PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

“ดาบ 4 เล่ม” ในมือ “องค์กรอิสระ” จ่อคอหอยรัฐบาลยิ่งลักษณ์

“ดาบหนึ่ง” การไขรัฐธรรมนูญในมาตราที่มา ส.ว. ซึ่ง “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีคำวินิจฉัยว่าขัดมาตรา 68 ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นการไต่สวนของ “คณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ” (ป.ป.ช.) และ ป.ป.ช.ได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหาให้กับ ส.ส.และ ส.ว. จำนวน 310 คนแล้ว

ผลสะเทือนของคดีนี้คือ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสี่ ระบุว่า หาก ป.ป.ช.มีมติชี้มูลกับบุคคลใด “ผู้ดำรงตำแหน่งที่ถูกกล่าวหา” จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้จนกว่ากระบวนการถอดถอนในวุฒิสภาจะได้ข้อยุติ นั่นคือหาก ส.ส.พรรคเพื่อไทยรายใดถูก ป.ป.ช.ชี้มูลในคดีนี้ จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว นับแต่วันที่ชี้มูล

หลังจากนั้น ยังต้องไปรอลุ้นว่าจะถูก ส.ว.ลงมติถอดถอนหรือไม่ ซึ่งหากใครได้รับเสียงถอดถอนเกินกว่า 3 ใน 5 ของจำนวน ส.ว.เท่าที่มีอยู่ จะต้องถูกตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งใดทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

“ดาบสอง” โครงการรับจำนำข้าว คดีนี้อยู่ที่ ป.ป.ช.เช่นกัน โดยล่าสุด ป.ป.ช.ได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหากับ “บุญทรง เตริยาภิรมย์” แกนนำพรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีต รมว.พาณิชย์ กรณีจีทูจีขายข้าวกับจีนเป็นเท็จ ส่วน “ยิ่งลักษณ์” ก็ถูกตั้งอนุกรรมการไต่สวนในฐานะ “ประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)” กรณีที่ทราบถึงความเสียหายโครงการดังกล่าวแต่ไม่ระงับยับยั้ง

จุดเสี่ยงของคดีนี้ ก็เช่นเดียวกันคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือหาก “ยิ่งลักษณ์” ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว

ที่น่าสนใจคือกรณีนี้มีผู้ยื่นคำร้องให้เอาผิดกับ “ยิ่งลักษณ์” ทั้งปมถอดถอน และปมให้ดำเนินคดีอาญา

หากเป็นกรณีถอดถอน จะใช้เวลาดำเนินการไม่นาน เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่าให้ต้องทำ “โดยเร็ว” ส่วนกรณีดำเนินคดีอาญา แม้จะส่งไปที่ “ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพียงศาลเดียว” แต่จากสถิติการดำเนินคดีในศาลฎีกาฯ ดังกล่าว มักจะใช้เวลา 1-2 ปีด้วยกัน

นั่นแปลว่าต่อให้การเลือกตั้งผ่านฉลุย และ “ยิ่งลักษณ์” ได้กลับมาเป็นนายกฯ อีก 4 ปี แต่ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ไปอย่างน้อย 1-2 ปี เรียกง่ายๆ ว่า “เกือบครึ่งเทอม”

“ดาบสาม” กรณีที่ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ว.สรรหา และ “วิรัตน์ กัลยาศิริ” อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินของ “รัฐบาล” ขัดต่อมาตรา 181 (4) หรือไม่

เพราะการเลือกตั้งในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะมีความชอบธรรมมากพอหรือไม่ และหากไม่มีความธรรมการเลือกตั้งจะเป็นโมฆะเฉพาะพื้นที่กทม.-ปริมณฑล หรือจะโมฆะทั้งประเทศ

ซึ่งต้องรอลุ้นคำวินิจฉัยของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ในเร็วๆนี้

และ “ดาบที่สี่” สดๆ ร้อนๆ จากกรณีที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า จะให้ฝ่ายกฎหมายของพรรค ไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่าการที่รัฐบาลยังดึงดันจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ต่อไป แม้ กกต.จะทักท้วงถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ แล้ว อาจการกระทำเพื่อให้ได้อำนาจมาโดยมิชอบเข้าข่ายฝ่ายฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68

ซึ่งต้องจับตาดูต่อไปว่า ในคำร้องที่ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากจะขอให้ "การเลือกตั้งเป็นโมฆะ" แล้ว จะมีกรณีที่ขอให้ "ยุบพรรคเพื่อไทย" ด้วยหรือไม่

ทั้งหมดคือ “ดาบ” จากมือ “องค์กรอิสระ” ที่ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ยังต้องเผชิญหน้าด้วย เส้นทางที่ความฝันที่หอมหวาน อาจจะแปรเปลี่ยนเป็นขื่นขมก็ได้

http://www.isranews.org/isranews-scoop/item/27035-yingluck-gov.html#.UvBasZA9ZGE.twitter


ไม่มีความคิดเห็น: