PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ทางรถไฟสายทรานส์เอเชีย(Trans-Asian Railway) เชื่อม "ระเบียงทอง" จีน-คาบสมุทรอินโดจีน

ทางรถไฟสายทรานส์เอเชีย(Trans-Asian Railway) เชื่อม "ระเบียงทอง" จีน-คาบสมุทรอินโดจีน
สำนักข่าวซินหวารายงานว่า ทางรถไฟหลายสายที่กำลังวางแผนหรือก่อสร้างอยู่ซึ่งเริ่มต้นจากเมืองคุนหมิง ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ผ่านประเทศเวียดนาม กัมพูชา พม่า ไทย มาเลเซีย กลายเป็นทางรถไฟระหว่างประเทศสายใหญ่ 3 สายคือสายตะวันออก สายกลาง และสายตะวันตก ที่มีจุดหมายปลายทางคือสิงคโปร์นั้นกำลังเป็นที่จับตามองของประชาคมโลก เพราะทางรถไฟสายทรานส์เอเชียสายนี้จะทำให้จีนกับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เชื่อมถึงกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น
นายหลิว จินซิน ผู้เชี่ยวชาญโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาของสหประชาชาติกล่าวถึงทางรถไฟสายนี้ว่า ทางรถไฟสายนี้มีรูปร่างเหมือนกับร่มคันหนึ่ง ซึ่งมีหัวร่มอยู่ที่เมืองคุนหมิงของจีน ปลายร่มคือสิงคโปร์ ส่วนใจกลางร่มคือกรุงเทพฯ ของไทย ขณะนี้ โครงร่มหรือทางรถไฟจากเมืองคุนหมิงผ่านเวียงจันทน์ กรุงเทพฯ ไปยังถึงสิงคโปร์นั้นเริ่มก่อตัวคืบหน้า ค่อยๆ กลายร่างเป็นร่มคันใหญ่แล้ว
โครงหลักของร่มคันนี้ในสายตาของนายหลิว จินซินก็คือเส้นทางรถไฟสายทรานส์เอเชียสายกลาง หรือทางรถไฟสายจีน-ลาว-ไทย โดยตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้เป็นต้นมา การก่อสร้างทางรถไฟสายดังกล่าวประสบผลคืบหน้าอย่างเห็นได้ชัด คือเริ่มมีการก่อสร้างทางรถไฟจากบ่อเต็นถึงกรุงเวียงจันทน์ซึ่งเป็นช่วงภายในประเทศของทางรถไฟจีน-ลาวแล้ว ต่อจากนี้ก็จะเริ่มโครงการความร่วมมือทางรถไฟจีน-ไทยอย่างเป็นทางการ
ตามแผนการ ทิศเหนือของทางรถไฟช่วงบ่อเต็น-เวียงจันทน์จะเชื่อมต่อกับทางรถไฟช่วงเมืองยวี่ซี-เมืองหมัวฮั่น ส่วนทิศใต้จะเชื่อมต่อกับทางรถไฟหนองคาย-ท่าเรือมาบตาพุด และจะเชี่อมถึงกรุงเทพฯ ด้วย ภายหลังแล้วเสร็จ สายกลางของทางรถไฟสายทรานส์เอเชียก็จะเชื่อมถึงกันโดยสมบูรณ์
นายเหลียง ชวน รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาสังคมศาสตร์ยูนนานกล่าวว่า ทางรถไฟสายทรานส์เอเชียจะเปิดเส้นทางการค้าระหว่างจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง และยุโรป และจะมีส่วนช่วยต่อความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างจีนกับคาบสมุทรอินโดจีน
ด้านนักวิเคราะห์และนักวิชาการเห็นว่า การสร้างทางรถไฟสายทรานส์เอเชียจะผลักดันความร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้สิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานด้านการคมนาคมของจีนและประเทศคาบสมุทรอินโดจีนเชื่อมต่อถึงกัน และทำให้เศรษฐกิจการค้าประเทศเหล่านี้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น
นึกถึง "จีน" นึกถึง "ซีอาร์ไอ"

ไม่มีความคิดเห็น: