PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ตอกฝาโลงยิ่งลักษณ์ ร่างรธน.ตัดสิทธิ์ตลอดชีพ ‘บวรศักดิ์’ฝันฉบับสุดท้าย


"ไม่ผ่านก็ตัวใครตัวมัน" บวรศักดิ์ย้ำ พ้อไม่ใช่ร่างในฝัน หลังหั่น-แก้-รื้อจากร่างแรกเพียบ กมธ.ยกร่าง รธน.แจง ตัดสิทธิ์การเมืองลง ส.ส.-ส.ว. เป็นรัฐมนตรี ทั้งตลอดชีวิต-ห้าปี ให้มีผลย้อนหลังได้หมด ไม่ขัดนิติธรรม เหตุไม่ใช่คดีอาญา ตอกหมุดฝัง "ยิ่งลักษณ์" ตลอดอายุขัย รธน. กลุ่ม 111-109 เฮ ไม่ได้รับผลกระทบ สปช.ขยับตั้งป้อมโหวตไม่เห็นชอบ
เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า การเพิ่มบทบัญญัติลักษณะบุคคลต้องห้ามสมัคร ส.ส. อันจะพ่วงเป็นบุคคลต้องห้ามสำหรับการเป็น ส.ว. รัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีด้วย ขึ้นมาอีก 2 อนุมาตรา โดยมีคำว่า 'เคย' นำหน้า อันจะหมายความรวมถึงบุคคลที่มีลักษณะเช่นนั้นอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ด้วย คือ
"เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม..."
"เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งเพราะเหตุที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม..."
ไม่ขัดกับหลักนิติธรรม เพราะเป็นเพียงการคัดกรองคนที่ไม่เหมาะสมให้เข้ามามีตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้ไปลงโทษทางอาญาย้อนหลังใคร จึงไม่ถือว่าเป็นการบังคับใช้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายย้อนหลังเป็นโทษทางอาญา
การบัญญัติลักษณะต้องห้ามบางประการให้มีผลย้อนไปในอดีตด้วยเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยทำหรือไม่มีบทบัญญัติเช่นนี้มาก่อน เพราะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับไหนก็ไม่ต่างกันตรงที่ต้องการคัดกรองคนที่เหมาะสมให้เข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง
บทบัญญัติเนื้อหาทำนองเดียวกันเช่นนี้ของรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2540 ที่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังคงไว้ เช่น "เคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต...", "เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยพ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง...", "เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่...", "เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน..."
3 ใน 4 กรณีที่ยกตัวอย่างมานี้ ถือเป็นบุคคลต้องห้ามตลอดไป และหมายความรวมไปถึงบุคคลที่มีลักษณะเช่นนั้นอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆ มีผลบังคับใช้ด้วยอยู่แล้ว เท่าที่ทราบ ก็ไม่เคยมีการคัดค้านกัน
ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อธิบายถึงกรณีการตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิตกับบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรมว่า กรณีดังกล่าวจะไม่มีผลใดๆ กับอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ที่เคยโดนตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสิทธิการเมืองห้าปี หรือกลุ่ม 111 ไทยรักไทย รวมถึงอดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาฯ โดยกลุ่ม 111 และกลุ่ม 109 จะไม่ถูกตัดสิทธิใดๆ จากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยกเว้นแต่บุคคลที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดกรณีการยุบพรรคหรือบุคคลที่กระทำความผิดที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดการยุบพรรคเท่านั้น
"พวก 111 กับ 109 ไม่ใช่ผู้กระทำความผิดโดยตรง แต่ไปโดนเหมาเข่ง กรณีตัดสิทธิตรงนี้จะให้ถึงเฉพาะผู้กระทำที่ถูกใบแดงแล้วทำให้เกิดคดียุบพรรคเท่านั้น พวกนี้จึงไม่อยู่ในข่าย เขาก็สามารถลงสมัคร ส.ส.หรือไปรับตำแหน่งอะไรได้ตามปกติ" นายไพบูลย์กล่าว
เมื่อถามถึงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติถอดถอน จะเข้าข่ายกรณีไหน นายไพบูลย์กล่าวว่า กรณีอดีตนายกรัฐมนตรีถูก ป.ป.ช.ส่งสำนวนให้ สนช.ถอดถอนกรณีกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เมื่อเป็นกรณีนี้ก็ต้องถูกตัดสิทธิการเมืองตลอด ไม่ใช่แค่ 5 ปีตามที่ร่างรธน.ฉบับใหม่ได้แยกการถอดถอนออกเป็น 2 กรณี คือตัดสิทธิ 5 ปี กับตลอดช่วงที่ รธน.มีผลบังคับใช้
"เมื่อเป็นกรณีแบบนี้ อดีตนายกฯ ก็คือต้องถูกตัดสิทธิการเมืองตลอดที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้" นายไพบูลย์กล่าว
สำหรับสำนวนที่ ป.ป.ช.ส่งให้ สนช.ถอดถอน น.ส. ยิ่งลักษณ์ในคดีรับจำนำข้าว ระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีมูลความผิดฐานส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 178 และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 11 (1) อันเป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 270 ประกอบ พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฯ
ขณะที่คดียุบพรรคต่างๆ ก่อนหน้านี้ มีผู้ถูกโดนใบแดงและทำให้เกิดคดียุบพรรค ประกอบด้วย นายยงยุทธ ติยะไพรัช ในคดียุบพรรคพลังประชาชน, นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ในคดียุบพรรคชาติไทย, พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ในคดียุบพรรคไทยรักไทย เป็นต้น
โดยผู้เคยถูกถอดถอนพบว่าล้วนเกิดในยุค สนช.ชุดปัจจุบันทั้งสิ้น เช่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์, นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ ส่วนคดีถอดถอนที่เกิดจากการแก้ไข รธน.ไม่เคยมีการถอดถอน อาทิ คดีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์, คดีนายนิคม ไวยรัชพานิช และเวลานี้ สนช.กำลังพิจารณาคดีถอดถอน 248 อดีต ส.ส.อยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงมีอดีตส.ส.จากพรรคอื่นด้วย เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา แต่ก็มีแนวโน้ม สนช.จะลงมติไม่ถอดถอน
บวรศักดิ์ไม่มั่นใจผ่าน-ไม่ผ่าน
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโน ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า คณะ กมธ.ยกร่างฯ จะประชุมกันเพื่อมีมติในวันที่ 21 ก.ค. ในเวลา 13.30 น. ว่าจะมีมติขยายเวลาการทำงานของ กมธ.ออกไปอีก 30 วันหรือไม่ ซึ่งหากถามว่าพอใจกับ รธน.ฉบับนี้แค่ไหน คงพอใจเท่าที่จะพอใจได้ เพราะไม่มี รธน.ฉบับไหนดีที่สุดในโลก และร่างดังกล่าวก็ยังไม่ใช่ร่างในฝัน เพราะเข้าใจว่ายังมีข้อจำกัดหลายประการ
นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ข้อจำกัดแรก มีข้อจำกัดเรื่องเนื้อหา เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 35 ได้กำหนดแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญไว้หลายประการ เช่น การตัดสิทธิผู้ถูกพิพากษาว่าได้ทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมให้ออกไปจากวงการเมืองตลอดไป เป็นต้น และข้อจำกัดที่สองคือเรื่องเวลา ซึ่งบางเรื่องหากมีเวลามากกว่านี้ อาจะทำให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อจำกัดที่สาม เป็นเรื่องของกระบวนการ ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯ ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง โดยให้สิทธิ สปช. 8 คำข้อ ครม. 1 คำขอ และจากการฟังเสียงประชาชน
ผู้สื่อข่าวถามว่า แผนในการเผยแพร่รัฐธรรมนูญได้วางไว้อย่างไรบ้าง นายบวรศักดิ์กล่าวว่า มีคิดไว้ในใจ แต่ยังไม่สามารถพูดได้ เพราะยังไม่รู้ว่า รธน.ฉบับดังกล่าวจะผ่าน สปช.หรือไม่ หากมีการลงมติแล้ว กมธ.ยกร่างฯ จะมีการพูดคุยกันอีกที ส่วน สปช.จะลงมติอย่างไรก็เป็นเอกสิทธิ์ของ สปช. ไม่ขอก้าวล่วง และไม่ไปเดาว่าผ่านหรือไม่ผ่าน
“การลงมติของ สปช. ต้องยึดหลักการ 4 ประการ คือ ทำพลเมืองให้เป็นใหญ่ ทำให้การเมืองใสสะอาดและสมดุล หนุนสังคมให้เป็นธรรม และนำชาติสู่สันติสุข ไม่สามารถตอบได้ว่า รธน.ฉบับนี้จะอยู่กับประเทศไทยอีกนานแค่ไหน เพราะผมอยู่กับปัจจุบัน พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า คนที่ไปคิดถึงอดีตมันไม่มีประโยชน์ เพราะแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว คนที่คิดถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ก็เป็นเรื่องเพ้อฝัน ดังนั้น ผมตอบได้ว่าปัจจุบันถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน ก็จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ของประเทศ จะอยู่ได้นานแค่ไหนผมไม่รู้ แต่ผมตั้งใจในตัวผมเองว่าคงจะเป็นฉบับสุดท้ายที่ผมจะมีส่วนในการทำแล้ว" นายบวรศักดิ์กล่าว
ถามต่อว่า หากเหตุการณ์ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน ส่วนตัวจะกลับมาเข้ามาเป็นหนึ่งในกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า อย่าถามเรื่องอนาคต อนาคตมันยังไม่เกิด ปี 2540 ร่างรัฐธรรมนูญในบรรยากาศประชาธิปไตย ปี 2550 เกิดความขัดแย้งที่ยังสุกงอม มาปีนี้ความขัดแย้งก็ยังไม่หมด ขนาดตนพูดเรื่องความไม่เป็นธรรมในสังคม ยังเอาไปพูดเป็นเรื่องแบ่งชนชั้นเลอะเทอะไปโน่น
"เรื่องกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 21 คน อย่ามาคิดถึงผมเลย ตัวใครตัวมันก็แล้วกันถ้าไม่ผ่าน ผมก็กลับไปนอนบ้าน เท่านั้นเอง" นายบวรศักดิ์กล่าว
นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขานุการ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้ไขวิกฤติต่างๆ ที่ผ่านมา และนำประเทศไปสู่ความสงบโดยพริบตา แต่เป็นแนวทางที่คาดว่าจะเป็นช่องทางให้บ้านเมืองไปสู่สันติสุขและเจริญก้าวหน้าได้อย่างน่าชื่นชม รัฐธรรมนูญร่างแรกที่ออกมานั้น หลายคนคิดว่าเป็นกลไกที่สร้างขึ้นมาแล้วสามารถแก้ไขปัญหาและนำประเทศไปสู่ความสงบสุขได้ แต่เมื่อรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ และเสียงประชาชนแล้ว ต้องนำความเห็นนั้นมาปรับเพื่อให้เกิดความสมดุลและได้รับการยอมรับมากขึ้น แม้จะไม่ใช่โจทย์ที่ต้องการ แต่สุดท้ายต้องไม่ลืมเป้าหมายสูงสุดที่เพื่อแก้ปัญหาให้บ้านเมือง และให้บ้านเมืองสงบสุข
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธาน กมธ.ยกร่าง รธน.และอดีต กมธ.ยกร่าง รธน.ปี 50 กล่าวว่า ตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญปี 50 กับสถานการณ์วันนี้ มันต่างกับวันนั้นมาก เพราะร่างในสถานการณ์กดดัน โดยคนแบกรับมากที่สุดคือประธาน
"ส่วนตัวเชื่อว่าร่าง รธน.จะผ่าน เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา 6-7 เดือน สปช.ทราบถึงความเป็นเจ้าของร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเราทำงานร่วมกันด้วยความรู้สึกการเป็นเจ้าของร่วม นอกจากนี้ คำถามที่ว่าจะผ่านประชามติหรือไม่ ผมมั่นใจผ่าน เพราะมีประโยชน์กับผู้คน นำพา ชาติบ้านเมืองไปสู่สิ่งที่คาดหวัง" นพ.ชูชัยกล่าว
สปช.จ่อโหวตไม่รับคาใจปม สว.
ด้านความเห็นจาก สปช.ที่จะต้องลงมติรับ-ไม่รับร่าง รธน.ฉบับใหม่นั้น นายดิเรก ถึงฝั่ง สปช. กล่าวย้ำว่า ไม่เห็นด้วยกับการให้มี ส.ว.มาจากการเลือกทางอ้อม เพราะยืนยันมาตั้งแต่ต้นว่าจะไม่รับ ส.ว.ที่มาจากสรรหาทั้งหมด ไม่ว่าจะมีการคัดเลือกด้วยวิธีใดก็ตาม เพราะภารกิจหน้าที่ของ ส.ว.ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้กมธ.ยกร่างฯ จะตัดออกไปแล้ว แต่ยังไม่สอดคล้องกับหลักการทางวิชาการหรือหลักการกฎหมาย อาทิ การให้อำนาจรัฐสภาที่ประกอบด้วย ส.ส.และ ส.ว.มีอำนาจในการถอดถอนนักการเมืองได้ แต่ที่มา ส.ว.ซึ่งเป็นองค์ประกอบของรัฐสภามาจากการแต่งตั้งที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน จึงเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ เพราะคนเหล่านี้จะสามารถใช้อำนาจอย่างชอบธรรม เพื่อไปถอดถอนนักการเมืองที่ประชาชนเลือกตั้งมาได้ อีกทั้งการให้อำนาจ ส.ว.ในการถอดถอนบุคคลตามที่วุฒิสภาเป็นผู้ตั้งขึ้น อย่างองค์กรกรอิสระต่างๆ ซึ่ง ส.ว.ที่จะใช้อำนาจในการถอดถอนกลับมีที่มาจากการสรรหา แล้วการถอดถอนในกรณีนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร จะไม่ขอวิจารณ์วิธีการได้มาของ ส.ว.สรรหาทั้ง 4 แนวทางของ กมธ.ยกร่างฯ เพราะไม่รับแนวทางดังกล่าวตั้งแต่ต้น
"ประเด็นที่มาของ ส.ว.ตามร่างรัฐธรรมนูญที่ กมธ.ยกร่างฯ กำหนดนั้น ยังไม่ถูกต้อง เพราะการให้อำนาจไว้เช่นนี้ ส.ว.จะต้องมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด"
พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย สปช. กล่าวในประเด็นตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตสำหรับคนที่เคยถูกถอดถอน ซึ่งจะรวมถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีด้วยว่า เป็นการตัดสิทธิ์ที่รุนแรงเกินไป มองว่าความชอบธรรมในเวลานี้ไม่ได้เกิดจากจุดที่เป็นกลาง ที่ผ่านมาบางพรรคการเมืองไม่เคยเจอในกรณีเดียวกัน ความเป็นกลางในการบังคับใช้กฎหมายหลักนิติธรรมห่างจากหลักการใหญ่ ดังนั้น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญควรบัญญัติว่า ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปต้องห้ามนอกลู่นอกทาง ไม่กระทำการทุจริต ไม่ใช่ป้องกันไม่ให้นายกฯ คนหนึ่งได้กลับมาเป็นนายกฯ อีก เพราะการที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติแบบนี้เหมือนมองย้อนอดีต ไม่ป้องกันปัจจุบัน ทั้งที่ไม่จำเป็นที่ต้องทำขนาดนั้น ทำไมต้องไปขุดคุ้ยกันจนตาย กมธ.ยกร่างฯ และคณะกรรมการ ป.ป.ช.แน่ใจหรือว่าที่ผ่านมาไม่เคยกระทำความผิด
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญให้ตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตแก่ผู้ที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งกรณีการทุจริตว่า ตนยังไม่ทราบเรื่อง เห็นจากข่าวเท่านั้น
ส่วนที่นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงว่า ในอนุมาตรามีคำว่า “เคย” นำหน้า อันจะหมายความรวมถึงบุคคลที่มีลักษณะเช่นนั้นอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ด้วย นายวิษณุกล่าวว่า ถ้ามีคำว่า “เคย” บัญญัติไว้ ก็จะต้องรวมหมด แต่ตนยังไม่รู้ว่า เขาลงมติอย่างไร และเอาอย่างไร เมื่อถามย้ำว่าหากมีผลย้อนหลังไปยังบุคคลที่เคยถูกถอดถอนก่อนหน้านี้ จะขัดต่อหลักนิติธรรมหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า จะว่าขัดก็ขัด แต่ว่ามันไม่ใช่เป็นการย้อนหลังไปลงโทษอาญา แต่เขาถือว่าเป็นโทษตัดสิทธิ์ธรรมดาเท่านั้น จะเป็นในแง่ของคุณสมบัติ อย่างไรก็ตาม ตนขอรอความชัดเจนจาก กมธ.ยกร่างฯ ก่อน เพราะอีกหน่อยคงจะออกมาเป็นเอกสาร ตอนนี้ยังไม่เห็น เห็นแต่จากข่าว
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แกนนำพรรคเพื่อไทยกล่าวถึงกรณีร่างรัฐธรรมนูญให้ตัดสิทธิ์ผู้ที่เคยถูกถอดถอน หรือถูกตัดสินว่าผิดฐานทุจริตหรือประพฤติมิชอบว่า โดยหลักกฎหมายแล้วก็หมายจะมีผลย้อนหลังไม่ได้หากผลนั้นเป็นลบ แต่ถ้าผลเป็นบวกนั้น สามารถให้ผลย้อนหลังได้ ดังนั้นถ้าออกกฎหมายมาในวันนี้ เพื่อจะเอาผิด ก็ต้องว่ากันในเรื่องที่เกิดขึ้นในอนาคต
"วันนี้ หลักนิติรัฐนิติธรรมของไทยบิดเบี้ยว ฟั่นเฟือน และเละเทะไปหมดแล้ว ทั้งร่างรัฐธรรมนูญก็เขียนโดยกลุ่มคนที่ไม่ได้มาจากประชาชน หรือจะพูดว่าไม่สามารถเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรมได้เลย เขียนขึ้นมาโดยมีวาระซ่อนเร้น ก็รอดูว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบของประชาชนไปได้อย่างไร วันนี้อำนาจเป็นของพวกท่าน เอาประเทศให้รอดก็แล้วกัน เพราะถ้าหากเกิดความเสียหายจากการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้ ท่านก็ต้องรับผิดชอบ" นายสุรพงษ์กล่าว.
ที่มา : ไทยโพสต์

ไม่มีความคิดเห็น: