PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2558

พล.อ.ประยุทธ:"ผมไม่คิดอยากอยู่ต่อ"

"ผมไม่คิดอยากอยู่ต่อ"......

"ถ้ารธน.ผ่าน ถ้าเลือกตั้งได้ อยู่ที่ปชช.ทั้งประเทศตัดสินใจ อย่ามาพูดว่าผมดึงไว้เพราะอยากอยู่ต่อ ผมไม่คิดอยากอยู่ต่อ"

พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯและ หน.คสช. กล่าวว่า มีการวิจารณ์ว่ารัฐบาลใช้อำนาจดุเดือด เด็ดขาดเกินไปหน่อยนั้น ก็ต้องชี้แจงว่าใช้เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าให้ได้ วันนี้คนในประเทศก็ยอมรับได้ เพราะทุกคนอยากให้ประเทศชาติปลอดภัย ไม่ได้ต้องการหวังอย่างอื่น ส่วนจะมีใครไม่เข้าใจบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะถือว่าคนไทยทั้งชาติเข้าใจผม ก็มีกำลังใจที่จะทำงานต่อไปได้ ทั้งในส่วนของรัฐบาลและข้าราชการ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า หลังจาก คสช. ลดบทบาทแล้วก็มีการแก้ปัญหาเรื่องความสงบเรียบร้อยละติดตามข่าวต่างๆ โดยมีการทำงานทั้งในส่วนของฐานของรัฐบาลและฐาน คสช. ซึ่งไม่ใช่เป็นการถ่วงดุลหรือล่าช้า แต่เป็นการทำงานแบบช่วยเสริมซึ่งกันและกัน โดย คสช. คอยติดตามว่า งานที่มีการสั่งการไปนั้นมีความคืบหน้าอย่างไร ซึ่งรัฐบาลก็เดินหน้าทำงาน ปัจจุบันเรากำลังขับเคลื่อนเพื่อปฏิรูปประเทศไทย นั่นคือการทำใหม่ในทุกๆ เรื่อง

ระยะแรกถือเป็นการระงับยับยั้งการแก้ปัญหาจากการที่รัฐบาลในอดีตมิอาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ระยะที่ 2 การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และการใช้งบประมาณปี 2558 และในปัจจุบันกำลังเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ โดยพยายามที่จะเดินหน้าดำเนินการต่างๆ เช่น การจัดระเบียบสังคม การวางรากฐานที่มั่นคงให้กับประเทศ ระยะที่ 3 หากรัฐธรรมนูญผ่านได้โดยไม่มีความขัดแย้ง ก็จะสามารถจัดเลือกตั้งได้ ฉะนั้นอยู่ที่ประชาชนทั้งประเทศจะเป็นผู้ตัดสินใจ อย่ามาพูดว่าตนดึงไว้เพราะอยากอยู่ต่อ ทั้งที่ตนไม่คิดอยากอยู่ต่อ ที่ผ่านมาเราได้มุ่งมั่นทุ่มเทแก้ปัญหาทั้งระบบ ส่วนเรื่องของเงื่อนไขเวลาไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ขอร้องว่าอย่ามากล่าวหาว่าตนต้องการดึงเพื่อที่จะให้รัฐบาลอยู่ต่อ เรื่องนี้อยู่ที่ประชาชนทั้งประเทศว่าจะตัดสินใจอย่างไรหรือต้องการให้กลับไปที่เก่า รัฐธรรมนูญใหม่ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง มีบทเฉพาะกาล ไม่เช่นนั้นก็จะเหมือนเดิม
"ในส่วนของเงื่อนไขและระยะเวลาที่วางไว้ทั้งหมด ยืนยันว่าไม่เคยไปเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และขอยืนยันว่าไม่ต้องการอยู่ในอำนาจหรือแสวงหาผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ไม่เคยได้ประโยชน์อะไรสักอย่าง ซึ่งก็ได้รับทั้งคำชมและตำหนิ ซึ่งตนไม่ถือเอามาเป็นอารมณ์ แต่ยอมรับว่าหงุดหงิดบ้าง ระยะแรกที่เราเข้ามาทำงานนั้น มุ่งมั่นและทุ่มเท ทั้งการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้กับประชาชนที่เดือดร้อน โดยเป็นการแก้ทั้งระบบทั้งระยะสั้นและระยะยาว" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
เราทำงานเพื่อวันข้างหน้า ไม่ใช่แค่วันนี้ และที่สำคัญเราไม่ใช่รัฐบาลผูกขาด เรามีเงินเท่านี้ก็ใช้จ่ายเท่านี้ อย่างน้อยก็ไม่ไปสร้างภาระระยะยาวเหมือนที่ต้องรับมาในวันนี้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นิสัยที่ต้องแก้อีกอย่างของคนไทยคือการชอบสร้างวาทกรรมต่างๆ รวมทั้งการพาดหัวข่าวของสื่อบางฉบับ ซึ่งยอมรับว่าบางวันเห็นการพาดหัวข่าวแล้วก็โมโห หัวข่าวปกหน้า 1 นั้นดูไม่ดี แต่พอเปิดอ่านเนื้อข่าวด้านในสาระก็ดี ก็ไม่เข้าใจว่า ไปเอาอะไรมาพาดหัวให้คนตกใจเล่น ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ความมั่นคง อำนาจ ประชาธิปไตย ไม่รู้จะเอามาทำไมให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น
"ผมเรียนแล้วว่าพวกเราตั้งใจทำให้ประเทศชาติสงบ ปลอดภัย อย่างยั่งยืน เดินหน้าประเทศมีความเข้มแข็งในทุกภาคส่วน พูดจนไม่รู้จะพูดอย่างไรแล้ว ซึ่งการทำงานต้องมีขั้นตอน ตัวอย่างราคาข้าวเกวียนละ 1.5 หมื่นบาท ก็มีวาทกรรมว่าเป็นการทำเพื่อประชาชน ซึ่งถ้าเป็นการทำจริงทุกคนก็พอใจ แต่ถ้าดูให้ดีวาทกรรมดังกล่าว ที่บอกว่าทำเพื่อคนจน ทำเพื่อเกษตรกรซึ่งมีแล้วมีอยู่เกือบ 10 ล้านคน ถ้าได้คนเหล่านี้กลับมาก็เป็นคะแนนเสียง ซึ่งผมไม่ได้ต้องการคะแนนเสียง แต่ต้องการทำให้ทุกคนมีอาชีพมีรายได้อย่างเหมาะสม แต่พอแตะเรื่องนี้ ก็จะมีคนออกมาเลยว่า ทำเพื่อคนจนไม่ได้หรือ อย่าลืมว่าประเทLไทยไม่ได้มีแต่เกษตรกร รัฐบาลต้องใช้งบประมาณไปทำอย่างอื่นด้วย ซึ่งต้องดูทุกอย่างให้เข้มแข็ง เฉลี่ยให้ทั่วถึงอย่างยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันใช้แนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาโดยตลอด คือสอนให้คนเอาเบ็ดไปตกปลา ไม่ใช่สอนแบบให้ปลาไปกิน พอปลาหมดก็ไม่รู้จะทำอย่างไร" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบาย 11 ด้าน บางคนบอกว่าทำไมเดินไปช้า ก็ลองคิดดูแล้วกันการเรียนหนังสือกว่าจะรู้เรื่อง เรียน ป.1 ป.2 ป.3 ยังอ่านหนังสือไม่ออก เร่งเกินไปก็จะเละเพราะไม่เข้าใจกัน ดังนั้นถ้าเดินต่อไปมันจะมั่นคงกว่า เดินอย่างมีแผนที่ดี มียุทธศาสตร์ที่ตรงกับความต้องการ เพื่อวันนี้เพื่ออนาคต แล้วเดินไปอย่างนี้ มันต้องช้าแต่มั่นคง ถ้าเจออุปสรรค เจอข้อติติงก็รอไว้หน่อย รัฐบาลจะต้องทบทวนว่าจะทำอย่างไร ทั้งเรื่องพลังงาน ภาษี เรื่องต่างๆ แต่มันต้องทำทั้งหมด ถ้ามีปัญหาในการทำเรื่องใดยังไม่เข้าใจกัน ก็ให้หยุดไว้ก่อน แต่ต้องทำ
ส่วนจะทำอย่างไรก็ค่อยว่ากันอีกที อย่าเพิ่งเดือดร้อน อย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ อย่าไปสร้างวาทกรรมก็แล้วกันว่าทำเพื่อคนนั้นคนนี้ รัฐมนตรีคนนั้นมีเรื่องนี้เรื่องนั้น ตนบอกแล้วว่ารัฐมนตรีทุกคนมาด้วยความตั้งใจอยากจะช่วยชาติ ต้องแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลแม้จะมาแบบนี้ เราก็ให้ความเป็นธรรม ให้โอกาสโต้แย้งได้ทุกวัน ชี้แจงได้ทุกวัน ตนฟังทุกเรื่อง ไปดูตัวอย่างในต่างประเทศเขาไม่มีให้พูดแบบนี้ ดังนั้นต่างประเทศต้องเข้าใจเราด้วย ต่างประเทศอย่าไปกังวล ตนให้ผู้หลักผู้ใหญ่ไปพูดคุยกับทูตทุกประเทศ เขาไม่เข้าใจหลายๆ เรื่อง แต่วันนี้เข้าใจแล้ว และเขาก็ตอบไม่ได้ว่าถ้าเรื่องมันเกิดแบบนี้กับเขา เขาจะทำอย่างไร อันนี้เราไม่ได้ทะเลาะกับใครทั้งสิ้น เราพูดคุยกับคนทั้งโลกอยู่แล้ว ไม่คบกับผู้ร้าย ไม่คบกับผู้ทุจริต ถ้าเป็นคนดี เราคบหมด ไม่ว่าจะไทยหรือต่างประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ดังนั้นเราต้องขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ให้สัมฤทธิ์ผล เรามีการตั้งคณะกรรมการตั้งมากมาย คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (กขย.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ดูแลให้อยู่ โดยมีทหาร ตำรวจ ข้าราชการทุกพื้นที่ช่วยร่วมมือกัน ส่วนรัฐบาลมีคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล (กขร.) เรื่องการขับเคลื่อนเร่งรัดนโยบายรัฐบาล มีการติดตามทุกเรื่องว่าอะไรไปถึงไหน มีการรายงานตนทุกสัปดาห์ เป็นฐานข้อมูลให้ตนใช้สั่งการใน ครม. ลงไปแก้ไขปัญหาข้อติดขัด
ข้อติดขัดบางอย่างก็ต้องใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพราะกฎหมายมันไปไม่ได้ เนื่องจากการแก้ไขกฎหมายยังทำไม่เสร็จ ยังไม่ผ่าน สนช. และหากผ่านการพิจารณาของ สนช. วาระที่ 3 แล้ว ก็ต้องทิ้งช่วง 60 วัน 90 วันแล้วจึงมีผลบังคับใช้ ต้องเข้าใจด้วยว่ามีการเสนอร่างกฎหมายเข้ามาทุกวัน ยังไม่ได้ออกมาทั้งสิ้น ถ้าตราบใดที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงมา และยังไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพราะฉะนั้นอย่าไปวิตกกังวล เดี๋ยวมันก็แก้กันไป เสนอเข้า สนช. แล้วไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะออกมา ถ้ายังขัดแย้งกัน ไม่ตรงกันอยู่ แต่สถานการณ์ตอนนี้ไม่ปกติ

"ดังนั้นเรื่องวาทกรรรมอย่าพูดอีกว่า “ทำเพื่อคนจน ถ้าเสียเงินเท่าไหร่ก็ต้องยอม” หรือพูดว่า “คนจนจะมีรถขับคันแรกไม่ได้บ้างหรือ” ตนขอถามว่าแบบนี้พูดทำไม การบอกว่าทำให้ส่งออกรถยนต์ได้มากๆ ตามที่ต้องการ นั่นคือความผิดพลาดที่มันเกิดขึ้น มันไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริง ไม่มีกำลังที่จะผ่อนได้ รัฐบาลตอนนั้นก็ให้ไปก่อน 1 แสนบาท ตนถามบางคนว่าทำไมไม่ผ่อนต่อ เขาบอกว่าตอนนั้นอยากได้เงิน 1 แสนบาท แล้วอย่างนี้กลายเป็นภาระให้กับรัฐบาลปัจจุบันต้องหาเงินไปใส่ อีกทั้งทำให้กลไกระบบการตลาดของอุตสาหกรรมรถยนต์ของเรามีปัญหา ทำไมไม่ดูเหตุการณ์ ดูเหตุผลของตนบ้าง" นายกรัฐมนตรี กล่าว
นอกจากนี้ วาทกรรมอีกอย่างที่ว่าตนอยากอยู่ในอำนาจ อำนาจของตนคืออำนาจในการบริหารงานเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ขับเคลื่อนประเทศ นี่คืออำนาจของรัฐบาลนี้ด้วย รัฐบาลไม่ได้ใช้อำนาจอื่นเลย เว้นแต่คนที่ประกาศแล้วว่าผิดตรงนั้นตรงนี้ ต้องเข้าสู่ศาล กระบวนยุติธรรม แล้วก็จะมาต่อต้านหรือบอกว่าถูกรังแก คนพวกนี้ขอเลิกเสียที

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีรัสเซียมาเยือนไทย ก็มีคนบอกว่าตนเดินตามรัสเซีย แต่เมื่อรองนายกรัฐมนตรีไปจีน ก็มีคนไปบอกว่าจะไปทางจีน ทั้งที่เราดำเนินงานต่างประเทศกับทุกประเทศ ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ทางการทหารนั้น ยืนยันว่าไม่ว่าจะทะเลาะเบาะแว้งกันขนาดไหน แต่ความสัมพันธ์ทางด้านทหารมันมีอยู่แล้ว การซื้ออาวุธก็เป็นเรื่องจำเป็น มีไว้ให้คนอื่นเกรงใจเราบ้าง ต้องทำให้เขาเห็นว่าเรามีศักยภาพ การมีอาวุธไม่จำเป็นที่จะต้องรบกัน แต่เกื้อหนุนทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจเพื่อความมั่นคง

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชนทุกกลุ่ม เช่น การเพิ่มเบี้ยความพิการ การให้เงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็ก ตลอดจนส่งเสริมงานด้านกระบวนการยุติธรรม สร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงการตั้งคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และยังเดินหน้าสร้างความสัมพันธ์กับทุกประเทศเพื่อความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง

ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงที่มีการรัฐประหารตั้งแต่เดือน พ.ค. 2557 เศรษฐกิจดีขึ้นกว่าช่วงที่มีการชุมนุมขึ้นมาก โดยช่วงต้นปี 2557 พบว่าเศรษฐกิจซบเซา แต่รัฐบาลนี้ทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 และ 3 ของปี 2557 เริ่มกลับมาขยายตัวร้อยละ 0.4 และ 0.6 ตามลำดับ ก่อนจะขยายตัวร้อยละ 2.3 ในไตรมาส 4 และในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 นี้พบว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโตขึ้นกว่าร้อยละ 23 อีกทั้งได้มีการมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้แทนหาตลาดใหม่ตามต่างประเทศ จะต้องดูว่ามีสินค้าอะไรที่สามารถนำไปขายเพิ่มหรือแปรรูปพัฒนามูลค่าได้ รัฐบาลกำลังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นอยู่ ส่วนการเกษตรนั้นจะต้องมีการจัดระบบสหกรณ์และขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อจัดระเบียบใหม่ ขณะที่เรื่องของแรงงาน เราต้องปรับทักษะแรงงานให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้


ไม่มีความคิดเห็น: