PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เอพีวิเคราะห์ ประเทศไทยในสายตาโลกตกต่ำไม่หยุด นับแต่ทำรัฐประหาร

เอพีวิเคราะห์ ประเทศไทยในสายตาโลกตกต่ำไม่หยุด นับแต่ทำรัฐประหาร ใช้แรงงานทาส ระเบิดกลางกรุง ล่าสุดสหรัฐฯยกธงแดงความปลอดภัยการบิน รอลุ้นยุโรปสั่งแบนซีฟู้ด-สายการบินของประเทศ
 ในวันศุกร์ สำนักข่าวเอพีเสนอบทวิเคราะห์ ระบุว่า ครั้งหนึ่ง ไทยเคยเป็นแบบอย่างของประชาธิปไตยและเสรีภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทว่าตลอดสองปีที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหายครั้งแล้วครั้งเล่าในสายตาชาวโลก
 รายงานบอกว่า ความหายนะด้านภาพลักษณ์ของไทยเริ่มต้นที่การรัฐประหาร ตามด้วยการเปิดโปงการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมอาหารทะเล ในเดือนสิงหาคม ใจกลางกรุงเทพฯถูกถล่มด้วยระเบิด ในสัปดาห์นี้ สหรัฐฯเพิ่งลดอันดับมาตรฐานด้านการบินของไทย ทั้งหมดนี้ยังไม่นับภาพความปั่นป่วนทางการเมืองที่ดำเนินมาร่วมทศวรรษ
 “ไทยเคยมีภาพลักษณ์ยอดเยี่ยมในสายตาชาวโลก อาหารอร่อย ผู้คนเฮฮา ยิ้มง่าย ภาพแบบนั้นกำลังเลือนหายไป ไม่รู้ว่าในอนาคตภาพลักษณ์ของประเทศนี้จะเป็นอย่างไร” ไมเคิล มอนเตซาโน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเมืองไทย สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ในสิงคโปร์ กล่าว
 รายงานบอกว่า นับแต่ประชาชนโค่นรัฐบาลทหารเมื่อปี 2535 ไทยได้รับการยกย่องอยู่นานหลายปีว่าเป็นคบเพลิงแห่งความก้าวหน้าในภูมิภาคซึ่งยังคงตกอยู่ใต้ระบอบเผด็จการ ชื่อเสียงเรื่องประชาธิปไตยของไทยสั่นสะเทือนเมื่อรัฐประหารปี 2549 และการขู่ที่จะเข้าแทรกแซงของกองทัพต่อรัฐบาลจากการเลือกตั้งชุดต่างๆ
 นับแต่พวกนายพลเข้าปกครองเมื่อปี 2557 คำสัญญาที่จะจัดการเลือกตั้งโดยเร็วถูกพับเก็บ เสรีภาพถูกลิดรอน บรรยากาศเต็มไปด้วยความหวาดกลัว ฮิวแมนไรท์วอทช์ บอกว่า “สถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยกำลังดิ่งเหว”
 ในสัปดาห์นี้ องค์การการบินของสหรัฐ หรือเอฟเอเอ ลดอันดับมาตรฐานการบินของไทยจากกลุ่ม 1 ลงไปเป็นกลุ่ม 2 คาดกันว่า หน่วยงานกำกับดูแลการบินของสหภาพยุโรปจะตัดสินใจในเดือนธันวาคม ว่าจะลดชั้นประเทศไทยหรือไม่ ในขณะนี้ การบินไทย ซึ่งกำลังประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก มีเที่ยวบินไปยังยุโรปใน 11 เมือง
 “ไม่ว่ารัฐบาลไหนๆต่างเจอปัญหาสั่งสมขึ้นเรื่อยๆ แต่ธรรมชาติของรัฐบาลทหารก็คือ มีขีดความสามารถจำกัดในการแก้ปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อน” นายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันความมั่นคงศึกษาและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็น
 นอกจากปัญหาเรื่องการบิน คาดว่าสหภาพยุโรปจะตัดสินใจในเดือนนี้ว่า การค้ามนุษย์ในประเทศไทยมีความรุนแรงถึงขั้นที่อียูจะลงโทษหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารทะเล
 ขณะเดียวกัน คณะรัฐประหารกำลังเจอกรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับข้อกังขาเรื่องค่าหัวคิวในโครงการอุทยานราชภักดิ์ มูลค่า 1,000 ล้านบาท นับเป็นหายนะด้านการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของรัฐบาลทหาร ซึ่งอ้างการปราบคอรัปชั่นเป็นเหตุผลข้อหนึ่งของการยึดอำนาจ
 “ไทยมักด้อยมาตรฐานในเรื่องต่างๆ แต่ช่องว่างดูจะถ่างกว้างขึ้นภายใต้รัฐบาลนี้ และยังมองไม่เห็นทางออก” นายฐิตินันท์กล่าว.
 Source: AP
Photo: AFP

ไม่มีความคิดเห็น: