PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2558

"คอคอดกระ"เส้นทางสายไหมของโลก กับความหวังที่อาจเป็นจริง!

วันที่ 06 ตุลาคม พ.ศ. 2558 เวลา 01:45:00 น มติชน
โดย ณรงค์ ขุ้มทอง 
ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
โรงเรียนนวมินทราชูทิศทักษิณ และโรงเรียนดาวนายร้อย

ประเทศจีนประกาศนโยบายเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเล "One Belt One Road" ประกอบด้วย 2 เส้นทางหลัก คือ เส้นทางสายไหมทางบกหรือเขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม (Silk Road Economic) และเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 (21′ Century Maritime Silk Road)


ถามว่า เหตุใดจีนจึงมีแนวคิดให้มีนโยบายเส้นทางสายไหม 2 เส้นทางนี้ จีนคงตระหนักถึงพลวัตการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และการเมืองโลก เป็นการแสดงออกได้ว่าจีนพร้อมและตระหนักถึงความจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องแสดงพลังอำนาจในการต่อรองระหว่างประเทศให้เห็นว่าจีนพร้อมที่จะมีส่วนแบ่งอำนาจของโลก จีนพร้อมแล้วที่จะขยายอิทธิพลทั้งการค้า การเมือง การลงทุนและด้านอื่นๆ

เส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 จะครอบคลุมกลุ่มประเทศเอเชียใต้ เอเชียกลาง เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันตก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และดินแดนในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน


ถ้าเส้นทางสายไหมทางทะเลเกิดขึ้นจริง ส่งผลสะท้อนให้เห็นว่า ต่อจากนี้ไปการเดินทางติดต่อของผู้คนและวัฒนธรรมจะขยายตัวอย่างกว้างขวาง การเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และการศึกษาเทคโนโลยีจะเดินหน้าอย่างรวดเร็วและท้าทายยิ่งกับกลุ่มประเทศหรือภูมิภาคข้างต้น การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว จะเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายระหว่างชาติ ระหว่างภูมิภาค ส่งผลให้เกิดประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่ทุกประเทศในขอบข่ายของเส้นทางสายไหมนี้ (win-win Situation)

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ ทุกประเทศต้องวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ประเทศเพื่อรองรับคือ โครงข่ายการคมนาคมทั้งทางบก ทางอากาศ ทางทะเล โครงข่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ระบบรถไฟ การสร้างเขื่อน ท่าเรือ และโรงไฟฟ้า เป็นต้น


เห็นนโยบายนี้ของจีน ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นและมีความหวัง สอดรับกับการให้ความสำคัญของท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ผ่านการแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 นโยบายที่ 6 เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 เป็นแผนการลงทุนระยะ 8 ปี 

ครอบคลุม 4 เส้นทางหลัก คือ ถนน ราง น้ำ และอากาศ แต่ในแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ผู้เขียนขออนุญาตนำเสนอให้ท่านนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องนำโครงการขุนคลองกระเชื่อมระหว่างทะเลอันดามันกับทะเลอ่าวไทยซึ่งโครงการนี้เป็นอภิมหาโครงการใช้เงินทุนสูงแต่ให้ผลตอบแทนกับประเทศมหาศาลเช่นกัน

โครงการนี้ผ่านการสำรวจและวิจัยมาหลายครั้งแต่หยุดชะงักไปด้วยเหตุและผลแต่วันเวลาและสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไป ประเทศในโลกต้องเป็นหุ่นส่วนกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การรวมกลุ่มเพื่อแชร์ผลประโยชน์และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดร่วมกัน ประชาคมอาเซียนเปิดประตูเต็มรูปแบบ ปลายปี 2558 ข้อกังวลเรื่องเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ น่าจะไม่ใช่ตัวแปรในการขับเคลื่อนโครงการนี้ เพราะโครงการนี้เป็นโครงการที่พลิกแผ่นดินด้ามขวานทองนี้ให้เรืองรอง ประชาชนในภาคใต้ 14 จังหวัดได้ผลประโยชน์อย่างมหาศาล

ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า ชาวภาคใต้สนับสนุนโครงการนี้แน่นอน ชาวภาคใต้จะต้องตระหนักไว้ว่าจะหวังอาชีพประมง อาชีพจากสวนยาง ผลไม้ และอื่นๆ คงยากแล้ว ราคายางและการประมงไม่ใช้เป้าหมายด้านรายได้หลักแก่ชาวภาคใต้อีกต่อไป การสร้างความเข้าใจและให้ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และเมียนมา เข้ามามีหุ้นส่วนโครงการนี้ภายใต้กรอบของประชาคมอาเซียน ภายใต้ความรู้สึกที่ประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นหนึ่งเดียวและมีผลประโยชน์ร่วมกัน

โครงการคลองกระจะเป็นเส้นทางสายไหมของไทยโดยสอดคล้องและเชื่อมโยงเส้นทางสายไหมทางทะเลของจีนในศตวรรษที่ 21 คลองกระจะเป็นแหล่งเงินทุนและการลงทุนแหล่งธุรกิจ แหล่งอุตสาหกรรม ที่หลากหลาย นำรายได้มหาศาลเข้าสู่ประเทศไทยเราอย่าหวังพึ่งพาอาศัยการส่งสินค้าออกไปขายในต่างประเทศอีกเลย เราต้องคิดใหม่โดยเราต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อให้เงิน ให้การลงทุนจากต่างชาติ นำเงินเข้าสู่ประเทศของเรา คลองกระจะเป็นแหล่งการว่าจ้างแรงงานทุกระดับทุกอาชีพ

คลองกระจะเป็นแหล่งรายได้หลักของไทยมาทดแทนและรองรับเศรษฐกิจของไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ที่ประเทศไทยไม่มีทรัพยากรต่างๆ หลงเหลือให้เป็นทุนสำรองสำหรับนำมาพัฒนาประเทศ

เราเลิกกังวลใจต่อปัจจัยที่ทำให้โครงการนี้เดินหน้าไม่ได้โลกหวังว่าศตวรรษที่ 21 คือโลกแห่งการอยู่ร่วมกันพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมใหม่ร่วมกันคลองกระไม่ใช่คลองในจินตนาการอีกต่อไป ผู้เขียนสนใจและติดตามโครงการนี้มาโดยตลอด และเคยเขียนบทความผ่านสื่อต่างๆ มาหลายครั้ง

ซึ่งเส้นทางคลองกระที่ควรดำเนินการคือ เส้นทาง 9A ผ่านจ.กระบี่, ตรัง, พัทลุง, สงขลา และ จ.นครศรีธรรมราช ระยะทาง 120 กรัม (ข้อมูลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ) เพราะเส้นทางนี้เงื่อนไขต่างๆ มีน้อยมาก เป็นเส้นทางผ่านตอนกลางของภาคใต้พอดี ทำให้จังหวัดในภาคใต้ได้ผลประโยชน์ที่เป็นธรรม การสร้างงาน การมีงานทำอย่างทั่วถึง

คลองกระคือนวัตกรรมใหม่ด้านการเดินเรือของโลก คลองกระคือเส้นทางสายไหมของโลก คลองกระคือเสน่ห์ที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นยุทธศาสตร์ของโลกด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และวัฒนธรรม ด้านการศึกษาและนวัตกรรมใหม่ ด้านการเมืองและยุทธศาสตร์โลก

หลับตาดูซิ ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย เมื่อคลองกระเกิดขึ้น ถ้ารัฐบาลและ คสช.ตัดสินใจเดินหน้าโครงการนี้ จะเป็นประวัติศาสตร์ของไทย เป็นประวัติศาสตร์ของโลกแน่นอน โครงการใหญ่ย่อมมีปัญหามากมาย แต่แน่นอนผลประโยชน์ที่ตอบแทนกับประเทศก็มีมหาศาลเช่นกัน เพียงรอและกล้าพอ ทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงจากประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่ร่ำรวยมีเงินทุนสำรองประเทศอย่างมหาศาล คลองกระคือเส้นทางในฝันที่ประชาชนและโลกรอคอย

คนไทยและชาวโลกจะต้องจารึกการตัดสินใจครั้งสำคัญของนายกรัฐมนตรีของไทยที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปอีกแสนนาน!



มติชนรายวัน
05/10/2558

ไม่มีความคิดเห็น: