PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

พิพากษาต้าน รปห.คดีแรก ศาลสั่งจำ 2 ด.-ปรับ 6 พัน ลดโทษรอลงอาญา-ปรับ 3 พัน

พิพากษาต้าน รปห.คดีแรก ศาลสั่งจำ 2 ด.-ปรับ 6 พัน ลดโทษรอลงอาญา-ปรับ 3 พัน

คดีชุมนุมต้านรัฐประหารคดีแรก ศาลสั่งจำคุก 2 เดือน-ปรับ 6,000 บาท จำเลยรับสารภาพ-คดีไม่ร้ายแรง ลดเหลือโทษปรับ 3,000 บาท ส่วนจำคุกรอลงอาญา

3 ก.ค.2557 เวลา 10.35 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 4 ศาลแขวงปทุมวัน สหรัฐ สิริวัฒน์ ผู้พิพากษารองหัวหน้าศาลแขวงปทุมวัน ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีอาญา หมายเลขดำที่ 333/2557 ที่พนักงานอัยการ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง วีระยุทธ คงคณาธาร อายุ 49 ปี อาชีพรับจ้าง ในข้อหาฝ่าฝืนมาตรา 8 และ 11 พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 และประกาศ คสช. ที่ 7/2557 เรื่องห้ามการชุมนุมทางการเมือง
ศาลอ่านคำพิพากษาระบุว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ค.เวลากลางคืน จำเลยและพวก 500 คน ซึ่งยังไม่สามารถติดตามตัวได้ มั่วสุมชุมนุมต้านรัฐประหาร ซึ่งถือเป็นการชุมนุมทางการเมือง เป็นการฝ่าฝืนประกาศ คสช. เหตุเกิดที่แขวงปทุมวัน จำเลยรับสารภาพ ศาลได้สั่งให้มีการสืบเสาะแล้ว

ศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานฝ่าฝืนมาตรา 8 และ 11 พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 และประกาศ คสช. ที่ 7/2557 เรื่องห้ามการชุมนุมทางการเมืองฯ ให้ลงโทษจำคุก 2 เดือน ปรับ 6,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 เดือน ปรับ 3,000 บาท ทั้งนี้จากการสืบเสาะ ศาลเห็นว่าพฤติการณ์คดีไม่ร้ายแรง จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติกรรมหลบหนี มีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว จึงให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้ 1 ปี และจ่ายค่าปรับ 3,000 บาท

สำหรับ วีระยุทธ คงคณาธาร ถูกควบคุมตัว พร้อมธนาพล อิ๋วสกุล, อภิชาติ (ภายหลังถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช.และมาตรา 112) และนักศึกษาแพทย์อีกหนึ่งคน บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 23 พ.ค. โดยวีระยุทธถูกควบคุมตัวที่กองปราบฯ 7วันก่อนจะตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉ.7 ห้ามชุมนุม เมื่อวันที่ 29 และได้ประกันตัวเมื่อวันที่ 30 พ.ค.

วีระยุทธ กล่าวว่า วันนั้นไปเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เพราะไม่ชอบการปฏิวัติรัฐประหาร โดยปกติไม่เคยออกไปชุมนุม ครั้งนั้นเป็นครั้งแรก ถ้ารู้ว่าต่อต้านรัฐประหารแล้วจะติดคุกคงไม่ไป เขากล่าวว่า วันที่โดนควบคุมตัว น่าจะเป็นเพราะไปยืนต่อว่าทหารด้วยความโกรธก่อน และเมื่อโดนควบคุมตัว ก็โดนกระชากลากไป ค่อนข้างแรง โดยทหารเข้าใจว่าจะหนี แต่อันที่จริงคือเขาต้องการไปหยิบแว่นตาที่ตก
ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เท่าที่ทราบคดีนี้เป็นคดีต้านรัฐประหารคดีแรกที่มีการตัดสิน เนื่องจากจำเลยรับสารภาพตั้งแต่ชั้นสอบสวน โดยคดีที่ขึ้นศาลยุติธรรมหลังรัฐประหารเป็นต้นมา มี 4 คดี คือ กรณีวีระยุทธ อภิชาติ ผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนประกาศ คสช.และมาตรา 112 ณัฐ อดีตผู้ต้องขังคดี 112 ซึ่งถูกเรียกรายงานตัวเมื่อวันที่ 24 พ.ค. และผู้ชุมนุมถือป้ายประท้วงที่เชียงใหม่ 3 คน เนื่องจากเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนประกาศ คสช.ที่ให้ความผิดตามประกาศ คสช. ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. ต้องขึ้นศาลทหาร

สำหรับประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมือง หรือมั่วสุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ระบุว่า ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ที่มา ประชาไท

ไม่มีความคิดเห็น: