PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557

จักรภพ เพ็ญแข : ตอนนี้จีนคิดอะไรต่อไทย ?

15ม.ค.2557

จักรภพ เพ็ญแข



      เมื่อวานพูดถึงสหรัฐอเมริกาเพียงรายเดียว เพราะตั้งใจจะเจาะเรื่องนั้น แต่ในภาพระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับไทยในขณะนี้ ยังมีผู้เล่นที่เกี่ยวข้องมากและออกจะลึกซึ้งอีกรายหนึ่ง ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การนำของสี จินผิง ซึ่งเป็นผู้นำที่กำลังล้างภาพศักดินาคอมมิวนิสต์ และปัญหาคอรัปชั่นที่แผ่ซ่านไปทั่วระบบเศรษฐกิจสองระบบ ความจริงจีนนั้นสนใจไทยมานานแล้ว ไม่ใช่เพราะหน้าไหนไปคอยนั่งเล่นดนตรีหรือไปเจ๊าะแจ๊ะทำอะไรน่ารักให้เขาเอ็นดู  แต่เป็นแผนยุทธศาสตร์การครองโลกและเอเชียที่จีนถือว่ารัฐไทยมีความสำคัญเสมอมา ถามว่าไทยสำคัญขนาดไหนต่อจีน ก็ต้องตอบว่าสำคัญในทางยุทธศาสตร์คานอำนาจและถ่วงดุลกับสหรัฐฯ และสำคัญในแง่ตลาดสำหรับสินค้าและบริการจากจีน แต่ไม่ถึงขนาดที่เราจะไปบังคับขู่เข็ญอะไรจีนได้ ส่วนจีนก็มิได้แสดงอาการเบ่งหรือข่มขู่อะไรกับไทย ยังเป็นตะวันออกมากเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ เรียกว่าเป็นการอยู่ร่วมกันอย่างเกรงใจกัน และใช้แรงจูงใจในทางบวกเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของอีกฝ่ายหนึ่งมากกว่าจะเป็นนัยลบ

     ในสถานการณ์ปัจจุบัน จีนเป็นห่วงว่าไทยจะเคลื่อนออกไปมากเกินพอดีจากดุลยภาพเดิม เมื่อไทยอยู่ภายใต้รัฐบาลทักษิณ ไทยได้สร้างวิธีการทำงานร่วมกันกับจีนขึ้นมาใหม่และถือว่าประสบความสำเร็จเพราะจีนยอมรับมาก หลักฐานที่ใหญ่มากชิ้นหนึ่งคือการก่อตั้ง ACD (Asian Cooperation Dialogue) ซึ่งเป็นการฟื้นทวีปเอเชียทั้งทวีปขึ้นเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ACD คือความริเริ่มของรัฐบาลทักษิณที่จีนยอมรับและเข้ามาช่วยสานต่อให้ใหญ่โตขึ้น ช่วงเชื่อมประสานนั้นก็คือการประชุมครั้งแรกที่เชียงใหม่และต่อด้วยการประชุมครั้งต่อมาที่นครซิงเต่าของจีน จากนั้นมา จีนก็ถือว่าไม่ว่าจะเป็นวังไทยหรือบ้านไทย เขาก็คบได้อย่างสบายทั้งสองทาง ครั้งหนึ่งที่เวียงจันทน์ ผมได้ร่วมโต๊ะอาหารเช้าระหว่าง ดร.ทักษิณฯ และ เหวิน เจีย เป่า นายกรัฐมนตรีของจีนในขณะนั้น และได้เห็นสายสัมพันธ์พิเศษระหว่างกันด้วยตาตัวเอง ทำให้นึกสบายใจมาแต่ครั้งนั้นแล้วว่า เจ้ากับไพร่ไปด้วยกัน ไม่ว่าจะสายไหนในเมืองไทยเราก็คบกับจีนได้สบาย แต่มาในชั่วโมงนี้ จีนเกิดข้อสรุปว่า ฝ่ายอำนาจเดิมของไทยก้าวไกลเกินไปเสียแล้ว ความกลัวในปลายรัชกาลนั้นเข้าใจได้ แต่ก็ไม่ควรเสียจริตกันมากถึงขนาดนี้ เรื่องประท้วงนั้นก็ช่างเถิด แต่การสั่งให้ขัดขวางโครงการระบบคมนาคมและขนส่งมูลค่าสองล้านล้านบาทนั่นต่างหากที่ทำให้จีนรู้สึกคาใจมาก ถามกันอยู่ภายในว่า ฝ่ายตรงข้ามกับทักษิณเขาไม่ต้องการให้บ้านเมืองของเขาพัฒนาบ้างหรือ เราก็ตอบว่า ขณะนี้เขาบ้ากันอยู่แต่เรื่องรั่วไหลกระจุกกระจิก และความกลัวเป็นบ้าเป็นหลังว่าจะมีใครล้มเจ้า จนไม่มีใครเหลือสติปัญญาเอาไว้มองภาพรวมกันหรอก จีนนำคำตอบนี้ไปศึกษาแล้วก็เห็นว่าจริง และแสดงท่าทีชัดเจนต่อมาว่า บ้าแบบนี้ จีนคงรับไม่ไหว และบอกกับสตรีที่จีนมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับจีนว่า ให้เธอหยุดความคิดและพฤติกรรมกระตุ้นรัฐประหารได้แล้ว จีนเคยผ่านการ “ปฏิวัติวัฒนธรรม” มาเสียจนแหลกลาญไปทั้งเมือง จีนไม่อยากเห็นไทยต้องย่อยยับอย่างนั้น ส่วนเธอผู้นั้นเมื่อฟังแล้วก็อึ้งกิมกี่ เพราะหลวมตัวแสดงบทบาทไปจนแทบจะกู่ไม่กลับแล้ว จึงวิ่งกลับไปหาหัวหน้าครอบครัวเพื่อหารือที่ว่าจะก้าวเดินต่อไปอย่างไร ถึงตรงนี้ผมเองก็ไม่รู้แล้วว่าเขาแนะนำอะไรกันมา


     จีนจึงห่วงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ไทยมากกว่าความมั่นคงมาก ซึ่งเป็นท่าทีที่จีนในยุคสงครามเย็นไม่เคยมี เขาผ่านประสบการณ์มาแล้วทุกอย่าง ตั้งแต่การเปลี่ยนผู้นำสูงสุดที่มีลักษณะเป็นเทพเจ้า ซึ่งสร้างความโกลาหลถึงขั้นอนาธิปไตยอยู่หลายปี จนถึงการเชื่อมระหว่างเศรษฐกิจที่เป็นศัตรูกันในทางอุดมการณ์สองทาง ได้แก่ ระบบตลาดและระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ โดยหวังจับหนูมากินเป็นอาหารโดยแมวสีไหนก็ได้ อะไรที่ไทยเผชิญอยู่ในขณะนี้จีนเคยลิ้มรสมาก่อนทั้งสิ้น จีนจึงมีฐานะที่มีความหมายกว่าสหรัฐอเมริกาในแง่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งถึงขั้นรู้สึกได้ เราจึงคุยกับจีนมากและบ่อยจนจีนยุคนี้เข้าใจในพลวัตรความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยได้ดีขึ้น ส่วนบ้านของสตรีคนสำคัญที่ไปปลูกเอาไว้ในจีนนั้น จีนเขาก็ดูแลอย่างดี โดยเขาบอกว่าสนิทสนมรักใคร่กันมาก่อน ส่วนเมื่ออะไรมันผ่านพ้นไปแล้วตรงนั้นจะกลายเป็นหอกข้างแคร่ของฝ่ายประชาธิปไตยต่อไปหรือไม่ เราก็พูดติดข้างฝาไว้ให้จีนนำมาคิดพิจารณาเมื่อถึงเวลาเท่านั้นเอง.

ไม่มีความคิดเห็น: