PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557

“ขยะแพรกษา-บางปู ภาพสะท้อนความวิบัติระดับชาติ”



                                 “ขยะแพรกษา-บางปู  ภาพสะท้อนความวิบัติระดับชาติ
                              โดย มูลนิธิบูรณะนิเวศ และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

            หนึ่งสัปดาห์หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะแพรกษา-บางปู จ.สมุทรปราการ ภาคประชาสังคมซึ่งติดตามปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง ได้เปิดเวทีเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ถึงที่มา ผลกระทบ ตลอดจนข้อเสนอในการจัดการปัญหาจากเหตุการณ์ดังกล่าว  พร้อมกับเชื่อมโยงให้เห็นถึงปัญหาขยะอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะอุตสาหกรรมในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งกำลังเป็นภัยเงียบที่ขยายตัวคุกคามสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของผู้คนอยู่ในขณะนี้ ตลอดจนนำเสนอรูปแบบและแนวทางต่างๆ ในการจัดการขยะอันตรายที่เหมาะสมและปลอดภัยกว่าที่เป็นอยู่ โดยหวังให้สังคมไทยร่วมกันปรับปรุงระบบการจัดการและป้องกันปัญหาที่ต้นเหตุ ก่อนที่จะปะทุขึ้นเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงอีกครั้ง

             ดร.สมนึก จงมีวศิน กล่าวถึงสถานการณ์การลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมในพื้นที่สาธารณมีอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก ฝากถึงรัฐบาลยุทธศาสาตร์ด้านสิ่งแวดล้อมต้องมีการปรับ โดยเฉพาะแผนรับมือด้านภัยพิบัติและอุบัติภัยที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ หากยังไม่มีแผนที่ดี ยังไม่ควรขยายอุตสาหกรรม

             คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้สะท้อนปัญหาขยะอุตสาหกรรม โดยย้อนในเหตุการณ์ไฟไหม้กองขยะ ปี พ.ศ. 2551 ที่ ต.แพรกษาใหม่ จนถึงกรณีไฟไหม้กองขยะแพรกษา บางปู ครั้งล่าสุด พบการลักลอบนำขยะอุตสาหกรรมแอบทิ้งรวมกับขยะชุมชนเช่นเดียวกัน สะท้อนความบกพร่องและเพิกเฉยของหน่วยงานภาครัฐที่ไม่มีความจริงใจในการทำงาน ตลอดจนชี้ให้เห็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและความผิดของผู้ที่มีส่วนได้เสียในเหตุการณ์นี้

             ดร.อาภา หวังเกียรติ อาจารย์สาขาวิศวะกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต ตั้งข้อสังเกตว่า พื้นที่บริเวณจังหวัดสมุทรปราการ เป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษ แต่ที่ผ่านมาทางจังหวัดเองไม่มีแผนและเป้าหมายลดมลพิษหรือมีการจัดทำข้อมูลที่ชัดเจนที่จะนำไปสู่การลดมลพิษหรือแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่ได้เลย ถึงเวลาแล้วที่ทางจังหวัดจะต้องมีแผนการรับมือและข้อมูลที่ถูกต้องและเปิดเผย นอกจากนี้บทลงโทษและอัตราค่าปรับยังต่ำมากคุ้มค่าแก่การทำผิดกฏหมายเมื่อเทียบกับค่าดำเนินการบำบัดและกำจัดอย่างถูกวิธีซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง จึงเสนอให้มีการปรับบทลงโทษคิดเป็นมูลค่า 100เท่าของมูลค่าของการกระทำผิด ซึ่งผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย

ข้อเสนอต่อ กรณีเพลิงไหม้บ่อขยะแพรกษา-บางปู และการจัดการขยะ (อุตสาหกรรม) ต่อภาครัฐ
  1. เรียกร้องให้ต้องมีการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดอย่างถึงที่สุด
  2. หน่วยงานภาครัฐต้องทำการสำรวจและจัดทำข้อมูลมลพิษในพื้นที่เพื่อนำไปสู่แผนการจัดการปัญหา
  3. ต้องมีแผนการฟื้นฟูและเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม
  4. ต้องมีแผนการเฝ้าระวังสุขภาพของคนในพื้นที่และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ อย่างน้อย 5 ปี
             คุณธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้นำเสนอแนวทางการจัดการขยะอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ โดยยกตัวอย่างการพัฒนากฎหมายการจัดการขยะอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางของประเทศสหรัฐอเมริกา และชี้ให้เห็นว่าการสร้างเตาเผาขยะไม่ใช่คำตอบปลายอุโมงค์ของการจัดการขยะอุตสาหกรรม เช่น ประเทศเยอรมันนี มีแผนปฎิบัติการจัดการลดขยะที่ชัดเจนทั้งขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรมจนในที่สุดปริมาณขยะมีน้อยจนไม่เพียงพอต่อการป้อนเข้าสู่เตาเผาขยะ หัวใจที่สำคัญที่สำคัญที่สุดในการจัดการคือ ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดของผู้นำของประเทศ คุณธารา กล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น: