PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2558

9 ปี ป.ป.ช.สาง 2.6 หมื่นคดีทุจริต ก้าวพ้นข้อครหา“สองมาตรฐาน”หรือยัง?

วันพฤหัสบดี ที่ 15 ตุลาคม 2558 เวลา 19:21 น สำนักข่าวอิศรา

“เสียงสะท้อนที่น่าสนใจจาก “นักข่าว” ที่ถามดัง ๆ ไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ผ่านมา 9 ปีแล้ว ทำไมถึงไม่พ้นข้อครหาว่า “สองมาตรฐาน” ? “วิชา-ปานเทพ” ตอบแทบจะพร้อมเพรียงกันว่า อยู่ที่มุมมองของแต่ละคน ป.ป.ช. ไม่สามารถไปยับยั้งความคิดเหล่านั้นได้ แต่ยืนยันว่าที่ผ่านมาดำเนินงานด้วยความ “เที่ยงธรรม” ชี้มูลผิดตามพยานหลักฐานข้อเท็จจริงทั้งสิ้น”
PIC naccddd 15 10 58 1
อยู่กันจนครบวาระ 9 ปีเรียบร้อยสำหรับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 5 ราย ได้แก่ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. นายวิชา มหาคุณ นายประสาท พงษ์ศิวาภัย นายภักดี โพธิศิริ และนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. 
ภายหลังได้รับการแต่งตั้งจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฯ ในห้วงการยึดอำนาจของ “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เมื่อ 19 ก.ย. 2549 หรือเกือบ 10 ปีที่แล้ว
ล่าสุด คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 5 รายข้างต้น + กรรมการหน้าใหม่อีก 4 ราย ได้แก่ นายปรีชา เลิศกมลมาศ (แทน น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล เกษียณอายุ) พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง (แทนนายเมธี ครองแก้ว เกษียณอายุ) นายณรงค์ รัฐอมฤต (แทนนายกล้าณรงค์ จันทิก เกษียณอายุ) และ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ (แทนนายใจเด็ด พรไชยา เกษียณอายุ) จัดงานแถลงผลการดำเนินงานในห้วง 9 ปีที่ผ่านมา ให้สื่อมวลชนรับฟัง 
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในการดำเนินงาน ทำมาแล้วกี่คดี ตัวเลขความเสียหายเท่าไหร่ พูดหมดไม่มีปิดบัง !
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำผลการดำเนินงานดังกล่าวมาโชว์ให้เห็นกันชัด ๆ ดังนี้
ผลงานด้านการปราบปรามการทุจริต ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2550-2558
เรื่องค้างสะสมมาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดที่ 2 (ชุดที่ถูกกล่าวหาว่ามีมติขึ้นเงินเดือนตัวเอง) จำนวน 11,578 เรื่อง และเรื่องกล่าวหารับใหม่ (1 ต.ค. 2550-ก.ย. 2558) จำนวน 26,000 เรื่อง
รวมเรื่องรับดำเนินการทั้งสิ้น 37,578 เรื่อง
ดำเนินการแล้วเสร็จ 26,530 เรื่อง คงเหลือการดำเนินการ 11,048 เรื่อง
สำหรับเรื่องที่คงเหลือนั้น จำแนกเป็น
เรื่องที่อยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง 8,836 เรื่อง เรื่องอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง 2,212 เรื่อง (มอบหมายให้พนักงานไต่สวนแล้ว 1,076 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน 1,086 เรื่อง และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะเป็นองค์คณะไต่สวน 50 เรื่อง)
ส่วนผลงานในห้วงที่ผ่านมา ก็มีคดีสำคัญมากมาย เช่น การชี้มูลความผิดนายนิพัทธ พุกกะณะสุต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลัง อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ ร่ำรวยผิดปกติ ที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาลแพ่งเพิ่งพิพากษาริบทรัพย์กว่า 49 ล้านบาท
ชี้มูลความผิดนายวัฒนา อัศวเหม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย กับพวก (เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน) กรณีก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ทำให้ภาครัฐเสียหายหลายแสนล้านบาท ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้นายวัฒนาต้องจำคุก แต่นายวัฒนาหลบหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศเสียก่อน รวมถึงชี้มูลความผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กรณีที่ดินรัชดาภิเษกอันอื้อฉาว ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก ส่งผลให้ต้องหลบหนีอยู่ต่างประเทศจวบจนปัจจุบัน
ชี้มูลความผิด นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ “หมอเลี๊ยบ” เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง กรณีการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมิชอบ ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการไต่สวนของศาลฎีกาฯ
แม้แต่คดีสำคัญในช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้แก่ คดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว (มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้ถูกกล่าวหาคนเดียว) คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยมิชอบ (มีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ กับพวกหลายสิบราย เป็นผู้ถูกกล่าวหา) ที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของศาลฎีกาฯ เช่นกัน
นี่ยังไม่นับเรื่องสำคัญที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. เช่น กรณีระบายข้าวแบบจีทูจีรอบใหม่ ที่ล่าสุดนายประสาท เพิ่งออกมาระบุว่า พบแคชเชียร์เช็คกว่า 1.8 พันใบ วงเงินกว่า 9.6 หมื่นล้านบาท เป็นหลักฐานสำคัญ “มัด” ว่าไม่มีการทำจีทูจีจริง และกรณีขายมันสำปะหลัง ทั้งในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ
ไม่ใช่แค่โครงการในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เท่านั้น แต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ก็ยังถูก ป.ป.ช. ตรวจสอบอยู่ด้วยเช่นกัน เช่น โครงการประกันราคาข้าว (ปัจจุบันเหลือผู้ถูกกล่าวหารายเดียวคือ นางพรทิวา นาคาศัย อดีต รมว.พาณิชย์) โครงการก่อสร้างโรงพักทดแทน (มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายฯ เป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา) รวมถึงกรณีสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ก็ถูก ป.ป.ช. สอบอยู่เช่นกัน (ความคืบหน้าล่าสุดคือไต่สวนเสร็จแล้วเหลือแค่รอข้อมูลจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มาประกอบเท่านั้น)
หน้าที่สำคัญอีกอย่างของ ป.ป.ช. นอกเหนือจากการป้องกัน-ปราบปรามการทุจริตแล้ว ยังต้องตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย
9 ปีที่ผ่านมา ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดและส่งเรื่องให้ศาลฎีกาฯ วินิจฉัยกรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ และจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯเป็นเท็จ ทั้งหมด 220 ราย 
บุคคลที่น่าสนใจที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯอันเป็นเท็จ เช่น นายยุรนันท์ ภมรมนตรี หรือ “แซม” อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย กรณีไม่แจ้งหุ้นบริษัท วิลล่า เมดิก้า จำกัด จำนวน 14 ล้านบาท โดยอ้างว่า เอกสารหายตอนน้ำท่วม (ปัจจุบันศาลฎีกาฯพิพากษาแล้วว่านายยุรนันท์ไม่ผิด) นายพงษ์เวช เวชชาชีวะ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กรณีไม่แจ้งหุ้นบริษัททำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ 7 แสนบาท (อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ) เป็นต้น
ขณะเดียวกันมีนักการเมืองชื่อดังอีกหลายรายที่เคยถูก ป.ป.ช. ตรวจสอบกรณีนี้ เช่น นายการุณ โหสกุล หรือ “เก่ง” อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย กรณีไม่แจ้งหุ้นบริษัททำความสะอาด และการขายพระเครื่อง-นาฬิกา มูลค่ากว่า 24 ล้านบาท (ขณะนี้อยู่ระหว่างรอคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน) หรือนางระพิพรรณ พงษ์เรืองรอง อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ภรรยานายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง อดีตแกนนำคนเสื้อแดง กรณีกู้ยืมเงินจากบุคคลล้มละลาย 5 ล้านบาท และการนำเงินไปชำระค่าหุ้น 25 ล้านบาท (ปัจจุบัน ป.ป.ช. ยกคำร้องแล้ว)
ส่วนกรณีร่ำรวยผิดปกติมีไม่กี่ราย เช่น นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม จำนวน 65 ล้านบาท (ถูกศาลพิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินแล้ว) น.ส.ณัฐกมล นนทะโชติ อดีตเจ้าหน้าที่ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จำนวน 68.5 ล้านบาท (ศาลพิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินแล้ว) ล่าสุดคือ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีต รมว.ศึกษาธิการ กรณีไม่แจ้งการมีอยู่ของบ้านมูลค่า 16 ล้านบาท (ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในศาลฎีกาฯ)
อย่างไรก็ดีในการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีไม่ได้กรอกเงินฝากของ “ภรรยา” ไว้ในหน้าหลัก และแจ้งเงินฝากกองทัพภาคที่ 3 ไว้ด้วยนั้น ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า ทั้งหมดทำถูกต้อง
แต่คำถามที่ ป.ป.ช. ยังไม่ตอบให้เคลียร์คือในบัญชีเงินฝากของ “ภรรยา” พล.อ.ปรีชา มีเงินไหลเวียนในช่วงปี 2557 หลายล้านบาท ทั้งที่ พล.อ.ปรีชา แจ้งว่า “ภรรยา” ไม่มีรายได้ และไม่ได้ประกอบธุรกิจอะไร ?
ทั้งนี้ ป.ป.ช. ได้ทำสถิติประเมินค่าความเสียหายจากการทุจริต ทั้งจากหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในช่วงปี 2556-2558 ไว้ พบว่า มีความเสียหายรวมกันกว่า 525,117,282,617 บาท หรือ กว่า 5.25 แสนล้านบาท เลยทีเดียว
โดยยอดความเสียหายเยอะที่สุดตกอยู่ที่หน่วยงานของรัฐ เมื่อปี 2557 เสียหายกว่า 3.32 แสนล้านบาท !
ขณะที่ "วิชา" ยืนยันว่า ตัวเลขความเสียหายเหล่านี้ยังไม่รวมกับค่าความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวแม้แต่บาทเดียว
ทั้งหมดคือผลดำเนินงานของ ป.ป.ช. ในห้วง 9 ปีที่ผ่านมา “ปิดจ๊อบ” ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ใน 4 รัฐบาลเลือกตั้ง (รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช (เสียชีวิต) นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) 2 รัฐบาลรัฐประหาร (พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา)
ท่ามกลางเสียงสะท้อนที่น่าสนใจจาก “นักข่าว” ที่ถามดัง ๆ ไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ผ่านมา 9 ปีแล้ว ทำไมถึงไม่พ้นข้อครหาว่า “สองมาตรฐาน” ?
'วิชา'และ 'ปานเทพ' ตอบแทบจะพร้อมเพรียงกันว่า อยู่ที่มุมมองของแต่ละคน ป.ป.ช. ไม่สามารถไปยับยั้งความคิดเหล่านั้นได้ แต่ยืนยันว่าที่ผ่านมาดำเนินงานด้วยความ 'เที่ยงธรรม' ชี้มูลผิดตามพยานหลักฐานข้อเท็จจริงทั้งสิ้น
ส่วนที่ผ่านมา ผลงานเป็นอย่างไร ถูกใจประชาชนหรือไม่ เป็นวิจารณญาณส่วนบุคคล ?
ตอนนี้ได้แต่รอลุ้นโฉมหน้าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ใหม่อีก 5 ราย ที่คณะกรรมการสรรหาจะเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบ ว่าจะมีใครกันบ้าง
เพื่อเข้ามา “ปราบ” การทุจริตให้เหี้ยนสังคมไทย อย่างที่หลายฝ่ายคาดหวังกันเอาไว้เสียที !

ไม่มีความคิดเห็น: