PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2559

‘กรณ์’ นำทีมยื่นหนังสือถึงนายกฯ " แผนการลงทุนรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ –นครราชสีมา "

‘กรณ์’ นำทีมยื่นหนังสือถึงนายกฯ " แผนการลงทุนรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ –นครราชสีมา "
.
วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๙ นายกรณ์ จาติกวณิช ประธานคณะนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ และคณะทีมนโยบายด้านคมนาคมพรรคประชาธิปัตย์ อันประกอบด้วย ดร. สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และนายอนุชา บูรพชัยศรี อดีต ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ไปยื่นหนังสือในฐานะตัวแทนหัวหน้าพรรคฯ ต่อนายกรัฐมนตรี “ เรื่อง แผนการลงทุนรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ –นครราชสีมา ” ที่ทำเนียบรัฐบาล โดย พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนแผนการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบราง รวมถึงการลงทุนในรูปแบบที่เหมาะสมในโครงการรถไฟความเร็วสูงและในสมัยที่กระผมเป็น นายกรัฐมนตรี รัฐบาลของกระผมในสมัยนั้นมีเจตนาที่จะให้โครงการนี้เป็นโครงการระดับภูมิภาคในรูปแบบร่วมทุนกับจีน โดยที่จะใช้พื้นที่วางรางเป็นทุน และจะมีการก่อตั้งบริษัทร่วมทุน ไทย-จีนเป็นผู้ก่อสร้างเส้นทางรถไฟ รวมไปถึงการเป็นผู้บริหารรถไฟบนเส้นทางนี้ต่อไป
.
ก่อนหน้านี้รัฐบาลภายใต้การนำของ ฯพณฯ ได้มีการเปลี่ยนความเร็วของรถไฟจากความเร็วสูงเป็นรถไฟระดับความเร็วปานกลาง วิ่งบนเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย และได้เพิ่มเส้นทางแก่งคอย-มาบตาพุดขึ้นมา ทั้งนี้กระผมเข้าใจว่าแนวทางการเจรจากับรัฐบาลจีนในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ไทยต้องเป็นผู้รับผิดชอบการลงทุนส่วนใหญ่ โดยได้มีการเจรจาที่จะกู้ยืมเงินจากจีนเป็นมูลค่ากว่า ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท
.
ล่าสุด ปรากฎเป็นข่าวว่า รัฐบาลของ ฯพณฯจะเดินหน้าลงทุนด้วยตนเอง โดยปรับให้รถไฟกลับไปเป็นรถไฟความเร็วสูง และมีการลดเส้นทางในระยะแรกลงเหลือเพียงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งส่งผลให้งบประมาณที่คาดว่าจะต้องใช้ในระยะนี้ลดลงเหลือ ๑๗๐,๐๐๐ ล้านบาท
.
“กระผมมีความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวดังนี้”
๑. เส้นทางรถไฟความเร็วสูงแต่เดิมกำหนดไว้ว่าต้องไปถึงหนองคายเพื่อจะเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงที่จีนมีแผนจะสร้างจากคุนหมิงผ่านลาวเพื่อมาต่อกับเส้นทางของเรา กระทรวงคมนาคมมีสมมติฐานว่าในระยะแรกจะมีผู้โดยสารบนเส้นทางนี้ ๗.๕ ล้านเที่ยวต่อปี ซึ่งในระยะยาวจะเพิ่มเป็น ๒๐ ล้านเที่ยวต่อปี ดังนั้นการที่รถไฟในแผนใหม่ของรัฐบาลจะไปถึงเพียงนครราชสีมาและไม่เชื่อมกับรถไฟจีน จะมีผลกระทบในทางลบกับสมมติฐานนี้อย่างมากและจะส่งผลให้ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและการเงินลดลงอย่างมากเช่นเดียวกัน ตลอดจนทำให้มิติความร่วมมือในภูมิภาคนี้ขาดหายไปอย่างชัดเจน
นอกจากนี้โครงการนี้อาจจะซ้ำซ้อนกับโครงการรถไฟทางคู่ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยจะพัฒนาในระบบ ราง ๑ เมตรในเส้นทางเดียวกันซึ่งในระยะทางที่ลดลงเหลือเพียง ๒๕๐ กิโลเมตรอาจทำให้ความได้เปรียบทางเวลาลดลง
.
๒. ขอย้ำว่าโครงการนี้มีความเสี่ยงทางการเงินมากเกินกว่าที่ฝ่ายไทยจะแบกรับภาระไว้ได้ในฐานะผู้ลงทุนแต่เพียงผู้เดียว แม้เราสมมติว่าจีนยังจะคงให้กู้จะด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ ๒ และรัฐบาลไทยต้องกู้ยืมเงินลงทุนประมาณ ๑๗๐,๐๐๐ ล้านบาท นั่นหมายความว่า รัฐบาลไทยจะมีภาระดอกเบี้ยสูงประมาณ ๓,๔๐๐ ล้านบาทต่อปี
.
ถ้าเรามีสมมติฐานเพิ่มเติมว่าค่าโดยสารจะกำหนดไว้ที่ เที่ยวละ ๕๐๐ บาท(มากกว่า ๓ บาท / กม.)หมายความว่าจะต้องมีผู้โดยสารถึง ๗ ล้านเที่ยวต่อปี เพียงเพื่อมีรายได้เพียงพอต่อการชำระดอกเบี้ย ซึ่งเป็นจำนวนผู้โดยสารในสมมติฐานเดิมของกระทรวงคมนาคมในกรณีที่รถไฟวิ่งผ่านขอนแก่น อุดรธานี ไปถึงหนองคาย และเชื่อมรับผู้โดยสารจากลาวและจีน บวกกับผู้โดยสารบนเส้นทางแก่งคอย-ระยองที่ได้มีการยกเลิกไปด้วย ดังนั้นกระผมจึงมองว่าโครงการนี้จะคุ้มค่าทั้งทางเศรษฐกิจและการเงินได้ในกรณีที่เราให้จีนร่วมลงทุนด้วยเท่านั้น
.
หากรัฐบาลไทยไม่ดำเนินการตามนี้ จะมีความเสี่ยงสูงมากที่โครงการนี้จะเป็นภาระต่อผู้เสียภาษีที่จะต้องชดเชยการขาดทุนในอนาคตต่อไป
.
๓. ขอเสนอเพิ่มเติมว่าการลงทุน การบริหารและการดูแลกิจการรถไฟความเร็วสูงนี้ ควรดำเนินการโดยบริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งใหม่ เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทยมีภารกิจมากอยู่แล้วในการดำเนินการลงทุนสร้างทางคู่ในระบบรถไฟปัจจุบัน และยังมีความจำเป็นในการปฏิรูปการบริหารการรถไฟเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรด้วย
.
๔. การลงทุนในโครงการนี้และโครงการขนาดใหญ่โครงการอื่นๆควรต้องผ่านการพิจารณาของผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป และผลต่อสิ่งแวดล้อมให้รอบคอบตามขั้นตอนกฎหมายปกติ มิเช่นนั้นโครงการจะหมดความยอมรับและอาจไม่บรรลุผลตามความตั้งใจที่ดีของรัฐบาล
.
๕. กระผมมั่นใจว่า การเจรจากับรัฐบาลจีนจะบรรลุล่วงได้ต่อเมื่อ ฯพณฯ เป็นผู้เจรจาในหลักการสำคัญโดยตรงกับผู้นำรัฐบาลจีนเท่านั้น เนื่องจากความล่าช้าที่ผ่านมา เกิดจากปัญหาความสับสนและความไม่สามารถตัดสินใจของหน่วยงานจากทั้งสองฝ่าย เพราะขาดความมั่นใจ และการให้ความสำคัญต่อข้อพิจารณาในภาพรวม ตลอดจนความสำคัญของโครงการนี้ ในเชิงยุทธศาสตร์ของความสัมพันธ์ระหว่าง ๒ประเทศ
.
๖. การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจะเน้นการขนส่งผู้โดยสารเป็นหลัก มิใช่เพื่อการขนส่งสินค้าดังนั้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศรัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อย่างเร่งด่วน ด้วยการดำเนินการเร่งรัดโครงการต่างๆเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าอาทิโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่และโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศโดยเร็ว
.
“อนึ่งกระผมใคร่ขอฝากข้อสังเกตทั้งหมดเพื่อประโยชน์ของท่านในการพิจารณาแนวทางการเดินหน้าในโครงการสำคัญนี้ และในการพัฒนากิจการรถไฟของประเทศไทย”
.
“:กระผมพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มกำลังความรู้และความสามารถเพื่อทำให้รถไฟเส้นทางสำคัญนี้ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนคนไทยทุกคนตามความมุ่งหวังที่ตรงกันของเรา”

ไม่มีความคิดเห็น: