PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2558

กต.เผยผิดหวังมติสภายุโรป กรณีสิทธิมนุษยชนไทย ชี้เข้าใจสถานการณ์คลาดเคลื่อน

วันที่ 09 ตุลาคม พ.ศ. 2558 เวลา 08:00:00 น มติชน

http://www.matichon.co.th/online/2015/10/14443146641444314701l.jpg

(8 ต.ค.58) กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้เผยแพร่ข่าวถึงกรณีที่ สภายุโรปได้ร่วมประชุมเพื่อออกข้อมติต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย โดยระบุว่า สภายุโรป (European Parliament) ได้ออกข้อมติเกี่ยวกับประเทศไทย ซึ่งการออกข้อมติดังกล่าวไม่มีผลผูกพันต่อการดำเนินนโยบายของสหภาพยุโรปต่อไทยและเป็นส่วนหนึ่งของวาระการประชุมสมัยสามัญของสภายุโรปซึ่งกล่าวถึงสถานการณ์ในประเทศอื่นๆด้วยทั้งนี้ ข้อมติดังกล่าวเป็นการแสดงท่าทีโดยหลักการตามค่านิยมที่ยุโรปยึดถือ และเป็นท่าทีและความห่วงใยในฐานะมิตรประเทศในประเด็นต่าง ๆ เช่น การดำเนินการตาม Roadmap การเลือกตั้ง การร่างรัฐธรรมนูญ และสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยรับทราบและดำเนินการอยู่แล้ว
     
ไทยผิดหวังต่อข้อมติของสภายุโรป ที่แสดงถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสถานการณ์และพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของไทย ซึ่งรัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเคารพในพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัดและยึดมั่นดำเนินการตามRoadmapเพื่อมุ่งไปสู่การเลือกตั้ง
      
อย่างไรก็ดี ในภาพรวม ข้อมติได้ย้ำว่าไทยและสหภาพยุโรปเป็นมิตรประเทศและหุ้นส่วนที่สำคัญและมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นทั้งด้านการเมืองเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมโดยข้อมติเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรปร่วมมือกับรัฐบาลไทยอย่างสร้างสรรค์

นอกจากนี้ ข้อมติดังกล่าวได้แสดงความชื่นชมไทยและสนับสนุนไทยในหลายด้าน เช่น ด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การผ่าน พ.ร.บ. ความเท่าเทียมทางเพศ และรับทราบถึงความมุ่งมั่นของไทยในการออกมาตรการขจัดการค้ามนุษย์ และการแก้ปัญหาแรงงานในภาคประมงตลอดห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ ข้อมติยังได้ยอมรับถึงพัฒนาการทางเมือง ในการที่ไทยแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ และการดำเนินการตาม Roadmap ที่ชัดเจน อันจะนำไปสู่การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ตลอดจนแสดงความเชื่อมั่นการทำหน้าที่ของไทยในฐานะผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน – สหภาพยุโรป
      
ในการนี้ ไทยพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์ มีความสมดุล และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง และพร้อมที่จะร่วมมือกับสหภาพยุโรปในทุกมิติและทุกระดับ ตลอดจนจะทำหน้าที่ผู้ประสานงานระหว่างอาเซียน – สหภาพยุโรปอย่างเต็มที่เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองภูมิภาคให้มีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

ก่อนหน้านี้เว็บไซต์รัฐสภายุโรป เผยแพร่มติของสมาชิกสภายุโรป 4 ข้อ เรียกร้องให้หลายประเทศปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย ไนจีเรีย สาธารณรัฐแอฟริกากลาง และประเทศไทย
  
ในส่วนของประเทศไทย รัฐสภายุโรปแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่ตกต่ำลงในประเทศไทยภายหลังการรัฐประหารที่ผิดกฎหมายเมื่อเดือนพ.ค.2557และเรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกการกำจัดสิทธิเสรีภาพและการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอย่างสันติ
 
นอกจากนี้รัฐสภายุโรปยังเรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกคำพิพากษา เพิกถอนข้อกล่าวหา เพื่อปล่อยตัวบุคคลและสื่อมวลชนที่ถูกตั้งข้อหาหรือถูกตัดสินให้มีความผิดเพราะการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม

รัฐสภายุโรปยังกดดันให้ทางการไทยระงับโทษประหารชีวิตพร้อมเรียกร้องให้สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหภาพยุโรปใช้มาตรการเท่าที่จำเป็น เพื่อให้ทางการไทยเคารพในสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม รวมถึงเดินหน้าสังเกตการณ์สอบสวน และการดำเนินคดีในชั้นศาลกับแกนนำฝ่ายตรงข้าม


สำหรับรัฐสภายุโรป หรือ European Parliament เป็นรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของสหภาพยุโรป หรืออียู โดยสภายุโรป คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปและคณะกรรมาธิการยุโรปร่วมกันทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติของสหภาพยุโรป ถือเป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่ทรงอำนาจที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีสมาชิกจำนวน 751 คน

ไม่มีความคิดเห็น: