PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2557

ปะทะความคิด 2 ขั้ว "เอกชัย-สมบัติ" ศาลรัฐธรรมนูญกัการ"เลื่อนเลือกตั้ง"


Prev
1 of 3
Next
คลิกภาพเพื่อขยาย
updated: 22 ม.ค. 2557 เวลา 19:42:34 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
หมายเหตุ:หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ยื่นหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 22 มกราคม เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 214 ใน 2 ประเด็น คือ 1) หน่วยงานใดมีอำนาจในการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง และ 2) กรณีมีเหตุจำเป็นสามารถกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้หรือไม่


เนื่องมาจาก กกต. และ คณะรัฐมนตรี ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชกฤษฎีกา มีความเห็นขัดแย้งกัน ซึ่ง กกต.ให้เหตุผลตามกฎหมายว่า นายกรัฐมนตรีมีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการนำความขึ้นกราบบังคมทูลให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่และมีหน้าที่ในการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว

ทั้งนี้รัฐธรรมนูญมาตรา 214 ระบุถึงกรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่าง 2 องค์กรขึ้นไป

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ได้พูดคุย 2 มุมมองวิชาการต่อประเด็นดังกล่าว



นายเอกชัย ไชยนุวัติ 
รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.สยาม และ โฆษกสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ให้ความเห็นว่า อันที่จริงแล้ว การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยของ กกต. ครั้งนี้ ไม่เข้าข่าย มาตรา 214 เลย เนื่องจาก มาตรา 214 กล่าวถึง "ความขัดแย้ง" หรือถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้านคือ "ทะเลาะ" กัน กรณีนี้ ระหว่าง 2 องค์กร คือ รัฐบาล และ กกต. ไม่ได้ขัดแย้งหรือแย่งกันมีอำนาจในการเลื่อนเลือกตั้ง อีกกรณีคือ ไม่ได้ขัดแย้งกันว่า อีกฝ่ายมีอำนาจในการเลื่อนเลือกตั้งแต่ตนไม่มี

เพราะข้อเท็จจริงคือ ทั้งรัฐบาลและ กกต. ไม่มีอำนาจใดๆ ในการเลื่อนเลือกตั้งเลย  และในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ก็ไม่ได้ให้อำนาจใครให้การเลื่อนเลือกตั้ง ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอำนาจรับคำร้องหรือวินิจฉัยในกรณีนี้ และคู่กรณีก็ไม่ได้ "ขัดแย้ง" หรือ "ทะเลาะ" กันแต่แรกด้วย

"ข้อเรียกร้องของ กกต.ไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่ยึดหลักการ เพราะไม่ว่า นักกฎหมาย นักการเมือง หรือนักวิชาการคนใดๆ ก็หาไม่เจอว่า รัฐธรรมนูญมาตราใดที่เสนอให้มีการเลื่อนเลือกตั้งได้" นายเอกชัยระบุ

นายเอกชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า คาดว่ามีความเป็นไปได้ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องไว้วินิจฉัย อย่างไรก็ตาม หากศาลวินิจฉัยให้เลื่อนเลือกตั้งได้ ก็จะเป็นวิกฤตการเลือกตั้งของไทย

"ผมว่าถ้าศาลมาดูสถานการณ์ ก็จะเห็นว่า มีหน่วยเลือกตั้งพร้อมจำนวน 92.5% นั่นแปลว่า ประชาชนต้องการจะเลือกตั้ง มีเพียง 7.5% ที่ไม่พร้อม แต่ก็ต้องมาดูเหตุผลด้วยว่า เพราะอะไร เพราะผู้สมัครไปสมัครไม่ได้ เพราะโดนปิดกั้นหรือไม่"

"ในสถานการณ์การเมืองที่วุ่นวายเช่นนี้ มีทางออกให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตาม 3 ข้อ คือ 1. ให้สิทธิคนเท่ากัน นั่นคือ ต้องมีการเลือกตั้ง 2. เคารพและยึดกติการ่วมกันทุกๆ ฝ่าย และ 3. กรรมการผู้ดูแลกติกาต้องไม่ละเมิดกติกาเสียเอง แต่ถึงยังไง ถ้าปล่อยให้ไม่มีเลือกตั้ง ทางออกข้อที่ 1 ที่ผมเสนอ สังคมไทยก็ทำไม่ได้แล้ว" นายเอกชัยกล่าว

อ.เอกชัย กล่าวปิดท้ายว่า การเลือกตั้งต้องมีเพราะเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย แต่ส่วนตัวเชื่อว่า อาจไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในอนาคต



ด้าน นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และคณะทำงานกลุ่มกปปส. ให้สัมภาษณ์ว่า กกต. สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 214 ได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้ หรือส่งกลับหรือไม่นั้น ต้องรอดู

นายสมบัติ กล่าวว่า หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นก็ไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้อยู่ดี เพราะ กกต. จะไม่สามารถประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ได้ครบ 95% ได้ภายใน 30 วัน  และหากรัฐบาลดันทุรังให้เกิดการเลือกตั้งขึ้น ก็คาดว่า ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชาชน จะเข้ามาเป็นรัฐบาล เท่ากับว่าจะไม่มีพรรคฝ่ายค้านเลย พรรคเหล่านี้เกาะกลุ่มกันอยู่กับพรรคเพื่อไทย ทำให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้เป็น "เผด็จการจากการเลือกตั้ง"

"อย่าเข้าใจว่า เลือกตั้งเป็นประชาธิปไตย เพราะมีหลักฐานให้เห็นแล้วว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อทักษิณ ที่จริงสภาต้องเป็นตัวแทนใช้อำนาจที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่นี่เป็นสภาหุ่นเชิด"

"จะเห็นเลยว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ หมายเลข 1 คือ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งต้องขึ้นมาเป็นผู้นำอีกถ้าได้รับเลือกตั้ง วิญญูชนที่คิดเป็น ต้องมองเห็นแล้วว่าเลือกตั้งแล้วจะมีอะไรรออยู่ จะวุ่นวายหรือไม่ ยิ่งเมื่อรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ทำให้กระทบท่องเที่ยวมากกว่าเดิม ชัดเจนว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลเบ็ดเสร็จที่ไม่ได้สนใจเรื่องอื่น นอกจากชัยชนะของตน"

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีนักวิชาการจำนวนหนึ่งเห็นว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องและวินิจฉัยกรณีเลื่อนเลือกตั้ง อาจเข้าข่ายสถานการณ์ที่อาจจะเป็นรัฐประหารเงียบ หรือไม่

นายสมบัติ กล่าวว่า ตนไม่มีความเห็นถึงนักวิชาการเหล่านี้ นักวิชาการเหล่านี้รู้ถูกผิด รู้ทุกอย่าง แต่เขาพูดอย่างนี้ไม่ใช่เพราะไม่เข้าใจ หรือไม่ใช้เหตุผล แต่เป็นเพราะมีวาระซ่อนเร้น นักวิชาการที่บอกให้เดินหน้าเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธุ์มีวาระซ่อนเร้น

ทั้งนี้ นายสมบัติ เสนอทางออกต่อสถานการณ์ในขณะนี้ว่า ในฐานะนักรัฐศาสตร์ ขอเสนอให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงจากตำแหน่ง เพราะไม่มีผู้นำประเทศที่ดีคนใด จะปกครองประเทศในภาวะที่สังคมแตกแยก ต้องให้คนอื่นมาทำหน้าที่แทน ในประวัติศาสตร์นั้น ภาวะเช่นนี้อาจรุนแรงถึงขนาดแบ่งประเทศได้เลย

เมื่อถามต่อว่า เห็นด้วยหรือไม่กับการเลื่อนเลือกตั้ง นายสมบัติ เห็นว่า ถ้าเป็นคนที่คิดถึงประโยชน์ของชาติ ก็ต้องเห็นว่าเลือกตั้งแล้วจะเป็นเช่นไร การเลือกตั้งในสถานการณ์นี้ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติเลย

ไม่มีความคิดเห็น: