกลุ่มธรรมาภิบาลที่ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี รวมถึงองค์กรอิสระต่าง ๆ โดยเบื้องต้นพบว่า ในหลายพื้นที่ที่ อผศ. เข้าไปรับงานขุดคลองนั้น แท้จริงแล้วเป็นการทำสัญญาให้เอกชนเข้าไปดำเนินการเอง โดยอ้างว่าปล่อยเช่าเครื่องจักร 
ขณะที่จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของสำนักข่าวอิศรา พร้อมกับผู้บริหาร อผศ. ใน จ.สุพรรณบุรี อย่างน้อย 2 แห่ง ได้รับข้อมูลยืนยันจากกลุ่มผู้รับเหมาว่า เข้ามาขุดคลองดังกล่าวเอง โดยมีการ ‘ดีล’ กันระหว่าง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในจังหวัด กับ อผศ. และมีการคัดเลือกผู้รับเหมาให้เข้าไปทำ ก่อนที่จะมาทำเรื่องเบิกเงิน
ประเด็นการหักหัวคิว-กินส่วนต่าง
กรณีนี้พบว่า มีกลุ่ม ‘คุณนาย อ.’ ร่วมกับกลุ่ม ‘ส.จ.ผู้กว้างขวางในสุพรรณบุรี’ คือสองเอกชนรายใหญ่ที่เข้าไปทำสัญญาปล่อยเช่าเครื่องจักรให้ อผศ. นับหลายร้อยสัญญา โดยมีการดีลกันระหว่าง ‘บิ๊กใน อผศ.’ รายหนึ่งและ ‘บิ๊กใน ปภ.’ รายหนึ่ง ที่เป็นคนชงเรื่องให้ ปภ.จังหวัดทั่วประเทศ จ้าง อผศ. ขุดลอกคลอง
ทั้งนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า อผศ. ไม่ได้ทำงานเอง แต่ปล่อยให้กลุ่มเอกชนทั้งสองรายปล่อยช่วงสัญญาให้ผู้รับเหมาในพื้นที่ทำต่อ โดยส่วนใหญ่เป็นการทำสัญญาปากเปล่า และกินหัวคิวประมาณ 30-40% ของทุกสัญญา 
นอกจากนี้ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียง ‘กลุ่มคุณนาย อ.’ และกลุ่ม ‘ส.จ.’ ยังปล่อยสัญญาให้กับกลุ่ม ‘เจ๊ ร.-เจ๊ น.’ โดยหักหัวคิวประมาณ 30-40% ของทุกสัญญา ก่อนที่กลุ่ม ‘เจ๊ ร.-เจ๊ น.’ จะนำมาปล่อยช่วงอีกครั้งให้กับผู้รับเหมาในพื้นที่ ทำให้กลุ่มผู้รับเหมาบางรายแทบไม่ได้กำไร หรือแทบไม่ได้เงินเลย หรือบางรายไม่ได้รับเงิน จนต้องมาทวงถามด้วยตัวเองที่ อผศ.
ทว่าเมื่อมาทวงถามกลับเจอ ‘บิ๊ก อผศ.’ รายหนึ่ง ระบุทำนองว่า ตอนนี้ยังไม่มีเงิน และ ‘ฉีก’ สัญญาดังกล่าวทิ้งต่อหน้า 
ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าว กลุ่มผู้รับเหมาหลายรายในหลายจังหวัดอ้างด้วยว่า ก่อนจะได้งานบางสัญญาต้องมีการจ่ายใต้โต๊ะให้กับ ‘บิ๊ก อผศ.’ คนดังกล่าวด้วย ?
ขณะเดียวกันในการนัดเคลียร์กันระหว่าง ผอ.อผศ. และคณะผู้บริหารระดับสูงใน อผศ. กับเอกชนกลุ่มที่ปล่อยช่วงต่อให้ผู้รับเหมาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น พล.อ.รณชัย ระบุกลางวงประชุมเลยว่า เพิ่งทราบปัญหาเหล่านี้ ขณะที่กลุ่มผู้รับเหมารายย่อยในพื้นที่หลายรายไม่พอใจ เนื่องจากไม่ได้เงิน โดยมีเอกชนรายหนึ่งทิ้งวงประชุมหนีไปก่อนด้วย
ประเด็นการตรวจสอบของ สตง.
องค์กรอิสระที่เข้าไปตรวจสอบกรณีนี้มีอยู่ 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และ สตง. อย่างไรก็ดี ป.ป.ท. ยังคงไม่มีความคืบหน้าอะไรมากนักในการตรวจสอบ แต่ สตง. ตรวจสอบแล้วเบื้องต้นพบว่า โครงการนี้มีปัญหาหลายรูปแบบ ทั้งการส่งมอบงานล่าช้า การยกเลิกโครงการ การเรียกค่าปรับงาน รวมถึงปัญหา อผศ. ไปจ้างช่วงเอกชนในพื้นที่มาขุดคลองแทนด้วย
"จากการตรวจสอบข้อมูล สตง.พบว่ามีงานขุดคลองบางโครงการที่ อผศ. ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการเอง แต่ไปว่าจ้างเอกชนในพื้นที่มาเป็นผู้ขุดแทน ซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อมติคณะกรรมการพิจารณาสิทธิพิเศษ กระทรวงการคลัง ที่กำหนดให้ อผศ. ต้องเป็นผู้ดำเนินการขุดคลองเอง ในการเข้าไปรับงานขุดคลองจากหน่วยงานราชการโดยใช้วิธิพิเศษ" แหล่งข่าวจาก สตง. ระบุ
ทั้งหมดคือเงื่อนปมชัด ๆ ที่ ผอ.อผศ. ยังคงไม่เคลียร์ แต่ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาดำเนินการตรวจสอบ กระทั่งสรุปผลสอบมาว่า ‘คนใน’ ไม่มีความผิด ?
ทั้งที่มีการร้องเรียนมาอย่างโจ่งแจ้งจากบรรดากลุ่มผู้รับเหมาในพื้นที่หลายจังหวัดว่า บางงานกว่าจะได้มาต้องนำเงินไปจ่ายใต้โต๊ะให้กับ ‘บิ๊ก อผศ.’ รายหนึ่ง 
รวมถึงประเด็นการรับช่วงต่องานจากกลุ่ม ‘คุณนาย อ.-ส.จ.’ เพื่อมาทำต่อ แม้จะได้เงินน้อยกว่างบประมาณเดิมอย่างมากก็ตาม ซึ่งตรงนี้ทาง อผศ. ไม่ได้มีการระบุแต่อย่างใดว่าสอบไปถึงไหนบ้างแล้ว ?
ทั้งหมดคือข้อมูล-หลักฐานเชิงประจักษ์ ที่อาจเรียกได้ว่า การดำเนินงานขุดลอกแหล่งน้ำของ อผศ. ค่อนข้างไม่โปร่งใส !
ดังนั้น หากผลสรุปออกมา ‘ค้านสายตา’ สาธารณชนอย่างนี้ ใครจะต้องรับผิดชอบ 
หรือจะปล่อยให้ผ่านไปกับสายลมเหมือนกับกรณีการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ที่มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง 2 ชุด คือ ชุดแรกกองทัพบกตั้ง ผลสอบคือไม่พบความผิดปกติ ชุดสองศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริต (ศอตช.) ตั้ง ก็ยังไม่พบความผิดปกติ
หากเป็นเช่นนั้นจริง คงไม่สามารถพูดว่า ‘ทหาร’ เข้ามาเพื่อ ‘ปฏิรูป-ปราบคอร์รัปชั่น’ ได้อย่างเต็มปากนัก 

ไม่มีความคิดเห็น: