PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2559

องค์กรสื่อห่วง พ.ร.บ.ประชามติกระทบการทำหน้าที่

องค์กรสื่อห่วง พ.ร.บ.ประชามติกระทบการทำหน้าที่
ตัวแทน 5 องค์กรวิชาชีพสื่อ ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอหลักประกันในการรายงานข่าวการจัดทำประชามติ ขณะที่ กกต.ระบุว่าการเอาผิดตาม พ.ร.บ.เป็นเรื่องอยู่นอกเหนืออำนาจ ด้านกลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใยเรียกร้องประชามติต้องมีเสรีภาพ โปร่งใส เป็นธรรม
ตัวแทนสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย รวมถึงสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ร่วมกันยื่นหนังสือถึง กกต. ในวันนี้ (25 เม.ย.) เพื่อชี้แจงข้อห่วงใยขององค์กรสื่อที่มีต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ซึ่งอาจกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน
นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า เนื้อหาในบางมาตราของ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯ เช่น มาตรา 61 อาจทำให้เกิดการตีความการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อว่าเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ในลักษณะจูงใจผู้มีสิทธิ์ออกเสียงในทางใดทางหนึ่ง ทางองค์กรสื่อจึงขอให้ทาง กกต.ให้หลักประกันที่ชัดเจนกับสื่อมวลชนว่าจะได้รับการคุ้มครองขณะรายงานข่าวเกี่ยวกับการทำประชามติโดยไม่ถูกขัดขวางหรือถูกดำเนินคดี และเสนอให้มีตัวแทนสื่อร่วมแสดงความเห็นในการวางหลักเกณฑ์และข้อปฏิบัติในการรายงานข่าวการประชามติร่วมกับกกต.ด้วย

นายวันชัยระบุว่านายประวิช รัตนเพียร ตัวแทน กกต.ผู้รับหนังสือจากองค์กรสื่อ จะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับประธาน กกต. และนายประวิชระบุว่า พ.ร.บ.ประชามติฯ เป็นกฎหมายอาญา การดำเนินคดีเอาผิดต่อผู้ถูกกล่าวหาว่าละเมิด พ.ร.บ.จึงอยู่นอกเหนืออำนาจของ กกต. แม้ กกต.จะมองว่าการเคลื่อนไหวรณรงค์หรือการแสดงความคิดเห็นเรื่องประชามติร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนเป็นเรื่องที่กระทำได้ แต่หากมีผู้ใช้ พ.ร.บ.นี้ในการฟ้องร้องบุคคลใด ก็จะต้องขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของตำรวจและศาล

วันเดียวกัน กลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย นำโดย น.ส.นฤมล ทับจุมพล นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ นายโคทม อารียา นายสุนัย เศรษฐ์บุญสร้าง นายไพโรจน์ พลเพชร และผู้ร่วมลงชื่ออีกกว่า 100 คน รวมถึงองค์กรร่วมลงนามสนับสนุนอีก 4 องค์กร ร่วมกันออกแถลงการณ์ว่าการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส สุจริต และเที่ยงธรรมในทุกขั้นตอน เปิดให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนและถกแถลงด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน โดยเฉพาะการมีพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยสำหรับทุกฝ่ายในการแสดงความเห็นตามกรอบของกฎหมาย

ด้านขบวนการประชาธิปไตยใหม่โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่าเจ้าหน้าที่ได้เชิญตัว น.ส.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหิดล ไปสน.ปทุมวัน หลังแจกเอกสารรณรงค์ให้ไม่รับร่าง รธน. ขณะที่เว็บไซต์ประชาไทรายงานว่าในตอนแรกตำรวจระบุว่าต้องการเรียกตัว น.ส.เบญจรัตน์ไปพูดคุย แต่เมื่อผู้สื่อข่าวและผู้ร่วมงานเข้าไปดูเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเปลี่ยนจากการขอเชิญตัว น.ส.เบญจรัตน์เป็นขอนามบัตรแทน เพื่อที่จะติดต่อเพื่อเรียกไปคุยวันอื่น


ไม่มีความคิดเห็น: