PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เฮโลหนุน "ประยุทธ์" ปรับ ครม.โละทีมเศรษฐกิจ


เฮโลหนุน "ประยุทธ์" ปรับ ครม.โละทีมเศรษฐกิจ "วันชัย" เตือนความนิยมและศรัทธาเริ่มถดถอยต้องปรับ ครม.สร้างความเชื่อมั่น "พิชัย" ระบุดึง "สมคิด" ร่วมทีมช่วยฟื้น ศก.ได้ "อรรถวิชช์" แนะให้ปรับใหญ่ "สุริยะใส" ลั่นต้องเปลี่ยนวิธีคิดตอบโจทย์ปากท้อง-ปฏิรูปประเทศ-การปรองดอง ขณะที่นักวิชาการอ้างไม่แก้ปัญหา แนะปรับโครงสร้างระยะยาว โพลระบุอยากให้นักการเมืองซื่อสัตย์ให้ความร่วมมือรัฐบาล ไม่ใส่ร้ายปลุกปั่น
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมการประสานงานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) กล่าวว่า กรณีที่มีกระแสข่าวให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ หรือเรียกร้องให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) สะท้อนว่า 1.ความนิยมชมชอบในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์เริ่มจะลดน้อยถอยลง ประกอบกับโพลในสำนักต่างๆ ก็ชี้ชัดว่าคะแนนนิยมเริ่มลดจากวันแรกๆ มาถึงวันนี้มีมากขึ้นๆ 2.การทำงานของรัฐบาลยังไม่สามารถสนองความต้องการและความรู้สึกของประชาชนที่คาดหวังไว้ได้ โดยประชาชนคาดหวังกับรัฐบาลชุดนี้มากว่าจะแก้ปัญหาของประเทศได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด รวดเร็วดีกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่วันนี้ประชาชนเริ่มจะมีความผิดหวังจากเล็กๆ และจะใหญ่ขึ้นๆ จนกระทั่งอาจจะเสียความรู้สึก 3.ประชาชนให้โอกาสในการทำงานของรัฐบาลชุดนี้อย่างเต็มที่เต็มกำลัง ถึงเวลานี้ประชาชนชักจะเริ่มมีความรู้สึกว่าให้โอกาสมาเพียงพอแล้วแต่ยังไม่ได้ดังใจ ชักจะไม่อยากให้โอกาสอีกต่อไปแล้ว
4.มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชนที่กระทบอยู่ทุกวี่ทุกวัน เป็นตัวเร่งเร้าและเรียกร้องว่าชักจะให้โอกาสและรอต่อไปไม่ไหวแล้ว ทั้งๆ ที่อยากให้รัฐบาลนี้อยู่ต่อ 5.ฝ่ายตรงข้ามก็ปลุกกระแส ขยายผลโจมตี เคลื่อนไหวทำลาย ดิสเครดิต แรกๆ ก็ไม่เอาด้วย แต่นานวันเข้ากับปัญหาที่ปรากฏ ก็ชักจะอยากร่วมด้วยช่วยกันเขย่า รุกเร้าให้มีการเปลี่ยนแปลง 6.น่าจะเป็นที่มาของคนที่มีความปรารถนาดี รวมทั้งประสงค์เอออวยจะช่วยรัฐบาลจะต้องรีบแก้ความรู้สึกของประชาชน กระชากศรัทธากลับมา ดึงความไว้วางใจให้โอกาสให้เวลากับรัฐบาลต่อไป โดยจะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงองคาพยพในการทำงาน
"ทั้งนายกฯ และภาพรวมทั้งหมดตกลงในการปรับเปลี่ยน ครม.แก้ทำงานไม่ได้ทั้งหมด แต่เป็นเรื่องการบริหารความรู้สึก และทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น เพราะขณะนี้ลดน้อยถอยลง ตราบใดที่ประชาชนหมดความเชื่อมั่นและความเชื่อถือในตัวรัฐบาล แม้ว่าเก่งก็อยู่ยาก ยิ่งมีปัญหารุมเร้าแก้ไม่ได้ยิ่งกระทบต่อรัฐบาลมากขึ้น แต่ถ้าปรับเปลี่ยนก็จะปรับความรู้สึกให้ประชาชนเพื่อให้ทีมงานมีความกระฉับกระเฉง เป็นการสนองความต้องการหรือความรู้สึกของประชาชน แม้ว่าปืนและอำนาจจะมีพลังขนาดไหน ถ้าประชาชนหมดความศรัทธาเสียแล้วก็ช่วยอะไรไม่ได้ จึงควรเปลี่ยนแปลงเรื่องคนทำงานเศรษฐกิจทั้งหมด เพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลไม่เพิกเฉยต่อการเรียกร้องของประชาชน ซึ่งไม่ได้หมายความว่ารัฐมนตรีเหล่านั้นทำผิด แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยศรัทธาประชาชนจะลดน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้เกิดปัญหาทุกส่วน โรดแม็พก็จะเดินไปไม่ถึงเพราะศรัทธาประชาชนไม่เอาด้วย" นายวันชัยกล่าว
หนุนโละทีมเศรษฐกิจ
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวปรับ ครม.ว่า ส่วนตัวอยากให้เร่งปรับ ครม. และได้เสนอให้ปรับ ครม.มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เพราะเห็นว่าแนวทางที่ทีมเศรษฐกิจทำอยู่ยังไม่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จึงอยากให้ปรับเพื่อนำคนที่มีความรู้ความสามารถดีกว่าเดิมเข้ามา และถ้าเป็นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีคงจะดี เพราะนายสมคิดเคยพิสูจน์ตัวเองว่ามีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้
"หากปรับ ครม.ตอนนี้แล้วรัฐบาลได้คนเก่งเข้ามาก็จะช่วยได้มาก ปัญหาหลักที่ต้องเร่งแก้คือ การช่วยเหลือประชาชนที่กำลังลำบาก โดยเฉพาะเกษตรกรที่รายได้ลดลงมาก แถมเจอภาวะภัยแล้งอีก การส่งออกที่ตกต่ำ การลงทุนจากต่างประเทศที่หดหาย และการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มจะลดลง" นายพิชัย กล่าว
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม.และทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เห็นด้วยว่าถึงเวลาที่ต้องปรับ ครม.แล้ว โดยเฉพาะ ครม.เศรษฐกิจ เพราะไม่มีนวัตกรรมใหม่ให้เห็น ยังเป็นการทำตามนโยบายและแผนงานเก่าที่ทำมา ดังนั้นหากจะเปรียบเป็นอาการไข้ของผู้ป่วย ถ้ารัฐบาลจะรักษาประคองอาการก็ไม่ต้องปรับ แต่ถ้าจะรักษาจริงจังก็ต้องผ่าตัดใหญ่ คือปรับ ครม.ใหญ่ เพราะที่ปฏิบัติอยู่นี้ยังไม่เข้าขั้นที่เรียกว่าการปฏิรูป ตามที่รัฐบาลประกาศไว้ว่าเป็นยุคปฏิรูปการเมือง อยู่อย่างนี้ก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน
"น่าเห็นใจรัฐบาล คสช.ที่เข้ามารับไม้ต่อจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มีหนี้สาธารณะอยู่แล้ว 5.4 ล้านล้านบาท เพราะใช้นโยบายเสพติดประชานิยม รัฐบาลนี้เข้ามาบริหาร 1 ปี ก่อหนี้เพิ่มขึ้นราวแสนล้านบาทเศษ วันนี้หนี้สาธารณะของประเทศอยู่ที่ 5.5-5.6 ล้านล้านบาท ถือว่ายังดีกว่าให้มีการใช้ประชานิยมมอม" นายอรรถวิชช์กล่าว
นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต ในฐานะ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่นายกฯ จะปรับ ครม.ในเร็วๆ นี้ เพราะต้องยอมรับว่ารัฐมนตรีหลายกระทรวงสอบไม่ผ่าน ทำให้ปัญหาพุ่งตรงและกดดันไปที่ตัว พล.อ.ประยุทธ์เพียงคนเดียว และควรระวังผลการสำรวจความนิยมของรัฐบาล ที่แม้ยังอยู่ในระดับที่ดีคนส่วนใหญ่ยังให้โอกาส แต่ถ้าดูกันอย่างละเอียดต้องยอมรับว่าคนยังผวากับความแตกแยกทางการเมือง จึงยังพึงพอใจในรัฐบาล คสช. แต่ในระยะยาวจะมีปัจจัยชี้วัดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล
เปลี่ยนวิธีคิดตอบโจทย์ 3 ข้อ
"ที่สำคัญการปรับ ครม.ต้องไม่ใช่แค่เปลี่ยนตัวคน แต่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการมองปัญหาและการแก้ปัญหา และต้องไม่ใช่เอาโควตา ครม.ไปแก้ปัญหาการโยกย้ายในกองทัพเท่านั้น นายกฯ จะต้องกล้าหาญในทางที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์กับส่วนรวม เพื่อลบข้อครหาเสียของที่สังคมเริ่มส่งสัญญาณดังขึ้น"
นายสุริยะใสกล่าวว่า นอกจากนี้การปรับ ครม.ต้องตอบโจทย์ปัญหาสำคัญของบ้านเมือง 3 ข้อ คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง, การปฏิรูปประเทศ และการปรองดองสมานฉันท์ เพราะยังไงเสียหลังจากนี้ไม่ช้าก็เร็วต้องมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ฉะนั้นหาก ครม.ใหม่มี รมต.ที่เข้าใจปัญหา กล้าแก้ปัญหาในระดับโครงสร้าง ก็จะสามารถวางรากฐานที่ดีและแข็งแกร่งให้กับบ้านเมืองในระยะยาวได้ ไม่เช่นนั้นหลังเลือกตั้งปัญหาอาจจะวนกลับมาที่เดิมได้อีก
นายสมหมาย ภาษี รมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวปรับ ครม.เศรษฐกิจว่า กระแสดังกล่าวไม่ได้สร้างความกดดันใดๆ กับตนเลย ตนทำงานไปเรื่อยๆ ไม่มีหยุดและไม่มีพัก เหมือนเดิมทุกอย่าง
ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าเหมือนมีคนพยายามปล่อยข่าวออกมาหรือไม่ นายสมหมายตอบว่า "ช่างมัน เพราะผมวางเฉยอยู่แล้วในเรื่องพวกนี้ และยืนยันว่าข่าวนี้ไม่มีผลต่อการทำงานของผม ไม่มีผลต่อจิตใจเลย"
ด้านนายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง เปิดเผยว่า การปรับรัฐมนตรีเศรษฐกิจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะรัฐบาลเหลือเวลาการทำงานไม่นานก็ต้องเลือกตั้งใหม่ในปีหน้า รวมถึงการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี โดยเฉพาะตำแหน่ง รมว.การคลังต้องหาคนที่ดีกว่าเดิม หากได้คนที่แย่กว่า เศรษฐกิจจะแย่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ทำได้แค่เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของรัฐบาลให้ดูมีความหวังมากขึ้นเท่านั้น และอาจต้องการหาคนเข้ามาทำเรื่องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว เพราะปัจจุบันรัฐบาลทำแต่เรื่องระยะสั้น
"ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ย่ำแย่ตอนนี้ ส่วนใหญ่มาจากปัญหาผลกระทบภายนอกและปัญหาที่สะสมมานานก่อนหน้านี้ ทั้งการส่งออกที่ขยายตัวติดลบก็เพราะเศรษฐกิจโลกไม่ดี โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศจีนขยายตัวชะลอลง และรัฐบาลที่ผ่านมาของไทยไม่ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงคุณภาพสินค้า ก็เป็นปัญหาสะสมที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งสิ้น" นายสมชายกล่าว
มีรายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยว่า มีความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ขณะนี้ได้มาพักผ่อนที่ประเทศสิงคโปร์ หลังจากก่อนหน้านี้ได้เดินทางไปทำบุญที่แคว้นสิบสองปันนา ประเทศจีน และฮ่องกง คาดว่าหลังจากพักผ่อนที่ฮ่องกงแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณจะเดินทางกลับดูไบ และจะไม่จัดงานวันเกิดครบรอบ 66 ปี ในวันที่ 26 กรกฎาคมนี้แต่อย่างใด จะมีก็เพียงรับประทานอาหารกับคนใกล้ชิดเท่านั้น
วอนนักการเมืองอย่าป่วน
วันเดียวกัน สวนดุสิตโพลเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,261 คน ระหว่างวันที่ 13-18 ก.ค.58 เรื่อง "ประชาชนคิดอย่างไรต่อนักการเมืองไทยในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์" พบว่าประชาชนร้อยละ 72.88 อยากให้นักการเมืองปฏิบัติต่อรัฐบาล ด้วยการเป็นพลเมืองดี ซื่อสัตย์ จริงใจ และตรงไปตรงมา ร้อยละ 67.03 ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลและปฏิบัติตามกฎหมาย ร้อยละ 62.57 ติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ชี้แนะในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ร้อยละ 57.34 มีความสามัคคี ช่วยกันพัฒนาบ้านเมือง ร้อยละ 46.23 อยากให้นักการเมืองอยู่อย่างสงบ ใช้ชีวิตตามปกติ
ส่วนสิ่งที่ประชาชนไม่อยากให้นักการเมืองปฏิบัติต่อรัฐบาล พบว่า ร้อยละ 71.69 ใส่ร้ายโจมตี ปลุกปั่น สร้างกระแส ร้อยละ 65.74 การทุจริต คอร์รัปชัน มุ่งหวังแต่ผลประโยชน์ ร้อยละ 63.52 การเคลื่อนไหวเรียกร้อง สร้างสถานการณ์ที่นำไปสู่ความวุ่นวาย ส่วนร้อยละ 56.3 มีอคติ ทะเลาะเบาะแว้ง ขาดความสามัคคี ร้อยละ 53.37 ต่อต้าน ขัดขวางการทำงานของรัฐบาล
สำหรับสิ่งที่ประชาชนอยากให้นักการเมืองทำเพื่อประชาชน พบว่า ร้อยละ 79.7 ซื่อสัตย์ จริงใจ เป็นนักการเมืองที่ดี เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประชาชน ร้อยละ 78.83 มีความสามัคคี ร่วมใจกันทำงาน พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ร้อยละ 71.37 ทำตามสัญญาเหมือนกับที่ตอนหาเสียง ร้อยละ 69.79 ลงพื้นที่เยี่ยมประชาชน และร้อยละ 64.63 เป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชน สะท้อนปัญหาในพื้นที่
สิ่งที่ประชาชนไม่อยากให้นักการเมืองทำต่อประชาชน พบว่า ร้อยละ 83.51 โกหก หลอกลวง ร้อยละ 80.57 ทุจริตคอร์รัปชัน เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ร้อยละ 77 ใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือในเรื่องต่างๆ ร้อยละ 75.89 ยุยง ปลุกปั่นประชาชนออกมาชุมนุม และร้อยละ 69.55 ใช้อำนาจเอาเปรียบหรือข่มเหงประชาชน
เมื่อถามถึงในยุครัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ นักการเมืองมีความจำเป็นต่อสังคมไทยมากน้อยเพียงใด พบว่าร้อยละ 31.02 เห็นว่าค่อนข้างจำเป็น เพราะมีนักการเมืองไทยหลายคนที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ทางการเมือง เข้าใจปัญหาในพื้นที่ได้ดี เป็นที่พึ่งของประชาชน ช่วยรัฐบาลบริหารบ้านเมือง ส่วนร้อยละ 27.9 ระบุว่ายังจำเป็นมาก เพราะบ้านเมืองจะเป็นประชาธิปไตยได้ต้องมีการเลือกตั้ง มีนักการเมืองมาทำงาน เป็นการถ่วงดุลอำนาจ ร้อยละ 22.36 เห็นว่าไม่ค่อยจำเป็นเพราะมี คสช.และรัฐบาลทหารดูแล บ้านเมืองก็สงบเรียบร้อยดี ไม่มีการทะเลาะในรัฐบาล รอจนกว่าจะเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 18.72 เห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีนักการเมือง เพราะการแก่งแย่งอำนาจและผลประโยชน์ของนักการเมืองทำให้บ้านเมืองต้องอยู่ในสภาวะย่ำแย่ เศรษฐกิจและประเทศเกิดความเสียหายอย่างมาก หรือประชาชนเบื่อหน่ายกับพฤติกรรมของนักการเมือง.

ไม่มีความคิดเห็น: