PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

พระราชลัญจกร โดย รองศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ

พระราชลัญจกร โดย รองศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ
          ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีพระราชประเพณีว่า พราหมณ์จะต้องถวาย พระสุพรรณบัฏเฉลิมพระปรมาภิไธยก่อนถวายเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์อื่นๆ และจะเชิญดวงพระบรมราชสมภพ  และพระราชลัญจกรประจำรัชกาล  ขึ้นประดิษฐานบนมณฑลพระราชพิธีดังนั้น  ก่อนเริ่มการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงมีหมายกำหนดการให้มีพระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ  ดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกร  ณ  พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามก่อน พิธีนี้จะต้องกำหนดมงคลฤกษ์เมื่อโหรกำหนดพระฤกษ์วันใดแล้ว ในตอนเย็นก่อนถึงวันพระฤกษ์ พระสงฆ์จะเจริญพระพุทธมนต์โหรสวดบูชาเทวดา รุ่งขึ้นจึงจะประกอบการพระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ ฯลฯ

          พระราชลัญจกร  คือ ตราหรือเครื่องหมายรูปสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นสำหรับใช้ตี หรือประทับ หรือปิดผนึกบนเอกสาร  ทั้งที่เป็นเอกสารทางราชการ  หรือเอกสารส่วนพระองค์  จำแนกตามรูปแบบและหลักการใช้ได้หลายองค์ และหลายประเภท ตามโบราณราชประเพณีถือว่าพระราชลัญจกรเป็นเครื่องมงคลอย่างหนึ่งในหมวดพระราชสิริ  ประกอบด้วย  พระสุพรรณบัฏปรมาภิไธยดวงพระบรมราชสมภพ  และพระราชลัญจกรประจำรัชกาล  อันได้แก่  พระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน  และพระราชลัญจกรประจำพระองค์ที่สร้างขึ้นในแต่ละรัชกาล  ดังนั้น  พระราชลัญจกรจึงเป็นเครื่องหมายอย่างหนึ่งที่แสดงถึงพระราชอิสริยยศ  พระเกียรติยศ  และพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์  และยังเป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติภูมิของชาติด้วย

          ชาติไทยมีวัฒนธรรมในการใช้ลัญจกร หรือตรามานานแล้ว  อย่างน้อยก็มีหลักฐานชัดเจนว่า เคยใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยามาแล้วเดิมอาจเริ่มใช้ในวงการชนชั้นสูง เช่น  พระมหากษัตริย์ จากนั้นก็ขยายวงออกไปถึงพระบรมวงศานุวงศ์  ข้าราชการ  พ่อค้า  ประชาชนเพราะเดิมเอกสารต่างๆ ไม่ได้ลงนามผู้เขียน แต่ใช้ตราประจำตัว หรือตราประจำตำแหน่งแทนการลงลายมือชื่อ  ดังปรากฏในกฎหมายลักษณะ  พระธรรมนูญ ว่าด้วยการใช้ตราประจำตำแหน่งข้าราชการ  ซึ่งบัญญัติขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๑๗๙ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และพระราชลัญจกร ซึ่งใช้ในราชการแผ่นดินนั้นก็มีหลายองค์tเละมีระเบียบแบบแผ่นในการใช้สืบต่อกันมายาวนานเช่นกัน จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ก็ได้ทรงบัญญัติวิธีการใช้ลัญจกรหรือตราให้เป็นแบบแผนมั่นคงขึ้น  เช่น  มีพระบรมราชโองการประกาศให้ราษฎรลงลายมือชื่อ  หรือประทับตราประจำตำแหน่ง  หรือลงลายมือชื่อกำกับการประทับตราในเอกสารหรือหนังสือต่างๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกสารที่เป็นสัญญา ฎีกาและหนังสือคดีความต่างๆ  ต่อมา  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ตราพระราชบัญญัติใช้ตราแผ่นดินรัตนโกสินทร์ศก ๑๐๘  (พุทธศักราช ๒๔๓๒) กำหนดกฎเกณฑ์การใช้พระราลัญจกรทั้งภาครัฐและเอกชน ให้เป็นแบบแผนเหมาะสมกับภาวการณ์ของประเทศมากขึ้น  และมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นมาอีกหลายฉบับ

          การประทับพระราชลัญจกรในรัชกาลปัจจุบัน
          พระราชลัญจกรมีอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมากหลายองค์ได้ใช้สืบเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  ในรัชกาลปัจจุบันจึงได้พิจารณาให้ใช้เฉพาะบางองค์เพื่อให้เหมาะสมกับกาลสมัย ส่วนวิธีการใช้ประทับในเอกสารสำคัญต่างๆ  ได้อิงพระราชบัญญัติ พระราชลัญจกรรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๒  ซึ่งตราขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  และพระราชบัญญัติ  พระราชลัญจกรรัตนโกสินทร์ศก ๑๓๐ ซึ่งตราขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประกอบกับประเพณีปฏิบัติที่สืบเนื่องกันมา  พระราชลัญจกรที่ใช้ประทับเอกสารสำคัญในรัชกาลปัจจุบัน อาจแบ่งเป็น ๓ หมวด รวม ๗  องค์ด้วยกันคือ


พระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏฯ


แผ่นพระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธย

[ดูภาพทั้งหมดในหมวด]


หัวข้อ

พระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน
          พระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน  ได้แก่  พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประจำรัชกาล  และพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดิน  คือ พระราชลัญจกรที่ใช้สืบเนื่องมาจากรัชกาลก่อนๆ  ได้แก่  พระราชลัญจกรมหาโองการ  พระราชลัญจกรหงสพิมาน  พระราชลัญจกรไอยราพต  (องค์ใหญ่)  พระราชลัญจกรไอยราพต  (องค์กลาง)  และพระราชลัญจกรพระบรมราชโองการ ซึ่งจะขอกล่าวถึงพระราชลัญจกรแต่ละองค์ตามสมควร

[กลับหัวข้อหลัก]

พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประจำรัชกาล

พระราชลัญจกรประจำพระองค์
          พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์มีพระราชลัญจกรเป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์ต่างกัน  ดังปรากฏในเงินพดด้วง  หรือปกคัมภีร์พระไตรปิฎก หรือถาวรวัตถุที่สร้างขึ้นในรัชกาล  เช่น  ที่หน้าบันพระอุโบสถ  พระวิหาร  พระราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ดังกล่าว ได้แก่
           พระราชสัญลักษณ์ประจารัชกาลที่  ๑  เป็นรูปปทุมอุณาโลม  มีอักขระ “อุ”  หรือเลข  ๙  ไทยกลับข้างอยู่กลาง  ล้อมรอบด้วยกลีบบัว  ทั้งนี้เพราะรูปพระอุณาโลมคล้ายกับพระมหาสังข์ของเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ทรงได้มา  และโปรดพระมหาสังข์องค์นี้มาก

          พระราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่  ๒  เป็นรูปครุฑยุดนาค  สืบเนื่องมาจากพระบรมนามาภิไธยเดิม  “ฉิม”  อันตรงกับฉิมพลีที่เป็นวิมานของครุฑในป่าหิมพานต์

          พระราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่  ๓  เป็นรูปปราสาท  มาจากพระบรมนามาภิไธยเดิม  “ทับ”  ที่แปลว่า  เรือนที่อยู่

          พระราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่  ๔  เป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎ  มาจากพระบรมนามาภิไธยเดิม  “เจ้าฟ้ามงกุฎ”

          พระราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่  ๕  เป็นรูปพระเกี้ยว  หรือจุลมงกุฎ  คือยอดของมงกุฎมาจากพระบรมนามาภิไธยเดิม  “เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์” จุฬาลงกรณ์ แปลว่า เครื่องประดับผม  (จุก)  ดังนั้น คำว่า  “พระเกี้ยว-จุฬาลงกรณ์-จุลจอมเกล้าจึงมีความหมายเหมือนกัน

          พระราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่  ๖  เป็นรูปวชิราวุธ  มาจากพระบรมนามาภิไธยเดิมเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ

          พระราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่  ๗  เป็นรูปพระแสงศร  ๓  องค์  คือ  พระแสงศรพรหมาสตร์  พระแสงศรประลัยวาต และพระแสงศรอัคนิวาต  สืบเนื่องมาจากพระบรมนามาภิไธยเดิม  “เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์”  “เดชน์”  แปลว่า ลูกศร

          พระราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่  ๘  เป็นรูปพระโพธิสัตว์ประทับบนบัลลังก์ดอกบัว  ห้อยพระบาทขวาเหนือบัวบาน   ซึ่งหมายถึงแผ่นดินพระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวตูม  มีเรือนแก้วด้านหลังแทนรัศมี  สืบเนื่องมาจากพระบรมนามาภิไธย  “อานันทมหิดล”  แปลว่า  เป็นที่ยินดีของแผ่นดินดุจพระโพธิสัตว์ได้เสด็จมาประทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ทวยราษฎร์

          พระราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่  ๙  เป็นรูปพระที่นั่งอัฐทิศ  ประกอบด้วยวงจักร  กลางวงจักรมีอักขระเป็น  “อุ”  หรือเลข  ๙  รอบวงจักรมีรัศมีเปล่งออกโดยรอบ  เหนือจักรเป็นรูปเศวตฉัตร  ๗   ชั้น  ตั้งบนพระที่นั่งอัฐทิศที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  รวมความหมายถึง  ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่  ๙  สืบเนื่องมาจากพระบรมนามาภิไธย “ภูมิพล”  คือทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เป็นกำลังของแผ่นดิน

         พระราชลัญจกรประจำพระองค์ในรัชกาลปัจจุบันเป็นตรางา  มีลักษณะเป็นรูปไข่  ขนาดกว้าง  ๕  เซนติเมตร ยาว ๖.๒  เซนติเมตร  รวมด้ามสูง  ๙.๔  เซนติเมตร  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้สำนักพระราชวังจัดสร้างขึ้น สำหรับใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในเอกสารสำคัญส่วนพระองค์เช่น  ประกาศนียบัตรกำกับเหรียญรัตนาภรณ์ โดยโปรดเกล้าฯ ให้เชิญเข้าร่วมในการพระราชพิธีฉัตรมงคล  พุทธศักราช  ๒๔๙๖  และเชิญใช้ประทับตั้งแต่นั้นมา



[กลับหัวข้อหลัก]

พระราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ ๙


พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๙


พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๙

พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประจำรัชกาล
          พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์เป็นพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินคือ  พระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ทรงใช้สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ  มีทั้งพระราชลัญจกรประจำชาดและประจำครั่ง  สำหรับผนึกพระราชสาส์นและหนังสือสัญญากับต่างประเทศต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะใช้พระราชลัญจกรองค์นี้เป็นพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน คือประจำรัชกาล เพื่อประทับกำกับพระปรมาภิไธย  จึงโปรดเกล้าฯ  ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ทรงออกแบบเขียนลายใหม่ทั้งนี้  ทรงพระราชดำริว่า  เพื่อให้สมกับชื่อ  “พระครุฑพ่าห์” จึงไม่ควรมีพระนารายณ์ให้มีแต่ครุฑสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์ดังกล่าวได้ทรงออกแบบลายใหม่ให้มีแต่ครุฑ  ไม่มีนาคประกอบ  เพราะมีพระดำริว่า  ครุฑไปไหนก็ต้องหิ้วนาคซึ่งเป็นอาหารไปด้วย  ดูเป็นการตะกลามไป  จึงทรงเขียนให้ครุฑกางมือ และทำท่ารำแบบครุฑนารายณ์ทรงของเขมร ซึ่งเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

           ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระองค์มีพระราชดำริว่าสมควรใช้พระราชลัญจกรพระครุฑ พ่าห์เป็นพระราชลัญจกรประจำแผ่นดินของทุกรัชกาลสืบไปจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงใหม่  โดยเพียงแต่เติมพระปรมาภิไธยของรัชกาลปัจจุบันแต่ละรัชกาลไว้ที่ขอบนอก  จึงได้ถือปฏิบัติเป็นพระราชประเพณีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน  พระราชลัญจกรประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ได้สร้างขึ้นเมื่อวันที่  ๒๑  เมษายนพุทธศักราช  ๒๔๙๓ ดังได้กล่าวมาแล้ว  และได้เชิญออกมาใช้ประทับเอกสารสำคัญของทางราชการตลอดมาเป็นเวลาถึง  ๔๕  ปี  และเอกสารในระยะหลัง  ก็มีจำนวนมากถึงประมาณปีละ  ๒๕๐,๐๐๐  ฉบับ  พระราชลัญจกรองค์นี้จึงมีสภาพชำรุดตามระยะเวลาของการใช้  ดังนั้น  สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่รักษาพระราชลัญจกร  จึงได้ดำเนินการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ขึ้นใหม่อีกองค์หนึ่ง  ทำด้วยทองคำเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก  พุทธศักราช  ๒๕๓๙  โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ประกอบการพระราชพิธีจารึกพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์เป็นทองคำเมื่อวันที่  ๒๗  เมษายน  พุทธศักราช  ๒๕๓๘  ณ  พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  พระราชลัญจกรองค์ใหม่นี้สร้างด้วยทองคำหนัก  ๑,๑๐๐ กรัม  เส้นผ่าศูนย์กลาง  ๘.๔   เซนติเมตร  สูง  ๑๓.๔  เซนติเมตร มีลวดลายเช่นเดียวกับพระราชลัญจกรองค์เดิมที่เป็นตรางาทุกประการ

          พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์  ใช้ประทับร่วมกับพระราชลัญจกรองค์อื่น  สำหรับกำกับพระปรมาภิไธยในเอกสารสำคัญอันเป็นราชการแผ่นดินทั้งปวงในรัชสมัย  ได้แก่  รัฐธรรมนูญพระราชบัญญัติ  พระราชกฤษฎีกา  พระราชกำหนดประกาศประจำพระองค์สมเด็จพระสังฆราช  ประกาศประจำองค์สมเด็จพระราชาคณะ และรองสมเด็จพระราชาคณะ สัญญาบัตรสมณศักดิ์สัญญาบัตรยศทหาร  ตำรวจ อาสารักษาดินแดนส่วนประกาศพระบรมราชโองการต่างๆ ที่ใช้พระราชลัญจกรองค์นี้องค์เดียวประทับบนเอกสารสำคัญ  เช่น  ประกาศนียบัตรกำกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชนิด

[กลับหัวข้อหลัก]

พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ทองคำ ประจำพระองค์รัชกาลปัจจุบัน


เอกสารสำคัญซึ่งใช้พระราชลัญจกรพระคุรฑพ่าห์ประทับร่วมกับพระราชลัญจกรองค์อื่น

พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดิน
           พระราชลัญจกรที่ใช้ทุกรัชกาล  เพื่อประทับกำกับเอกสารที่ออกในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์  และยังคงใช้ในปัจจุบันมี  ๕  องค์  ได้แก่

           พระราชลัญจกรมหาโองการ หรือมหาอุณาโลม เป็นพระราชลัญจกรที่มีมาแต่โบราณเป็นตราประจำชาดสำหรับประทับพระราชสาส์นและใบกำกับพระสุพรรณบัฏ  พระราชโองการแต่งตั้งเจ้าประเทศราช  มีเส้นผ่าศูนย์กลาง  ๗.๘  เซนติเมตร  สูง  ๑๓.๕  เซนติเมตร  ลายในดวงตราเป็นรูปบุษบกมีเกริน  บนเกรินตั้งฉัตรขนาบบุษบกทั้งสองข้าง  ในบุษบกมีรูปอุณาโลมอยู่เบื้องบน  ใต้นั้นมีรูปวงกลม  ใต้วงกลมเป็นรูปพาลจันทร์  ใต้พาลจันทร์เป็นตัว“ อุ” อักษรขอม

           พระราชลัญจกรมหาโองการใช้ประทับร่วมกับพระราชลัญจกรไอยราพตองค์ใหญ่  และพระราชลัญจกรหงสพิมาน  เรียงจากซ้ายไปขวาตามลำดับ และมีพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประจำรัชกาลอยู่เบื้องล่าง  เอกสารสำคัญที่ต้องประทับพระราชลัญจกรทั้ง  ๔  องค์ร่วมกัน  เช่น  รัฐธรรมนูญ  พระราชบัญญัติ  พระราชกำหนดพระราชกฤษฎีกา  ใบกำกับพระสุพรรณบัฏ  สุพรรณบัฏ  หิรัญบัฏ  ประกาศพระบรมราชโองการต่างๆ  เช่น  ประกาศสถาปนาพระราชวงศ์  ประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี

          พระราชลัญจกรไอยราพตองค์ใหญ่และองค์กลาง  เป็นตราเก่ามีทั้งที่เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ  และมีแต่ช้าง  ใช้ประทับบนพระราชสาส์นและประกาศแต่งตั้งเจ้านายทรงกรมครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระองค์โปรดเกล้าฯ  ให้สร้างพระราชลัญจกรไอยราพตองค์ใหม่เป็นตราประจำชาด  ๓  องค์  คือ  องค์ใหญ่  องค์กลาง  และองค์น้อย  องค์ใหญ่เป็นรูปกลม  สร้างด้วยโลหะสีเงิน  ลายตรงกลางเป็นรูปช้างสามเศียรยืนบนแท่น  บนหลังช้างมีบุษบก  ในบุษบกมีอุณาโลมแวดล้อมด้วยฉัตรข้างละ  ๒  คัน และมีลายกระหนกแทรกอยู่ตามที่ว่างขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง  ๑๑  เซนติเมตร  รวมด้ามสูง  ๑๙.๘  เซนติเมตร  องค์กลางเป็นรูปกลมรีตั้งทำด้วยหินโมราสีน้ำผึ้ง  แกะทั้งสองด้านด้านหน้ามีลายตรงกลางเช่นเดียวกับองค์ใหญ่ด้านหลังเป็นภาษาละตินแปลว่า  “นี้คือพระบรมราชโองการที่แท้จริงแห่งพระบรมมหากษัตริย์แห่งกรุงสยาม  และจ้าแห่งประเทศราชทั้งปวง”  มีขนาดกว้าง  ๔.๔  เซนติเมตร  ยาว  ๕.๕  เซนติเมตร  รวมด้ามสูง  ๑๐.๑  เซนติเมตร  ตามพระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก  ๑๓๐  มาตรา ๔  กำหนดให้พระราชลัญจกรไอยราพตประจำชาดองค์ใหญ่  สำหรับประทับในประกาศใหญ่อยู่ในระหว่างกลางพระราชลัญจกรมหาโองการ และพระราชลัญจกรหงสพิมาน องค์กลางสำหรับประทับในประกาศพระราชบัญญัติ ใบกำกับสุพรรณบัฏหิรัญบัฏ และประกาศนียบัตรกำกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ นพรัตนราชวราภรณ์ส่วนองค์น้อยสร้างด้วยทองคำรูปกลมรี  มีขนาดย่อมลงมา  ด้ามทำด้วยแก้วขาว  ปัจจุบันพ้นสมัยการใช้ประทับแล้ว และเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์สำนักพระราชวัง

           พระราชลัญจกรหงสพิมาน  เป็นพระราชลัญจกรที่มีใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณเรียกว่า พระราชลัญจกรพรหมทรงหงส์  มี  ๓  องค์  คือ องคใหญ่  องค์กลาง  องค์น้อย  ต่อมาพระบาทสมเด็จ  พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ทรงออกแบบพระราชลัญจกรหงสพิมาน  ในคราวที่ทรงสร้างพระราชลัญจกรมหาโองการกลางและพระครุฑพ่าห์กลาง  เพื่อให้ครบพระเป็นเจ้าทั้งสาม  แต่มาสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  โดยมีลายเป็นรูปหงส์อยู่เหนือกอบัว  มีบุษบกอยู่บนหลังและมีลายเมฆแทรกประกอบ  เป็นตรางารูปไข่  กว้าง  ๔.๖  เซนติเมตร  ยาว ๕.๖  เซนติเมตร  รวมด้ามสูง  ๙.๔  เซนติเมตร  ใช้ประทับเบื้องขวาของพระราชลัญจกรไอยราพต

          พระราชลัญจกรพระบรมราชโองการ เป็นพระราชลัญจกรที่เคยมีใช้มาตั้งแต่โบราณ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระราชลัญจกรองค์ใหม่แทนองค์เดิม  และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนเป็นรูปกลมรี ไต้ใช้สืบต่อกันมาจนถึงพุทธศักราช  ๒๔๘๓  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล จึงโปรดให้เปลี่ยนรูปแบบพระราชลัญจกรพระบรมราชโองการเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง  กว้าง  ๔.๗  เซนติเมตร  ยาว  ๕.๗  เซนติเมตร  สูง ๘.๔  เซนติเมตร  ลายตรงกลางเป็นรูปพระมหาเศวตฉัตร พระมหาพิชัยมงกุฎ   จักร  ตรี  พระขรรค์  ธารพระกรวาลวิชนี  พระมหาสังวาลนพรัตน์  ฉลองพระบาทและเปลี่ยนอักษรขอมเป็นอักษรไทยว่า  “พระบรมราชโองการ”  ยังคงใช้ประทับบนเอกสารสำคัญ  ได้แก่  สัญญาบัตรยศทหาร  ตำรวจและอาสารักษาดินแดน

          นอกจากนั้นยังมีตราพระบรมราชโองการเป็นตราดุนกระดาษตีพิมพ์อยู่เหนือประกาศพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกาต่างๆ  ดังที่ปรากฏในหนังสือราชกิจจานุเบกษา  หรือใบประกาศพระบรมราชโองการต่างๆ 

          พระราชลัญจกรประจำพระองค์เก็บรักษาไว้ที่สำนักราชเลขาธิการ  ส่วนพระราชลัญจกรองค์อื่นที่ยังใช้ในรัชกาลปัจจุบัน ได้เก็บรักษาไว้ที่กองประกาศิต สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีการใช้พระราชลัญจกรประทับในเอกสารสำคัญต่างๆ  จึงมีความสำคัญ หมายถึงการสืบต่อราชประเพณีที่มีมานานแล้ว เป็นหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งในทางประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมของชาติ ที่สมควรรักษาไว้ชั่วกาลนาน

[กลับหัวข้อหลัก]

ประกาศพระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสสราชนครินทร์ โดยมีการประทับพระราชลัญจกรมหาโองการ


พระราชลัญจกรพระบรมราชโองการองค์เดิม ที่เป็นอักษรขอม


พระราชลัญจกรพระบรมราชโองการองค์ปัจจุบัน


พระราชลัญจกรไอยราพต (องค์กลาง)



บรรณานุกรม
• รองศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ

[กลับหัวข้อหลัก]

ที่มา : sanook.com

ไม่มีความคิดเห็น: