PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2557

“ไพศาล” จี้ กกต. และ “ยิ่งลักษณ์” รับผิดชอบละเมิดพระราชอำนาจ ไม่เรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก

“ไพศาล” จี้ กกต. และ “ยิ่งลักษณ์” รับผิดชอบละเมิดพระราชอำนาจ ไม่เรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก

นายไพศาล พืชมงคล อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนเมื่อสายวันนี้ว่า วันนี้เป็นวันที่ต้องเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญมาตรา 127 ชี้ กกต. และยิ่งลักษณ์ จะต้องร่วมกันรับผิดชอบในการละเมิดพระราชอำนาจ ไม่ตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก

นายไพศาล พืชมงคล กล่าวว่าคนทั้งหลายคุ้นเคยแต่การประชุมรัฐสภาครั้งแรกในกรณีที่การเลือกตั้งได้สภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ปัจจุบันนี้การเลือกตั้งทั่วไปไม่สามารถได้มาซึ่งสภาผู้แทนราษฎร และไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ ทั้ง ๆ ที่การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ผ่านพ้นมาเดือนเศษแล้ว แต่ที่จริงจะต้องมีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก แม้ว่าจะไม่มีสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม

นายไพศาล พืชมงคล กล่าวว่าการประชุมรัฐสภาครั้งแรกผูกมัดอยู่กับวันเลือกตั้งทั่วไป โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 127 บัญญัติว่า “ภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก...
วันประชุมครั้งแรกตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญทั่วไป ส่วนวันเริ่มสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ ให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้กำหนด...” และนอกสมัยประชุม หากมีความจำเป็นก็อาจประชุมได้เป็นการประชุมสมัยวิสามัญตามที่บัญญัติในมาตรา 128

นายไพศาล พืชมงคล กล่าวว่าวันประชุมรัฐสภาครั้งแรกเป็นตัวกำหนดหลายประการตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ คือ เป็นวันเริ่มต้นสมัยประชุมสมัยสามัญทั่วไป และนำไปสู่การกำหนดวันสมัยประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติ และสมัยวิสามัญ หากไม่เปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกแล้ว วุฒิสภาซึ่งยังคงมีอยู่จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่สามประการ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 132 ได้ และในกรณีที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาก็ไม่สามารถใช้อำนาจในฐานะเป็นรัฐสภาปฏิบัติหน้าที่หรือประชุมรวม 16 กรณี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 136 ได้

นายไพศาล พืชมงคล กล่าวว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติกรอบเวลาที่สำคัญไว้ 2 กรณีคือ กรณีวันเลือกตั้งทั่วไป เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการนับและกำหนดวันประชุมรัฐสภาครั้งแรก จากวันประชุมรัฐสภาครั้งแรก จะนำไปสู่วันสุดท้ายในการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 172 บัญญัติว่า “ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกตามมาตรา 127”

กำหนดเวลาดังกล่าวไม่ใช่กำหนดขึ้นเฉย ๆ ดังที่บางคนเข้าใจว่าจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ ไม่มีผล ไม่มีความหมายอะไร แท้จริงมีผล มีบทบังคับ และต้องใช้บังคับด้วย หากไม่มีผลใช้บังคับ ก็จะทำให้รัฐธรรมนูญครึ่งฉบับใช้บังคับไม่ได้

นายไพศาล พืชมงคล กล่าวว่าวันที่ 4 มีนาคม 2557 เป็นวันครบ 30 วันนับแต่วันเลือกตั้งทั่วไป ที่จะต้องเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าการเลือกตั้งทั่วไปไม่สามารถได้มาซึ่งสภาผู้แทนราษฎร ไม่สามารถได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ จึงเป็นหน้าที่ของประธานวุฒิสภา ที่จะต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 ต่อไป มิฉะนั้นก็จะทำให้ระบอบการปกครองวิปริตผันแปร เพราะจะทำให้คณะรัฐมนตรีรักษาการต้องทำหน้าที่ต่อไปไม่มีเวลาสิ้นสุด ซึ่งไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยตามที่รัฐธรรมนูญนี้บัญญัติแล้ว หากประธานวุฒิสภาไม่นำความกราบบังคมทูลก็ต้องรับผิดชอบในการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ และปล่อยให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมือง

นายไพศาล พืชมงคล กล่าวอีกว่าเมื่อถึงวันที่ต้องเรียกประชุมรัฐสภา แต่ไม่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก จึงเป็นการจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 127 ซึ่งละเมิดอำนาจพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 128 ด้วย เพราะทำให้พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภาได้ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ และผู้ที่ต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้คือ กกต. และนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้รักษาการตามพะราชกฤษฎีกายุบสภาให้มีการเลือกตั้งทั่วไป และต้องคอยดูกันว่าจะรับผิดชอบกันอย่างไร เพราะจากนี้ไปเมื่อไม่มีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกก็เท่ากับว่าไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญกันแล้ว ละเมิดพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ไม่ให้ทรงใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนทางรัฐสภากันแล้ว จะเป็นเผด็จการทรราชเต็มรูปแบบกันหรืออย่างไร?

http://www.paisalvision.com/news/paisal-new/11212-2014-03-04-07-52-43.html


ไม่มีความคิดเห็น: