PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

ปฏิกริยาสหรัฐแทรกแซงไทย

สหรัฐท่าที
Tuesday, 27 January, 2015 - 00:00

อเมริกาจุ้นรัฐไทย! ห่วงอดีตนายกฯจากเลือกตั้งถูกถอด/‘ปึ้ง’ชี้กระทบการลงทุน

  ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาพร้อมอุปทูต เชิญผู้นำทางการเมืองไทยเข้าพบปะ "ยิ่งลักษณ์" และบรรดาลิ่วล้อได้ทีฟ้อง มีขบวนการเล่นงานอดีตนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง เชื่อชะตากรรมไม่ต่างกับทักษิณ หาจัดฉากร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่ "บิ๊กตู่"  บอกเป็นเรื่องของ "ปู" แจ้นฟ้องมะกัน ยันต่างชาติเข้าใจไทย "แดเนียล รัสเซล"บี้ รมว.ต่างประเทศเลิกกฎอัยการศึก อ้างไม่เลือกข้างอยู่ฝ่ายใด

    ที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เมื่อวันจันทร์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ, นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ และนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตเลขาธิการนายกฯ เดินทางเข้าพบนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก, นายแพทริก เมอร์ฟีย์ อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ตามคำเชิญในการพบปะผู้นำทางการเมืองทุกกลุ่ม และตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาล

    นายสุรพงษ์เปิดเผยว่า ผู้แทนสหรัฐอเมริกาได้พูดคุยสอบถามถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่ สนช.ลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งความจริงอเมริกาได้ติดตามข่าวคราวอยู่ตลอด ทราบดีอยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย เพียงแต่อยากฟังจากปาก จึงเล่าให้ฟังว่ามันมีที่มาที่ไปและมีขบวนการอย่างไร ยังหาตัวคนผิดไม่ได้แต่ลงโทษคนกำกับนโยบายไปแล้ว และคาดหมายว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์คงมีชะตากรรมไม่ต่างจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  อดีตนายกฯ ผู้เป็นพี่ชาย ซ้ำเรื่องราวที่เกิดขึ้นก็เหมือนลอกแบบกันมา ต่อไปก็จะมีเหตุการณ์ทำนองว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดชอบชดใช้อันนั้นอันนี้ตามมา

      นายสุรพงษ์กล่าวว่า สหรัฐอเมริกาได้แสดงความเป็นห่วงสิ่งที่เกิดขึ้น อดีตนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งต้องโดนถอดถอนโดยคนที่มาจากการแต่งตั้ง ไม่ได้มาตามครรลองประชาธิปไตย เรื่องนี้จะส่งผลกระทบแน่นอน โดยเฉพาะความเชื่อมั่นและการลงทุน ต่างชาติไม่กล้าคบค้าสมาคมด้วย เพราะถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้นอาจไม่ได้รับความเป็นธรรม

    เขาระบุว่า สหรัฐอเมริกามีหลักยึดที่มั่นคงคือ หลักประชาธิปไตย, การเคารพสิทธิมนุษยชน, หลักความเท่าเทียม และหลักกฎหมาย ทั้งบอกว่าความสัมพันธ์กับประเทศไทยจะดีขึ้นก็ต่อเมื่อเรามีประชาธิปไตยที่แท้จริง เป็นมาตรฐานสากลโลก หรืออินเตอร์เนชันแนลสแตนดาร์ด  นอกจากนี้ นายแดเนียลยังสอบถามว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ จึงบอกไปว่าคงต้องรอให้เขาได้ในสิ่งที่ต้องการถึงมีการเลือกตั้ง แต่ถ้าประชาชนไม่ยอมรับก็เหนื่อยหน่อย เรื่องรัฐธรรมนูญที่ร่างกันอยู่ เราก็ให้ความเห็นไปว่า เขาเขียนกันไว้เรียบร้อยหมดแล้ว ที่ทำกันอยู่ไปรับฟังความเห็น เดินทางไปที่นั่นที่นี่ล้วนเป็นการจัดฉาก เล่นลิเกเท่านั้น

    วันเดียวกันนี้ ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายแดเนียลได้เข้าเยี่ยมคารวะและพูดคุยกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งนี้ มีนายเกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายอิสรา สุนทรวัฒน์ อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เข้าร่วมด้วย
    
      ภายหลังการหารือ นายเกียรติเปิดเผยว่า พูดคุยกันเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองทั่วไป และดูว่าโรดแมปของรัฐบาลจะมีแนวทางเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงแนวคิดเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราก็มีข้อเสนอที่เป็นทางการอยู่แล้ว ซึ่งเห็นว่าควรมีการทำประชามติเพื่อเป็นการยอมรับรัฐธรรมนูญ และการทำประชามติก็ควรมีทางเลือกที่ชัดเจนว่ารับหรือไม่รับ ถ้ารับแล้วได้อะไร นอกจากนั้นยังได้พูดคุยถึงต้นตอของปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งมี 2 เรื่องหลัก คือ การใช้อำนาจโดยมิชอบ ถึงแม้พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็มีการละเมิดในการใช้อำนาจ ซึ่งหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่คงจะมีรายละเอียดที่ปรับปรุงเรื่องเหล่านี้ และเรื่องคอร์รัปชัน ซึ่งนายแดเนียล ก็ยังแสดงท่าทีเป็นมิตรกัประเทศไทย แต่เราก็บอกไปว่า ท่าทีของแต่ละกลุ่มแตกต่างกันไป เขาควรกำหนดท่าทีโดยมองไปข้างหน้ามากกว่า

    ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเดินทางมาเยือนไทยว่า เขามาในเรื่องทั่วๆ ไป ไม่ได้เกี่ยวกับคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาเพื่อติดตามสถานการณ์ต่างๆ ก็ว่าไป เราจะชี้แจงว่าเราพัฒนาไปถึงไหนแล้วในเรื่องปัญหาต่างๆ

    "นายแดเนียล รัสเซล ไม่ได้มาพบผม เพราะก็รู้อยู่ว่าผมมายังไง การเมืองคือการเมือง เศรษฐกิจแต่ละประเทศก็ค้าขายกับเรา เรื่องการฝึกทหารก็ยังฝึกกับเรา เขายังแยกแยะกันออกเลย การค้าคือการค้า เรายังเอาหลายๆ เรื่องมารวมกันอยู่เลย หลายๆ ประเทศก็ยังค้าขายกับเราปกติ ประเทศที่ไม่เห็นชอบก็ยังค้าขายอยู่"

    ถามต่อว่า มีข่าวว่าไปพบกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วย  นายกฯ กล่าวว่า ก็เรื่องของเขาสิ เขามีสิทธิ์พบไหมล่ะ เขารู้ว่าเขาควรจะทำยังไง ก็แล้วแต่เขา เราไม่ได้ห้ามปราม

    ขณะที่นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงภายหลังนายแดเนียล  ที่ดูแลภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเข้าพบ พล.อ.ธนะศักดิ์  ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ว่า การเยือนครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นการเยือนระดับสูงครั้งแรกของสหรัฐอเมริกาหลังปีใหม่

     นายเสขกล่าวว่า ทั้ง 2 ฝ่ายยืนยันความร่วมมือและความสัมพันธ์ ในฐานะที่ไทยเป็นพันธมิตรเก่าแก่ของอเมริกา มายาวนานกว่า 180 ปี  และได้ยืนยันความเป็นมิตรและหุ้นส่วนทวิภาคี นอกจากนี้ ยังได้หารือแนวทางรับมือความท้าทายในอนาคต ทั้งเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติ, ก่อการร้าย, ยาเสพติด, ค้ามนุษย์ และการแพร่ระบาดของโรค เช่น อีโบลา ซึ่งประเด็นเหล่านี้ประชาคมโลกต่างให้ความสำคัญ

    "รองนายกรัฐมนตรีได้แจ้งสถานการณ์ในประเทศไทย และความมุ่งมั่นของรัฐบาล ในการดำเนินการตามโรดแมป  ขณะที่สหรัฐอเมริกายืนยันให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการปฏิรูป และย้ำท่าทีเดิมคือ การขอให้ประเทศไทยยกเลิกกฎอัยการศึก อย่างไรก็ตาม ในการพบปะกันครั้งนี้ได้มีการหารืออย่างสร้างสรรค์ และไม่มีประเด็นเรื่องการถอดถอน  น.ส.ยิ่งลักษณ์" นายเสขกล่าว

       นายเสขกล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงความคืบหน้าถึงการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการอย่างจริงจัง และมีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง  ไม่ต้องการให้แรงงานต่างด้าวเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์  และยินดีรับฟังข้อเสนอแนะที่ดีในการดำเนินการแก้ปัญหาต่อไป ส่วนการจัดทำรายงานสถานการณ์การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ (TIP Report) จะสามารถส่งไปยังสหรัฐอเมริกาได้ภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้ ซึ่งเป็นไปตามกำหนดการที่อเมริกาวางไว้

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเข้าพบ พล.อ.ธนะศักดิ์แล้ว นายแดเนียลได้ไปบรรยายพิเศษที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ "บทบาทของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในปี 2015"
ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันการเมืองไทยถือเป็นตัวแปรสำคัญ ในการกำหนดท่าทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งในช่วงเช้าที่ผ่านมาได้มีโอกาสพบกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์, นายอภิสิทธิ์ และ พล.อ.ธนะศักดิ์
โดยได้มีการพูดคุยให้ทุกฝ่ายเน้นความสำคัญของการปรองดอง และการวางรากฐานประชาธิปไตยในอนาคต

      นายแดเนียลกล่าวว่า แม้จะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และสหรัฐอเมริกาให้ความเคารพประเทศไทย และยืนยันว่าไม่เลือกข้างอยู่ฝ่ายใด แต่รัฐบาลตนมีความกังวลในเรื่องเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น และการรวมตัวทางการเมืองที่ถูกกีดกันในไทย จึงได้แสดงความเห็นเรื่องการสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากขึ้น รวมถึงได้พูดกับ พล.อ.ธนะศักดิ์ถึงความเป็นไปได้ในการยกเลิกกฎอัยการศึกด้วย

       นายแดเนียลกล่าวต่อว่า ความยุติธรรมมีความสำคัญในการสร้างความปรองดอง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาไม่นาน มีผู้นำของไทยที่มาจากการเลือกตั้ง ได้ถูกถอดถอนและตัดสิทธิ์ทางการเมืองจากกลุ่มผู้ทำรัฐประหาร และยังถูกฟ้องในคดีอาญาด้วย ซึ่งประชาคมโลกย่อมมีความรู้สึกว่า การปรองดองย่อมได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ เราจึงต้องการหลักประกันว่า การสร้างความปรองดองจะยังเดินหน้าไปได้ และระบบตุลาการของไทยจะมีความยุติธรรมแท้จริง

       เมื่อถูกถามว่า มั่นใจได้อย่างไรว่าประชาธิปไตยเป็นระบบที่เหมาะสมกับทุกประเทศ นายแดเนียลกล่าวว่า ไม่มีที่ไหนในโลกที่ประชาชนไม่ต้องการให้รัฐบาลรับฟังเสียงของตน และทำตามความต้องการของเสียงส่วนใหญ่ จึงถือว่าการสร้างประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่สำคัญที่เราต้องการเห็น และหวังว่าการเปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้.

//////////
Monday, 2 June, 2014 - 00:00

ทำไม 'ยุโรป-สหรัฐ' ขย้ำไทย?

    เห็นมั้ย....ประเทศไทยวันนี้ เป็นตามคำว่า "สิ่งที่ตาเห็น ใช่สิ่งที่เป็นจริงเสมอไป" เปี๊ยบเลย!
    นปช.ก็ดี เสื้อแดงแปลงร่างก็ดี นักวิชาการประชาธิปไตยมาตรฐานทักษิณก็ดี กลุ่มต่อต้านรัฐประหารก็ดี กลุ่มสิทธิมนุษยชนใบสั่งก็ดี
    สิ่งที่ตาเห็นคือว่า เป็นกลุ่มคนเอาประชาธิปไตย กลุ่มคนเอาเลือกตั้ง กลุ่มคนเรียกร้องมาตรฐานเดียวกันในสังคม
    แต่สิ่งที่เป็นจริงคือ พวกนี้เป็นกลไกใต้ระบอบทักษิณ เพื่อเปลี่ยนระบอบ-ล้มสถาบัน-ทักษิณสถาปนาเป็นใหญ่ในแผ่นดิน!
    เมื่อมองตามหลักการนี้ ก็ต้องถามว่า "แล้วเบื้องหลังทักษิณ นอกจากที่ตาเห็นล่ะ...สิ่งที่เป็นจริงมันคืออะไร"?
    นี่ไง...สิ่งที่เป็นจริงที่อยู่เบื้องหลังทักษิณ!

    -๒๓ พ.ค.๕๗ "นายจอห์น แคร์รี" รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐแถลง
    "ข้าพเจ้ารู้สึกผิดหวังกับการตัดสินใจของกองทัพไทยในการประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญ และเข้ามาควบคุมรัฐบาลภายหลังภาวะโกลาหลทางการเมืองที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน ซึ่งไม่มีเหตุผลอัน
ชอบธรรมใดๆ ให้แก่การก่อรัฐประหารโดยกองทัพ..."

    -๒๙ พ.ค.๕๗ "นางแคทรีน แอชตัน" ผู้แทนระดับสูงสหภาพยุโรป (อียู) แถลง 
    ".........เราเรียกร้องให้ผู้นำทหาร ปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวด้วยเหตุผลทางการเมืองในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาทั้งหมด และยกเลิกการจำกัดเสรีภาพสื่อ เราขอร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างสูง
สุด และเคารพปฏิบัติตามสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชน การจัดทำแผนที่น่าเชื่อถืออย่างเร็วที่สุดในการคืนสู่การปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้งเท่านั้นที่จะช่วยให้การสนับสนุนของสหภาพยุโรปต่อประเทศไทยดำเนินต่อไปได้”

    -๓๐ พ.ค.๕๗ น.ส.เจน ซากี โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐแถลง 
    "...........การแถลงแผนยุทธศาสตร์มุ่งสู่ความเป็นประชาธิปไตยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เมื่อค่ำวันที่ ๓๐ พ.ค.ที่ผ่านมานั้น ยังขาดรายละเอียดบางอย่างไป สหรัฐยืนยันว่าหนทางที่ดีที่สุดในการก้าวไปข้างหน้าคือ การกำหนดเวลาให้มีการเลือกตั้งเร็วกว่าที่ระบุ และควรช่วยอำนวยการให้เกิดความโปร่งใสในกระบวนการเลือกตั้ง"
    -นายชัค เฮเกล รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ 
    "..........ให้คืนอำนาจให้ประชาชนคนไทย ด้วยการกำหนดให้มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมในทันที และจนกว่าจะทำตามที่สหรัฐเรียกร้อง สหรัฐขอระงับการสนับสนุนทางการทหาร และการซ้อมรบร่วมกับไทย รวมทั้งทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพของทั้ง ๒ ประเทศ"
    -นายเดวิด จอห์นสตัน รัฐมนตรีกลาโหมออสเตรเลีย    
          ".........ออสเตรเลียขอลดความร่วมมือกับกองทัพไทยและลดระดับความสัมพันธ์กับผู้นำทางทหารของไทย......ยังจัดกลไกป้องกันไม่ให้ผู้นำรัฐประหารเดินทางไปยังออสเตรเลียด้วย  ขอให้กองทัพไทยจัดทำแผนการคืนประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมให้เร็วที่สุด...."

    ก็เห็นชัดและรู้ซึ้งกันแล้วใช่มั้ยว่า......
    "ใต้หน้ากากมหามิตร" คือ จักรวรรดินิยมอำนาจตะวันตก ที่คบไทยเป็นมิตรหวังปอกลอก จ้องเอาแต่ประโยชน์ เมื่อไม่ได้ดังใจก็ใช้อำนาจและอิทธิพลที่เหนือกว่า...ขย้ำ!
    ต้องรู้กำพืดนะว่า สหรัฐคือ "เด็กเพาะในหลอดแก้ว" ของยุโรป ไม่แค่ยุคนี้ นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑-๒  สหรัฐ-ยุโรป เป็นองค์กรควบคุมกลไกโลกมาตลอด
    ส่วนแคนาดา ออสเตรเลีย นั่นแค่เด็ก "ท้องนอกมดลูก" ของอังกฤษ เหมือนๆ สหรัฐที่ว่ายิ่งใหญ่
    แต่...ทุกการเคลื่อนไหว อยู่ใต้อาณัติ "แม่"!
    สหรัฐ-ยุโรป ทำไมดัดจริต "ยกประชาธิปไตย" ขึ้นมาบังหน้า เอาเป็น-เอาตายกับไทย ที่ต้องใช้กองทัพเข้าแก้ไขปัญหาเรื้อรังภายใน
    ทั้งที่สหรัฐ-ยุโรปเอง สุมหัวกันสนับสนุนโจรก่อการร้ายบ้าง กบฏแยกดินแดนบ้าง ทั้งเงิน ทั้งอาวุธ ทั้งกำลัง ให้โค่นล้มรัฐบาลในหลายๆ ประเทศ เช่น ลิเบีย ซีเรีย อียิปต์ และอีกหลายๆ ประเทศแถบอเมริกากลาง แถบตะวันออกกลาง
    ที่ลงมือ-ลงตีนทำเอง ก็อย่างเช่นเข้าไปยึดอิรัก จากประเทศที่มั่งคั่ง สวยงาม ประชาชนเป็นสุขตามวิถีวัฒนธรรมเขา กระทั่งจิ้งจอกสหรัฐ-ยุโรป เข้าไปสร้างฉากประชาธิปไตย
    แต่ "สิ่งที่เป็น" อันเป็นเบื้องหลัง....
    แม่ง...มันรวมหัวกันเข้าไปปล้น เข้าไปสูบเอาเอาทรัพยากรน้ำมันเขา นั่นคือเป้าหมายแท้จริงในการบุกอิรัก ชนิดที่ UN ต้องเอาหัวแม่ตีนยัดปากตัวเอง กลัวเผลอด่าสหรัฐว่า....
    "มึงนั่นแหละ...ไอ้เผด็จการโลก!"
    อิรักล่มสลาย มองไม่เห็นทางฟื้นคืนกลับ ตราบ ณ วินาทีนี้ นี่คือตัวอย่างตำตาว่ายุโรป-สหรัฐ ยึดมั่นประชาธิปไตย หรือไอ้เผด็จการลวงโลก แต่สวมหน้ากากประชาธิปไตย คอยเข้าไปปล้นตามประเทศที่ไม่ยอมทำตามที่มันร้องขอ?
    ทักษิณเป็นรัฐบาลครองประเทศไทย ไม่ว่าทักษิณจะโกงเลือกตั้ง จะฆ่าตัดตอน จะคุกคามสื่อ จะทุจริต-คอร์รัปชัน  จะบริหารเผด็จการในคราบประชาธิปไตย
    ถุย....อเมริกา!
    เคยซักครั้งมั้ย ที่โฆษกทำเนียบขาวหรือรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐจะออกมาแถลงด้วยคำนำประโยคว่า....
    "ข้าพเจ้ารู้สึกผิดหวังกับการกระทำของรัฐบาลทักษิณที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ" เหมือนอย่างที่ทำกับคณะ คสช.วันนี้?
    กระทั่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชัดว่าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยหุ่นกระบอก โกง-กินก็ปานนั้น บริหารย่ำยีรัฐธรรมนูญก็ปานนั้น คุกคาม-เข่นฆ่าประชาชนที่ไม่เป็นพวกก็ปานนั้น ซ่องสุมกำลังและอาวุธมีปฏิบัติการเพื่อล้มระบอบ ล้มสถาบัน หวังยึดครองประเทศ ถึงขั้นประกาศจะเปลี่ยนประเทศเป็นแดงทั้งแผ่นดิน
    สหรัฐก็รู้ ขืนบอกไม่รู้ ระวัง...จะถูกถีบ!
    เพราะเมื่อ ๒๗ กุมภา ๕๗ นี่เอง ส่งเลขานุการเอก ฝ่ายการเมือง ของสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ให้ยกคณะทูตสหรัฐไปเยี่ยมชมหมู่บ้านเสื้อแดง และสถานีวิทยุเสียงประชาชน ที่ชุมชน
พรสวรรค์ ต.หนองบัว อ.เมือง จ.อุดรธานี
    ต้อนรับเอิกเกริก ภายใต้ป้ายต้อนรับผืนใหญ่
    Red Shirt Village welcome
    Embassy of the United State Bangkok
    เนี่ย...แทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่นขนาดนี้ มันยังมีอะไรแก้ตัวได้ว่า สหรัฐไม่ได้สมคบทักษิณ "เหนือแผ่นดินไทย"?
    ทำไม ยุโรป-สหรัฐ จึงมองไม่เห็น การเป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตยแท้จริงของรัฐบาลระบอบทักษิณ?
    คำตอบชัดมาก!
    เพราะรัฐบาลทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ยอมยกผลประโยชน์ชาติให้สหรัฐ-ยุโรป "ง่ายดี" นั่นเอง!
    ที่ปิด แต่รู้กันทั่วไทย คือ ทรัพยากรน้ำมัน ก๊าซ ในอ่าวไทย
    ที่ปิด แต่รู้กันทั่วโลก คือ ฐานทัพอู่ตะเภา!
    ไม่ใช่แค่สหรัฐอยากได้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยิ่ง "อยากได้" ด้วยเหตุผลแห่งประโยชน์วงศ์วานว่านเครือเธอเอง ถึงขั้นแบหลา จ้างล็อบบี้ยิสต์ไปล็อบบี้สภาคองเกรส กองทัพเรือ กลาโหมสหรัฐ ให้เข้า

มาตั้งฐานทัพในประเทศไทยเร็วๆ
    นี่ไม่ใช่การกล่าวหา ไปดูได้จาก "เว็บไซต์กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ" ที่เผยแพร่ปลายปีที่แล้ว
    ยังไม่จบแค่นี้ ประเด็นหลักมันเกี่ยวไปถึงการกลับเข้ามา "ฟื้นฟูอำนาจ" อีกครั้งหนึ่ง ของกองทัพสหรัฐในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อคานกับจีน
    ทุกวันนี้ ในภูมิภาคนี้ มีฐานทัพสหรัฐเหลืออยู่แห่งเดียวที่สิงคโปร์ ซึ่งไม่พอเพียงที่จะใช้ต้านจีน ก็จะเห็นว่าในระยะ ๒-๓ ปีมานี้ สหรัฐได้รื้อฟื้น "ฐานบินคลาก" ที่เกาะลูซอน ฐานทัพเรือที่ "อ่าวซู

บิก" ในประเทศฟิลิปปินส์ขึ้นมาใหม่
    นอกจาก ๒ แห่งนี้ ยังเจรจากับเวียดนามฟื้นฟูท่าเรือที่ "อ่าวกามแร็งห์" ขึ้นมาด้วย
    แต่ที่ฟิลิปปินส์-เวียดนาม จะใช้ให้เกิดประสิทธิภาพถึงขั้น "จีนสะดุ้ง" ได้ ก็ต้องได้ "ฐานทัพอู่ตะเภา" เชื่อม เพราะอู่ตะเภาอยู่ในจุดยุทธศาสตร์เชื่อมต่อเยี่ยมสุด
    ที่อู่ตะเภา เครื่องบินรบบินจากอู่ตะเภาไปมหาสมุทรอินเดีย ทางด้านตะวันตก และไปมหาสมุทรแปซิฟิก ทางด้านตะวันออกได้ โดยไม่ต้องผ่านน่านฟ้าประเทศอื่น
    แต่ที่ฟิลิปปินส์และเวียดนาม ถ้าจะไปมหาสมุทรอินเดีย ต้องผ่านน่านฟ้าอีกหลายประเทศ!
    ก็นี่ไง...คุยกับรัฐบาลระบอบทักษิณ มันง่าย เพราะชาติมีไว้ขาย แต่คุยกับ คสช.มันไม่ง่าย เพราะชาติต้องรักษาไว้เหนือผลประโยชน์
    ยุโรป-สหรัฐ จึงเล่นบท "หมาป่ากับลูกแกะ" ไงล่ะ.
//////////////////////////
นโยบายการต่างประเทศของคสช.ปัจจุบันและที่กำลังเป็น
08 July14

การทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคสช. ในครั้งนี้นับว่ามีความผิดแผกแตกต่างจากครั้งก่อนๆเป็นอย่างมาก เพราะในการทำรัฐประหารในช่วง 20 ปีหลังมานี้ หรือในช่วงปี2534 และ 2549 จะพบว่าคณะทหารที่ทำรัฐประหารจะพยายามส่งสารและท่าทีของกคณะทหารว่าจะรีบคืนการเลือกตั้งกลับมาโดยเร็วที่สุด

แต่ในครั้งนี้กลับมีการแสดงออกอย่างเพิกเฉย เป็นอย่างมากในการตอบของหัวหน้าคสช.ในการคืนการเลือกตั้งกลับมา รวมทั้งการสร้างกระแสการต่อต้านตะวันตกออกมาของคนหลายกลุ่มที่มองว่าการที่สื่อต่างชาติโดยเฉพาะสื่อตะวันตกมุ่งโจมตีการทำรัฐประหารในครั้งนี้ เป็นเพราะเสียผลประโยชน์ที่ตะวันตกควรจะได้จากระบบทุนนิยมเสรีโดยมีระบอบประชาธิปไตยเป็นแกนกลาง

ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐประหารไทยในอดีตจะให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการสื่อสารไปยังรัฐบาลประเทศตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเพราะอิทธิพลของสหรัฐในภูมิภาคนี้นั้นไม่อาจละเลยได้
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และด้านเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกัน

แต่ครั้งนี้กลับแตกต่างออกไป นโยบายต่างประเทศที่ออกมากลับชี้ชัดว่าให้น้ำหนักมากขึ้นกับประเทศเผด็จการไม่ว่าจะเป็น จีน หรือ พม่า หรือแม้แต่ประเทศในอาเซียนเองก็มีการเยือนเพียงแค่นายทหารเท่านั้น ไม่มีการเยือนในระดับผู้นำแต่อย่างใด ท่าทีที่แสดงออกบ่งบอกว่าไทยลดการให้ความสำคัญกับประเทศตะวันตกลงอย่างมีนัยสำคัญ

อันที่จริงแล้วการที่ประเทศตะวันตกออกมาเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลของคสช.เวลานี้เป็นไปตามหลักการสากลว่าด้วยประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่ย้อนแย้งกับการประกาศรายชื่อให้มารายงานตัว การกักขังหน่วงเหนี่ยวไว้ในสถานที่ลับไม่เปิดเผย ในเวลาหลายๆวันโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา หรือ ให้พบญาติหรือทนาย ซึ่งล้วนแล้วแต่ขัดหลักสิทธิมนุษยชนสากลเป็นอย่างมาก

และหลักการนี้ได้ถูกทำลายไปในทันทีเมื่อมีการประชุมว่าด้วยแรงงานทาสในที่ประชุมแรงงานระหว่างประเทศของไอแอลโอ (ILO) ที่สวิสเซอร์แลนด์ที่ตัวแทนรัฐบาลคสช.ยกมือโหวตคัดค้านการสนับสนุนอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการใช้แรงงานทาส ที่กลายเป็นประเด็นปัญหาและเผือกร้อนต่อเนื่องที่แรงงานต่างด้าวไทยโดยเฉพาะชาวเขมรอพยพกลับบ้านอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมากกว่า 250,000คน

ท่าทีในด้านนโยบายต่างประเทศของคสช.นั้นยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยท่าทีการเมินเฉยเป็นอย่างมากของการกดดันจากทั้งสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ที่มีการใช้มาตรการคว่ำบาตรในเชิงการทูตทั้งการยกเลิกการประชุมร่วมกันระหว่างตัวแทนระดับสูงของทั้งสองฝั่ง การระงับการเซ็นสัญญาการค้าหรือFTA ไทย-อียูออกไป แต่ท่าทีของทางคสช.กลับมองว่าไม่มีผลกระทบกับไทยมากนัก ทั้งที่ไทยส่งออกสินค้าไปสหภาพยุโรปมูลค่าสูงถึง 7 แสนล้านบาทต่อปี ขณะที่เครือข่ายของผู้สนับสนุนรัฐประหารยังออกมาสนับสนุนการไม่ใช้สินค้าและบริการของยุโรป โดยมองว่าที่ผ่านมาชาติตะวันตกเอารัดเอาเปรียบและกอบโกยผลประโยชน์แต่ฝ่ายเดียวจากประเทศไทย

ในช่วงที่ผ่านมามาตรการที่ชาติตะวันตกได้แสดงออกมานั่นเป็นไปอย่างแข็งกร้าวอย่างมากตั้งแต่ปาฐกถาของนายชัค เฮเกล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐที่เวทีแชงกรีล่า ไดอะล็อก
ประเทศสิงคโปร์จนมาถึงการระงับความร่วมมือทางทหารทั้งการงดฝึกร่วมและการช่วยเหลือทางการเงิน และล่าสุดคือการที่สถานทูตสหรัฐไม่ได้เชิญ คสช.แม้แต่คนเดียวเพื่อมางานฉลองวันชาติ
สหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่3 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นการแสดงออกทางการทูตในการปฏิเสธการรัฐประหารอย่างสิ้นเชิงของสหรัฐอเมริกา และเป็นการตบหน้าอย่างมากที่เชิญฝั่งพรรคเพื่อไทยรวมทั้ง

อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลอีกหลายท่านรวมทั้งแกนนำนปช.อีกด้วย ขณะที่การตอบกลับของทางโฆษกคสช.กลับแสดงออกในเชิงหงุดหงิดและตำหนิว่ากล่าวในทำนองไม่ไว้หน้าคสช.เพราะกล่าวหาว่าเป็นแหล่งส่องสุมของนักการเมืองเสื้อแดงและให้ระมัดระวังว่าจะเป็นที่พบปะของนักการเมืองเพื่อไทย

นโยบายต่างประเทศของคสช.ตั้งแต่รัฐประหารมานั้นมีความชัดเจนมากคือการยึดอำนาจและสิทธิเสรีภาพจากประชาชน โดยไม่ฟังเสียงของนานาชาติ เราจึงไม่เห็นการแก้ต่างใดๆออกมาในเรื่องการกีดกั้นสิทธิเสรีภาพของคสช.ต่อนานาชาติ และยังแสดงออกในเชิงตำหนิอย่างรุนแรงว่าต่างชาติจะแทรกแซงการเมืองไทย นับว่าเป็นการแสดงออกของอำนาจแบบเผด็จการอย่างมากที่ไม่ให้ผู้ใด
แสดงการวิพากษ์วิจารณ์แม้แต่น้อยแม้กระทั่งมหามิตรอย่างสหรัฐอเมริกา

ถ้าคสช.ยังไม่มีการดำเนินนโยบายต่างประเทศในลักษณะการยอมรับประชาธิปไตยรีบคืนอำนาจให้กลับประชาชน รวมทั้งการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยแล้ว แรงกดดันจากนานาชาติจะยังคงมีต่อไปและคาดว่าจะหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ผลกระทบที่จะตามมาแน่นอนคือเรื่องเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งกว่าจะฟื้นคืนกลับมาต้องใช้เวลาเป็นอย่างมาก

ขณะที่โลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่คสช.กลับกำลังมองว่าโลกหยุดนิ่งอยู่กับที่ โลกของคสช.มีแค่การเมืองไทย นักการเมืองไทย เสื้อแดง เท่านั้น ภาวะความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วที่กำลังเกิดขึ้นถ้าคสช.ยังแข็งขืนกับสังคมโลกต่อไปอาจมีปัญหาเป็นอย่างมากในการรับมือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตและคสช.เองนั่นแหละจะอยู่ไม่ได้ในที่สุด
/////////////////////////
Pat Hemasuk
28/1/58
46 นาที ·

นานๆจะเข้าไปเช็กข่าวจากสำนักข่าวไทยเสียที วันนี้ได้อ่านข่าวน่าชื่นใจมาก ผมคิดว่าทีมของกระทรวงต่างประเทศชุดนี้แน่นปึ๊ก ทำงานเป็น และทำงานเร็ว โดยมีเนื้อข่าวส่วนหนึ่งว่า
กระทรวงต่างประเทศ เรียกอุปทูตสหรัฐฯ เข้าพบ ไม่พอใจ “แดเนียล รัสเซล” ผู้ช่วย รมต.สหรัฐฯ แสดงความเห็นทางการเมือง สร้างแผลในใจ ปนความผิดหวังของคนไทย ย้ำถอดถอน “ยิ่งลักษณ์”

ทำตามกฎหมาย ยันไทยจำเป็นต้องคงกฎอัยการศึก เพื่อเดินหน้าปฎิรูปประเทศตามโรดแมป ขณะที่สหรัฐฯ เข้าใจ แต่ย้ำหลักการเรื่องประชาธิปไตย เผยนายกฯ เตรียมไปประชุมยูเอ็น ที่สหรัฐฯ เดือน
ก.ย.

ผมอยากสรุปเรื่องย้อนหลังไปสามวันให้เห็นภาพตัวเต็มกันครับ

*** การตอบโต้เรื่องนี้แอ็กชั่นโดย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศ ผลงานเข้าตาแบบนี้ต้องตบมือให้ นายดอน และทีมงานที่สวนได้เร็วและแม่นยำ
*** ก่อนหน้านี้หนึ่งวัน ลุงตู่ได้ออกมาพูดแล้วหนึ่รอบว่าขอให้สหรัฐเข้าใจสถานการณ์ในไทย และทุกอย่างทำตามขั้นตอนไม่มีการกลั่นแกล้งตระกูลใดตระกูลหนึ่งตามที่ นายแดเนียล รัสเซล ได้รับข่าวสารมา ลุงตู่คงเอียนคำพูดฟอร์แม็ทของอเมริกาเรื่อง กฎอัยการศึก เลือกตั้งใหม่ บลา บลา บลา เหมือนแผ่นเสียงตกร่อง
*** ก่อนหน้านั้นก็มีข่าวออกมาว่าในขณะที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รมต.ต่างประเทศคุยกับ นายแดเนียล รัสเซล สดๆอยู่นั้นก็ตอบโต้เข้าไปแบบสวนหมัดได้ถามกลับไปว่าถ้าจะจำเป็นต้อง
ลดการใช้กฎอัยการศึกแล้วเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ในพื้นที่ต่างๆ หรือแม้แต่ในประเทศสหรัฐเองแล้วจะทำอย่างไร ซึ่งนายแดเนียลก็ตอบไม่ได้ โดยบอกว่าเดี๋ยวไปหาคำตอบมาก่อน เรื่องนี้ลุงตู่เล่าด้วย
ตัวเองให้นักข่าวฟัง ข่าวลงข่าวในกรุงเทพธุรกิจเมื่อวานนี้

*** เรื่อง นายแดเนียล รัสเซล เข้าพบ ยิ่งลักษณ์นั้นก็กลายเป็นเรื่องโอละพ่อไม่ตรงความจริงอีกเหมือนกัน เพราะในเฟสบุคของสถานทูตสหรัฐไม่มีคิวนัดที่จะคุยกับยิ่งลักษณ์ แต่มีคิวอื่นๆกับที่เข้าพบอภิสิทธิ์และ รมต.ต่างประเทศ รวมถึงที่ปาฐกถาที่จุฬา ตามที่เป็นข่าวไปแล้ว และการเข้าพบของยิ่งลักษณ์เป็นการพบที่บ้านพักทูตไม่ใช่เข้าพบที่สำนักงานของสถานทูตตามวิสัยปกติ ซึ่งหนังสือพิมพ์แนวหน้าได้ขุดคุ้ยเรื่องนี้พบว่า ยิ่งลักษณ์เป็นฝ่ายขอเข้าพบเองและหอบเอาลิ่วล้อเข้าไปแบ็กอัพเพียบ แต่นายแดเนียลได้ให้เวลาพูดคุยเป็นคิวโดดนอกกำหนดการเพียงสามสิบนาทีเท่านั้น

ข่าวของแนวหน้าข่าวนี้ปิดข้อสงสัยเรื่องตอแหลลงตับของคนบางคนไปได้อย่างสะใจคนอ่าน
ผมสรุปให้ฟังแบบนี้รับ มีแหล่งข่าวยืนยันทุกย่อหน้า เวลาไปอ่านหน้าเฟสบุคของพวกเต้าข่าวหรือเรื่องบาทเดียวคุยไปสิบบาท จะได้รู้ทันว่าเรื่องจริงมีแค่ไหน และอีกเรื่องคือภาพยิ่งลักษณ์นั่งไหว้

นายนายแดเนียลมันคือภาพตัดต่อครับ อย่าไปไลค์อย่าไปแชร์ แม้จะรู้ว่าเกลียดหน้านังปู แต่ถ้าไปสนับสนุนภาพแบบนี้เราก็เลวไม่ต่างกับควายอีกฝั่งหรอกครับ
//////////////////////////
ย้อนรอยดูปฏิกริยา

ไล่เรียงปฏิกิริยาจากประชาคมโลกนับแต่รัฐประหาร หลังจากผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเป็นผู้แทนรัฐบาลรายล่าสุดที่ออกโรงแสดงความวิตกกังวลต่อการเมืองไทยเมื่อวันจันทร์(26/1/58)

ตั้งแต่เกิดการยึดอำนาจในประเทศไทยเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557  นานาชาติแสดงท่าทีประณาม ลงโทษ พร้อมกับเรียกร้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของระบอบทหารหลายต่อหลายครั้ง

กรณีการแสดงปาฐกถาของผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ นายแดเนียล รัสเซล ต่อวงประชุมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันจันทร์(26ม.ค.58) แนะนำให้ไทยยกเลิกกฎอัยการศึก เคารพสิทธิ
เสรีภาพ ปฏิรูปประเทศโดยเปิดกว้างรับฟังคนทุกภาคส่วน (สถานทูตสหรัฐ, 26 มกราคม 2558) นับเป็นเสียงสะท้อนล่าสุดจากนานาชาติที่มีต่อการเมืองไทย

ประเทศไทยกำลังมีสถานะอย่างไรในเวทีโลก พลิกแฟ้มข่าวย้อนหลังไปราว 8 เดือน อาจช่วยให้หาคำตอบได้

ประณามรัฐประหาร

ทันทีที่กองทัพไทยเข้าควบคุมอำนาจการปกครอง รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ จอห์น แคร์รี กล่าวว่า การรัฐประหารไม่มีเหตุผลโดยชอบ การทำเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ วอชิงตันจะทบทวนความช่วยเหลือทางทหารและการติดต่อต่างๆตามกฎหมายสหรัฐ

เยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ ออกแถลงการณ์ประณาม ขณะญี่ปุ่นบอกว่า “เป็นเรื่องน่าเสียใจ”

เลขาธิการสหประชาชาติ บันคีมุน กล่าวว่า เขามีความวิตกกังวลอย่างยิ่ง ขอเรียกร้องให้ไทยกลับคืนสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยโดยพลเรือนตามรัฐธรรมนูญโดยเร็ว (Reuters, 22 May 2014)

โฆษกของผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรป แสดงท่าทีของอียูต่อการยึดอำนาจของทหารในประเทศไทย ระบุว่า “เราติดตามสถานการณ์ในประเทศไทยด้วยความกังวลเป็นอย่างยิ่ง ทหารจะต้องให้
การยอมรับและเคารพอำนาจฝ่ายพลเรือนภายใต้รัฐธรรมนูญ ว่า เป็นหลักการพื้นฐานของธรรมาภิบาลด้านประชาธิปไตย ทั้งยังต้องยึดถือมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล รวมทั้งเสรีภาพสื่อ ที่สำคัญที่สุดคือ ประเทศไทยจะต้องกลับเข้าสู่กระบวนการทางด้านประชาธิปไตยที่มีความชอบธรรมโดยเร็ว เราจึงขอเน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดการเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและน่าเชื่อถือโดยเร็วที่สุดที่จะสามารถทำได้” (สหภาพยุโรป, 22 พฤษภาคม 2557)

เมื่อคณะรัฐประหารในชื่อ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ควบคุมตัวอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังกักตัวนักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมื่อวันที่ 22 พ.ค สหรัฐได้แสดงปฏิกิริยาในวันเดียวกัน

รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ มารี ฮาร์ฟ แถลงว่า สหรัฐมีความกังวลยิ่งขึ้นที่กองทัพไทยได้ควบคุมตัวบุคคล สั่งให้นักวิชาการและผู้สื่อข่าวเข้ารายงานตัว และจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน สหรัฐขอเรียกร้องอีกครั้งให้กองทัพไทยปล่อยตัวบุคคลต่างๆที่ถูกควบคุมตัวด้วยเหตุผลทางการเมือง ยุติข้อจำกัดต่อสื่อมวลชน และนำประเทศไทยกลับสู่การบริหารโดยพลเรือน และคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง (สถานทูตสหรัฐ, 24 พฤษภาคม 2557)

ด้านกระทรวงกลาโหมสหรัฐประกาศยกเลิกการฝึกร่วม CARAT ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการฝึก, ยกเลิกโครงการแลกเปลี่ยนระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส, ยกเลิกโครงการฝึกอบรมการใช้อาวุธปืนแก่ตำรวจไทยซึ่งมีกำหนดเริ่มอบรมในวันที่ 26 พ.ค., ยกเลิกการเดินทางดูงาน ณ ประเทศสหรัฐ ของคณะนายตำรวจระดับสูงในเดือนมิ.ย. (สถานทูตสหรัฐ, 24 พฤษภาคม 2557)

วอนปล่อยนักเคลื่อนไหว

เมื่อการณ์ปรากฏว่า คณะรัฐประหารมีการควบคุมตัวนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น กรณีทหารยกกำลังบุกสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศในกรุงเทพ รวบตัวอดีตรัฐมนตรีศึกษา นายจาตุรนต์ ฉายแสง ขณะกำลังแถลงข่าว (AFP, 27 May 2014) ยุโรปได้แสดงท่าทีอีกครั้ง

ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรป เรียกร้องให้ประเทศไทยหวนคืนสู่กระบวนการประชาธิปไตยที่มีความชอบธรรมโดยเร็ว ผ่านการเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและน่าเชื่อถือ

“เราเรียกร้องให้ผู้นำทหารปล่อยผู้ถูกควบคุมตัวด้วยเหตุผลทางการเมืองในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาทั้งหมด และยกเลิกการจำกัดเสรีภาพสื่อ เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างสูงสุด และเคารพปฏิบัติตามสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชน การจัดทำโรดแม็ปที่น่าเชื่อถือในการคืนสู่การปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งอย่างเร็วที่สุดเท่านั้น ที่จะช่วยให้การสนับสนุนของสหภาพยุโรปต่อประเทศไทยสามารถดำเนินต่อไปได้” (สหภาพยุโรป, 28 พฤษภาคม 2557)

มาตรการลงโทษ

ทั้งสหรัฐและสหภาพยุโรป ต่างออกมาตรการลงโทษประเทศไทย ต่อกรณีเกิดการรัฐประหาร

คณะรัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรป ประกาศระงับการเยือนอย่างเป็นทางการระหว่างกัน และว่าสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกจะไม่ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือกับประเทศไทย จนกว่าจะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง (สหภาพยุโรป, 23 มิถุนายน 2557)

รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ สก็อต มาร์เชียล ให้การต่อคณะอนุกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐได้ระงับความช่วยเหลือด้านความมั่นคงแก่ประเทศไทย มูลค่า 4.7 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของความช่วยเหลือรายปีมูลค่า 10.5 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งระงับโครงการฝึกด้านอาวุธปืนและการดูงานของตำรวจไทย เป็นการตอบโต้ต่อการรัฐประหาร (กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ, 24 มิถุนายน 2557)

ขอให้เคารพสิทธิมนุษยชน

หลังจากรัฐบาลทหารพยายามปรามการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน ส่งพลเรือนขึ้นศาลทหาร และ ‘ขอความร่วมมือ’ ต่อการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชน สหประชาชาติเป็นอีกเสียงหนึ่งที่ส่งสัญญาณมายังประเทศไทย

สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แสดงความวิตกอย่างยิ่งต่อกรณีรัฐบาลทหารของไทยจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของผู้ต่อต้านการรัฐประหาร จำกัดการเสนอข่าวและการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อมวลชน และส่งผู้ละเมิดกฎอัยการศึกขึ้นศาลทหาร พร้อมกับเรียกร้องให้ไทยยึดมั่นในพันธกรณีระหว่างประเทศในด้านสิทธิมนุษยชน (OHCHR, 3 September 2014)

ปฏิกิริยาจากนานาชาติต่อระบอบทหารในไทย ยังคงมีอย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีที่ผ่านมา เมื่อมีข่าวปรากฎไปทั่วโลกว่า ทางการไทยควบคุมตัวนักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านรัฐประหารด้วยการชูสามนิ้ว

มาทิลดา บ็อกเนอร์ ผู้แทนของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวกับเอเอฟพี วิจารณ์รัฐบาลทหารของไทยว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชนใน
กรณีควบคุมตัวนักเคลื่อนไหวที่ชูสามนิ้วแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหารที่หน้าโรงภาพยนตร์ซึ่งมีกำหนดจะฉายเรื่อง The Hunger Games (AFP, 21 November 2014)

แนะเลือกตั้งโดยเร็ว

ประเทศไทยเผชิญปฏิกิริยาจากภายนอกส่งท้ายปีที่ผ่านมา เมื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลทหารแย้มว่า การเลือกตั้งอาจไม่มีขึ้นในปี 2558 อย่างที่ไทยเคยบอก

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2557 รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม เปิดเผยกับอุปทูตสหรัฐ ดับเบิลยู. แพทริก เมอร์ฟี ว่า ไทยจะจัดการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เป็นอย่างเร็วที่สุด

โฆษกผู้หนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ พูดถึงเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องที่ “ไม่ฉลาด และไม่มีความชอบธรรม”  และว่า คนไทยควรได้เลือกตั้งรัฐบาลอย่างเป็นประชาธิปไตย “โดยเร็วที่สุดเท่าที่
เป็นไปได้”  (Reuters, 23 December 2014)

ไม่มีความคิดเห็น: