PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2559

ประชาธิปไตยไทย

คนไทยจำนวนหนึ่งดีใจที่พม่าเป็นประชาธิปไตยมีประธานาธิบดีจากการเลือกตั้ง หลังจากอยู่ภายใต้อำนาจของทหารมาหลายสิบปี ทำประเทศล้าหลังไม่พัฒนาเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างไทย แต่พม่าก็ยังเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดใน1ใน4ของสภานิติบัญญัติมาจากการแต่งตั้งของฝ่ายทหาร กระทรวงเกี่ยวกับความมั่นคงก็ยังอยู่ในอำนาจของทหาร
.
มีการล้อเลียนว่า ไทยกำลังเป็นกระต่ายที่ชะล่าใจนอนหลับอยู่ใต้ต้นไม้เพราะประมาทคู่แข่งอย่างเต่าซึ่งเปรียบเหมือนพม่า
.
แต่พม่าเองก็คงจะต้องเรียนรู้กับระบอบประชาธิปไตยไปอีกพรรคหนึ่ง ถ้าพวกเขาได้ผู้นำที่เห็นประโยชน์ของประชาชนมากกว่าตัวเองแบบที่คนไทยประสบก็นับเป็นเรื่องที่โชคดี แต่วันหนึ่งก็คงเรียนรู้ว่า แม้ประชาธิปไตยจะเป็นการตัดสินใจด้วยอำนาจของประชาชน แต่ก็ไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จว่าเราจะได้ผู้นำที่ดีเสมอไป ประเทศไทยมีบทเรียนอันเจ็บปวดมาแล้วกับระบอบทักษิณที่กลายเป็นทรราชย์จากการเลือกตั้ง จนกระทั่งทหารต้องเข้ามาจัดการบ้านเมืองอีกครั้ง
.
ตอนแรกผมก็ไม่เชื่อหรอกว่า แม้ไทยจะเสียเวลากับการเข้ามาแก้ปัญหาภายในประเทศของทหารเพียงชั่วขณะเพราะประเทศถึงทางตันเดินหน้าต่อไปไม่ได้จะทำให้ไทยกลับไปเป็นพม่าในอดีตได้ จนกระทั่งมาเห็นข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ของคสช.ถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ผมก็เริ่มมองเห็นว่า เค้ารางนั้นอาจจะเป็นจริงก็ได้
.
เพราะคสช.เสนอว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ให้ส.ว.250คนมาจากการสรรหา และมีอายุ1สมัย5ปี และสามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ พูดง่ายๆแบบไม่อ้อมค้อมก็คือ พรรคส.ว.ซึ่งเป็นพรรคของทหารจะกลายเป็นพรรคที่มีเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติคือมีเสียงถึง1ใน3ของทั้งสองสภา ถ้าพรรครัฐบาลแตกแถวก็สามารถใช้เสียงฝ่ายค้านและส.ว.รวมกันคว่ำรัฐบาลได้
.
ลองคิดดูพม่าที่เราว่ายังไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบยังกำหนดเก้าอี้ทหารในสภานิติบัญญัติไว้แค่1ใน4 แต่สภานิติบัญญัติไทยจะกำหนดไว้ถึง1ใน3เลยทีเดียว
.
คสช.คงไม่สั่งให้เขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้มาแบบไม่มีเป้าหมายหรอกครับ ชัดเจนว่า คสช.ต้องการคุมอำนาจหลังการเลือกตั้งไปอีกระยะเวลาหนึ่ง และต้องกำหนดได้ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลและใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี
.
ที่คนเขาผวากันก็คือ กลัวว่าชื่อที่จะลอยมาหลังเลือกตั้งก็คือ ชื่อพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพราะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาพูดย้ำแล้วย้ำอีกว่าหลังจากนี้ไม่เอาแล้ว แต่พล.อ.ประวิตรไม่เคยพูด ถามว่าความเชื่อมั่นในตัวของพล.อ.ประวิตรต่อสังคมเป็นอย่างไร คำตอบก็คือ มีภาพค่อนข้างไปทางลบแม้ว่าจะเป็นฝ่ายที่ไม่เอาทักษิณก็ตาม
.
คนที่สนับสนุนรัฐบาลเขาอาจบอกว่าเขาไว้ใจพล.อ.ประยุทธ์ แต่ถามสิครับว่าเขาไว้ใจพล.อ.ประวิตรไหม
.
อยากรู้เหมือนกันว่าถึงวันนั้นอำนาจทหารจะกล้าท้าทายความรู้สึกของประชาชนไหม

ไม่มีความคิดเห็น: