PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ต่อยอดโรดแม็ปคสช. : กางพิมพ์เขียวพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ

โฉมหน้ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของประเทศไทย เจิดจรัสสมกับที่สังคมรอคอยแค่ไหน ขอให้โปรดติดตาม

เพราะร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ จะกำหนดกระบวนการและกลไกเดินหน้ายุทธศาสตร์ชาติ เริ่มจากการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 25 คน ในจำนวนนี้มีฝ่ายการเมือง ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นรองประธาน

กรรมการโดยตำแหน่ง 8 คน ประกอบด้วย เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานสภาเกษตรกร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ประธานสมาคมธนาคารไทย เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งได้ไม่เกิน 14 คน เป็นได้ไม่เกิน 5 ปี

เมื่อแม่น้ำ 3 สายหมดวาระลง ประธานวุฒิสภาก็เข้าไปแทนประธาน สนช. ประธานสภาผู้แทนราษฎรก็เข้าไปแทนประธาน สปท. และมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเข้าไปแทน

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สามารถทบทวนพิจารณาทบทวนทุก 5 ปี หรือเมื่อมีสถานการณ์กระทบต่อวัตถุประสงค์หลักของยุทธศาสตร์ชาติอย่างมีนัยสำคัญ ก็สามารถทบทวนเปลี่ยนแปลงได้อีก

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ก็เริ่มประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
เพื่อจัดลำดับความสำคัญการปฏิรูป นำไปสู่การปฏิบัติในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการปฏิรูปที่นำวาระของ สปท.และของนายกรัฐมนตรีมากลั่นกรองจัดลำดับความสำคัญ

โครงสร้างยุทธศาสตร์เริ่มมีกรอบที่ชัดเจน เมื่อ ฝ่ายนิติบัญญัติ นำโดย สนช.ร่วมกับ สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อทำให้เกิดกระบวนการการทำยุทธศาสตร์ชาติที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ

ตามหมวดการปฏิรูปประเทศในร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ กำหนดให้การปฏิรูปประเทศต้องดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย ให้ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย มีความสามัคคีปรองดอง มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ

พร้อมกำหนดให้การดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่างๆให้เกิดผล เช่น ด้านการเมือง อาทิ ทำให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ยอมรับในความเห็นทางการเมืองโดยสุจริตที่แตกต่าง

มีกลไกแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยสันติวิธี

ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน อาทิ ปรับปรุง พัฒนาโครงสร้าง ระบบการบริหารงานของรัฐและแผนกำลังคนภายในรัฐ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ ปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความคล่องตัว เปิดเผย ตรวจสอบได้

มีกลไกในการป้องกันการทุจริตทุกขั้นตอน

ด้านกฎหมาย อาทิ มีกลไกให้ดำเนินการปรับปรุงกติกา กฎหมายที่อยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต หรือการประกอบอาชีพ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน

ด้านกระบวนการยุติธรรม อาทิ กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนที่ชัดเจนของกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า สร้างกลไกเพื่อให้มีการบังคับการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม

ด้านการศึกษา อาทิ ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัด ด้านเศรษฐกิจ อาทิ ปรับปรุงระบบภาษีอากรให้มีความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มพูนรายได้ของรัฐด้านต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านอื่นๆ อาทิ จัดให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม รวมถึงการตรวจสอบกรรมสิทธิ์และการถือครองที่ดินทั้งประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหากรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองที่ดินอย่างเป็นระบบ
การปฏิรูปประเทศจะเดินตามกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ที่จะออกตามมาหลังมีประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีการจัดทำแผน การมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขั้นตอนในการดำเนินการปฏิรูปประเทศ

ที่สำคัญได้กำหนดให้การปฏิรูปประเทศทุกด้าน ต้องกำหนดให้เริ่มดำเนินการปฏิรูปภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

ผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังว่าจะบรรลุในระยะเวลา 5 ปี

โดย พล.อ.ชูศักดิ์ เมฆสุวรรณ์ สปท. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ บอกกลางวงสัมมนาร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติว่า ร่างกฎหมายเริ่มต้นจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การบริหารราชการแผ่นดิน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทาง สปท.ได้สานงานต่อจาก สปช.เพื่อส่งไม้ต่อให้รัฐบาล
กฎหมายนี้เป็นขั้นตอนการจัดทำติดตามยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย ตรงกับแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ ครม.จึงมีมติให้จัดทำขึ้นมา ตอนนี้รอเวลาให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติประกาศใช้ รัฐบาลจะส่งร่างกฎหมายให้ สนช.พิจารณาออกเป็นกฎหมายต่อไป

เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ การแก้ไข พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติก็ไม่จำเป็นต้องรอให้ครบ 5 ปี เพียงแค่เสนอต่อรัฐสภา หากที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบก็สามารถแก้ไขได้

“ข้อกังวลของนักการเมืองที่เกรงว่า กฎหมายฉบับนี้จะบีบบังคับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นการกดดันการบริหารงานของรัฐบาลอย่างแน่นอน

เพราะกฎหมายเป็นเพียงแนวทางในการบริหารประเทศและตัวชี้วัดแบบกว้างๆ”

“ยุทธศาสตร์ชาติเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวถึง ป.ย.ป.ที่ตั้งขึ้นมา

พร้อมมีความเชื่อมั่น ป.ย.ป.จะนำไปสู่การทำงานยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีหน้าที่บูรณาการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในการสร้างความสามัคคีปรองดอง ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ นโยบายของ คสช.และ ครม.เป็นไปตามวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศในระยะยาวของนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำหนดจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2579 เพื่อพัฒนาประเทศ

และร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติได้กำหนดกรอบการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล โดย ครม.จะต้องทำกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อกำหนดเป้าหมาย ระยะเวลาบรรลุเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นจัดทำยุทธศาสตร์ชาติให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติใช้บังคับ

ทั้งหมดเดินตามโรดแม็ปที่วางเอาไว้

ฉะนั้นการสัมมนาครั้งนี้จะเป็นโอกาสดีเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับสมาชิก สนช. กมธ. และบุคลากรในรัฐสภา ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นซึ่งกันและกัน เพื่อนำไปสู่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ

ตามโครงสร้างของ ป.ย.ป. ทั้ง สนช. สปท.มีระบบการทำงานร่วมกัน หากคณะทำงานชุดใดมีนโยบายการปฏิรูปใดๆ เมื่อกลั่นกรองแล้วให้นำเสนอ ป.ย.ป.พิจารณาทันที เพื่อความรวดเร็วและเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปต่างๆ

และให้การทำงานของรัฐบาลเชื่อมโยงกัน การปฏิบัติบรรลุผล

เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ.
ทีมการเมือง ไทยรัฐ6/2/60

ไม่มีความคิดเห็น: