PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2559

'วรเจตน์' เตรียมขึ้นศาลทหาร สืบพยานคดีฝ่าฝืนรายงานตัวคสช.

'วรเจตน์' เตรียมขึ้นศาลทหาร สืบพยานคดีฝ่าฝืนรายงานตัวคสช.
พรุ่งนี้( 29 มีนาคม 2559) ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานคดี ฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวตามประกาศคสช. ที่ 5/2557 ของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พยานในนัดนี้คือ ร.ท. เอกชัย บุญประเทืองวงศ์ ทหารจากกองทัพภาคที่ 1 ทำหน้าที่รับตัววรเจตน์ไปที่หอประชุมกองทัพบกเทเวศน์
โดยสืบพยานนัดนี้ถูกเลื่อนจากวันที่ 28 ตุลาคม 2558 หลังพยานมีปัญหาเรื่องเอกสาร
คดีนี้ย้อนไปเมื่อหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ประกาศเรียกวรเจตน์ให้มารายงานตัวตามประกาศ ที่ 5/2557 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 แต่วรเจตน์ไม่สามารถเข้ารายงานภายในกำหนด กระทั่ง16 มิถุนายน 2557 วรเจตน์ประสานงานกับเจ้าหน้าทหารเพื่อเข้ารายงานตัว ก่อนจะถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวฯ
อีกสองวันถัดมา เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามนำตัววรเจตน์ ไปยังศาลทหารกรุงเทพฯ เพื่อยื่นขอฝากขัง ศาลทหารอนุมัติฝากขัง วรเจตน์จึงถูกนำตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และครอบครัวยื่นหลักทรัพย์เงินสด 20,000 บาทเพื่อขอประกันตัว ต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตประกันตัว กำหนดเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง ต้องขออนุญาตก่อนออกนอกราชอาณาจักรและให้มารายงานตัวตามวันที่นัดหมาย
หลังครบกำหนดรายงานตัว สิงหาคม 2557 อัยการทหารสั่งฟ้อง วรเจตน์ 2 ข้อหา คือ ความผิดฐานไม่เข้ารายงานตัวตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 5/2557 และ 57/2557
ทั้งนี้ศาลอนุญาตให้ประกันตัว ในวงเงินประกันตัว 20,000 บาท ซึ่งในชั้นสอบคำให้กาาร วรเจตน์ ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาขอสู้คดี
24 พฤศจิกายน 2557 นัดตรวจพยานหลักฐาน ทนายความวรเจตน์ ยื่นคำร้องในประเด็นที่ว่าประกาศคสช. ฉบับที่ 37/2557 และ38/2557 ที่ให้คดีอยู่ในอำนาจของศาลทหารนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 และขัดกับหลักกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ไอซีซีพีอาร์) ซึ่งมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้พันธะกรณีที่ไทยมีอยู่นั้นต้องผูกพันด้วย จึงทำคำร้องขอให้ศาลทหารส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประกอบพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498
ซึ่งศาลทหารได้รับคำร้องนี้ไว้ กระทั่ง 26 มกราคม 2558ศาลทหารยกคำร้องโดยระบุว่าศาลทหารเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามประกาศของคสช.และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2557 บัญญัติให้ความคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองตามกติการะหว่างประเทศไว้แล้วจึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติของพันธะสัญญาระหว่างประเทศตามที่วรเจตน์อ้างมา ประกอบกับตามรัฐธรรมนูญฯ มีบทบัญญัติให้อำนาจเฉพาะศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ หรือศาลปกครองสูงสุดเท่านั้น ที่จะส่งความเห็นหรือคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่าบทบัญญัติใดขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงไม่มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลทหารมีอำนาจหน้าที่ต้องส่งความเห็นหรือคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ดังนั้นคำร้องจึงตกไป
หลังจากนั้นศาลจึงตรวจพยานหลักฐาน อัยการโจทก์ขอนำพยานเข้าสืบ 7 ปาก ส่วนพยานของวรเจตน์ มี 6 ปาก โดยกว่าคดีจะเริ่มสืบพยาน ก็เดือนพฤษภาคม 2558 เเล้ว ก่อนหน้านี้สืบพยานไปทั้งสิ้นเพียง 2 ปาก
ตามอ่านรายละเอียดคดีวรเจตน์ทั้งหมดได้ที่ -->http://freedom.ilaw.or.th/th/case/618

ไม่มีความคิดเห็น: