PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

คองเกรสกับท่าทีต่อประเทศไทย


16/1/58

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

ในโลกประชาธิปไตยตะวันตกที่ผ่านยุคประวัติศาสตร์ของเผด็จการและการรัฐประหารมาสู่รัฐประชาธิปไตยนั้น ประชาชนได้บทเรียนทางการเมืองยึดอำนาจ อย่างน้อยนักลงทุนทั้งในตลาดรอง
และตลาดจริงเกิดความอ่อนไหวในการลงทุน อาจมีการยับยั้งหรือถอนการลงทุนในประเทศที่เกิดการรัฐประหารนั้น ส่วนหนึ่งเพราะความไม่มั่นใจต่อเสถียรภาพของรัฐบาลหรือปัญหาการเมืองที่
เชื่อมโยงถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งท่าทีของอเมริกันคองเกรสในยุคปัจจุบันเป็นที่ชัดเจนว่ายืนอยู่ฟากประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

     ในรายงานที่เสนอต่อคองเกรสของหน่วยงานวิเคราะห์สถานการณ์ในเอเชียแปซิฟิกเมื่อปลายปีที่แล้ว (2557) ส่วนหนึ่งระบุเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยว่า การรัฐประหารได้ส่งผลต่อภาพรวมทางด้านเศรษฐกิจของไทยในแง่ผลของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและนโยบายของรัฐที่มีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยที่สัมพันธ์กับประเทศคู่ค้า ส่งผลให้มีการประเมินปริมาณการลงทุนในเมืองไทยของนักลงทุน(ผู้มาจาก)ต่างประเทศใหม่ โดยเฉพาะในส่วนของฝ่ายทางการอเมริกันเอง ต้องการให้ไทยแสดงออกอย่างชัดเจนในเรื่องการเลือกตั้งว่าจัดการเลือกได้เมื่อไหร่และอย่างไร

     เรื่องดังกล่าวนี้สามารถเชื่อมโยงถึงการพบปะระหว่างเจ้าหน้าที่อเมริกันและเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายการเมืองของไทยในเวลาต่อมาไม่นาน

     ทั้งนี้หากมองย้อนไปถึงผลกระทบของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จะเห็นว่า ผลพวงของการรัฐประหารได้ทำให้เศรษฐกิจไทยชะงักและถอยหลังไปหลายปี ที่สำคัญคือการสูญเสียโอกาสในการวางรากฐานการปรับปรุงประสิทธิภาพเศรษฐกิจไทย ให้เข้มแข็งในช่วงที่เศรษฐกิจของโลกขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงดังกล่าวกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ I.M.F. ประเมินว่าในปี 2548 2549 และ 2550 เศรษฐกิจโลกขยายตัวที่ 4.9 5.1 และ 4.9 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ส่งผลให้ไทยต้องเผชิญความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมากกว่าเดิม การทำรัฐประหารในปี 2549 ได้เพิ่มต้นทุนความเสี่ยงของไทยในสายตาต่างประเทศให้สูงขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านี้เมืองไทยว่างเว้นจากการรัฐประหารมานานกว่า 15 ปี

     ในแง่ภาพรวมของประเทศอาเซียน ทีมงานของคองเกรสมองว่า บริบทด้านเศรษฐกิจและสังคมของอาเซียนกำลังเปลี่ยนไป จากแต่เดิมที่เศรษฐกิจของหลายประเทศอาเซียนถูกควบคุมโดยชนชั้นนำเพียงไม่กี่กลุ่ม แต่วิถีใหม่ของประชาชาติอาเซียนได้เปลี่ยนไปเป็นการเพิ่มพลังอำนาจทางการเมืองและทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนชั้นล่าง (รากหญ้า) มากขึ้นกว่าเดิม แต่บางประเทศ เช่น เวียดนามจะใช้ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ก็ตาม แต่ระบบการบริหารจัดการ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจนั้นถูกประยุกต์ให้เข้ากับวิถีเศรษฐกิจสมัยที่อิงระบบทุนและการตลาดแบบอาศัยกลไกทุน

     รายงานดังกล่าวเสนอด้วยว่า สงครามเย็นระหว่างค่ายทุนนิยมกับสังคมนิยมยุติไปแล้ว หรือแม้แต่สงครามระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแย่งชิงผลประโยชน์กันแบบเดิมมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย หลายประเทศได้จัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัด ไปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมของแต่ละประเทศมากขึ้น ภัยคุกคามประชาชาติอาเซียนในเวลานี้ คือ การศึกษา การไร้ที่ทำกิน การทำลายสภาพแวดล้อม และการที่คนสมัยใหม่ต้องมีคุณภาพชีวิตที่เลวลง ซึ่งในสถานการณ์ที่สังคมต้องเผชิญปัญหาเหล่านี้ หน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องได้ระดมทั้งสมอง กำลังคน และทรัพยากรไปแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งล้วนเป็นปัญหาสำคัญและเร่งด่วน ดังนั้น การสร้างกองทัพให้ใหญ่ขึ้นในสังคมสมัยใหม่จึงก่อให้เกิดปัญหามากขึ้น เนื่องจากไปเบียดเบียนงบประมาณด้านอื่นที่สมควรจะใช้พัฒนาเศรษฐกิจ ในยามที่บรรดาประเทศอาเซียนเองก็มีการแข่งขันและผ่องถ่ายการลงทุนซึ่งกันและกันตลอดเวลาทั้งในส่วนของนักลงทุนในภูมิภาคและนักลงทุนนอกภูมิภาค อาเซียนจำเป็นจะต้องพัฒนาการจัดองค์กรทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมให้มีประสิทธิภาพเป็นประชาธิปไตย และกระจายความเป็นธรรมมากขึ้น แนวทางการใช้กำลังอำนาจมาต่อรองแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์เฉพาะตนแบบเดิมๆ กำลังเปลี่ยนไป

     บทวิเคราะห์ในรายงานยังพาดพิงถึงสถานการณ์ในเมืองไทยว่า ประชาชนชั้นกลางและคนในชนบท กำลังทำให้ดุลอำนาจระหว่างรัฐกับสังคมของไทยเปลี่ยนไป จากระบบราชการหรือระบบของรัฐที่ครอบงำสังคม จะไปสู่กระแสประชาธิปไตยที่ราชการกับประชาสังคมมีความสมดุลกันมากขึ้น เช่นเดียวกับการนำกระบวนการสันติวิธีใช้อย่างค่อนข้างไม่อิงกับมาตรฐานสากล เสมือนการบัญญัติความหมายของสันติวิธีซึ่งเชื่อมโยงกับหลักสิทธิมนุษยชนเสียใหม่ โดยไม่เชื่อมโยงกับหลักการสากล

     หลักการสิทธิมนุษยชน สากล ที่หมายถึงสิทธิ เสรีภาพและอิสรภาพในชีวิตและร่างกาย ตลอดจนความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ และสิทธิมนุษย
ชนที่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามกฎหมายทีเกี่ยวข้องและปฏิญญาสากลสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ กฎบัตรสหประชาชาติหรือตามแนวปฏิบัติของกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงข้อ
ตกลงระหว่างประเทศ เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ไทยร่วมเป็นภาคี และมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม

     หากให้ขยายความมุมนี้ ผมคิดว่า เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างผู้คนกลุ่มต่างๆ ในสังคมที่เกิดขึ้นภายหลังจากการรัฐประหาร มักมีการเสนอทางออกเชิงสันติวิธีอยู่เสมอ เนื่องจากทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันว่าสันติวิธี คือทางออกของปัญหา เช่น การหันหน้ามาเจรจากัน เป็นต้น แต่ปัญหาคือ ความเข้าใจต่อกระบวนการด้านสันติวิธีเพื่อสันติว่า ได้มองในแง่ของ สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมและความยุติธรรมหรือไม่ เพราะหากปราศจากความเท่าเทียมและยุติธรรมแล้ว ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของสังคมเพื่อให้เกิดสันติได้ ทั้งการมองสันติภาพด้วยทัศนะคับแคบดังกล่าว สันติวิธีก็จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในฐานะเป็นข้ออ้างของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เป็นคู่ขัดแย้งอยู่เสมอ ไม่ทำก่อให้เกิดสันติตามที่ต้องการอย่างแท้จริง สังคมก็ยังคงมีความขัดแย้งอยู่ต่อไป

     นอกเหนือไปจากอุปสรรคขัดขวางการสร้างสังคมสันติ คือ ลักษณะของอำนาจนิยมทางการเมืองที่เกิดจากบุคลิกอำนาจนิยม (authoritarian personality) ของคนไทย ที่หมายถึงการมีบุคลิกที่มักสยบยอม อ่อนน้อม เชื่อฟัง ต่อบุคคลที่มีอำนาจมากกว่า หรือเมื่อไม่พอใจผู้มีอำนาจก็ข่มความรู้สึกไว้ ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้ผู้มีอำนาจน้อยกว่า มีความรู้หรืออาวุโสน้อยกว่ามาแสดงความขัดแย้ง หากมีเหตุการณ์ทำนองตรงกันข้ามเกิดขึ้นก็จะนำไปสู่การใช้อำนาจบังคับหรือข่มขู่ จนเมื่อสังคมเกิดความขัดแย้งทางการเมืองจนถึงขั้นรุนแรง สมุฏฐานของปัญหาจึงไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาแก้ไข เมื่อไม่มีการพูดถึงสมุฏฐานของความขัดแย้งอันเป็นแนวทางสันติวิธี ปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของไทยก็คงยังไม่ได้รับการแก้ไข

     อย่างไรก็ตาม ผลพวงของการสื่อสารสมัยใหม่ทำให้วัฒนธรรมอำนาจนิยมแบบไทยๆ ดังกล่าวเปลี่ยนไป เมื่อมีการแสดงออกด้านความคิดเห็นทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมในสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง แม้การเมืองไทยจะตกอยู่ใน ระบบปิด ก็ตาม

     การรับรู้ข่าวสารของประชาชนที่เป็นไปอย่างกว้างขวาง เกิดจากผลพวงของพัฒนาการของเครื่องมือสื่อสารมวลชนที่ทำให้การรับรู้ข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็วและเปิดเผยมากขึ้น การปิดกั้นข่าวสารโดยรัฐหรือองค์กรของกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น กระบวนสันติวิธีเพื่อลดความขัดแย้งทางการเมืองของฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยที่ทำให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติท่ามกลางความหลากหลาย คือ การอาศัยกลไกประชาธิปไตยหรือกลไกการเลือกตั้งซึ่งเป็นกลไกพื้นฐานที่ใช้กันในสากลประเทศ

     แน่นอนว่า เป็นหน้าที่สมาชิกคองเกรสที่จะต้องตัดสินใจในการกำหนดท่าทีต่อผลการศึกษาและวิเคราะห์ในรายงานชิ้นนี้ว่าในที่สุดแล้วควรสหรัฐอเมริกาควรมีท่าทีต่อชาติอาเซียน โดยเฉพาะ "ประเทศไทย" ต่อจากนี้อย่างไร.

ที่มา : สยามรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น: