PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง:ซ้ำรอยสมัคร ยิ่งลักษณ์กระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง?

ซ้ำรอยสมัคร
ยิ่งลักษณ์กระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
ความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง?

ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง กรณียิ่งลักษณ์ ชินวัตร โยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนสี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นแห่งชาติ เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ และมีคำสั่งให้คืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช. แก่นายถวิล เปลี่ยนสี ภายใน 45 วันนับแต่มีคำพิพากษาอีกด้วย

1) ในการโยกย้ายดังกล่าว ยิ่งลักษณ์ได้ใช้อำนาจย้ายนายถวิลออกไปเสียจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. เพียงเพื่อจะเปิดทางให้สามารถโยก พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี จากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ข้ามมาเป็นเลขาธิการ สมช. ตามเงื่อนไขข้อตกลงว่าจะต้องมีตำแหน่งที่มีศักดิ์และสิทธิไม่น้อยไปกว่าเดิม ทั้งหมดนั้นก็เพื่อจะเปิดทางสะดวกสำหรับการแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่ชายคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร์ อดีตภริยาทักษิณ ชินวัตร ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ กระทำการเพื่อให้บุคคลที่เป็นเครือญาติของตนเองได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญ ไม่เป็นไปตามระบบคุณธรรมและนิติธรรม โดยศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาไว้โดยละเอียดแล้ว
ยิ่งกว่านั้น คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ยังชี้ชัดว่า การโยกย้ายดังกล่าวเป็นการกระทำมิชอบ เพราะเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุผล บางตอนระบุว่า
“ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการประจำ ย่อมมีอำนาจดุลพินิจในการบริหารงานบุคคลหมุนเวียนสับเปลี่ยนบทบาท หรือการทำหน้าที่ของข้าราชการเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปตามแนวนโยบายที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาได้ แต่ในการใช้อำนาจดุลพินิจดังกล่าว นอกจากจะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมายและอยู่ภายในขอบเขตของกฎหมายแล้ว ยังจะต้องมีเหตุผลรองรับที่มีอยู่จริงและอธิบายได้ ซึ่งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีประสิทธิภาพ มีข้อบกพร่องหรือไม่สนองนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะถือได้ว่ามีเหตุผลอันสมควรที่ผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งโอนได้ตามความเหมาะสม
ได้ตรวจสอบเหตุผลที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้อ้างในการโอนผู้ฟ้องคดีแล้ว ปรากฏว่ามิได้เป็นไปตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กล่าวอ้าง ซึ่งเท่ากับฝ่ายบริหารได้ใช้อำนาจดุลพินิจในการโอนผู้ฟ้องคดีโดยไม่มีเหตุผลรองรับ จึงถือได้ว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบอันเป็นเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายประการหนึ่งตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ดังนั้น การโอนผู้ฟ้องคดีจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 ก.ย.2554 จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย...”

2) หลังจากศาลปกครองสูงสุดพิพากษาชี้ขาดว่าการโยกย้ายดังกล่าวเป็นการกระทำมิชอบด้วยกฎหมาย ปรากฏว่า สมาชิกวุฒิสภา 27 คน นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภา ได้เข้ายื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานรัฐสภา ผ่าน นพ.อนันต์ อริยชัยพานิชย์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 จากกรณีก้าวก่ายแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตัวเองและผู้อื่นในการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนสี อดีตเลขาธิการ สมช. อันเป็นเหตุให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาชี้ขาดถึงที่สุดแล้ว
การก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายโดยมิชอบ เป็นการกระทำต้องห้ามของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี โดยรัฐธรรมนูญบัญญัติห้ามมิให้ใช้สถานะหรือตำแหน่งเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ตามมาตรา 268 และ 266 ไม่ว่าจะเป็น การแต่งตั้งโยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่งของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ รวมถึงการให้ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำพ้นจากตำแหน่ง เป็นต้น เรื่องพวกนี้จะไปก้าวก่ายเพื่อประโยชน์ส่วนตนไม่ได้
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญคุ้มครองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต บริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาหรือตามที่กฎหมายกำหนด บทบัญญัติมาตรา 268 จึงระบุว่า “นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะกระทำการใดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 266 มิได้ เว้นแต่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาหรือตามที่กฎหมายบัญญัติ”
แต่ข้อเท็จจริงแห่งพฤติกรรมของยิ่งลักษณ์ในการโยกย้ายนายถวิลนั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย และไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่าเป็นไปตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ดังปรากฏในคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ชี้ชัดไว้เลยว่า
“...ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่ากระบวนการโอนผู้ฟ้องคดีก็ดำเนินการอย่างเร่งรีบ ไม่เป็นไปตามขั้นตอนการรับโอนในการปฏิบัติราชการตามปกติ จึงเชื่อได้ว่าปัจจัยอันเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงผู้ฟ้องคดีจากการดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ คือความประสงค์ให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่พลตำรวจเอกวิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ดำรงอยู่ในขณะนั้นว่างลง เพื่อแต่งตั้งบุคคลอื่นให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวแทน เหตุผลตามข้ออ้างข้างต้นยังไม่เพียงพอจะรับฟังว่าการออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ราชการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา จึงเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับหลักการจัดระเบียบข้าราชการพลเรือนสามัญตามระบบคุณธรรม ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๓๔ ประกอบมาตรา ๔๒....”
พูดง่ายๆ ว่า ศาลปกครองกลางได้พิพากษามัดตราสังข์เอาไว้เรียบร้อยแล้ว

3) เมื่อนายกรัฐมนตรีกระทำการต้องห้ามดังกล่าว ความเป็นรัฐมนตรีก็จะสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 บัญญัติให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อตาย หรือลาออก หรือกระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 267 มาตรา 268 หรือมาตรา 269 เป็นต้น
เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดตามมาตรา 182 ก็เป็นผลให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามไปด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 บัญญัติให้ “รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ (1) ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 182...”
พูดง่ายๆ ว่า รัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งตามไปด้วยโดยทันที

4) สภาพการณ์เช่นนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 180 ก็ได้มีบทบัญญัติเป็นทางออกไว้ โดยระบุว่า ให้ดำเนินการตามมาตรา 172 และมาตรา 173 โดยอนุโลม ทำอย่างไร?
รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มาประชุมเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ขณะนี้ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ไม่มี ส.ส.เลยแม้แต่คนเดียว ส่วนการเลือกตั้งก็ไม่เห็นหนทางที่จะได้มาซึ่งสภาผู้แทนราษฎรภายในเร็ววัน คงมีแต่วุฒิสภา จึงต้องให้วุฒิสภาทำหน้าที่ในฐานะรัฐสภา
รัฐธรรมนูญเปิดช่องทางไว้ แม้ว่าลงคะแนนครั้งแรกไปแล้ว ไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบให้ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำความขึ้นกราบบังคมทูลภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลซึ่งได้รับคะแนนเสียงสูงสุดเป็นนายกรัฐมนตรี
โอกาสนี้ หากมวลมหาประชาชนจะรวมตัวกันแสดงพลังครั้งสำคัญ ประกาศเจตนารมณ์ของประชาชนในการเสนอบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขวิกฤติของประเทศชาติ ย่อมจะเป็นทางออกสำคัญของบ้านเมือง
การดำเนินการโดยอนุโลม ตามบัญญัติรัฐธรรมนูญ บนพื้นฐานจารีตประเพณีการปกครอง ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยนั้น ในสถานการณ์วิกฤติ คับขัน ถึงทางตันของระบบรัฐสภา บุคคลที่ประธานวุฒิสภาจะนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น จึงอาจไม่เป็น ส.ส.ก็ได้
ดังจะเห็นได้จากยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีเวลานี้ ก็สิ้นสภาพความเป็น ส.ส.ไปแล้ว ตั้งแต่ยุบสภา หากยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้
และในความเป็นจริง ข้อกำหนดที่ให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. เป็นธรรมเนียมข้อปฏิบัติที่เพิ่งจะมีการกำหนดขึ้นมาในปี 2535 นี่เอง มิใช่จารีตการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทยเราแต่เดิม

5) วันพุธที่จะถึงนี้ คาดว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาว่า จะรับหรือไม่รับคำร้องว่าการกระทำของยิ่งลักษณ์ในการโยกย้ายนายถวิล เป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือไม่
หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณา เชื่อว่าคงจะใช้เวลาไม่นาน เพราะประเด็นข้อเท็จจริงทั้งหมด ได้ผ่านการพิพากาชี้ขาดถึงที่สุดโดยศาลปกครองสูงสุดไปแล้ว คงมีแต่เพียงประเด็นข้อกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาชี้ขาดให้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญต่อไป

6) กรณีนี้ อาจเทียบเคียงกับการวินิจฉัยสถานภาพของนายรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งไปเพราะกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไปรับค่าจ้างทำรายการโทรทัศน์
กรณีของยิ่งลักษณ์มีการกระทำความผิดชัดแจ้งยิ่งกว่า เพราะมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว ระบุถึงพฤติกรรมการใช้อำนาจโดยมิชอบ ใช้ดุลพินิจขัดต่อกฎหมาย ไม่มีเหตุผล โดยยิ่งลักษณ์ไม่อาจอ้างว่าเป็นการบริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาด้วย

สุดท้าย... ยิ่งลักษณ์จะต้องรับผลกรรมที่ตนเองได้กระทำไว้ นั่นคือการใช้อำนาจโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม ช่วยเหลือเครือญาติของตนเอง กระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่คำนึงถึงระบบคุณธรรมและนิติธรรม
หากยิ่งลักษณ์จะต้องพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี รัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นสภาพตามไปด้วย ระบอบทักษิณและบริวารลิ่วล้อก็ไม่ควรจะไปกล่าวโทษใครอื่น นอกจากย้อนกลับไปมองพฤติกรรมการใช้อำนาจของตนเองว่าเหตุใดจึงลุแก่อำนาจซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่เคารพกฎหมาย ไม่คำนึงถึงความถูกต้องเป็นธรรม เล่นพรรคเล่นพวก ช่วยเหลือเครือญาติของระบอบทักษิณ ไม่ประพฤติปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงแก่ประเทศชาติ และนำพาบ้านเมืองมาสู่สถานการณ์ความขัดแย้ง เกิดความสูญเสีย เข้าสู่ทางตัน
ถึงเวลาที่คนไทยจะต้องรวมพลังกัน ก้าวข้ามทักษิณ เพื่อออกจากวิกฤติของชาติ เดินหน้าปฏิรูปประเทศเพื่อผลประโยชน์ของคนไทยทุกคนอย่างแท้จริง

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต


ไม่มีความคิดเห็น: