PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559

“มาร์ค” ชี้ หาสูตรนายกฯคนนอกตอนนี้ เร็วเกินไป ลั่น ไม่จับมือ เพื่อไทย

“มาร์ค” ชี้ หาสูตรนายกฯคนนอกตอนนี้ เร็วเกินไป ลั่น ไม่จับมือ เพื่อไทย หากยังเป็นพรรคการเมืองเครื่องมือครอบครัว-คอร์รัปชั่น ดักคอ ส.ว.หากสกัดกั้นนายกฯในบัญชีทำการเมืองวุ่นแน่
เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีนายกรัฐมนตรีคนนอก ว่าเร็วเกินไปที่จะพูดเรื่องนี้ เพราะยังไม่ทราบผลการเลือกตั้งว่า จะเป็นอย่างไร และประเทศไทยยังไม่เคยทดลองใช้ระบบการเลือกตั้งแบบบัตรเดียว แต่ในอดีตก็เคยมีพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากในสภา เด็ดขาดเกินร้อยละ 40 มาแล้ว ฉะนั้นการที่บอกว่าไม่มีใครได้เกินร้อยละ 50 นั้น เป็นการพูดเร็วเกินไป หรือหากไม่มีพรรคใดได้ถึง 250 เสียง แต่ ส.ว.พยายามสกัดกั้น ตนก็เชื่อว่า จะเป็นปัญหาทางการเมืองแน่นอน เพราะได้เสียงจากประชาชนเกินครึ่งแล้ว แต่ถูกสกัดไม่ให้เป็นนายกฯ หรือรัฐบาล แล้วพรรคนั้นไม่ยอมไปร่วมรัฐบาลด้วย รัฐบาลที่มาแทนจะอยู่ได้ลำบาก หรือหากไม่มีพรรคไหนได้เสียงเกินครึ่ง ก็ไม่ได้มีสูตรว่าจะต้อง 2 พรรคใหญ่จับมือกันแล้วเกินครึ่ง เพราะ 2 พรรคใหญ่จะไม่จับมือกันก็ได้ อาจจะมีพรรคใหญ่บวกกับพรรคอื่นๆ แล้วเกินครึ่ง แต่หากมีพรรคใหญ่ได้เกิน 250 ถามว่า ส.ว.จะยังไม่ให้เป็นรัฐบาลได้หรือไม่ ตนก็ไม่รู้ เพราะยังมีหลายปัจจัยที่ชี้ว่า รัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร แต่ก็ไปสมมติเอาเองว่า 2 พรรคใหญ่ คือ พรรค ปชป. กับพรรคเพื่อไทย(พท.) จะต้องจับมือหรือไม่จับมือกันเท่านั้น
เมื่อถามว่า โอกาสที่พรรคปชป.จะร่วมกับพรรคพท.ได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องถามตอนเลือกตั้ง เพราะขณะนี้ตนไม่รู้ว่า พรรคพท.จะมีหรือไม่ หรือพรรคปชป.อาจจะถูกเซตซีโร่ก็ได้ และไม่รู้ว่าบุคลากร หรือนโยบายต่างๆ เป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม หากพรรคพท.ยังคงจุดยืนเดิม เป็นเครื่องมือทางการเมือง ให้กับครอบครัว หรือบุคคล แล้วก็ยังมีปัญหาเรื่องนิรโทษกรรม การคอร์รัปชั่น หรือการดำเนินงานทางการเมืองที่เอาความรุนแรงมาใช้ ผ่านกลไกมวลชน พรรค ปชป.ไม่ร่วมด้วยแน่นอน หรือแม้จะแยกไปตั้งพรรคใหม่เพื่อมาขอร่วมด้วยก็ตาม
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการยุบสภาหากเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ว่า หากเลือกนายกฯ ไม่ได้ รัฐบาลชุดนี้ก็จะรักษาการณ์ต่อไป พร้อมทั้งยังมีอำนาจมาตรา 44 ที่จะทำงานต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ แต่ก็คงจะขลุกขลัก เพราะอาศัยกลไกตามสภาตามปกติคงยาก ซึ่งเท่ากับเป็นรัฐบาลที่ไม่มีเสียงในสภาเลย ยกเว้นเสียง ส.ว. ส่วนโอกาสที่รัฐบาลจะใช้มาตรา 44 เพื่อยุบสภา ให้มีเลือกตั้งกันใหม่นั้นในประเทศอังกฤษก็เคยมี หรือสเปนก็คล้ายแบบนี้ ถือเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย แต่ส่วนตัวยังมีความเชื่อว่า ต่อให้เขาจะมาจากการแต่งตั้ง แต่ถ้ากระแสสังคมบอกว่า ต้องไปทางใดทางหนึ่งอย่างมีความชัดเจนพอสมควร เขาก็ต้องฟัง แต่หากกระแสสังคมไม่ชัดเจน คือแล้วแต่นักการเมืองจะมาตกลงกันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น: