PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2558

หนังสือพิมพ์รัฐบาล

การเมือง : ข่าวทั่วไป
วันอังคารที่ 17 มีนาคม 2558
'หนังสือพิมพ์รัฐบาล'อุดจุดบอดงานพีอาร์

'หนังสือพิมพ์รัฐบาล'อุดจุดบอดงานพีอาร์

'หนังสือพิมพ์รัฐบาล' อุดจุดบอดงานพีอาร์ : โดย...จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง สำนักข่าวเนชั่น

 
                        การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันอังคารที่ 10 มีนาคม ที่ผ่านมา จู่ๆ มีเจ้าหน้าที่มาเดินแจกเอกสารให้แก่สื่อมวลชน และทุกคนที่อยู่หน้าตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งใช้เป็นสถานที่ประชุม ครม. จนกระทั่งหลังประชุมจบลง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำเอกสารชิ้นนี้มาอวดให้สื่อมวลชน และยอมรับว่านี่คือ “เอกสารจดหมายข่าวของรัฐบาล” และไม่ได้ต้องการโชว์ผลงาน แต่ทำเพื่อต้องการให้รู้ว่ารัฐบาลทำอะไรไปบ้าง
 
                        จากการตรวจสอบที่ไปที่มาของเอกสารชุดดังกล่าว จนได้ความทราบว่าเป็นชิ้นงานของ “กรมประชาสัมพันธ์” ที่ใช้ชื่อเอกสารที่มีรูปเล่มคล้ายหนังสือพิมพ์ ขนาด A3 หรือแท็บลอยด์ มีชื่อหัวหนังสือพิมพ์ว่า “จดหมายข่าวเพื่อประชาชน” มีความหนา 8 หน้า พิมพ์สี่สีทั้งเล่ม และผู้ที่มาเดินแจกก็เป็นเจ้าหน้าที่ของกรมประชาสัมพันธ์ ที่มี “อภินันท์ จันทรังสี" อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์มายืนดูลูกน้องเดินแจกเอกสารอยู่วงนอกด้วยตัวเอง
 
                        เมื่อพลิกอ่านหนังสือพิมพ์ของกรมประชาสัมพันธ์ฉบับนี้ ก็พบว่าเป็นการจัดทำโดยกรมประชาสัมพันธ์ ที่มี “อธิบดีอภินันท์” นั่งเป็นบรรณาธิการด้วยตัวเอง “ประวิน พัฒนะพงษ์" รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็น รองบรรณาธิการ และมี “ดร.ชินภัทร พุทธชาติ" ที่ปรึกษาอธิบดี เป็นที่ปรึกษากองบก. พร้อมเจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์ 7 คน นั่งทำงานในกองบรรณาธิการด้วย โดยไม่มีชื่อของบุคคลในรัฐบาลเข้าไปนั่งเป็นกองบรรณาธิการแต่อย่างใด
 
                        ส่วนเนื้อหาในเล่มพบว่ามีทั้งข่าว สกู๊ป รายงานพิเศษ คอลัมน์ รวมภาพชุด ที่เป็นเชิงบวกและอวดผลงานของรัฐบาลทุกข่าวทุกหน้าพาดหัวได้หวือหวาน่าสนใจคล้ายหนังสือพิมพ์ เช่น "รัฐ" ยันภาษีบ้านไม่กระทบประชาชน, “ครม.ปรับเกณฑ์ลดขั้นตอนเบิกจ่ายงบประมาณปี 2558” เป็นต้น  
 
                        จุดที่น่าสนใจคือในส่วนของบทบรรณาธิการ หรือ บท บก. ที่เขียนระบุที่ไปที่มาของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ว่า “ในแต่ละวัน มีข้อมูลข่าวสารหลั่งไหลเข้าสู่การรับรู้ของประชาชนเป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่มักเป็นข่าวที่เกิดขึ้นตามกระแสข่าว ด้วยเหตุนี้นายกรัฐมนตรีจึงมีความห่วงใยต่อประชาชนในการรับรู้ข่าวสาร ที่รัฐกำลังดำเนินการ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่บางครั้งข้อมูลเหล่านี้ประชาชนยังไม่รับรู้หรืออาจได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ครบถ้วน ทำให้เสียโอกาสในการเข้าถึงบริการต่างๆ จดหมายข่าวฉบับนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อเผยแพร่นโยบายและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอื่นๆ รวมทั้งสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของประชาชนซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาประเทศ”
 
                        พออ่านบทบรรณาธิการจบแล้วก็ร้องอ๋อ เพราะตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในการประชุม ครม.ก่อนหน้านั้น 1 สัปดาห์ คือ เมื่อวันอังคารที่ 3 มีนาคม ที่มีรายงานข่าวแจ้งว่าบรรยากาศในการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งการด้วยวาจาในที่ประชุมถึงการให้ข้อมูลและการประชาสัมพันธ์งานของรัฐบาลที่พบว่ามีปัญหาในการเผยแพร่ผลงานของรัฐบาล โดย "บิ๊กตู่" กําชับทั้งครม.และหน่วยงานที่เกี่ยวของคือ “กรมประชาสัมพันธ์” ให้ช่วยประชาสัมพันธ์งานของรัฐบาล เพราะรัฐบาลทําภารกิจไปจํานวนมาก แต่การทําความเข้าใจโดยเฉพาะในระดับภูมิภาคยังทําได้น้อยมาก ทั้งที่การประชาสัมพันธ์ในส่วนกลางและจากกระทรวงก็มีช่องทางมาก
 
                        พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งการว่าให้ออกหนังสือพิมพ์หรือเอกสารของรัฐบาล ซึ่งต้องไม่ใช่การโฆษณาผลงาน แต่เป็นการบอกให้สังคมทราบว่าปัญหาที่มีการเรียกร้องมีการดําเนินการถึงไหน ตรวจสอบได้อย่างไร!
 
                        นี่จึงเป็นที่มาของการออกหนังสือพิมพ์ในแบบฉบับของรัฐบาล ที่ออกมาอวดโฉมเป็นฉบับปฐมฤกษ์ ตามคำสั่งของนายกฯ เพื่อหวังว่าจะอุดช่องโหว่งานพีอาร์ของรัฐบาล ที่ทราบมาว่า หนังสือพิมพ์ฉบับนี้อาจจะตีพิมพ์แบบรายปักษ์ หรือราย 15 วันออก 1 ครั้ง ส่วนยอดตีพิมพ์ต่อครั้งจะเป็นเท่าไรนั้นยังไม่มีการเคาะตัวเลขที่แน่นอน แต่ที่แน่ๆ จะทำเป็นไฟล์ข้อมูลในรูปแบบ PDFและลิงค์หนังสือออนไลน์ แปะลงในเว็บไซต์หน่วยงานของรัฐ เพื่อเพิ่มช่องทางเผยแพร่อีกทางหนึ่งด้วย
 
                        คำถามที่ตามมาคือ ทำแค่นี้พอหรือไม่ กับการประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาลตามที่นายกฯต้องการ และถามต่ออีกว่าแค่ไหนถึงจะเผยแพร่ได้ลงถึงระดับภูมิภาคตามที่นายกฯ ปรารถนา? 
 
                        คำตอบก็คือ "ยังไม่พอ" สำหรับการส่งข่าวสารไปถึงรากหญ้า เพราะจากการพูดคุยกับ "วงใน" คนทำงานประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล ยอมรับว่า แม้รัฐบาลจะมีสื่อในมือครบทุกช่องทาง ทั้งทีวี วิทยุ สื่อออนไลน์ และแม้กระทั่งการสื่อสารโดยตรงจาก "นายกฯ" ก็ยังไม่พอที่ข้อมูลจะไปถึงระดับรากหญ้า
 
                        เนื่องจากสิ่งที่ “หายไป” คือการใช้งบประชาสัมพันธ์ของทุกหน่วยงาน เพราะในช่วงต้นที่ คสช.เข้ามาบริหารงานใหม่ๆ มีนโยบายชัดเจนให้หน่วยงานประหยัดการใช้งบ ทั้งดูงาน และการประชาสัมพันธ์ ที่ “ขีดเส้น” ให้โฆษณา “ห้าม” แปะรูปรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ผู้บริหารหน่วยงานเข้าไปในการโฆษณาเหมือนในอดีต
 
                        ประกอบกับความเข้มงวดในการตรวจสอบการใช้งบประมาณ ที่มีการตั้ง คตร. หรือคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ และการจริงจังในการใช้ “สัญญาคุณธรรม” ทำให้หน่วยงาน “ไม่กล้า” ที่จะเซ็นอนุมัติงบประมาณเพื่อการประชาสัมพันธ์เต็มที่ ดังที่เคยปฏิบัติมา ดังนั้นป้ายโฆษณาหน่วยงานรัฐตามสี่แยกไฟแดง ป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่บนทางด่วน การซื้อพื้นที่โฆษณาบนหน้าหนังสือพิมพ์ ทีวี และป้ายโฆษณาเล็กตามชุมชนหมู่บ้านในต่างจังหวัด จึงมีจำนวนน้อยลงไปมาก และหมายรวมถึงการจัดกิจกรรมหรือ “อีเวนท์” ต่างๆ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคก็ลดลงด้วยเช่นกัน
 
                        นอกจากนี้ ต้องจับตากรณีทีมโฆษกรัฐบาล นำโดย รอ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ได้เรียกประชุมโฆษกทุกกระทรวงที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อปรับทัพการประชาสัมพันธ์งานของรัฐบาลให้เข้มข้นและลงไปถึงรากหญ้ามากขึ้น 
 
                        จะหวังพึ่งพาแค่ "จดหมายข่าวเพื่อประชาชน" "รายการคืนความสุข" และ "รายการเดินหน้าประเทศไทย" คงไม่พอ !
 
 
 
 
 
-----------------------
 
('หนังสือพิมพ์รัฐบาล' อุดจุดบอดงานพีอาร์ : โดย...จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง สำนักข่าวเนชั่น)

ไม่มีความคิดเห็น: