PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

สถานีคิดเลขที่ 12 เรื่อง อำนาจและอิทธิพล : โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 เรื่อง อำนาจและอิทธิพล : โดย ปราปต์ บุนปาน


สถานการณ์การเมืองไทยช่วงนี้อาจทำให้บางคนย้อนนึกไปถึงแนวคิดเรื่อง “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย” ที่ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเสนอเอาไว้
“รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย” แต่เดิม ให้ความสำคัญแก่การคานกันระหว่าง “อำนาจ” กับ “อิทธิพล”
ซึ่งอาจนิยามความหมายได้ว่า “อำนาจ” คืออำนาจที่มีกฎหมายหรือประเพณีรองรับ ส่วน “อิทธิพล” คืออำนาจที่ไม่มีกฎหมายหรือประเพณีรองรับ เช่น “อิทธิพล” ของตระกูลนักเลง “เจ้าพ่อ” ในท้องถิ่น ตลอดจน “อำนาจไม่เป็นทางการ” บางด้านของทหาร-ตำรวจ เป็นต้น
สามัญชนไทยนั้นใช้ชีวิตอย่างเคยชินอยู่ท่ามกลางการนำ “อำนาจ” และ “อิทธิพล” มาคานหรือถ่วงดุลซึ่งกันและกัน
“อำนาจ” โดยตัวมันเองก็มีอันตราย เช่นเดียวกับ “อิทธิพล” ซึ่งก็อันตรายไม่แพ้กัน แต่หากทั้งสองอย่างถูกนำมาใช้งานร่วมกัน ก็ถือว่า “พอจะเอาตัวรอดไปได้”
ดังนั้น คนไทยจึงไม่อยากเห็น “อำนาจ” หรือ “อิทธิพล” อันใดอันหนึ่ง ถูกขจัดทิ้งออกไปโดยสิ้นเชิง
อย่างไรก็ดี อาจารย์นิธิตั้งข้อสังเกตว่าปลายทศวรรษ 2530 “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม” ที่ดำรงอยู่ในวิธีคิดของคนไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงไป
ด้วยปัจจัยหลายประการที่ส่งผลให้ “อิทธิพล” มีพื้นที่น้อยลงในสังคม อาทิ บรรดา “เจ้าพ่อ” หันไปทำกิจการที่ถูกกฎหมายมากขึ้น หรือ “ทหาร” ก็มีบทบาทลดลง หลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์ฯ และการต้องกลับเข้ากรมกองระหว่างปี 2535-49
ขณะเดียวกัน กลุ่มคนที่มีบทบาทโดดเด่นขึ้นมา กลับเป็น “นักการเมือง” จากการเลือกตั้ง จนทำให้ผู้คนเกิดความคาดหวังว่าสังคมไทยกำลังจะเดินหน้าไปสู่การใช้ “อำนาจ” ถ่วงดุล “อำนาจ” ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจแบบตะวันตก
แม้แต่การรัฐประหาร ซึ่งถือเป็นการสถาปนา “อิทธิพล” ขึ้นมาอยู่เหนือ “อำนาจ” ตั้งแต่หลังยุค 14 ตุลาเป็นต้นมา ก็ต้องพยายามรื้อฟื้นบรรยากาศของ “อำนาจ” กลับมาโดยเร็วที่สุด

เพราะ “อิทธิพล” เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้ใครสามารถครองสถานะเป็นผู้มีอำนาจได้ตลอดไป
กลับมาที่สถานการณ์ ณ ปี 2561 หลังจาก คสช.ปกครองประเทศโดยใช้ “อิทธิพล” เป็นเครื่องมือสำคัญมาสี่ปี ซึ่งนับว่ายาวนานเกินความคาดคิดของหลายคน
ถึงที่สุด ดูเหมือนว่าประเทศไทยกำลังจะต้องคลี่คลายตัวเองไปสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอีกหน เพื่อเปิดโอกาสให้การใช้ “อำนาจ” ผ่านระบบรัฐสภา (ที่ส่วนหนึ่งมาจากการเลือกของประชาชน) และสถาบันทางการเมืองต่างๆ (ที่แม้จะถูกออกแบบโดยคณะรัฐประหาร) ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางบ้านเมือง
อย่างไรก็ตาม “อิทธิพล” ยังน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในเกมอำนาจกระดานนี้
อย่างน้อย กระแสข่าวเรื่องการ “ดูด” กลุ่มนักการเมือง/ผู้มีอิทธิพลประจำท้องถิ่น ที่ถูกนิยามว่าเป็น “ครรลองประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ก็แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มดังกล่าว ไม่นับรวมการ (จะ) ยืนหยัดดำรงอยู่ของผู้นำกองทัพบนเวทีการเมือง (ไม่ว่าด้วยสถานะและวิธีการใดๆ)
“รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย” และวิธีคิดว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่าง “อำนาจ” กับ “อิทธิพล” น่าจะนำมาใช้อธิบายสังคมการเมืองไทยยุคต้นทศวรรษ 2560 ได้ดีพอสมควร
แต่คงต้องพิจารณาด้วยว่าสังคมไทยปัจจุบันนั้นมีความสอดคล้องกับ “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม” เวอร์ชั่นไหน
ก่อนหรือหลังปลายทศวรรษ 2530?
ปราปต์ บุนปาน

ที่มา :https://www.matichon.co.th/news/944335

ไม่มีความคิดเห็น: