PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

นิธิ เอียวศรีวงศ์: รัฐฆาตกรรม

มติชนสุดสัปดาห์ 3-9 กรกฎาคม 2558


หลังการสังหารหมู่กลางเมืองใน พ.ศ.2553 ผมได้ยินบางท่านพูดว่า "หากไม่ฆ่า จะปล่อยให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมืองมากไปกว่านี้หรือ"

ในตอนนั้น การสืบสวนสอบสวนเรื่อง "เผาบ้านเผาเมือง" โดยเฉพาะอาคารศูนย์การค้าขนาดใหญ่ยังไม่เริ่มขึ้น ฉะนั้น ผู้พูดคงหมายความว่า หากปล่อยไป พวกเสื้อแดงย่อม "เผาบ้านเผาเมือง" เป็นวงกว้างกว่านั้น แต่ต่อให้สมมติว่าการสืบสวนสอบสวนในภายหลัง ตลอดจนคำพิพากษาของศาล ยืนยันว่าพวกเสื้อแดงเป็นผู้วางเพลิงอาคารเอกชนและสถานที่ราชการจริง ผมก็ยังคิดว่า การที่รัฐฆ่าประชาชน ทำความเสียหายแก่บ้านเมืองเสียยิ่งกว่าอาคารใดๆ ถูกเผา

เพราะเมื่อไรก็ตามที่รัฐลงมือฆ่าประชาชนอย่างไม่เลือกหน้าได้ เมื่อนั้นก็ไม่เหลือเหตุผลใดที่เราจะรวมตัวกันเป็นรัฐ โดยพื้นฐานเลยแล้ว เราทุกคนเข้ามาอยู่ในรัฐ ก็เพราะเชื่อว่ารัฐให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตเราได้มากที่สุด ภายนอกรัฐ เราอาจถูกละเมิดจนถึงแก่ชีวิตได้ง่าย เพราะภายนอกไม่มีกลไกลงโทษฆาตกรรม จึงไม่มีเครื่องยับยั้งฆาตกรรม

รัฐจึงทำฆาตกรรมไม่ได้ หรืออย่างน้อยการฆาตกรรมโดยรัฐจะต้องมีระเบียบกฎเกณฑ์ละเอียด ที่จะตรวจสอบและยับยั้งมิให้การฆาตกรรมโดยรัฐเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ฆาตกรรมโดยรัฐเป็นอันตรายต่อมหาชนยิ่งกว่าผัวฆ่าเมีย โจรฆ่าเหยื่อ หรือแม้แต่ผู้ก่อการร้ายฆ่าฝูงชน

เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับสีเสื้อ และไม่เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยหรือเผด็จการด้วย ตราบเท่าที่รัฐมีค่าพอจะตั้งอยู่ได้สืบไป เมื่อนั้นรัฐทำฆาตกรรมประชาชนไม่ได้



ผมคิดถึงเรื่องนี้เพราะการเคลื่อนไหวของนักศึกษากลุ่มดาวดินและธรรมศาสตร์เสรีฯและนักศึกษาจากกลุ่มอื่นเมื่อเร็วๆนี้หากเชื่อว่าการเคลื่อนไหวของนักศึกษามีคน (ชั่ว) อยู่เบื้องหลัง การจับกุมคุมขังนักศึกษา และไล่เอาผิดคนที่อยู่เบื้องหลัง ก็คงทำให้การเคลื่อนไหวซบเซาลง เพราะหาผู้อื่นมาสนับสนุนอยู่เบื้องหลังอีกไม่ได้ แต่หากเชื่อว่าการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเป็นการกระทำโดยสำนึกอิสระของเขาเอง ก็จะรู้ดีว่า การจับกุมคุมขังนักศึกษาหรือคนที่ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลัง จะไม่ทำให้การเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจเผด็จการอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมายุติลงได้ การเคลื่อนไหวครั้งนี้จึงเป็นแค่จุดเริ่มต้น และข้างหน้านั้นน่ากลัวแก่ทุกฝ่าย

ผมเชื่ออย่างหลัง

ดังนั้นเมื่อการเคลื่อนไหวลักษณะนี้ขยายตัวกว้างขวางขึ้นจึงวิตกว่ารัฐจะทำฆาตกรรมซ้ำอีกอย่างที่ได้เคยทำมาหลายครั้งหลายหนแล้วไม่ใช่เพราะรัฐโง่ ไม่เรียนรู้บทเรียนในอดีตว่าการฆาตกรรมหมู่กลางเมือง บั่นรอนฐานความชอบธรรมที่มีอยู่น้อยนิดให้หมดไป แต่เพราะไม่มีทางเลือกอะไรอื่นต่างหาก ไม่ว่าผู้คุมอำนาจรัฐจะเป็นทหารหรือพลเรือน เมื่อหมดทางเลือกทางการเมือง ก็มักหันเข้าหาการฆาตกรรมเสมอ

คิดดูแล้วกัน ระหว่างการฆาตกรรมประชาชนกับการประกาศยุบสภาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ รัฐบาลพลเรือนยังเลือกการฆาตกรรม ทั้งๆ ที่เมื่อแพ้การเลือกตั้ง ก็มิได้ต้องถูกชำระโทษในเรื่องใดทั้งสิ้น หากเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร จะรับการสิ้นอำนาจพร้อมกับโทษอีกมากมายที่อาจถูกยกขึ้นมาชำระเพื่อเอาผิดได้หรือ

ฆาตกรรมจึงเป็นสิ่งที่รัฐไทยเลือกอยู่บ่อยๆ และเลือกอย่างง่ายเกินไป ในขณะที่วัฒนธรรมไทยที่จะยับยั้งการฆาตกรรมโดยรัฐก็อ่อนแอลงตามลำดับไปพร้อมกัน



ฆาตกรรมเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจของรัฐโบราณทั้งหลายรวมทั้งไทยด้วยไม่ใช่เพราะรัฐเข้มแข็งจึงสามารถฆ่าคนได้ตามใจชอบตรงกันข้ามเพราะรัฐโบราณอ่อนแอต่างหาก จึงใช้การฆาตกรรมกลางเมืองเพื่อข่มให้ข้าแผ่นดินทั้งหลายเกรงกลัวรัฐ วิธีฆ่าก็ทำให้หวาดเสียวด้วยความสยดสยองต่างๆ นานา เพื่อตอกย้ำความกลัวให้ฝังแน่นในกมลสันดานของข้าแผ่นดิน

ฆาตกรรมประชาชนเป็นเครื่องมือของรัฐอ่อนแออย่างไรผมขอยกตัวอย่างให้เห็นสักเรื่องหนึ่งกบฏชาวบ้านอีสานหรือที่เรียกว่ากบฏผีบุญในสมัยร.5แยกตัวเองไปตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่ ซึ่งมีระเบียบทางสังคมแบบใหม่และไม่ขึ้นกับรัฐ ในทางยุทธวิธีจึงถูกปราบได้ง่ายมาก (เปรียบเทียบกับกบฏซายาซานของพม่า มีผู้เข้าร่วมขบวนการจำนวนมากกว่ากันมาก) เพียงยกทหารไปล้อมไว้ จนเสบียงอาหารหมด ก็ต้องยอมแพ้แต่โดยดี แต่รัฐบาลสมัย ร.5 ไม่มีกำลังทหารสมัยใหม่มากพอจะทำเช่นนั้นได้ อีกทั้งต้องรีบปราบผู้แข็งข้อโดยเร็ว เพื่อป้องกันมิให้มหาอำนาจถือเป็นเหตุแทรกแซง-ล้วนมีเหตุจากความอ่อนแอของรัฐทั้งนั้น-จึงต้องใช้ยุทธวิธีรุนแรงในการปราบ

นั่นคือส่งกองทัพสมัยใหม่ขนาดเล็กของตนเองไปปราบ ยิงปืนใหญ่สมัยใหม่เข้าใส่ ร่างที่กระเด็นกระดอนขึ้นเพราะแรงระเบิดตกกลับถึงพื้นเป็นศพ เพียงเท่านี้ชาวบ้านก็วิ่งหนีกันจ้าละหวั่น หมดทางต่อสู้ ที่เหลือก็ให้ทหารไล่จับมาเป็นพวงๆ ... จบ



แม้มีกองทัพสมัยใหม่ที่ทำให้รัฐผูกขาดความรุนแรงได้แล้วการประหารชีวิตในพื้นที่สาธารณะก็ยังดำเนินต่อมาเพื่อข่มข้าราษฎรให้กลัวจนเมื่อได้เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วการประหารชีวิตจึงถูกเก็บงำไว้ในที่รโหฐาน แม้กระนั้นการประหารในพื้นที่สาธารณะก็ถูกนำกลับมาใช้ใหม่เมื่อ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจได้ เพื่อใช้ประโยชน์จากการข่มให้กลัวใหม่อีกครั้งหนึ่ง

การฆาตกรรมหมู่ประชาชนเกิดขึ้นอีกครั้งในเดือนตุลาคม2516แต่วัฒนธรรมไทยได้พัฒนามาจนถึงจุดที่ไม่อาจรับการฆาตกรรมโดยรัฐอย่างเปิดเผยเช่นนั้นได้แล้วจึงทำให้ผู้สั่งทำฆาตกรรมกลายเป็น"สามทรราช"

อาจเป็นเพราะพลังทางวัฒนธรรมเช่นนั้นในสังคมไทยยังพอมีอยู่ ผู้วางแผนฆาตกรรมหมู่ในอีกสามปีต่อมา จึงพยายามสร้างภาพการฆาตกรรมหมู่ครั้งนั้น ให้เป็นฝีมือของชาวบ้านผู้จงรักภักดี แม้กระนั้นในการบุกยึดธรรมศาสตร์ ก็ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่รัฐและอาวุธของรัฐ เช่น มีภาพนายตำรวจในเครื่องแบบมีบุหรี่ห้อยอยู่มุมปาก ในขณะที่ยกปืนเล็งไปข้างหน้า (สสส. จึงต่อต้านการสูบบุหรี่ เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาวะทางสังคมกว่าการการฆาตกรรมโดยรัฐ) ผู้ยึดอำนาจได้ในตอนเย็นของวันที่ 6 ตุลาคม ปฏิเสธความเกี่ยวพันกับการฆาตกรรมหมู่ในตอนเช้า (แม้กระนั้นก็รีบออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้ทันที)

อย่างน้อยจนถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 การฆาตกรรมโดยรัฐยังต้องทำแบบซ่อนรูป ไม่กล้าเปิดเผยเต็มที่

ฆาตกรรมหมู่โดยรัฐในเดือนพฤษภาคม 2535 แม้กระทำอย่างเปิดเผยไม่ซ่อนรูป แต่ผลก็คือผู้กระทำต้องยุติบทบาททางการเมืองของตนไปโดยสิ้นเชิง ซ้ำยังทำให้เกิดความตระหนกแก่สาธารณชนไทยอย่างมากพอที่จะเปิดโอกาสให้รัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน โยกย้ายนายทหารระดับสูงในกองทัพได้อย่างสะดวก



ผมควรกล่าวด้วยว่าตลอดเวลานับตั้งแต่พคท.หันมาต่อสู้ด้วยกองกำลังติดอาวุธรัฐได้ฆาตกรรมประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่การฆาตกรรมนั้นกระทำโดยไม่เปิดเผย หรือทำให้ดูประหนึ่งว่าเป็นการต่อสู้กันด้วยกำลังอาวุธกับ "ข้าศึก" ซึ่งมีอาวุธเหมือนกัน ในความเป็นจริงประชาชนที่ไม่มีอาวุธจำนวนมากถูกฆ่าอย่างทารุณ เช่น ทิ้งระเบิดนาปาล์มลงหมู่บ้านชาวเขา ถีบลงจาก ฮ. เพื่อปิดปากผู้ถูกสอบสวนอย่างทารุณ หรือจับลงถังแดงเผาทั้งเป็น แต่เมื่อฆาตกรรมเหล่านี้ถูกเปิดเผยหลัง 2516 สังคมไทยก็แสดงอาการยอมรับไม่ได้ แสดงว่าวัฒนธรรมที่ยับยั้งการฆาตกรรมโดยรัฐในสังคมไทยยังพอมีพลังอยู่บ้าง

แต่วัฒนธรรมดังกล่าวอ่อนพลังลงอย่างมากในฆาตกรรมหมู่โดยรัฐในเดือนเมษายน-พฤษภาคม2553อย่างน้อยประชาชนจำนวนมากเห็นว่าการที่รัฐฆ่าประชาชนกลางเมืองทำความเสียหายแก่บ้านเมืองน้อยกว่าศูนย์การค้าถูกเผาการฆาตกรรมโดยรัฐไม่ได้เป็นความชั่วในตัวมันเอง ยังต้องมีเงื่อนไขบางอย่างซึ่งทำให้มันเลวร้าย หรือไม่เลวร้ายได้ ดังนั้น ในเงื่อนไขที่เอื้ออำนวย รัฐอาจทำฆาตกรรมหมู่ประชาชนอย่างไรก็ได้

คำวินิจฉัยของศาลว่า การฆาตกรรมโดยรัฐในปี 2553 ไม่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ทำให้การฆาตกรรมโดยรัฐกลายเป็นความผิดทางการเมือง ไม่ใช่ความผิดอาญาตามปรกติ เท่ากับขยายเงื่อนไขของการฆ่าให้แก่รัฐขึ้นไปอีก เพราะเงื่อนไขทางการเมืองย่อมยืดหยุ่นให้รัฐมีความชอบธรรมที่จะฆ่าได้ในอีกหลายกรณี ... จนแทบจะหาขีดจำกัดไม่ได้ คำวินิจฉัยนี้จึงเท่ากับสาปให้สังคมไทยไม่มีวันดิ้นหลุดจากรัฐฆาตกรรมไปได้ชั่วกัลปาวสาน

โดยสรุปก็คือ กลไกทางวัฒนธรรมและกระบวนการยุติธรรมของไทย ในการต่อสู้กับรัฐฆาตกรรม อ่อนแอลงไปเรื่อยๆ และนี่คือความเสียหายต่อบ้านเมืองอย่างฉกาจฉกรรจ์ที่สุด



รัฐสมัยใหม่มีอำนาจมากอย่างที่ไม่มีรัฐอะไรมาเทียบได้คำสอนเรื่องธรรมราชาก็ดีรัฐเป็นสะพานเชื่อมต่อไปยังพระนิพพานก็ดีอาจมีพลังที่จะยับยั้งการใช้อำนาจรัฐในทางโฉดร้ายได้ในรัฐโบราณซึ่งรัฐไม่ได้สั่งสมอำนาจไว้เต็มเปี่ยมไปหมดทุกด้านอย่างรัฐสมัยใหม่ แต่เพราะรัฐสมัยใหม่มีอำนาจอย่างล้นเหลือ จึงต้องมีกติกาที่แน่นหนาในการควบคุมรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกติกาการเข้าสู่อำนาจ หรือกติกาการใช้อำนาจ ประชาชนต้องร่วมมือกันในการบังคับให้ใช้กติกานั้นอย่างเคร่งครัด ไม่ยอมจำนนต่อข้ออ้างใดอย่างง่ายๆ เพราะจะนำไปสู่การสังหารหมู่ประชาชน เพื่อป้องกันไฟไหม้ตึกอีก

นี่คือเหตุผลที่สำนักงานอัยการต้องอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลยุติธรรมเกี่ยวกับคดีที่รัฐทำฆาตกรรมโดยเล็งเห็นผลไว้แล้วในพ.ศ.2553เรื่องนี้เงียบหายไปจนผมไม่ทราบว่าทางสำนักงานอัยการได้อุทธรณ์ตามที่ได้ประกาศไปในตอนแรกแล้วหรือยังหากไม่ได้อุทธรณ์ ผมไม่ทราบว่าได้หมดเวลาไปแล้วหรือยัง หากคดีถูก "ไม่อุทธรณ์" จนตกไปแล้ว นักกฎหมายต้องร่วมกันคิดว่าจะรื้อฟื้นคดีนี้ให้กลับมาสู่การพิจารณาของกระบวนการยุติธรรมใหม่ได้อย่างไร

คดีที่ค้างศาลคดีนี้มีความสำคัญ ถึงยังไม่อาจสาวไปถึงผู้สั่งการแก่กำลังพลให้ปฏิบัติการฆ่าอย่างเหี้ยมโหดได้ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำคดีเพื่อสาวไปถึงได้ในภายหน้า นับเป็นการฆาตกรรมโดยรัฐคดีแรก ที่เราสามารถใช้กระบวนการยุติธรรมเอาผิดผู้รับผิดชอบได้ ทหารผู้ปฏิบัติการในครั้งนั้น ต่างก็ยังถืออำนาจอยู่เต็มมือในบัดนี้ เพราะฉะนั้นเขาเหล่านั้นนั่นแหละ หากสามารถลอยนวลไปกับคดีฆาตกรรมใน 2553 ก็จะเป็นผู้สั่งการฆาตกรรมได้อีกครั้งหนึ่ง โดยไม่ต้องนึกลังเลแต่อย่างใด



ผมคิดว่านี่เป็นหลักการอันเดียวกับควรยกเลิกโทษประหารชีวิตนอกจากสถิติจากสังคมต่างๆทั่วโลกพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าโทษประหารไม่ได้ช่วยยับยั้งอาชญากรรมรุนแรงแต่อย่างไรเรายังไม่ควรปล่อยให้มีเงื่อนไขใดๆ ให้แก่รัฐในการฆ่าประชาชน ฆาตกรรมโดยรัฐเป็นความผิดร้ายแรงในทุกเงื่อนไข หากเจ้าหน้าที่ของรัฐฆ่าคนเพื่อป้องกันชีวิตตนเองหรือผู้อื่น จำเป็นต้องมีกระบวนการตรวจสอบจากหน่วยงานอื่นอย่างเคร่งครัด ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น

ถือมีดเข้าโรงพักเพื่อทำร้ายเจ้าพนักงานก็ยังยิงให้หมดสมรรถนะที่จะทำร้ายได้ไม่จำเป็นต้องยิงให้ถึงตาย

ต้องพิสูจน์ให้หมดความสงสัยได้อย่างขาวสะอาดในทุกกรณีว่าวิสามัญฆาตกรรมเป็นวิสามัญจริงคือจำเป็นอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ถ้ารัฐไม่เหลืออำนาจในการฆ่าอีกเลย ผมเชื่อว่าเจ้าหน้าที่จะทำวิสามัญฆาตกรรมได้ ก็ต่อเมื่อได้ใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบแล้วเท่านั้น

ในยามหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้ ไม่มีอะไรสำคัญกว่าเราทุกคนทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำให้การฆาตกรรมโดยรัฐ เป็นทางเลือกที่เลือกไม่ได้ หรือถึงเลือกก็จะขาดทุนย่อยยับ รัฐฆาตกรรมในมือของเผด็จการเป็นอันตรายที่น่าสะพรึงกลัวที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น: