PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2558

เนื่องมาจากเรื่องคิวบาและอเมริกาฟื้นสัมพันธ์

โดย : ดร.ไสว บุญมา วันที่ 17 เมษายน 2558,

ในระหว่างที่เราสนุกสนานอยู่กับการต้อนรับปีใหม่ไทยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้นำคิวบาและผู้นำสหรัฐพบกันในปานามา และประกาศจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์หลังเป็นศัตรูกันมากว่า 57 ปี จากวันที่คิวบาปฏิวัติเมื่อ พ. ศ. 2502 และเริ่มใช้ระบบคอมมิวนิสต์บริหารเศรษฐกิจและปกครองประเทศ 

การรื้อฟื้นความสัมพันธ์กันครั้งนี้อาจมองได้จากหลายแง่มุม บางคนอาจมองว่าเป็นเพียงควันหลงของสงครามเย็น

คงจำกันได้ว่า คิวบาเกือบจุดชนวนสงครามนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียตหลังสหรัฐพบว่าคิวบายอมให้สหภาพโซเวียตนำขีปนาวุธติดหัวนิวเคลียร์ไปติดตั้งห่างจากสหรัฐเพียงราว 200 กิโลเมตร อาวุธนั้นอาจเดินทางไปถึงเมืองใหญ่ๆ ของสหรัฐได้ในเวลาไม่กี่นาที 

สหรัฐจึงมองว่าตนอาจถูกโจมตีโดยไม่มีทางป้องกันและเริ่มปิดล้อมคิวบาเมื่อเดือนตุลาคมปี 2505 พร้อมกับยื่นคำขาดให้สหภาพโซเวียตถอนอาวุธออกไป หากสหภาพโซเวียตไม่ยอมทำตาม สงครามเย็นคงกลายเป็นสงครามร้อนทันที 

ชาวโลกโชคดีที่สหภาพโซเวียตยอมถอนอาวุธ อีกสามทศวรรษต่อมา คิวบาถูกลอยแพเมื่อสหภาพโซเวียตแพ้สงครามเย็นและแตกสลาย แต่ฟิเดล คาสโตร ผู้นำการปฏิวัติคิวบาไม่ยอมแพ้ ตอนนี้ฟิเดล คาสโตรแก่มากจนบริหารประเทศไม่ได้ น้องชายจึงเริ่มเปลี่ยนคิวบาเนื่องจากประชาชนยากจนอย่างกว้างขวาง

บางคนอาจมองว่า กระบวนการต่อต้านสหรัฐของประเทศในละตินอเมริกาซึ่งมีคิวบาและเวเนซุเอลาเป็นหัวหอกอ่อนล้าลงมากเนื่องจากขาดแรงสนับสนุนทั้งจากภายนอกและภายในละตินอเมริกา 

แรงสนับสนุนทางการเมืองและการเงินจากภายนอกสิ้นสุดลงเมื่อสงครามเย็นยุติ ส่วนแรงสนับสนุนภายในส่วนใหญ่มักเป็นการสนับสนุนแต่ปากเนื่องจากสหรัฐเป็นตลาดสำคัญของสินค้าที่ประเทศในละตินอเมริกาผลิต 

นอกจากนั้น ชาวลาตินอเมริกันโดยทั่วไปคงตระหนักมากขึ้นว่าเมื่อประเทศของตนประสบปัญหา นักการเมืองมักแก้ตัวโดยโทษสหรัฐ การหาทางออกแบบมักง่ายเริ่มขายไม่ค่อยออก นักคิดชาวละตินอเมริกันกลุ่มหนึ่งถึงกับเขียนหนังสือออกมาเพื่อชี้ให้เห็นว่าต้นตอของปัญหามิใช่สหรัฐ หากเป็นชาวละตินอเมริกันนั่นแหละ หนังสือเล่มนั้นแปลเป็นภาษาอังกฤษชื่อ Guide to the Perfect Latin American Idiot หรือ “แนะนำชาวละตินอเมริกันไร้ปัญญา” (มีบทคัดย่อภาษาไทยอยู่ในเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com)

ในขณะเดียวกันอาจมองได้ว่าเป็นเรื่องพื้นฐานของการต่อสู้กันระหว่างแนวคิดทางเศรษฐกิจสองขั้ว นั่นคือ ขั้วระบบตลาดเสรีกับขั้วระบบคอมมิวนิสต์

คงจำกันได้ว่า ระบบตลาดเสรีมีความเก่าแก่มากเนื่องจากเกิดขึ้นพร้อมๆ กับบรรพบุรุษของมนุษย์เรา มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวซึ่งแลกเปลี่ยนสิ่งของ หรือค้าขายกัน การแลกเปลี่ยน หรือค้าขายคือหัวใจของ “ตลาด” นอกจากนั้น มนุษย์เราต้องการความเป็นอิสระที่จะทำอะไรๆ ได้อย่างกว้างขวาง เมื่อนำธรรมชาติธาตุแท้ของมนุษย์ทั้งสองมารวมกัน จึงเกิดฐานอันมั่นคงของระบบตลาดเสรี บนฐานดั้งเดิมนั้น วิวัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจเกิดขึ้นเป็นเวลานับแสนปีก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์สำคัญ 2 อย่างในช่วงเวลาเดียวกัน นั่นคือ การประดิษฐ์เครื่องจักรกลซึ่งนำไปสู่การเกิดโรงงานอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวางและการรวบรวมแนวคิดต่าง ๆ อย่างครอบคลุมเข้าเป็นระบบเศรษฐกิจตลาดเสรีพิมพ์ออกมาเมื่อปี 2319 โดยอดัม สมิธ

โรงงานอุตสาหกรรมดำเนินไปตามแนวคิดของระบบตลาดเสรีจนมาถึงปี 2391 จึงเกิดแนวคิดระบบคอมมิวนิสต์ตามข้อเสนอของคาร์ล มาร์กซ์ และ ฟรีดริก เองเกลส์ ระบบนี้มิใช่สำหรับใช้ในการบริหารเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังเป็นระบบการเมืองแบบเผด็จการอีกด้วย ผู้คิดระบบคอมมิวนิสต์มองว่า ระบบของตนจะแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำระหว่างนายทุนผู้เป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมกับคนงานที่ถูกเอาเปรียบได้โดยการให้รัฐเป็นเจ้าของโรงงานเสียเอง ระบบคอมมิวนิสต์อยู่ขั้วตรงข้ามกับระบบตลาดเสรีเพราะรัฐเป็นเจ้าของทรัพย์สินทุกอย่างและออกคำสั่งว่าจะผลิตอะไร อย่างไรและเพื่อใคร ในขณะที่ระบบตลาดเสรีมีเอกชนเป็นเจ้าของทรัพย์สินและเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะผลิตอะไร อย่างไรและเพื่อใครในบรรยากาศของการแข่งขันกันผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รัฐมีหน้าที่ตั้งกฎเกณฑ์และบังคับใช้ให้การแข่งขันกันนั้นเป็นไปอย่างเป็นธรรม

ระบบคอมมิวนิสต์ถูกนำมาใช้ในรัสเซียเป็นครั้งแรกเมื่อ พ. ศ. 2460 และขยายออกไปอย่างกว้างขวางหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติเมื่อปี 2488 อีก 45 ปีต่อมา ประเทศที่ใช้ระบบนั้นจึงแน่ใจว่ามันใช้ไม่ได้และหันกลับมาใช้ระบบตลาดเสรีอีกครั้ง ยกเว้นคิวบาและเกาหลีเหนือ

ณ วันนี้ คงเป็นที่รับรู้กันแล้วว่า ระบบคอมมิวนิสต์ไม่ทำงานตามที่คาร์ล มาร์กซ์และฟรีดริก เองเกลส์ ฝันไว้เพราะมันต้องใช้การบังคับซึ่งขัดธรรมชาติธาตุแท้ของมนุษย์

 อย่างไรก็ดี ยังมีผู้หลงใหลในระบบนั้นหลงเหลืออยู่บ้างในบางประเทศ คนพวกนี้คงหลงผิดแต่มีทิฐิมานะเช่นเดียว ฟิเดล คาสโตร หรืออาจโง่เขลาก็อาจเป็นได้ หรืออาจต้องการใช้วาทกรรมอันล้ำเลิศของระบบนั้นหลอกคนทั่วไปให้หลงเชื่อเพื่อก้าวเข้าสู่อำนาจ ในเมืองไทยก็ดูจะมีหลงเหลืออยู่จำนวนหนึ่งเช่นกัน ฉะนั้น ต้องมองให้ดีว่าคนพวกนี้มีภูมิหลังอย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น: