PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559

สรรเสริญ-ชาญวิทย์ ‘คนเดือนตุลา’ ที่ถูกลืมในเรือนจำ

ตลอดเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา จำเลย 14 คน ในชุดนักโทษและถูกตีตรวนที่ขาถูกนำตัวมายังศาลทหารหลายครั้งในการสืบพยานคดีปาระเบิดลานจอดรถศาลอาญาที่เกิดขึ้นเมื่อ 7 มี.ค.2558 เป็นเหตุให้บริเวณลานจอดรถและป้อมยามเสียหายเล็กน้อย ในจำนวนนี้มีชายสูงวัยอยู่ 2 คนอายุเลย 60 ปีแล้วทั้งคู่ พวกเขาเป็น “คนรุ่นตุลา” ที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวพันกับเรื่องนี้ นั่นคือ สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน และชาญวิทย์ จริยานุกูล ในวาระ 40 ปี 6 ตุลา ‘ประชาไท’ จึงขอนำเสนอข้อมูลของสองคนนี้ก่อนในเบื้องต้น

สรรเสริญแจ้งทนายความทันทีถึงการถูกซ้อมและช็อตไฟฟ้าหลังจากทหารส่งตัวเขาให้ตำรวจ

ทั้งคู่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 จนปัจจุบัน คดีนี้มีผู้กระทำการที่ถูกจับกุมในที่เกิดเหตุ 2 คน จากนั้นทหารขยายผลจับกุมคนอื่นๆ อีกรวม 14 ราย ผู้ต้องหาทั้งหมดล้วนถูกจับกุมตัวโดยทหารและถูกควบคุมตัวในค่ายทหารหลายวันก่อนนำตัวส่งให้ตำรวจ มีหลายคนที่ร้องเรียนว่ามีการทำร้ายร่างกายของพวกเขาระหว่างการควบคุมของทหาร รวมถึงสรรเสริญและชาญวิทย์ด้วย (อ่านข่าว) ชายสูงวัยอย่างสรรเสริญระบุว่าเขาถูกซ้อม ถูกช็อตไฟฟ้า เขาจึงได้อดข้าวประท้วงระหว่างการควบคุมตัว (อ่านข่าว) แต่ท้ายที่สุดเมื่อตำรวจตั้งคณะกรรมการตรวจสอบผลก็ออกมาแบบคาดเดาได้ (อ่านข่าว)

สรรเสริญเคยยื่นประกันตัวในชั้นตำรวจ 2 ครั้งแต่ศาลปฏิเสธเพราะเป็นคดีร้ายแรงและเกรงจะหลบหนี หลังจากนั้นในชั้นพิจารณาคดีของศาลทหารซึ่งปัจจุบันเพิ่งสืบพยานโจทก์แล้วเสร็จเพียง 1 ปาก เขามีโอกาสยื่นประกันตัวอีก แต่เขากลับไม่ยอมให้ทนายดำเนินการ

“เขาบอกว่าถ้าใครยื่นประกันเขาย่อมไม่ใช่สหายของเขา เขาอยากให้คนอื่นได้ประกันออกไปก่อน เพราะทุกคนเป็นคนยากจนทั้งนั้น” ทนายความของสรรเสริญกล่าว

หลังการสืบพยานแต่ละครั้งพวกเขาทั้งหมดจะถูกนำตัวไปขังไว้ชั้นใต้ดินของศาลทหารเพื่อรอส่งกลับเรือนจำ ในกรงที่ไม่กว้างนัก เพดานเตี้ยและไม่ค่อยสว่าง สรรเสริญพูดทั้งน้ำตาว่า เขาอยากให้คนภายนอกหรือมิตรสหายของเขาช่วยกันระดมทุนมาประกันตัวจำเลยในคดีนี้ซึ่งหลายคนหาความเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นไม่ได้ ส่วนตัวเขายินดีจะอดทนอยู่ในเรือนจำและพยายามทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้

ต้องกล่าวก่อนว่านอกเหนือจากผู้กระทำการในที่เกิดเหตุ 2 คน ที่เหลือปรากฏหลักฐานในสำนวนว่า เกี่ยวข้องเพราะ “ร่วมประชุมวางแผนที่ขอนแก่น” กับอีกส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “การโอนเงิน” ซึ่งเจ้าหน้าที่เชื่อว่านำมาจ้างวานผู้กระทำการ การประชุมที่ขอนแก่นเกิดขึ้นเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2558 และบังเอิญว่าในการประชุมนั้นมี "มหาหิน" หนึ่งในผู้ปาระเบิดซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่สนใจการเมืองอย่างยิ่งร่วมด้วย จากนั้นมีการขยายผลไปจับกุมคนเพิ่มอีกหลายคน การประชุมดังกล่าวจำเลยทุกคนยืนยันว่า เป็นการให้การศึกษาทางการเมืองโดยกลุ่มคนที่สนใจและตื่นตัวทางการเมือง พวกเขาเป็นประชาชนธรรมดา บ้างเป็นพนักงานโรงงาน บ้างทำอาชีพค้าขาย เป็นการศึกษากลุ่มย่อยที่มีคนฟังเพียงราว 10 คน การประชุมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วน ส่วนแรกคือเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองและการวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน ผู้ประสานงานของกลุ่มเชิญผู้อาวุโสที่เขารู้จักคือ ชาญวิทย์ ไปบรรยายเรื่องการเมือง แต่ชาญวิทย์บรรยายคนเดียวไม่ไหวจึงชวนสรรเสริญให้ไปช่วยบรรยาย อีกส่วนหนึ่งคือข้อมูลการทำธุรกิจขายตรง ซึ่งมีการเชิญวิทยากรด้านนี้มาบรรยายอีก 2 คน ทั้งหมดถูกจับกุมและคุมขังจนปัจจุบันแม้แต่วิทยากรที่มาบรรยายเรื่องการขายตรงและการกระจายสินค้า รวมถึงภรรยาของมือปาระเบิด 2 คนด้วย

“ผมไปบรรยายเรื่องประวัติศาสตร์ลาวเฉียง ประวัติศาสตร์การเมืองไทย รูปแบบการปกครองของประเทศต่างๆ แล้วก็วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันด้วย” ชาญวิทย์ผู้กระตือรือร้นอธิบาย เขาใส่แว่นตาขาหักข้างหนึ่งที่เอากาวหนังไก่มาพันจนหนา เขามีบุคลิกชอบถกเถียง พูดเร็วและเสียงดัง นอกจากนี้ยังชอบเอาไม้ถูกพื้นมาทำความสะอาดพื้นห้องขัง แม้กระทั่งเมื่อขออนุญาตเจ้าหน้าที่เข้าห้องน้ำ เขายังเอาไม้ถูกพื้นเข้าไปถูกห้องน้ำด้วยเป็นที่ขบขันของเจ้าหน้าที่

“บางทีผมก็นึกโกรธชาญวิทย์ ถ้าเขาไม่มาชวนผม ผมไม่ได้ไปก็คงไม่ต้องอยู่ตรงนี้ แต่พอมีสติก็รู้ว่ามันไม่ใช่ความผิดของเขา” สรรเสริญกล่าว

พล.ต.วิจารณ์ จดแตง นายทหารพระธรรมนูญ พยานโจทก์ที่อยู่ร่วมสอบปากคำผู้ต้องหาในค่ายหทารและเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีกับจำเลยทั้งหมด ระบุว่า “ฝ่ายข่าว” ของทหารเป็นผู้สืบทราบเรื่องทั้งหมด และเชื่อมโยงการประชุมที่ขอนแก่นว่าเป็นการ “ประชุมวางแผน” ปาระเบิดในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ต้องกล่าวด้วยว่า “ฝ่ายข่าว” ของทหารผู้ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลชั้นต้นนั้นเป็นหน่วยงานลับที่พล.ต.วิจารณ์ระบุว่าไม่อาจเปิดเผยได้และไม่สามารถมาให้การในศาลได้ ดังนั้น เรื่องราวจึงถูกผูกโยงอย่างหลวมๆ ความสามารถในการเข้าถึงและผูกโยงเรื่องราวทั้งหมดอยู่ที่ “ฝ่ายข่าว” ซึ่งไม่รู้ว่าคือใคร ได้ข้อมูลมาอย่างไร ประกอบกับหลักฐานบันทึกคำให้การผู้ต้องหาในระหว่างถูกคุมตัวอยู่ในค่ายทหารโดยไม่อาจเข้าถึงสิทธิใดๆ

หากเราดูที่มาที่ไปและประวัติของจำเลยสูงวัยสองคนนี้จะพบว่า พวกเขาอาจมีแนวคิดที่แตกต่างจากรัฐไทย ฝ่ายความมั่นคงอาจไม่พึงพอใจ แต่ก็นับเป็นเพียงแนวคิดหนึ่งอันแสนธรรมดาในทางสากล ที่ผ่านมาพวกเขามีปฏิบัติการทางการเมืองเช่น การแจกใบปลิว การจัดกลุ่มศึกษากับประชาชนรากหญ้า การร่วมชุมนุมทางการเมือง กระทั่งการตั้งพรรคการเมืองเพื่อต่อสู้ทางความคิดกันในระบบรัฐสภา

สำหรับชาญวิทย์นั้น เคลื่อนไหวทางการเมืองมาโดยตลอดตั้งแต่เป็นนักศึกษาจนถึงวัยเกษียณ เมื่อเขาถูกจับและคุมขังในคดีนี้ ทำให้คดี 112 ที่เขาถูกดำเนินคคีจากกรณีแจกใบปลิวจำนวน 5 หน้าเมื่อวันที่ 25 พ.ย.2550 ถูกรื้อฟื้นขึ้นมา เพราะตอนนั้นเขาได้รับการประกันตัวจากนั้นก็ไม่ไปศาลอีก ในที่สุดศาลพิพากษาตัดสินจำคุกเขา 6 ปีในคดี 112 (อ่านข่าว 12)  

เขาเป็นอดีตนักศึกษาคณะเทคนิคการแพทย์ ม.เชียงใหม่ แต่เรียนไม่ทันจบการศึกษา เนื่อกจากเป็นโรคเครียด จึงออกจากการศึกษาแล้วพบแพทย์รักษาตัวขณะเรียนอยู่ปี 3 ในพ.ศ.2518 เขาสนใจการเมืองมาโดยตลอด และเคยทำงานเป็นที่ปรึกษาพรรคการเมืองหนึ่งอยู่ในคณะทำงานแก้ปัญหาภาคใต้เมื่อหลายปีก่อน อย่างไรก็ตาม หลังรัฐประหาร 2549 เขาได้ทำการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน เขาเบิกความยอมรับอย่างหนักแน่นว่าทำเอกสารใบปลิวดังกล่าวแจกจ่ายจริง เนื่องจากต้องการให้เจตนารมณ์ของคณะราษฎรเกิดขึ้นจริง นั่นคือ ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เขาระบุว่าเขากระทำการประเมินและวิจารณ์ตามหลักวิทยาศาสตร์สังคมและโหราศาสตร์ที่ศึกษามา และไม่เห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาท แต่เป็นการทำให้สถาบันมั่นคงขึ้นดังเช่นโมเดลของประเทศญี่ปุ่น

“การแจกใบปลิวเป็นปฏิบัติการทางการเมืองอย่างหนึ่ง”

“จุดประสงค์ของผมก็คือ ประเมินสถานการณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่านเท่านั้น”

“ผมเป็นพลเมืองผมจึงต้องนำเสนอแนวคิดต่อสังคม ไม่อาจนั่งเฉยๆ”

คำเบิกความของเขาเมื่อครั้งขึ้นเบิกความในคดี 112

ขณะที่ชาญวิทย์ชอบถกเถียง ท่าทีแข็งกร้าว และไม่เคยแสดงอารมณ์อ่อนไหวใดๆ จนบางครั้งออกจะคล้ายหุ่นยนต์ แต่สรรเสริญนั้นตรงกันข้าม เขาพูดช้า เสียงแผ่วเบา และมักน้ำตาไหลออกมาทุกครั้งขณะพูดเมื่อกล่าวถึงเรื่องสะเทือนใจ

“ผมทำงานโรงเลี้ยง งานหนักพอควรสำหรับผมแต่ผมอยากทำ กะเหรี่ยงสอนผมมาดี สอนผมให้รักการทำงาน อดทนต่องานหนัก” สรรเสริญกล่าวอย่างอารมณ์ดี เขาอธิบายว่า ในสมัยที่เขาเป็นนักศึกษาในยุคประชาธิปไตยเบ่งบานช่วง 14 ตุลา เขาสนใจขบวนการชาวนาและเข้าร่วมทำงานกับชาวนาและกะเหรี่ยงในภาคเหนือ เขาอยู่กับกระเหรี่ยงยาวนานและพบว่าปรัชญาชีวิตหลายอย่างของชาวบ้านกะเหรี่ยงผู้ยากจนนั้นน่ายกย่อง ชาวบ้านกะเหรี่ยงตั้งชื่อให้เขาว่า กะป่อ แปลว่า ตะเกียง สื่อมวลหลายสำนักระบุว่านั่นคือชื่อจัดตั้งของเขาเมื่อเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) แต่เขายืนยันว่านั่นคือชื่อที่กะเหรี่ยงตั้งให้และเขาทำงานกับพคท. ก็จริง แต่เป็นเพียงแนวร่วมเนื่องจากเขาเป็นเชื่อถือในแนวทาง “สังคมนิยม” ซึ่งแตกต่างกับพคท.

หลังออกจากป่าเขาพยายามทำธุรกิจด้านการเกษตรอยู่ไม่นานก็หันมาสู่อาชีพขับรถแท็กซี่ เมื่อของเขาดีใจที่ได้อยู่กับลูกชายอีกครั้งหลังจากเขาหายเข้าป่าเขาไปนานตั้งแต่เป็นนักศึกษา เขายังคงเป็นทำกิจกรรมทางการเมืองต่อเนื่องจนกระทั่งถูกคุมขัง แม่วัยชราของเขายังคงเดินทางมาเยี่ยมที่คุกและศาลไม่เคยขาด ในสมัยที่สหายเก่าของเขาร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) โค่นล้มรัฐบาลทักษิณ เขาประกาศชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยและหันมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มเสื้อแดงจนเป็นแกนนำนปก.รุ่น 2 และยังเป็นคนสำคัญที่ร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองอย่าง พรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตย ร่วมกับไม้หนึ่ง ก.กุนที และคนอื่นในต้นปี 2553 (อ่านข่าว) ก่อนเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่มีคนเสียชีวิตเกือบร้อยคน ในเบื้องต้นพวกเขาต้องการตั้งชื่อว่า พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย แต่ กกต.ไม่อนุญาตเนื่องจากเห็นว่าเป็นชื่อที่เป็นปรปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติย์เป็นประมุข น่าเสียดายที่ความรุนแรงในปี 53 น่าจะเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ในระบบรัฐสภาของคนหลายคน แต่ไม่ใช่สรรเสริญ เขายังคงเชื่อมั่นในแนวทางสันติ แต่พรรคใหม่นี้ก็มีอันจบสิ้นไปเพราะหาสมาชิกไม่ได้ตามจำนวนและเวลาที่ กกต.กำหนด

นอกจากนี้สรรเสริญยังทำงานกับมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย ศรีไพร นนทรีย์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตยกล่าวถึงการทำงานร่วมกับสรรเสริญว่า เขาเป็นบุคคลที่เก่งมากในการจัดตั้ง เมื่อครั้งต้องไปจัดกลุ่มศึกษาเรื่องการเมืองให้กับคนงานในโรงงาน สรรเสริญแนะนำให้เริ่มต้นจากปัญหาที่คนงานเจอจริงๆ แล้วจึงเชื่อมโยงไปสู่โครงสร้างการเมือง ไม่ใช่ยัดเยียดด้วยการแลคเชอร์ยาวๆ ซึ่งหาความเชื่อมโยงกับชีวิตคนงานไม่ได้

“แกเป็นคนที่ส่งเสริมคนอื่นตลอด หลังแกโดนจับถึงไปค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตทำให้รู้ว่าแกไม่ใช่คนธรรมดา และไม่ใช่สหายเก่าทั่วไปที่แทบจะยุติบทบาทไปแล้ว แต่คุณสรรเสริญเป็นครูในโรงเรียนการเมืองทางภาคเหนือ สายแรงงานเคยคุยเรื่องโรงเรียนการเมืองมาก่อนในอดีต แต่ทำไม่ประสบความสำเร็จ นึกไม่ถึงว่าจะเจอคนมีอุดมการณ์ทำอะไรมากมายแบบนี้ นึกว่าเขาเป็นคนขับแท็กซี่ธรรมดา สิ่งที่ชอบคือแกเป็นคนไม่ท้อ ไม่มองคนในแง่ลบ แต่มองในแง่บวก คุยกับแกแล้วรู้สึกมีพลัง แกมองมุมบวกเสมอ ทำให้เราเรียนรู้อะไรได้จากสิ่งที่แกเป็น และแกเป็นคนมีความเมตตาสูง ไม่เชื่อเลยว่าคนอย่างแกจะใช้ความรุนแรง แกเป็นนักสันติวิธีด้วยซ้ำ จากการที่เราคุยกันไม่เคยได้ยินคุณสรรเสริญพูดเลยถึงการต่อสู้แบบใช้ความรุนแรง ไม่เคยมี ไม่เคยเห็น” ศรีไพรกล่าว

ในวาระ 40 ปี 6 ตุลา แม้สังคมไทยจะไม่เคยจดจำเหตุการณ์นี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่ก็มีผู้คนที่เกี่ยวข้องกับมันโดยตรงมากมาย หลายคนยังมีชีวิตอยู่และสามารถพูดถึงมันได้ในแง่มุมต่างๆ หลายคนถูกจดจำ หลายคนถูกลืม

ภายใต้อากาศร้อนอบอ้าวและกรงตาถี่สีเงินที่ทำให้ผู้ถูกขังและผู้เข้าเยี่ยมเวียนหัวเมื่อต้องมองผ่านมันนานๆ เรามองเห็นน้ำตาของชายสูงวัยไหลเป็นทางอีกครั้ง และครั้งนี้เสียงของเขาสะอื้นขาดเป็นห้วงๆ เราถามเขาว่าในวาระ 6 ตุลาเขามีอะไรอยากจะพูดหรือไม่ เขายืนยันว่าจิตวิญญาณของ 6 ตุลายังคงอยู่ มันคือจิตวิญญาณของการคิดถึงผู้อื่น ทำเพื่อผู้อื่น และเชื่อมั่นในความเท่าเทียมของมนุษย์ เขาว่าเขาเคารพการตัดสินใจของผู้คนมากมายที่ยุติบทบาทและยอมรับการเป็นสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์

“ถ้าหลายคนเป็นสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์ ผมคือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หลักฐานที่บอกว่า 6 ตุลายังไม่ตาย มันยังอยู่เสมอ” สรรเสริญกล่าวทั้งน้ำตา

ไม่มีความคิดเห็น: