PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

4 ปี คสช.ผ่าน เงื่อนไขเก่าโผล่

4 ปี คสช.ผ่าน เงื่อนไขเก่าโผล่



จับอาการอำนาจพิเศษ “เผชิญ” ม็อบสัญลักษณ์
ปฏิทินย่างเข้าสู่เดือนพฤษภาคม วันเวลาผ่านไปไว
โดยเงื่อนไขสถานการณ์ผกผันกับโรดแม็ป คสช.ที่หดสั้นลงเรื่อยๆ
ที่แน่ๆย้อนกลับไป 4 ปีที่แล้ว เดือนพฤษภาคม 2557 นี่คือจุดเริ่มสตาร์ตของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ในการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาลเลือกตั้ง
ใช้อำนาจพิเศษเข้าควบคุมประเทศไทย
เข็มนาฬิกาวนมาครบรอบ 4 ปี เท่ากับเทอมรัฐบาลเลือกตั้งพอดิบพอดี
ถึงตรงนี้ พล.อ.ประยุทธ์ทำสถิติเป็นผู้นำรัฐบาลทหารที่อยู่ในตำแหน่งได้อย่างยาวนานครบวาระเทียบกับรัฐบาลหลังการปฏิวัติ 2549 ที่นายกรัฐมนตรีจะอยู่ในตำแหน่งสั้นๆแค่ 1–2 ปีเท่านั้น
และแน่นอน นี่คือจังหวะเวลาเชิงสัญลักษณ์ของสถานการณ์อำนาจพิเศษ
เหตุป่วนเกมอำนาจมักจะเกิดขึ้นในห้วงบรรยากาศนี้
ล่าสุดตามสัญญาณควันจากที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ได้สั่งการให้จัดทำคู่มือของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานรับมือกับกลุ่มผู้ชุมนุมตามหลักกฎหมายและไม่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน
คสช.ตื่นตัว ตั้งท่ารับมือม็อบแต่หัววัน
แน่นอน มันต้องมีการข่าวทางลึก ฝ่ายความมั่นคงต้องได้กลิ่นอะไรมา
ประกอบกับอาการซีเรียสของ “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก เลขาธิการ คสช.เบอร์ 1 ฝ่ายคุมกำลังความมั่นคง ที่แสดงความเป็นห่วงการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนัดระดมม็อบกันในวันที่ 5 พฤษภาคม
กังวลมือที่สามจะแทรกเข้ามาป่วนสถานการณ์
การข่าวยี่ห้อรบพิเศษ “หมวกแดง” ย่อมไม่ธรรมดา
ในจังหวะส่งเสียงมาตามนัด นายรังสิมันต์ โรม หนึ่งในแกนนำระดับแถวหน้าของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ประกาศเชิญชวนประชาชนร่วมชุมนุมแสดงพลังในวันที่ 5 พฤษภาคม ณ ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อหยุดระบอบ คสช.และหยุดยื้อเลือกตั้ง
พร้อมยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ กดดันรัฐบาล
1.ต้องการให้มีการเลือกตั้งในปีนี้
2.ยุบ คสช.และรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ
3.เรียกร้องให้กองทัพหยุดสนับสนุน คสช.
ที่สำคัญในการชุมนุมวันที่ 5 พฤษภาคม จะมีการแถลงโรดแม็ปกิจกรรมการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ในวันที่ 19–22 พฤษภาคม โดยเป็นการชุมนุมแบบลากยาวค้างคืน 4 วัน
ปั่นเงื่อนไข ยกระดับการท้าทายกฎเหล็ก คสช.ที่ห้ามชุมนุมทางการเมือง
หาเรื่องยั่วทหาร กดดัน คสช.กันในที
และที่น่าสังเกต ในจังหวะการนัดชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง มันยังมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มเอ็นจีโอที่นำม็อบเครือข่ายขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พี–มูฟ) ที่มุ่งหน้าเข้ามาชุมนุมหน้าองค์การสหประชาชาติและทำเนียบรัฐบาล
เพื่อทวงถามการบ้าน 5 ข้อ ที่เคยส่งให้รัฐบาลช่วยสางปัญหาปากท้อง ที่ดินทำกิน
และส่วนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าสกัดและควบคุมตัวแกนนำ ระหว่างทางที่ปักหลักพักค้างบริเวณด่านตรวจแม่ทา จังหวัดลำพูน ไม่ให้เดินทางเข้ามาสมทบกับผู้ชุมนุมกรุงเทพฯ
ม็อบกระจายเป้าหมาย แต่พร้อมไหลมารวมตัวกันตามเงื่อนไขสถานการณ์กดดันรัฐบาล
ยังไม่นับสถานการณ์ร้อนๆที่เป็นหัวเชื้อเร้ากระแสมวลชน กับการชุมนุมของชาวเชียงใหม่และเครือข่ายนักอนุรักษ์ในการทวงคืนผืนป่าดอยสุเทพ กดดัน พล.อ.ประยุทธ์ ให้มีการยุติและยกเลิกโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5
เหมือนลืมกันไปเลยว่า ยังมีกฎเหล็ก คสช.ห้ามชุมนุมบังคับใช้อยู่
หัวเชื้อความขัดแย้ง ชนวนม็อบโผล่มาพร้อมๆกันหลายจุด
แถมล่าสุด นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชื่อดัง แนวร่วมเสื้อแดง นปช. ก็เพิ่งพ้นโทษคดีผิดมาตรา 112 ออกจากเรือนจำ
ให้สัมภาษณ์หน้าคุก กระตุกบรรยากาศคล้ายพฤษภาทมิฬ 35 และจะนำไปสู่ความรุนแรง
ประกาศพร้อมร่วมเคลื่อนไหวทวงคืนประชาธิปไตยและเรียกร้องเลือกตั้ง
ตัวเร่งเกมม็อบก็ออกมาได้จังหวะพอดี
แต่นั่นยังไม่เท่ากับปรากฏการณ์ที่ทำให้ฝ่ายความมั่นคงต้องจับตามากที่สุด
ก็คือจังหวะที่อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร พาน้องสาวอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บินโฉบมาปักหลักที่ประเทศสิงคโปร์
เปิดคิวให้ลูกข่ายพรรคเพื่อไทย แนวร่วมเสื้อแดง นปช.แห่บินไปพบ
ในห้วงพอดิบพอดีกับบรรยากาศม็อบกำลังปะทุ
ตามรูปการณ์ การโฉบมาของ “นายใหญ่” มันหนีไม่พ้นโยงกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง
อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์แนะให้ประชาชนจับตาการเคลื่อนไหวของม็อบอยากเลือกตั้งเข้าทางพรรค การเมืองใด ก็แสดงว่าพรรคการเมืองนั้นอยู่เบื้องหลัง
ซึ่งผู้คนในสังคมส่วนใหญ่ก็มองแบบนี้แทบทั้งนั้น
ม็อบคนอยากเลือกตั้งถูกโยงเข้ากับเป้าหมายยุทธศาสตร์ของ “ทักษิณ” อย่างแยกไม่ออก
เบื้องต้นเลย อ่านไต๋กันตื้นๆนอกจากการชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ “เขย่า” อำนาจพิเศษ
เร่งกระแสกดดันเลือกตั้ง
เป้าหมายแฝงยังอยู่ที่การดิสเครดิตฝ่ายความมั่นคงที่คุมเกมมวลชน สยบม็อบได้อยู่หมัดมาตลอด 4 ปี
ตรงนี้ถ้าม็อบป่วนจนทหารหัวหมุนได้ ก็เท่ากับทำลาย “จุดแข็ง” รัฐบาลทหาร คสช.
และทุบจุดขายของ พล.อ.ประยุทธ์ในการตีตั๋วต่อเก้าอี้ผู้นำช่วงเปลี่ยนผ่านหลังเลือกตั้ง
ดูตามเดิมพันแล้ว ยังไงม็อบต้าน คสช.ก็ต้องป่วนเต็มพิกัดแน่
เรื่องของเรื่อง โดยจังหวะสถานการณ์อำนาจพิเศษ 4 ปีผ่านไป ภายใต้การเคลื่อนไหวของม็อบเชิงสัญลักษณ์กระตุกรัฐบาล คสช.
มันพอจะเห็นอะไรที่แฝงอยู่ กับเงื่อนไขความขัดแย้งเก่าโผล่กลับมา
“ทักษิณ” ก็ยังเป็นโจทย์ตัวแปรของทิศทางเกมอำนาจ
และยังดำรงตัวตนเป็นคนบัญชาการเกมต่อรองกับฝ่ายคุมเกมประเทศไทย
ด้วยเงื่อนไขเดิมๆ ขอกลับบ้านอย่างเท่ๆ ไม่มีชนักติดตัว
เพราะเป็นคดีกลั่นแกล้งทางการเมือง
หัวเชื้อความขัดแย้งเก่าๆที่ถูกอำนาจพิเศษกดทับไว้ 4 ปี ไม่ได้จางหายไปไหน
แค่รอวันปะทุชนวนระเบิดรอบใหม่
ตามรูปการณ์ที่นักวิเคราะห์การเมืองให้จับตาจุดพลิกผันในห้วงเดือนพฤษภาคม
ทีมงาน “นายกฯลุงตู่” จะไปต่อหรือกลับบ้านใครบ้านมัน
เอาเป็นว่า ถ้าผ่านพ้นไปได้ ก็เดินหน้าตามโรดแม็ปที่ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันจะประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง และแสดงความชัดเจนทางการเมืองในเดือนมิถุนายน

ประกาศตัวเป็นนายกฯในบัญชีพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ
และนั่นคือจังหวะการเดินหน้าอย่างเต็มตัวของป้อมค่าย “พลังประชารัฐ” อย่างเต็มรูปแบบ
โดยสถานการณ์หนีไม่พ้นต้องเผชิญกับแรงต้านของนักการเมืองเจ้าถิ่น ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ตีปี๊บกระแสประจานเกมดูด โจมตีทหารเล่นการเมืองย้อนยุค หนีอดีตไม่พ้น
ด่านักการเมืองไว้ยังไง ตัวเองก็ทำตามเหมือนกัน
ทั้งหมดทั้งปวง โดยรูปการณ์มันเหมือนย้อนกลับไปที่จุดตั้งต้น
4 ปี คสช.ผ่าน เงื่อนไขเก่าโผล่
“ทักษิณ” ยังใช้เกมม็อบกดดันวัดใจฝ่ายคุมเกมอำนาจประเทศไทยให้เปิดทางกลับบ้านแบบเท่ๆ
การเมืองก็วนย้อนกลับมารูปแบบเดิมๆในกระบวนการเข้าสู่อำนาจ ด้วยการระดมดูดนักการเมืองหน้าเก่ามาเป็นฐานให้ “ลุงตู่” เข้าสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี เพื่อนำพาไปสู่การเปลี่ยนผ่าน
ดูแล้วก็คงทำได้แค่เปรียบเทียบ หนทางไหนจะดีที่สุดสำหรับประเทศไทย
สุดท้ายมันก็อยู่ที่ประชาชนจะตัดสินใจเลือกเอง.
“ทีมการเมือง”

ไม่มีความคิดเห็น: