PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

คดีฆ่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดภูเก็ต

Tanakit Nakmanee
คดีนี้ ใครจำได้บ้างมั้ยครับ
--------------------
" พูดถึงอำนาจอัยการในการสั่งคดี ขอยกตัวอย่าง "คดีฆ่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดภูเก็ต" ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการของตำรวจและปัญหาของกระบวนการยุติธรรม และความจำเป็นในการ "ถ่วงดุลคดี" ในคดีที่เคยอึกทึกครึกโครมเมื่อ ปี พ.ศ.2528-2529
ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล "นายปรีดี สุจริตกุล" และ "นายแสงชัย ศักดิ์ศรีทวี" หรือ "โกโหลน" พ่อค้าแร่จังหวัดภูเก็ต ถูกคนร้ายลอบยิงตายระหว่างขับรถไปดูที่ดิน ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมมือปืนได้ทั้งหมด และมือปืนก็ให้การรับสารภาพ ตลอดจนซัดทอดถึงผู้ว่าจ้างวานฆ่า ตำรวจนำมือปืนเหล่านั้นขึ้นฟ้องศาล และศาลก็ได้พิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต จำเลยไม่มีความประสงค์จะอุทธรณ์เพราะยอมรับผิด ในขณะเดียวกันอัยการจังหวัดก็ได้ออกหมายจับผู้จ้างวานฆ่า คือ"นายโสภณ กิจประสาน" ซึ่งเป็นเจ้าพ่อคนหนึ่งในจังหวัดภูเก็ตและพังงา
ในการทำคดีนี้ รัฐมนตรีมหาดไทยคือ "พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์" ได้ให้กำลังใจกับทีมงานที่ดำเนินการจับกุมคนร้าย ตลอดจนให้คำชมเชยเป็นอย่างมาก
ต่อมา...นายโสภณ กิจประสาน ได้ทำเรื่องร้องเรียนไปยัง "กองบังคับปราบปราม" ซึ่งยุคนั้น "พล.ต.ต.บุญชู วังกานนท์" เป็นผู้บังคับการ ตลอดจนทำเรื่องร้องเรียนมายังอัยการเขต 8 โดยกล่าวหาว่า ทีมงานตำรวจผู้ปฏิบัติงานจับผิดคน แล้วได้มีการซ้อมจำเลยเพื่อให้สารภาพ ความที่นายโสภณ กิจประสาน มีสายสัมพันธ์อันดีกับข้าราชการตำรวจในส่วนกลาง ก็เลยทำให้เกิดแรงกดดันให้มีการทบทวนเรื่องนี้ โดยตำรวจกองปราบฯ ได้ทำตนเป็นหัวหอกในการลงไปตรวจสอบการทำงาน ตลอดจนมีความพยายามในการเขียนสำนวนการจับกุมขึ้นมาใหม่ ด้วยพยานหลักฐานใหม่ที่ตำรวจกองปราบฯ อ้างว่าได้สืบค้นมา
ตำรวจทั้งทีมเดิมที่ทำคดีนี้ก็เลยโดนย้าย โดยคนหนึ่งซึ่งเป็นหัวหน้าทีม คือ "พล.ต.ต.สล้าง บุนนาค" ได้ถูกย้ายจากกองปราบปราม ไปเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการศึกษา (คือไม่มีงานทำนั่นเอง) ตำรวจลูกทีมอีกหลายสิบคน ตั้งแต่สัญญาบัตรไปจนถึงประทวนถูกย้ายออกนอกพื้นที่ กระจัดกระจายไปทั่วราชอาณาจักร จากลูกเมียไปอย่างกะทันหันโดยไม่รู้อนาคตของตนเอง จากคำสั่งย้ายของเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย "พ.อ.เลิศ พึ่งพักตร์" จปร.รุ่น 5 ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับ พล.ต.ต.บุญชู วังกานนท์ ผู้บังคับการกองปราบฯ
พร้อมกันนั้นอัยการเขต 8 ขณะนั้นก็ได้เสนอให้ "สั่งไม่ฟ้อง" นายโสภณ กิจประสาน โดยอ้างว่าหลักฐานที่ได้มาใหม่นั้นมีเหตุผลพอเพียงที่จะสั่งไม่ฟ้องได้ ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นได้มีคำสั่ง "สั่งฟ้อง" ออกมาแล้ว
เรื่องนี้เป็นเรื่องของการต่อสู้กันทางกฎหมาย และได้มีการต่อสู้กันทางกฎหมายระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตกับอัยการเขตนั้นว่า คำสั่งอันไหนถึงจะถูกต้องตามกฎหมาย??? แต่ในที่สุดกรมอัยการก็ต้องยอมสั่งฟ้องผู้ต้องหา ทั้งนี้เพราะจำนนด้วยข้อกฎหมาย อธิบดีกรมอัยการยุคนั้นคือ "นายสุจินต์ ทิมสุวรรณ"
การต่อสู้ระหว่างอัยการแผ่นดินและทนายฝ่ายโจทก์ผู้เสียหายกับฝ่ายจำเลย คือนายโสภณ กิจประสาน นั้นเป็นการต่อสู้ที่เข้มข้นมาก เพราะฝ่ายจำเลยได้ขุดพยานและหลักฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบ ซึ่งแม้กระทั่ง "พล.ต.ต.บุญชู วังกานนท์" และ "พล.ต.ภุชงค์ นิลขำ" ก็ถูกเอาเข้ามาเป็นพยานฝ่ายจำเลย
ซึ่งก็นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีตำรวจที่ทำคดีนี้ทั้ง 2 ฝ่ายขัดแย้งกันอย่างหนัก โดยฝ่ายหนึ่งเป็นพยานของโจทก์ และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นพยานของจำเลย นับเป็นเรื่องชวนหัวที่หัวเราะไม่ออกเสียจริงๆ
ในที่สุด...ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา มีความเห็นว่าจำเลยคือ นายโสภณ กิจประสาน นั้นมีความผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหาจึงพิพากษาให้ประหารชีวิต แต่เนื่องจากคำพิพากษาศาลฎีกาได้ตัดสินในช่วงระหว่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระชนมายุครบ 60 พรรษา จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิต
แต่กว่าจะมาถึงคำพิพากษานี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคนที่ทำคดีนี้ต่างก็อยู่ในสภาวะหวาดหวั่นขวัญเสีย และท้อถอยต่อการทำงาน เพราะมันเหมือนกับว่าทำงานได้สำเร็จแทนที่จะได้รางวัลกลับถูกลงโทษ
อธิบดีกรมตำรวจสมัยนั้นคือ "พล.ต.อ.ณรงค์ มหานนท์" ตลอดจนนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายนาย พากันหลบเลี่ยงปัญหาเพื่อเอาตัวรอด ไม่มีใครที่จะกล้าพอลุกขึ้น มาปกป้องการทำงานของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่ทำงานไปตามหน้าที่ ทั้งนี้เพราะกลัวความ กดดันที่จะทำให้ตัวเองต้องหลุดออกจากตำแหน่งหน้าที่
คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ยืนยันความผิดของจำเลยในคดีนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ได้เขียนออกมาอย่างชัดเจนในตอนหนึ่งว่า "พยานบุคคลที่จำเลยนำมาสืบนั้น ข้อเท็จจริงฟังไม่ขึ้น" แปลเป็นภาษาง่ายๆ ก็คือ "พยานนั้นเป็นพยานโกหก" ซึ่งประเด็นนี้ถ้าใครอยากจะสืบสาวเอาเรื่องต่อในเรื่องการให้การเท็จ ก็ย่อมจะได้เพราะอายุความยังไม่สิ้น (ขณะนั้น)
จะเห็นได้ชัดว่าเมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาได้ทำตามหน้าที่ และเมื่อมีอิทธิพลภายนอกเข้ามาบีบ ผู้บังคับบัญชากลับไม่กล้าออกมาปกป้องการทำงานที่ถูกต้องของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเหล่านั้น
นั่นคือ...อีกหนึ่งบทเรียนสอนตำรวจรุ่นหลัง ว่ายังจะหวังให้ตำรวจมีความกล้าพอที่จะลุกขึ้นมายืนหยัดฟาดฟัน หรือลุกขึ้นต่อสู้กับเจ้าพ่อตัวจริงได้อยู่หรือไม่ และทุกวันนี้เรากำลังไล่จับอะไรกันอยู่..."
Cr.ท่าน Thanawin kanjanavipat

ไม่มีความคิดเห็น: