PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

'บวรศักดิ์' ชี้ชัด ปฏิรูปไม่เกี่ยวการเมือง สาเหตุจาก'ประชานิยม'

'บวรศักดิ์' ชี้ชัด ปฏิรูปไม่เกี่ยวการเมือง สาเหตุจาก'ประชานิยม'
กลาโหม เปิดสัมมนาภาคปชช. "บวรศักดิ์" แนะ หาสาเหตุของปัญหา-แก้ให้ตรงจุด ชี้ชัด การที่ คสช.จะปฏิรูป ประเด็นไม่เกี่ยวขัดแย้งการเมือง แท้จริงมาจาก "ประชานิยม" ทำเกิดเหลื่อมล้ำในสังคม
วันที่ 2 ก.ค.ที่ห้องพินิตประชานาถ ภายในศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีการสัมมนาครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “การปฏิรูปประเทศไทย : การเข้าสู่อำนาจและการตรวจสอบ” โดยมีพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษ โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และอภิปรายการปฏิรูปประเทศไทย : การเข้าสู่อำนาจและการตรวจสอบ ของนักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า จากนั้นเป็นการอภิปรายระดมความคิด 8 กลุ่มย่อย และรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ตนได้รับจดหมายจากประชาชนมากว่า 1,000 ฉบับ โดยแยกเป็น 11 ประเด็น หลังจากนั้นมีการเชิญกลุ่มการเมือง มาสัมภาษณ์ในเชิงลึก อีกทั้งกลุ่มการเมือง แกนนำต่างๆ ทั้ง กลุ่ม นปช.และ กปปส. เข้าร่วม เพราะเห็นความสำคัญการปฏิรูป และกลุ่มภาคธุรกิจ ภาคการศึกษามาร่วมกับคณะทำงานด้วย ทั้งนี้ ข้อเสนอความคิดเห็นจะรวบรวมทุกความเห็นของกลุ่มต่างๆ มาเรียงลำดับแยกประเภท เพื่อจัดทำเป็นกรอบความเห็นร่วมของคนไทยทุกคน เพื่อไปสู่การปฏิรูปในสิ้นเดือนก.ค. ก่อนเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปสู่สภาปฏิรูป หลังจากนั้น ทางคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปก็อาจจะทำงานควบคู่กันไปกับสภาปฏิรูป
นายบวรศักดิ์ กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่ง ว่า บ้านเราประสบปัญหามาตลอดในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5 ที่ต้องประสบกับการล่าอาณานิคม มีการปฏิรูปทุกอย่าง คือ ปฏิรูปกำลังพลเลิกระบบไพร่ ปฏิรูปราชการ ปฏิรูปทหาร ปฏิรูปการปกครอง ซึ่งผลการปฏิรูปคือ ไทยเป็นหนึ่งในเอเชีย ที่เป็นเอกราช ส่วนประเทศที่เหลือ ล้วนเป็นอาณานิคมทั้งสิ้น
ต่อมาการปฏิรูปครั้งที่ 2 คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ของคณะราษฎร ซึ่งการปฏิรูปครั้งนั้นเปลี่ยนแปลงในแง่อำนาจการเมืองของกษัตริย์ มาอยู่ที่ประชาชน แล้วก็มีการเลือกตั้ง แต่สถานการณ์ไม่มั่นคงจนมีสงครามโลกครั้ง 2 และหลังจากนั้นประเทศไทย ก็ไปเชื่อมโยงปัญหาของบริบทโลก จากนั้น การปฏิรูปรอบที่ 3 ด้วยการไปเชื่อมกับการทหารที่มีการก่อตั้งซีอาร์โต้ ส่วนในทางเศรษฐกิจ ก็ไปเชื่อมโยงกับธนาคารโลก เพื่อมากำหนดยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ ในสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จนบานปลายกลายเป็นความเหลื่อมล้ำอย่างมหาศาล
“สถานการณ์มาถึงยุคที่ 4 ปี พ.ศ. 2517 มีการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วก็ลุ่มๆ ดอนๆ มาถึงปี 2540 ที่ถกเถียงกันเรื่องรัฐธรรมนูญของประชาชน แล้วท้ายที่สุด กลายมาเป็นปัญหาความขัดแย้งที่เห็นๆ กันอยู่ นับจากปี 2550 ถึง 2557 ที่ได้มาเกี่ยวพันกับการเมือง”
นายบวรศักดิ์ กล่าวและว่า เนื่องจากองค์กรทางการเมืองที่ตัดสินใจแทนประชาชนนั่น คือ อำนาจ รัฐสภา และรัฐบาลที่เป็นตัวตัดสินใจแทนประชาชนทั้งชาติ ทั้งนี้ ประเด็นการปฏิรูปวันนี้ จึงต้องทำเหมือนสมัย ร. 5 คือ 1. หาสาเหตุแห่งปัญหาและหาทางแก้ให้ได้ ว่า อะไรเป็นปัญหาความขัดแย้งที่เรื้อรังมาตั้งแต่ปี 2540 และต้องหาให้ได้ ถ้าหาไม่ได้แล้วมาปฏิรูปก็จะรักษาไม่ตรงจุด ถ้าหาสาเหตุได้ก็จะรู้ว่าอะไรที่จะแก้ไขได้ที่สุด
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ต้องมีการเลือกผู้แทนฯ ไปทำหน้าที่แทนประชาชน เพื่อตัดสินใจปฏิรูปประเทศ แปลว่า ถ้าเลือกคนไม่รู้สาเหตุในการแก้ ก็จะเกิดปัญหา หรือ รู้สาเหตุแต่ไม่กล้าทำ เพราะจะไปขัดแย้งกับผลประโยชน์ก็จะเกิดปัญหา ฉะนั้น วันนี้เราพูดถึงคนมีอำนาจตัดสินใจปฏิรูปประเทศ คือ ฝ่ายการเมืองว่า เราจะได้มาเป็นผู้ตัดสินใจแทนประชาชน จะมีประเด็นหลักๆ คือ 1. ถ้าจะมีสภาเดี่ยวหรือสองสภา จะมีอำนาจอย่างไร สัมพันธ์อย่างไร 2. ถ้ามีสภาเดียว หรือมีสองสภา จะมีสมาชิกอย่างไร 3. ถ้าได้สภาแบบใดแบบหนึ่งมาแล้ว จะทำงานอย่างไร และมีประสิทธิภาพ หรือไม่ 4. คนที่เลือกเป็นผู้แทนประชาชน จะควบคุมได้อย่างไร
“สิ่งนี้ถือเป็นเรื่องถึงการได้มาคนทำหน้าที่แทนประชาชน เป็นเรื่องการเมืองที่เสมือนเป็นหัวรถจักรของเรื่อง แต่ปัญหาที่ร้าวลึกเฉพาะหน้าขัดแย้งกับรัฐบาลและประชาชน ที่สนับสนุนรัฐบาลกับประชาชนที่ไม่เอารัฐบาล อันเป็นอาการของโรควันนี้ ผมคิดว่า สาเหตุของโรค คือ ความไม่เท่าเทียม โดยประชานิยม เป็นสาเหตุของโรคที่แท้จริง ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหา
แต่เป็นการจัดสรรทรัพยากรให้เป็นธรรม ให้คนที่มั่งมี ไปอุ้มชูคนไม่มี ทั้งหมดสรุปว่า หาสาเหตุของโรคแล้วว่า เกิดจากอะไร เพื่อขจัดสาเหตุของโรคให้หมดไป เพราะฉะนั้น เราต้องทำการปฏิรูปต้องตั้งโจทย์ว่า อะไรคือ สมมติฐานที่ทำให้คนไทยต้องแตกกันกัน เมื่อรู้สาเหตุแล้ว คำถามที่สอง จะได้สภาของนักการเมืองทีดีอย่างไร ถึงจะปฏิรูปให้สำเร็จ” นายบวรศักดิ์ กล่าว
นางถวิล บุรีกุล ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนา นายสติธร ธนานิธิโชติ และน.ส.ชมพูนุท ตั้งถาวร นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงประเด็นข้อดีข้อเสียในการเข้าสู่อำนาจของสมาชิกรัฐสภาในแต่ละรูปแบบ ว่า การได้มาซึ่ง ส.ส.ที่ให้เลือกตั้งแบบแบ่งเขตโดยให้เป็นเขตเดียวคนเดียว วิธีการนี้ เคยใช้มาแล้วเมื่อตอนเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2544 2548 และ 2554 ซึ่งจะมีข้อดีคือมีความเรียบง่าย ในวิธีการ การได้ผู้แทนในเชิงภูมิศาสตร์ มีความใกล้ชิดระหว่างผู้แทนกับประชาชน และผู้ได้รับเลือกตั้งจะต้องรับผิดชอบโดยตรง ต่อประชาชน แต่ข้อเสีย คือ เสียงที่เลือกผู้สมัครที่แพ้จะสูญเปล่า พรรคการเมืองมีบทบาทน้อย ไม่มีตัวแทนของพรรคการเมืองขนาดเล็ก และไม่มีตัวแทนของคนกลุ่มน้อยหรือกลุ่ม เชื้อชาติ ส่วนการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตพวงใหญ่ คือ ส.ส.1-3 คนต่อเขต ที่เคยใช้ในการเลือกตั้งปี 2518-2539 และ 2550 ซึ่งจะมีข้อดี คือ ประชาชนจะมีทางเลือกมากขึ้น และมีโอกาสได้ผู้แทนจากหลากหลาย ฐานคะแนนมากขึ้น แต่ก็มีข้อเสีย คือ ความใกล้ชิดระหว่างผู้แทนกับประชาชนจะลดลง เกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเขตใหญ่ กับเขตเล็ก
นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวอีกว่า การเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทั้งแบบทั่วประเทศ และแบบตามกลุ่มจังหวัดนั้น มีข้อดี คือ คะแนนเลือกตั้งไม่สูญเปล่า การเป็นตัวแทนที่เป็นธรรมมากขึ้น การได้เป็นตัวแทนของคนกลุ่มน้อยในสังคม เป็นมิตรต่อพรรคเล็ก มีทางเลือกมากขึ้น ได้สภาที่ผู้แทนมีความหลากหลายและพรรคการเมืองมีบทบาทสูง แต่ข้อเสีย คือ การเป็นตัวแทนในเชิงพื้นที่มีน้อย ความใกล้ชิดระหว่างผู้แทนกับประชาชนมีไม่มาก และอาจนำไปสู่รัฐบาลผสม ที่ไร้เสถียรภาพ
ส่วนการเลือกตั้งผสม คือ แบ่งเขตที่รวมสัดส่วนกับบัญชีรายชื่อ ข้อดีคือจะทำให้เสียงของประชาชนไม่สูญเปล่า ชนกลุ่มน้อยหรือพรรคขนาดเล็กมีโอกาสมีตัวแทนของตนและพรรคการเมืองจะมีบทบาทมาก ส่วนข้อเสีย คือ เพิ่มภาระในการจัดการเลือกตั้ง เช่น ต้องมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ บัตรเสียอาจมีจำนวนมากขึ้นและไม่มีความแตกต่างในการเลือก นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้ายังกล่าวถึงข้อดี-ข้อเสีย ในการได้มาซึ่ง ส.ว. ว่า ก่อนปี 2540 ที่ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดข้อดีคือ จะทำให้ได้ผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ข้อเสีย คือ ไม่มีจุดยึดโยงกับประชาชน
ส่วนปี 2540 ที่ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งโดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง มีข้อดี คือ มีจุดยึดโยงกับประชาชน แต่ข้อเสีย คือ อาจไม่สะท้อนเสียงบางภาคส่วน และทำให้พรรคการเมืองมีอิทธิพล อีกทั้งในปี 2550 ที่ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน และมาจากการสรรหานั้น ข้อดี คือ มีส่วนที่ยึดโยงกับประชาชน แต่ข้อเสียจะไม่สะท้อนเสียงบางภาคส่วนรวมทั้งอำนาจ ส.ว.จะไม่สอดคล้องกับที่มา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น ก็มีกิจกรรมให้ผู้ที่เข้ามารับฟังการสัมมนาแบ่ง ออกเป็น 8 กลุ่มย่อย ประกอบด้วยตัวแทนภาคเอกชน ภาครัฐ นักวิชาการ เยาวชน กลุ่มสตรี เกษตรกร ประชาชนทั่วไป กลุ่มคนพิการ นักศึกษาสถาบันพระปกเกล้า และกลุ่มอื่นๆ เพื่อระดมความคิดเห็นว่า ต้องการให้ที่มาของสมาชิกรัฐสภาและรูปแบบของรัฐสภา เป็นรูปแบบใด ก่อนที่แต่ละกลุ่มจะนำผลการระดมความคิดเห็นนี้มาเสนอต่อเวทีสัมมนาเพื่อ หาความคิดเห็นที่เป็นจุดร่วมในการตั้งสภาปฏิรูปต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: