PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ดร.ปรีดี พนมยงค์

ศาสตราจารย์[1]ดร.ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 — 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526) เป็นผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของ

สยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย[2] เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ของประเทศไทย 3 สมัย[3] และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ อีกหลายสมัย เป็นผู้ก่อตั้งและผู้ประศาสน์การเพียงคนเดียวของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง[4] และเป็นผู้ก่อตั้ง

ธนาคารชาติไทย (ปัจจุบัน คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย)[5]

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ปรีดีเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยต่อต้านกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม[6][7][8] นอกจากนี้เขายังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จ

ราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ 8[9] และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องในฐานะ "รัฐบุรุษอาวุโส"[10]

ปรีดีต้องยุติบทบาททางการเมืองหลังเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลสวรรคต โดยถูกกล่าวหาจากพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว[11]

ต่อมาเกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 เป็นเหตุให้เขาต้องลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศจีนและฝรั่งเศสรวมระยะเวลากว่า 30 ปี และไม่ได้กลับสู่ประเทศไทยอีกเลยจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม[12]เมื่อวันที่

2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526[13][14][15]

ระหว่างที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ปรีดีได้ดำเนินการฟ้องร้องผู้ใส่ความหมิ่นประมาทต่อศาลยุติธรรม ผลปรากฏว่าศาลตัดสินให้ชนะทุกคดี และยังได้รับความรับรองจากทางราชการตลอดจนเงิน

บำนาญและหนังสือเดินทางของไทย[16][17]

ในปี พ.ศ. 2542 ที่ประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 30 ขององค์การยูเนสโก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้มีมติประกาศให้ ปรีดี พนมยงค์ เป็น "บุคคลสำคัญของโลก" และได้ร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบ

รอบ 100 ปี ชาตกาลของเขา ระหว่าง พ.ศ. 2543 - พ.ศ. 2544[18] นอกจากนี้นิตยสารเอเชียวีกยังได้เสนอชื่อของเขาเข้าชิงตำแหน่ง "Asian Of The Century" อีกด้วย[19]

ประวัติ[แก้]
ปรีดี พนมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 ณ เรือนแพหน้าวัดพนมยงค์ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในครอบครัวชาวนาไทย เป็นบุตรคนที่ 2 จากจำนวนพี่น้อง

6 คน ของนายเสียง และนางลูกจันทน์ พนมยงค์[20]

บรรพบุรุษของปรีดีตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้วัดพนมยงค์มาเป็นเวลาช้านาน โดยที่บรรพบุรุษข้างบิดานั้นสืบเชื้อสายมาจากพระนมในสมัยอาณาจักรอยุธยา ชื่อ "ประยงค์"[21] พระนมประยงค์เป็นผู้สร้างวัด

ในที่สวนของตัวเอง โดยตั้งชื่อวัดตามผู้สร้างว่า วัดพระนมยงค์ หรือ วัดพนมยงค์ กาลเวลาล่วงเลยมาจนเมื่อมีการประกาศพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ. 2456 ทายาทจึงได้ใช้นามสกุลว่า "

พนมยงค์"[22] และได้อุปถัมภ์วัดนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน[23]

บรรพบุรุษรุ่นปู่-ย่าของปรีดีประกอบกิจการค้าขายมีฐานะเป็นคหบดีใหญ่[24][25] แต่นายเสียงบิดาของปรีดีเป็นคนชอบชีวิตอิสระไม่ชอบประกอบอาชีพค้าขายเจริญรอยตามบรรพบุรุษ จึงหันไปยึด

อาชีพกสิกรรม เริ่มต้นด้วยการทำป่าไม้ และต่อมาได้ไปบุกเบิกถางพงร้างเพื่อจับจองที่ทำนาบริเวณทุ่งหลวง อำเภอวังน้อย[26] แต่ก็ต้องประสบกับปัญหาภัยธรรมชาติ โขลงช้างป่า และแมลงที่

มารบกวนทำลายต้นข้าวทำให้ผลผลิตออกมาไม่ดี ไม่สามารถขายข้าวได้ ซ้ำร้ายรัฐบาลได้ให้สัมปทานบริษัทขุดคลองแห่งหนึ่งขุดคลองผ่านที่ดินของนายเสียงและยังเรียกเก็บค่าขุดคลอง (ดูประวัติ

คลองรังสิต)[27] ซึ่งบิดาของปรีดีต้องกู้เงินมาจ่ายเป็นค่ากรอกนาในอัตราไร่ละ 4 บาท แลกกับการได้ครอบครองที่ดินที่จับจองไว้จำนวน 200 ไร่ ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวย่ำแย่ลงไป

อีก ต้องอดทนเป็นหนี้สินอยู่หลายปี[28] เหตุการณ์ครั้งนั้นยังทำให้ราษฎรผู้บุกเบิกจับจองที่ดินมาก่อนต้องสูญเสียที่ดินไปเป็นจำนวนมากและกลายเป็นชาวนาผู้เช่าที่ในที่สุด[29][30]

จากการเติบโตในครอบครัวชาวนานี้เอง ปรีดีจึงได้สัมผัสรับรู้เป็นอย่างดีถึงสภาพความเป็นอยู่และความทุกข์ยากของชนชั้นชาวนาทั้งหลายที่ฝากชีวิตไว้กับความไม่แน่นอนของดินฟ้าอากาศ ราคา

พืชผลในตลาด และดอกเบี้ยของนายทุน นอกจากนี้ยังต้องพบกับการถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าที่ดินศักดินาที่กระทำผ่านการเก็บภาษีและการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ประสบการณ์เหล่านี้เป็น

แรงกระตุ้นให้ปรีดีคิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศในเวลาต่อมา[31]

ปรีดีเมื่อครั้งเยาว์วัยเป็นเด็กหัวดี ช่างคิด ช่างสังเกตวิเคราะห์ และเริ่มมีความสนใจทางการเมืองมาตั้งแต่อายุเพียง 11 ปี จากเหตุการณ์ปฏิวัติในประเทศจีนที่นำโดย ซุน ยัตเซ็น และเหตุการณ์กบฏ ร.ศ.

130 ในสยาม ซึ่งปรีดีได้แสดงความเห็นอกเห็นใจอย่างมากต่อผู้ที่ถูกลงโทษในครั้งนั้น[32]

ถึงแม้ว่าปรีดีจะเกิดในครอบครัวชาวนา แต่บิดาของเขาก็เป็นผู้ใฝ่รู้และเล็งเห็นประโยชน์ของการศึกษา จึงสนับสนุนให้บุตรได้รับการศึกษาที่ดีมาโดยตลอด[33] เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งเป็น

ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายภรรยาปรีดี ได้เคยกล่าวถึงนายเสียง พนมยงค์ ว่า


เป็นผู้สนใจในกสิกรรม และที่สนใจที่สุดคือการทำนา ดูเหมือนว่าพบกันกับข้าพเจ้าครั้งไรที่จะไม่พูดกันถึงเรื่องทำนาเป็นไม่มี แต่ถึงว่าจะฝักใฝ่ในการทำนาอยู่มากก็จริง นายเสียง พนมยงค์ มิได้

ละเลยที่จะสงเคราะห์ และให้การศึกษาแก่บุตรเลย พยายามส่งบุตรเข้าศึกษาเล่าเรียน...[34]


การศึกษา[แก้]
ปรีดีเริ่มเรียนหนังสือที่บ้านครูแสง[35] ตำบลท่าวาสุกรี และสำเร็จการศึกษาในระดับประถมที่โรงเรียนวัดศาลาปูน[36] อำเภอกรุงเก่า จากนั้นไปศึกษาชั้นมัธยมเตรียมที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจม

บพิตร[37] แล้วย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า (ปัจจุบันคือ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย)[38] จนสอบไล่ได้ชั้นมัธยม 6 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดสำหรับหัวเมือง แล้วไปศึกษาต่อที่

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย[39]

ในปี พ.ศ. 2460 เข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม และศึกษาภาษาฝรั่งเศสที่เนติบัณฑิตยสภา กับอาจารย์เลเดแกร์ (E.Ladeker) ที่ปรึกษาศาลต่างประเทศกระทรวงยุติธรรม[40] ต่อ

มาสอบไล่วิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิตได้ในขณะมีอายุ 19 ปี แต่ตามข้อบังคับสมัยนั้นยังเป็นเนติบัณฑิตไม่ได้เพราะอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ต้องรอจนอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์จึงได้เป็นสมาชิก

สามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภา[41]

ต่อมาได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงยุติธรรมให้ทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2463[42] โดยเข้าศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยกอง (Université de Caen) จนสอบไล่ได้ปริญญารัฐ

เป็น "บาเชอลิเอร์" กฎหมาย (Bachelier en Droit) และได้ปริญญารัฐเป็น "ลิซองซิเอ" กฎหมาย (Licencié en Droit) ตามลำดับ[43][44]

ปรีดีสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขานิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยปารีส ในปี พ.ศ. 2469 ด้วยคะแนนเกียรตินิยมดีมาก (Trés Bien) นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ปริญญาเอกแห่งรัฐ (Doctorat d'État)

เป็น "ดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย" (Docteur en Droit) ฝ่ายนิติศาสตร์ (Sciences Juridiques)[45] นอกจากนี้เขายังสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงในสาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง (Diplôme d'Etudes

Supérieures d'Economie Politique) อีกด้วย[46]

การสมรสและครอบครัว[แก้]
ปรีดีสมรสกับ พูนศุข ณ ป้อมเพชร์ ธิดา มหาอำมาตย์ตรี พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร) กับ คุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (สุวรรณศร) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471

[47] มีบุตร-ธิดาด้วยกันทั้งหมด 6 คน คือ

นางสาวลลิตา พนมยงค์ ป่วยเป็นโรคประสาทและศาลแพ่งประกาศให้เป็นบุคคลเสมือนไร้ความสามารถขณะที่นายปรีดีและภริยาพำนักอยู่ในประเทศฝรั่งเศส[48]
นายปาล พนมยงค์ สมรสกับ นางเลิศศรี พนมยงค์ (จตุรพฤกษ์)
นางสาวสุดา พนมยงค์
นายศุขปรีดา พนมยงค์ สมรสกับ นางจีรวรรณ พนมยงค์ (วรดิลก)
นางดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล สมรสกับ นายชาญ บุญทัศนกุล
นางวาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ สมรสกับ นายสุรพันธ์ สายประดิษฐ์
หน้าที่การงานก่อนเข้าสู่การเมือง[แก้]
เมื่อกลับถึงกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2470 ปรีดีเริ่มทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรม ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย (ปัจจุบันคือสำนักงานคณะ

กรรมการกฤษฎีกา) และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงประดิษฐ์มนูธรรม"[49]เมื่อ พ.ศ. 2471 ขณะมีอายุ 28 ปี ต่อมาใน พ.ศ. 2475 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการกรมร่างกฎหมาย[50] (ต่อมา

ได้ลาออกจากบรรดาศักดิ์พร้อมกับคณะรัฐมนตรีชุดที่ 9 ใน พ.ศ. 2485 และกลับไปใช้ชื่อเดิมคือ นายปรีดี พนมยงค์[51])

ในช่วงที่รับราชการในกระทรวงยุติธรรมนี้ ปรีดีได้รวบรวมกฎหมายไทยตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบันซึ่งอยู่ในสภาพกระจัดกระจายให้มารวมเป็นเล่มเดียว ใช้ชื่อว่า “ประชุมกฎหมายไทย” และได้รับ

การตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2473 ที่โรงพิมพ์นิติสาสน์ซึ่งเป็นกิจการส่วนตัวของเขาเอง หนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมและสร้างรายได้ให้กับปรีดีเป็นอย่างมาก[52]

นอกจากงานที่กรมร่างกฎหมายแล้ว ปรีดียังเป็นอาจารย์ผู้สอนที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ในชั้นแรกได้สอนวิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ว่าด้วยลักษณะหุ้นส่วน บริษัทและ

สมาคม ต่อมาได้สอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล ลูกศิษย์ของเขาในช่วงดังกล่าวนี้ได้แก่ สัญญา ธรรมศักดิ์ จิตติ ติงศภัทิย์ ดิเรก ชัยนาม เสริม วินิจฉัยกุล เสวต เปี่ยมพงศ์สานต์

ไพโรจน์ ชัยนาม จินดา ชัยรัตน์ โชติ สุวรรณโพธิ์ศรี และศิริ สันตะบุตร

ในปี พ.ศ. 2474 ปรีดีเป็นคนแรกที่เริ่มสอนวิชากฎหมายปกครอง (Droit Administratif)[52] กล่าวกันว่าวิชากฎหมายปกครองนี้ เป็นวิชาที่สร้างชื่อเสียงแก่ปรีดีเป็นอย่างมาก เพราะสาระของวิชานี้

เป็นส่วนหนึ่งของวิชากฎหมายมหาชน ซึ่งอธิบายถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยอันเป็นหัวใจของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่ประเทศไทยยังคงปกครองอยู่ในระบอบ

สมบูรณาญาสิทธิราชย์[53] ในขณะเดียวกัน ก็ได้อาศัยการสอนที่โรงเรียนดังกล่าว ปลุกจิตสำนึกนักศึกษาให้สนใจเป็นขั้น ๆ ถึงความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนระบบการปกครองจากระบบเดิมให้เป็น

ระบบราชาธิปไตยภายใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังได้เปิดอบรมทบทวนวิชากฎหมายที่บ้านถนนสีลมเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์กับนักศึกษาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จึงมี

ลูกศิษย์ลูกหาเข้าร่วมเป็นสมาชิกและผู้สนับสนุนคณะราษฎรในเวลาต่อมาหลายคน[54][55]

บทบาททางการเมืองก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง[แก้]
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง[แก้]

หมุดคณะราษฎร ซึ่งฝังอยู่บนลานพระบรมรูปทรงม้า ฝั่งสนามเสือป่า
ในขณะที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส ปรีดี พนมยงค์ ได้ร่วมกับเพื่อนอีก 6 คน ประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกเพื่อก่อตั้ง "คณะราษฎร" เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 ณ หอพักแห่งหนึ่งย่าน "Rue Du

Sommerard" กรุงปารีส ผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี, ร.ท.แปลก ขิตตะสังคะ, ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี, ภก.ตั้ว ลพานุกรม, หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี), นายแนบ พหลโยธิน

โดยมีวัตถุประสงค์คือ เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ[56] และการดำเนินเพื่อให้สยามบรรลุหลัก 6 ประการ คือ

จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่
จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ปรีดีร่วมกับสมาชิกคณะราษฎรที่ประกอบด้วยกลุ่มทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อ

เปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ หลังจากนั้นคณะราษฎรโดยปรีดี พนมยงค์ ได้จัดให้มีการประชุมระหว่างคณะราษฎร และเสนาบดี ปลัดทูลฉลอง ขึ้น ณ พระที่นั่ง

อนันตสมาคม เพื่อชี้แจงจุดประสงค์ หลักการระบอบใหม่ กฎหมายพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินโดยย่อ และขอความร่วมมือในการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป[57][58][59][55]

การวางรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย[แก้]
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปรีดี พนมยงค์ ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดวางรูปแบบการปกครองในระบอบใหม่ เป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ โดยเป็นผู้ร่างพระ

ราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475[60] ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พร้อมกันนั้นยังมีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม

พ.ศ. 2475 อันเป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของสยาม[61] ที่ใช้เป็นบรรทัดฐานของการปกครองในระบอบใหม่

ในขณะเดียวกัน ปรีดีก็ได้รับแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นเลขาธิการคนแรกของสภาผู้แทนราษฎรสยาม ด้วยตำแหน่งดังกล่าว ทำให้เขามีบทบาทด้านนิติบัญญัติในการวางหลักสิทธิ เสรีภาพ

และความเสมอภาคให้แก่ราษฎร โดยเป็นผู้ยกร่างพระราชบัญญัติการเลือกตั้งฉบับแรก และเป็นผู้ริเริ่มให้สตรีมีสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้เช่นเดียวกับเพศ

ชาย[62] และจากการที่ได้ไปศึกษาในประเทศฝรั่งเศส ปรีดีจึงสนับสนุนแนวคิดเรื่องศาลปกครอง และก็เป็นผู้นำเอาวิชา "กฎหมายปกครอง" (Droit Administratif) มาสอนเป็นคนแรก ณ โรงเรียน

กฎหมายกระทรวงยุติธรรม แนวคิดดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความต้องการให้ราษฎรสามารถตรวจสอบฝ่ายปกครองได้ และมีสิทธิในทางการเมืองเท่าเทียมกับข้าราชการอย่างแท้จริง

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วเขาจึงผลักดันให้รัฐบาลยกฐานะกรมร่างกฎหมายและสถาปนาขึ้นเป็น "คณะกรรมการกฤษฎีกา"[63] ทำหน้าที่ยกร่างกฎหมายและเป็นที่ปรึกษากฎหมายของแผ่น

ดิน ทั้งยังพยายามผลักดันให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่ศาลปกครองอีกด้วย แต่ก็ทำไม่สำเร็จ เนื่องจากวัฒนธรรมในทางอำนาจนิยมของรัฐไทยยังมีอยู่หนาแน่น ความพยายามในการตั้งศาล

ปกครองของปรีดีจึงประสบอุปสรรคมาโดยตลอด[64]

ในปี พ.ศ. 2476 ได้เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือที่เรียกกันว่า "สมุดปกเหลือง" ต่อรัฐบาลเพื่อใช้เป็นนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ[65][66] ตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร โดยดำเนิน

เศรษฐกิจแบบสหกรณ์ แต่ไม่ทำลายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน ซึ่งเขาได้ชี้แจงไว้ว่า


การคิดที่จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนี้ ข้าพเจ้าได้เพ่งเล็งถึงสภาพอันแท้จริง ตลอดจนนิสสัยใจคอของราษฎรส่วนมากว่า การที่จะส่งเสริมให้ราษฎรได้มีความสุขสมบูรณ์นั้น ก็มีอยู่ทางเดียว

ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเอง โดยแบ่งการเศรษฐกิจนั้นออกเป็นสหกรณ์ต่าง ๆ ความคิดที่ข้าพเจ้าได้มีอยู่เช่นนี้ ไม่ใช่เป็นด้วยข้าพเจ้าได้มีอุปาทานผูกมั่นอยู่ในลัทธิใด ๆ ข้าพเจ้าได้

หยิบเอาส่วนที่ดีของลัทธิต่าง ๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมแก่ประเทศสยามแล้ว จึงได้ปรับปรุงยกขึ้นเป็นเค้าโครงการ"[67]


ปรีดียังได้วางหลักการประกันสังคม คือ ให้การประกันแก่ราษฎรทั้งหลายตั้งแต่เกิดจนตาย ที่จะได้รับความอุปการะจากรัฐบาล หากไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนในหมวดที่ 3 แห่ง

เค้าโครงการเศรษฐกิจ ในชื่อร่าง "พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร"[68] แต่แนวความคิดดังกล่าวถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และถูกคัดค้านอย่างหนักจากกลุ่ม

อนุรักษนิยม[66][55][69]

การกระจายอำนาจการปกครอง[แก้]
ปรีดีเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการร่างพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 เพื่อให้รูปแบบและระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

และมีการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น

เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พ.ศ. 2476 - พ.ศ. 2478) ก็ได้ริเริ่มให้มีการจัดตั้ง "เทศบาล" ทั่วราชอาณาจักรสยาม ตาม พระราชบัญญัติเทศบาล โดยมุ่งหวังให้การปก

ครองทัองถิ่นเป็นรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย และได้กวดขันให้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนันตาม พระราชบัญญัติปกครองท้องที่ และจัดตั้งกรมโยธาเทศบาลเพื่อสอดคล้องกับ

การปกครองเทศบาลและสร้างทางท้องที่หลายจังหวัด นอกจากนี้เขายังได้สร้างโรงพยาบาลหลายแห่ง รวมทั้งจัดให้มีเรือพยาบาลตามลำน้ำโขงโดยใช้สลากกินแบ่งของท้องที่ สร้างฝายและพนัง

หลายแห่งเพื่อช่วยชาวนาและเกษตรกร สร้างทัณฑนิคมเพื่อให้ผู้พ้นโทษแล้วมีที่ดินของตน ฯลฯ[70][71]

ด้านการศึกษา[แก้]

สัญลักษณ์ของ "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง" (มธก.)
ในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปรีดี พนมยงค์ ได้สถาปนา "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง" (มธก.) ขึ้นเมื่อ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 และได้รับแต่งตั้งเป็น "ผู้

ประศาสน์การ"[72] (พ.ศ. 2477 - พ.ศ. 2490) คนแรกและคนเดียวของมหาวิทยาลัย เพื่อสนองเจตนารมณ์ของคณะราษฎรที่ว่า "จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร" ด้วยเห็นว่าในขณะนั้น

สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มีอยู่มิได้เปิดกว้างเพื่อชนส่วนใหญ่ ดังนั้นมหาวิทยาลัยใหม่ตามแนวความคิดของเขา จึงเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้างเพื่อราษฎร เป็นตลาดวิชา ทุกคนมีสิทธิ

เสรีภาพในการศึกษาเล่าเรียนเท่าเทียมกัน[73] ปรีดีกล่าวไว้ในวันสถาปนามหาวิทยาลัยว่า


มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา รัฐบาลและสภาผู้แทน

ราษฎรเห็นความจำเป็นในข้อนี้ จึงได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น[74]


มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในระยะแรกมิได้ใช้งบประมาณแผ่นดิน หากอาศัยเงินที่มาจากค่าสมัครเข้าเรียนของนักศึกษาทั่วราชอาณาจักรและดอกผลที่ได้มาจากธนาคารแห่งเอเชีย

เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม ซึ่งปรีดีเป็นผู้ก่อตั้ง โดยให้มหาวิทยาลัยถือหุ้นถึง 80%[75] นอกจากนี้ปรีดียังได้ยกกิจการโรงพิมพ์นิติสาส์นของเขาให้แก่มหาวิทยาลัยเพื่อพิมพ์เอกสารตำราคำ

สอนแก่นักศึกษา[76] นับว่าเป็นสถาบันที่มีเสรีภาพทางวิชาการและเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐอย่างแท้จริง[ต้องการอ้างอิง] มหาวิทยาลัยดังกล่าวได้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาระบอบ

ประชาธิปไตยของไทย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านสงครามและต่อสู้เพื่อสันติภาพ โดยมหาวิทยาลัยเป็นที่ตั้งศูนย์บัญชาการใหญ่ของขบวนการเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่

สอง[ต้องการอ้างอิง]

ภายหลังจากที่ปรีดีต้องลี้ภัยทางการเมือง รัฐบาลได้เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัย โดยตัดคำว่า "วิชา" และ "การเมือง" ออก เหลือเพียงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อไม่ให้นักศึกษายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทั้ง

ยังทำการขายหุ้นทั้งหมดของมหาวิทยาลัย จนไม่มีความสามารถที่จะเลี้ยงตัวเองได้ กลายเป็นมหาวิทยาลัยปิดที่ต้องอาศัยงบประมาณจากรัฐบาล[77][78]

ด้านการต่างประเทศ[แก้]
เมื่อภารกิจด้านการปกครองในกระทรวงมหาดไทยเข้ารูปเข้ารอยแล้ว ปรีดี พนมยงค์ ได้ก้าวเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (พ.ศ. 2478 - พ.ศ. 2481)[79][80] ในเวลานั้น

สยามยังอยู่ภายใต้บังคับของสนธิสัญญาระหว่างประเทศอันไม่เป็นธรรม ที่รัฐบาลสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ถูกบังคับให้ทำไว้กับประเทศต่าง ๆ 13 ประเทศ ในนามของ "สนธิสัญญาทางไมตรี

พาณิชย์และการเดินเรือ"

ในปี พ.ศ. 2478 หลังจากได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแล้ว รัฐบาลเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ควรจะหาทางยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค และทวงอำนาจอธิปไตยของประเทศกลับคืนมา โดยยึดหลัก

เอกราชทั้งในทางการเมือง การศาล และเศรษฐกิจ ตลอดจนหาทางลดอัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินที่รัฐบาลเก่าได้ทำสัญญาไว้ ปรีดี พนมยงค์ และคณะจึงออกเดินทางไปพบปะเจรจากับผู้นำ

ประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ ในยุโรป อเมริกา และเอเชีย อาทิ เบนิโต มุสโสลินี ผู้นำฟาสซิสต์แห่งอิตาลี ปีแอร์ ลาวาล นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ฮจาล์ มาร์ ซาคท์ตัวแทนของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซี

เยอรมัน เซอร์ แซมมวล ฮอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ คอร์เดล ฮัลล์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา จักรพรรดิฮิโรฮิโตแห่งญี่ปุ่น และบุคคลสำคัญอื่น

ๆ ในหลายประเทศ[81]

ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ดำรงตำแหน่ง ปรีดีได้ใช้ความพยายามทางการทูตเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคที่สยามได้ทำไว้กับประเทศมหาอำนาจ 13 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เน

เธอร์แลนด์ อังกฤษ สเปน โปรตุเกส เดนมาร์ก สวีเดน อิตาลี เบลเยียม และนอร์เวย์ ตามลำดับ ซึ่งประเด็นหลักในการแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคมีอยู่ 2 ประเด็น คือ

สิทธิสภาพนอกอาณาเขต คือคนในบังคับของต่างประเทศไม่ต้องขึ้นต่อศาลสยาม ทำให้สยามสูญเสียเอกราชในทางศาล
ภาษีร้อยชักสาม คือรัฐบาลสยามสามารถเรียกเก็บภาษีศุลกากรขาเข้าได้เพียงไม่เกินร้อยละ 3 ทำให้สยามขาดรายได้เข้าประเทศเท่าที่ควรจะได้ นับเป็นการสูญเสียเอกราชในทางเศรษฐกิจ[82]
โดยใช้ยุทธวิธีบอกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับประเทศคู่สัญญาเหล่านั้น และได้ยื่นร่างสนธิสัญญาฉบับใหม่โดยอาศัยหลัก "ดุลยภาพแห่งอำนาจ" จนสามารถยกเลิกสนธิสัญญาดังกล่าวเป็นผล

สำเร็จ ทำให้สยามได้เอกราชทางศาลและเอกราชทางเศรษฐกิจกลับคืนมา และมีสิทธิเสมอภาคกับนานาประเทศทุกประการ[83][84][85]

หนังสือพิมพ์สเตรตไทม์ของสิงคโปร์ กล่าวยกย่องปรีดีไว้ในบทบรรณาธิการว่า "ดอกเตอร์ปรีดี พนมยงค์ เสมือนหนึ่งเป็น แอนโทนี อีเดน" ผู้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนสำคัญของรัฐบาลอังกฤษ[57]

ด้านการคลัง[แก้]
เมื่อปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (พ.ศ. 2481 - พ.ศ. 2484) ได้ตั้งปณิธานที่จะใช้เครื่องมือทางการคลังสร้างความมั่นคงให้แก่ชาติ สร้างความเป็นธรรมและความสุขสมบูรณ์แก่ราษฎร[65]

โดยแถลงต่อรัฐสภาว่าจะปรับปรุงระบบการเก็บภาษีให้เป็นธรรมแก่สังคม และได้บรรลุภารกิจในด้านการจัดเก็บภาษีอากรที่สำคัญ ดังนี้

ช่วยเหลือราษฎรที่ต้องแบกรับภาษีที่ไม่เป็นธรรม ด้วยการยกเลิกเงินภาษีรัชชูปการ และอากรค่านา (เงินส่วย) ซึ่งชาวนาต้องเสียแก่เจ้าศักดินา เป็นต้น
จัดระบบเก็บภาษีอากรที่เป็นธรรมในระบอบประชาธิปไตยโดนสถาปนา "ประมวลรัษฎากร" เป็นแบบฉบับครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งรวมบทบัญญัติเกี่ยวกับภาษีอากรทางตรง
ออก พรบ.ภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นภาษีก้าวหน้า กล่าวคือผู้ใดมีรายได้มากก็เสียภาษีมากหากมีรายได้น้อยก็เสียภาษีน้อย และผู้ใดบริโภคเครื่องบริโภคที่ไม่จำเป็นแก่การดำรงชีพก็ต้องเสียภาษีอากรมาก

ตามลำดับ[86][87]
ในด้านการสร้างเสถียรภาพทางการเงินและการคลังของประเทศ ปรีดีคาดการณ์ว่าอาจเกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้นในไม่ช้า เงินปอนด์สเตอร์ลิงซึ่งสยามประเทศใช้เป็นทุนสำรองเงินตราอาจจะลด

ค่าลงได้ เขาพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วเห็นว่าภายใต้สถานการณ์ของโลกที่มีความไม่แน่นอนนั้น การเก็บรักษาทุนสำรองของชาติเอาไว้เป็นทองคำแท่งน่าจะเป็นนโยบายที่เหมาะสม และเห็นว่า

อังกฤษซึ่งอยู่ในสถานะสงครามกับเยอรมนีในยุโรปแล้วตั้งแต่ปี 2482 มีแนวโน้มว่าจะต้องเผชิญหน้ากับญี่ปุ่นในเอเชียแปซิฟิกด้วยในอนาคตอันใกล้ อันจะมีผลกระทบต่อสถานภาพของเงินปอนด์

สเตอร์ลิงอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น จึงได้จัดการเอาเงินปอนด์ที่เป็นเงินทุนสำรองเงินตราจำนวนหนึ่งซื้อทองคำแท่งหนัก 1 ล้าน ออนซ์ ในราคาออนซ์ละ 35 ดอลลาร์สหรัฐ นำมาเก็บไว้ในห้องนิรภัย

กระทรวงการคลัง นอกจากนี้ยังได้โอนเงินปอนด์เพื่อแลกซื้อเงินดอลลาร์และทองคำแท่งเก็บไว้ที่สหรัฐอเมริกาอีกส่วนหนึ่ง ทำให้เสถียรภาพของค่าเงินบาทในเวลานั้นมั่นคงที่สุดแม้ว่าเป็นระยะ

ใกล้จะเกิดสงครามเต็มทีแล้ว ทองคำแท่งจำนวนดังกล่าวยังคงเก็บรักษาไว้เป็นทุนสำรองเงินบาทอยู่จนทุกวันนี้[88][89]

เมื่อได้ปรับปรุงระบบภาษีอากรให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคมขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว อีกทั้งระบบการเงินของประเทศก็มีความมั่นคงด้วยทุนสำรองเงินตราอันประกอบด้วยทองคำและเงินตราต่าง

ประเทศในสกุลที่ทั่วโลกยอมรับ ปรีดีในฐานะผู้รับผิดชอบบริหารนโยบายการเงินการคลังของประเทศ ก็ได้รื้อฟื้นเรื่องการจัดตั้งธนาคารกลางหรือธนาคารแห่งชาติ ซึ่งได้เคยปรารภไว้แล้วในเค้า

โครงการเศรษฐกิจมาพิจารณาดำเนินการอย่างจริงจัง โดยจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทยขึ้นก่อน และเร่งฝึกพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ให้พร้อมในการบริหารธนาคารชาติ ต่อมาจึงได้จัดตั้ง "ธนาคาร

ชาติไทย" ขึ้น ในปี พ.ศ. 2483 ปัจจุบันคือ "ธนาคารแห่งประเทศไทย"[90][91] เพื่อทำหน้าที่เป็นธนาคารชาติของรัฐโดยสมบูรณ์

บทบาทในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง[แก้]
ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะอุบัติขึ้น ปรีดี พนมยงค์ เล็งเห็นว่าลัทธิเผด็จการทหารกำลังจะจุดชนวนให้เกิดสงครามโลก จึงอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง "พระเจ้าช้างเผือก"[92] เพื่อสื่อทัศนะ

สันติภาพและคัดค้านการทำสงครามผ่านไปยังนานาประเทศ โดยแสดงจุดยืนอย่างแจ่มชัดด้วยพุทธภาษิตที่ปรากฏในภาพยนตร์ที่ว่า "นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ" (ไม่มีสุขใดเสมอด้วยความสงบสันติ) ยิ่งไป

กว่านั้นเขายังสื่อให้เห็นว่าชาวสยามพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อต่อด้านสงครามรุกรานอย่างมีศักดิ์ศรี[93][94]

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์[แก้]

ธงประจำตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สำหรับใช้เป็นเกียรติยศของผู้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 สภาผู้แทนราษฎรมีมติแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลขึ้นใหม่ แทนเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งถึงแก่

อสัญกรรมเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และปรีดี พนมยงค์[95] ต่อมา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงลาออก

จากตำแหน่ง สภาผู้แทนราษฎรจึงมีมติแต่งตั้งปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว (1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 - 20 กันยายน พ.ศ. 2488)[9] และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการ

แทนพระองค์ต่อไปอีก เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไม่สามารถเสด็จนิวัติประเทศไทยได้[96]

หัวหน้าขบวนการเสรีไทย[แก้]
ปลายปี พ.ศ. 2484 สงครามมหาเอเชียบูรพาปะทุขึ้นเมื่อกองทัพญี่ปุ่นเปิดฉากโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์ของสหรัฐอเมริกา และรวมไปถึงดินแดนในครอบครองของอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ใน

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมา เช้ามืดวันที่ 8 ธันวาคม ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกตามแนวชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย และส่งกองกำลังภาคพื้นดินบุกเข้าประเทศไทยทางอินโดจีนฝรั่งเศส รัฐบาลจอมพล ป.

พิบูลสงคราม ได้ตกลงทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นเพื่อให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านแผ่นดินไทย ในที่สุดก็ร่วมวงไพบูลย์กับญี่ปุ่น และประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างเป็นทางการ เมื่อ

วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 อันเป็นการละเมิดต่อประกาศพระบรมราชโองการให้ปฏิบัติตามความเป็นกลาง พ.ศ. 2482[97][98][99]

ปรีดี พนมยงค์ ไม่เห็นด้วยกับการให้ญี่ปุ่นละเมิดอธิปไตยและแสดงจุดยืนให้ปรากฏโดยเป็นผู้นำในการจัดตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่น หรือต่อมาเรียกว่า "ขบวนการเสรีไทย" ประกอบด้วยคนไทยทุก

ชั้นวรรณะ ทั้งที่อยู่ในประเทศและอยู่ต่างประเทศ เขาไม่ยอมลงนามในประกาศสงครามนั้นด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า หากลงนามไปแล้วก็ยากที่จะให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเชื่อถือการปฏิบัติการของขบวน

การเสรีไทย[100][98][101]

กระแสความไม่พอใจต่อการตัดสินใจของรัฐบาลจอมพล ป. ได้พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในหมู่ชนทุกเหล่า แต่รัฐบาลถือว่าตนเองมีความชอบธรรมในการปราบปรามผู้ที่ไม่เห็นด้วย อีกทั้งกองทัพญี่ปุ่นที่

เข้ามาประจำการในประเทศ ก็ใช้ท่าทีที่แข็งกร้าวต่อผู้ที่ต้องสงสัยว่าดำเนินกิจกรรมต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น ดังนั้นปฏิบัติการต่อต้านรัฐบาลและญี่ปุ่นผู้รุกรานจึงต้องเป็นงาน "ใต้ดิน" ที่ปิดลับ[102]

ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในรหัสนามว่า "รู้ธ" (Ruth) ทำงานในสองบทบาทตลอดสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยถือความลับสุดยอดเป็น

หัวใจของการปฏิบัติงาน[103][104] ทั้งนี้ก็เพื่อให้ภารกิจของเสรีไทยบรรลุเป้าหมายให้ได้ คือ[ต้องการอ้างอิง]

ต่อสู้กับญี่ปุ่นผู้รุกราน
ปฏิบัติการให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองเจตนารมณ์ที่แท้จริงของราษฎรไทย
ให้สัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามร่วมกับญี่ปุ่น
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2488 ปรีดีแจ้งให้สัมพันธมิตรทราบว่า เสรีไทยจำนวน 8 หมื่นคนทั่วประเทศพร้อมที่จะลุกฮือขึ้นเพื่อทำสงครามกับทหารญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ร้องขอให้

ชะลอแผนนี้ไว้ก่อน ด้วยเหตุผลทางแผนยุทธศาสตร์ของฝ่ายสัมพันธมิตร[105] ในที่สุดฝ่ายญี่ปุ่นก็ยอมแพ้สงครามอย่างไม่มีเงื่อนไขเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488

เมื่อญี่ปุ่นได้ยอมจำนน ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงได้แจ้งให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยว่า สัมพันธมิตรไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นผู้แพ้สงคราม ประเทศไทยไม่ต้องถูกยึด

ครอง รัฐบาลไทยไม่ต้องยอมจำนน กองทัพไทยไม่ต้องวางอาวุธ และให้รีบออกแถลงการณ์ปฏิเสธการประกาศสงครามระหว่างไทยกับสัมพันธมิตร เพื่อลบล้างข้อผูกพันทั้งหลายที่รัฐบาลจอมพล ป.

พิบูลสงคราม ได้ทำไว้กับญี่ปุ่น[98][106][107]

ประกาศสันติภาพ[แก้]
วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ออกประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล[108] ว่าการประกาศ

สงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 เป็น "โมฆะ" ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย และประเทศไทยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติในการสถาปนา

สันติภาพในโลกนี้ ต่อมารัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ 16 สิงหาคม ของทุกปีเป็น "วันสันติภาพไทย"[109][110]

ภายหลังจากการประกาศสันติภาพ ตัวแทนพลพรรคเสรีไทยจากทั่วประเทศกว่า 8,000 นาย ได้เดินสวนสนามผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน โดยมีปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทน

พระองค์และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยเป็นประธาน เมื่อสิ้นสุดภารกิจลงแล้ว เขาได้ประกาศยกเลิกขบวนการเสรีไทย[6] โดยมีสุนทรพจน์บางตอนว่า


...ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะแสดงเปิดเผยในนามของสหายทั้งหลายถึงเจตนาอันบริสุทธิ์ซึ่งเราทั้งหลายได้ถือเป็นหลักในการรับใช้ชาติครั้งนี้ว่า เรามุ่งจะทำหน้าที่ในฐานะที่เราเกิดมาเป็นคน

ไทย ซึ่งจะต้องสนองคุณชาติ เราทั้งหลายไม่ได้มุ่งหวังทวงเอาตำแหน่งในราชการมาเป็นรางวัลตอบแทน การกระทำทั้งหลายไม่ใช่ทำเพื่อประโยชน์ของบุคคลหรือหมู่คณะใด แต่ได้ทำไปเพื่อ

ประโยชน์ของคนไทยทั้งมวล...

...วัตถุประสงค์ของเราที่ทำงานคราวนี้มีจำกัดดังกล่าวแล้ว และมีเงื่อนเวลาสุดสิ้น กล่าวคือเมื่อสภาพการเรียบร้อยลงแล้ว องค์การเหล่านี้ก็จะเลิก และสิ่งซึ่งจะเหลืออยู่ในความทรงจำของเราทั้งหลาย

ก็คือมิตรภาพอันดีในทางส่วนตัวที่เราได้ร่วมรับใช้ชาติด้วยกันมา โดยปราศจากความคิดที่จะเปลี่ยนสภาพองค์การเหล่านี้ให้เป็นคณะหรือพรรคการเมือง...ผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าคราวนี้ ถือว่าทำ

หน้าที่เป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าเป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทำของคนไทยทั้งปวง ซึ่งแม้ผู้ไม่ได้ร่วมในองค์การนี้โดยตรง ก็ยังมีอีกประมาณ 17 ล้านคนที่ได้กระทำโดยอิสระในการต่อต้าน

ด้วยวิถีทางที่เขาเหล่านั้นสามารถจะทำได้ หรือเอากำลังใจช่วยขับไล่ให้ญี่ปุ่นพ้นไปจากประเทศไทยโดยเร็วก็มี[111]


เมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อยดีแล้วปรีดี พนมยงค์ จึงขออัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัติประเทศไทยเพื่อทรงบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เองต่อไป โดยได้เสด็จกลับถึง

พระนครวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบปรีดีที่ไปเฝ้ารับเสด็จดังนี้


ท่านปรีดี พนมยงค์

ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้กลับมาสู่พระนคร เพื่อบำเพ็ญพระกรณียกิจตามหน้าที่ของข้าพเจ้าต่อประชาชนและประเทศชาติ ข้าพเจ้าขอขอบใจท่านเป็นอันมากที่ได้ปฏิบัติกรณียกิจแทนข้าพเจ้า ด้วย

ความซื่อสัตย์สุจริตต่อข้าพเจ้าและประเทศชาติ ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้ แสดงไมตรีจิตในคุณงามความดีของท่าน ที่ส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศชาติ และช่วยบำรุงรักษาความเป็นเอกราช

ของชาติไว้[112]


บทบาททางการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่สอง[แก้]
รัฐบุรุษอาวุโส[แก้]
ด้วยคุณูปการที่เป็นผู้นำในการกอบกู้บ้านเมืองในยามคับขัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะ "รัฐบุรุษอาวุโส" ซึ่ง

ถือได้ว่าเป็นตำแหน่งทางการเมืองอันทรงเกียรติสูงสุด ดังที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ความว่า


สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า นายปรีดี พนมยงค์ ได้เคยรับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในตำแหน่งสำคัญ ๆ มาแล้วหลายตำแหน่ง จนในที่สุดได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรง

ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และปรากฏว่า ตลอดเวลาที่ นายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและด้วยความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหา

กษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ทั้งได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในความปรีชาสามารถ บำเพ็ญคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นเอนกประการ

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมยกย่อง นายปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส และให้มีหน้าที่รับปรึกษากิจราชการแผ่นดิน เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป ทั้งนี้

ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป[10]


ในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่สามัญ

ชนพึงได้รับพระราชทาน[113][114] แก่รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2488[115]

ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[แก้]
ปรีดี พนมยงค์ ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[3] เขาได้ใช้ความรู้ความสามารถเจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตรในปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงข้อ

ตกลงกับอังกฤษ เรื่องสัญญาสมบูรณ์แบบ และการเจรจาให้รัฐบาลสหรัฐยกเลิกคำสั่งเพิกถอนเงินซึ่งได้ถูกกักกันไว้ในสหรัฐ ให้ประเทศไทยสามารถแก้ไขสถานะผู้แพ้สงครามได้สำเร็จอย่างละมุน

ละม่อม สามารถเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติลำดับที่ 55[116]

วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต รัฐบาลปรีดีที่เพิ่งชนะเลือกตั้งหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 จึงขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาให้

อัญเชิญพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อไป[117][118] เมื่อสภามีมติเห็นชอบแล้ว ปรีดีก็ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2489

ทั้งที่เพิ่งได้รับโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2489[119] แต่สภาผู้แทนราษฎรก็สนับสนุนให้ปรีดีดำรงตำแหน่งตามเดิม[120][121]

กรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ทำให้ศัตรูทางการเมืองของปรีดี ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มทหารสาย จอมพล ป. พิบูลสงครามที่สูญเสียอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

พรรคการเมืองฝ่ายค้านนำโดย พรรคประชาธิปัตย์[122] และกลุ่มอำนาจเก่า[123] ฉวยโอกาสนำมาใช้ทำลายปรีดีทางการเมือง โดยการกระจายข่าวไปตามหนังสือพิมพ์ ร้านกาแฟ และสถานที่ต่าง ๆ

รวมทั้งส่งคนไปตะโกนในศาลาเฉลิมกรุงว่า "ปรีดีฆ่าในหลวง"[124][125] และนำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเขาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 โดยหลังจากนั้น หลวงธำรงนาวา

สวัสดิ์ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มปรีดี ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน[126]

ต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2489 ภายหลังจากที่ปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ได้รับเชิญจากรัฐบาลหลายประเทศให้ไปเยือนประเทศเหล่านั้น รัฐบาลไทยจึงมอบหมายให้เขาเป็นหัว

หน้าคณะทูตสันถวไมตรีเดินทางรอบโลกเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและพบปะกับผู้นำนานาประเทศ โดยได้ไปเยือนประเทศจีนเป็นแห่งแรก จากนั้นก็ไปฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส

สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์ รวมทั้งสิ้นเก้าประเทศ และกลับมาถึงกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 รวมเวลาที่ออกไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ 3 เดือน

เต็ม[127][128]

ลี้ภัยรัฐประหาร[แก้]
ต่อมาในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหาร ประกอบด้วย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ พ.อ.กาจ กาจสงคราม พ.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.อ.ถนอม กิตติขจร พ.ท.ประภาส จารุ

เสถียร และ ร.อ.สมบูรณ์ (ชาติชาย) ชุณหะวัณ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ จากรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ด้วยสาเหตุที่รัฐบาลไม่สามารถคลี่คลายคดีสวรรคตลงได้ ประกอบกับการ

ลดบทบาทของกองทัพ และปัญหาทางเศรษฐกิจ[129] หลังจากยึดอำนาจสำเร็จ คณะรัฐประหารได้นำกำลังทหารพร้อมรถถังบุกยิงทำเนียบท่าช้างวังหน้าซึ่งปรีดีและครอบครัวอาศัยอยู่ แล้วพยายาม

จะจับกุมตัวปรีดี แต่เขาก็หลบหนีไปได้ภายใต้การอารักขาของทหารเรือและได้อาศัยฐานทัพเรือสัตหีบเป็นที่หลบภัยอยู่ชั่วระยะหนึ่ง เมื่อพิจารณาเห็นว่ายังไม่พร้อมที่จะต่อต้านคณะรัฐประหาร จึง

ได้ลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศสิงคโปร์ จนถึงปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2491 จึงออกเดินทางต่อไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน[130]

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2492 ปรีดี พนมยงค์ กลับมาประเทศไทยเพื่อทำการยึดอำนาจคืนจากรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในเหตุการณ์ "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์" เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์

พ.ศ. 2492 แต่กระทำการไม่สำเร็จ (เรียกกันว่า "กบฏวังหลวง")[131] จึงต้องลี้ภัยไปต่างประเทศและไม่ได้กลับประเทศไทยอีกเลย[ต้องการอ้างอิง]

ปัจฉิมวัย[แก้]
หลายปีที่ปรีดีลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ ยังมีการกล่าวหาว่าปรีดีสมคบการปลงพระชนม์ในหลวงอยู่เป็นระยะ ๆ เขาจึงต้องดำเนินการฟ้องร้องผู้ใส่ความหมิ่นประมาทต่อศาลยุติธรรม[132]

[133][134][135] ผลปรากฏว่าศาลตัดสินให้ชนะทุกคดี นอกจากนี้ โดยคำพิพากษาของศาลในกรณีฟ้องร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสกับพวก

ในข้อหาร่วมกันละเมิดสิทธิของโจทก์[136] ปรีดีจึงได้รับความรับรองจากทางราชการในฐานะคนไทยโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายทุกประการ และได้รับเงินบำนาญตลอดจนได้รับหนังสือเดินทาง

ของไทย[137][138][139][140][141]

ขณะพำนักอยู่ในประเทศจีน ปรีดีได้มีโอกาสพบปะสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำพรรคและรัฐบาลจีนไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีเหมา เจ๋อตง นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล จอมพลเฉินยี่ เติ้ง

เสี่ยวผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน นอกจากนี้ยังได้พบปะสนทนากับผู้นำกอบกู้เอกราชของชาติในอินโดจีน อาทิ ประธานาธิบดีโฮจิมินห์และนายกรัฐมนตรีฝ่ามวันดง แห่งเวียดนาม เจ้าสุภานุ

วงศ์ ประธานประเทศลาว เจ้าสุวรรณภูมา และพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ กษัตริย์แห่งกัมพูชา โดยเฉพาะมิตรภาพระหว่างปรีดีกับประธานโฮจิมินห์นั้น ยืนยาวมาตั้งแต่สมัยที่เขาผู้นี้ต่อสู้กับ

ฝรั่งเศส[141]

ต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2513 โจวเอินไหลได้อำนวยความสะดวกให้ปรีดีเดินทางจากประเทศจีนไปยังกรุงปารีส ด้วยความช่วยเหลือจากนายกีโยม จอร์จ-ปีโก (Guillaume Georges- Picot) มิตรเก่า

ที่มีตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตถาวรของประเทศฝรั่งเศส และโดยได้รับความเห็นชอบจากประธานาธิบดี ชาร์ลส์ เดอ โกลล์[142] ปรีดีจึงได้พำนักอยู่ ณ ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงปลายชีวิตอย่างสันติ

สุข ท่านเป็นผู้สนใจสนใจในพุทธศาสนา[143] โดยเฉพาะหนังสือเรื่อง "กฎบัตรของพุทธบริษัท" ที่พุทธทาสภิกขุส่งไปให้นั้น ปรีดีจะพกในกระเป๋าเสื้อนอกติดตัวอยู่ตลอดเวลาตราบจนวาระสุดท้าย

ของชีวิต[144]

เวลา 11 นาฬิกาเศษ ของวันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ปรีดี พนมยงค์ สิ้นใจด้วยอาการหัวใจวายขณะกำลังเขียนหนังสืออยู่ที่โต๊ะทำงาน[14]

งานเขียน[แก้]
ปรีดีเป็นผู้ใฝ่หาความรู้ทางด้านวิทยาการต่าง ๆ ทั้งสังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์[ต้องการอ้างอิง][ใครกล่าว?] ขณะพำนักอยู่ในประเทศจีน ได้ศึกษาค้นคว้าเพื่อรู้แจ้งเห็นจริงทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติ

รวมทั้งผลงานของเมธีทางด้านปรัชญาและสังคมศาสตร์ เช่น มาร์กซ์ เองเงิลส์ เลนิน สตาลิน และเหมา เจ๋อตุง ในเชิงเปรียบเทียบสภาพสังคมไทยทุกแง่ทุกมุม[ต้องการอ้างอิง] อาทิ ระบอบเศรษฐกิจ

การเมือง ทัศนะสังคม ประวัติศาสตร์ ชนชาติ ศาสนา ขนบธรรมเนียม ประเพณี แล้วได้เรียบเรียงเป็นบทความ[ต้องการอ้างอิง] ซึ่งได้ตีพิมพ์ในโอกาสต่อมา[ต้องการอ้างอิง]

งานเขียนชิ้นสำคัญของเขาที่นำพุทธปรัชญามาวิเคราะห์วิวัฒนาการของมนุษยสังคมคือ "ความเป็นอนิจจังของสังคม" ซึ่งได้รับการตีพิมพ์หลายครั้งและเป็นที่สนใจของผู้ที่ต้องการศึกษาอยู่ตลอดมา

เพราะข้อความที่เขียนอันเป็นสัจจะอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทุกยุคทุกสมัย[14]


สิ่งทั้งหลายในโลกนี้เป็นอนิจจัง ไม่มีสิ่งใดนิ่งคงอยู่กับที่ ทุกสิ่งที่มีอาการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง…พืชพันธุ์ รุกขชาติ และสัตวชาติทั้งปวง รวมทั้งมนุษยชาติที่มีชีวิตนั้น เมื่อได้

เกิดมาแล้วก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงโดยเจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ จนถึงขีดที่ไม่อาจเติบโตได้อีกต่อไป แล้วก็ดำเนินสู่ความเสื่อมและสลายในที่สุด


ผลงานงานเขียนบางส่วนของปรีดี ได้แก่[145]

บันทึกข้อเสนอเรื่อง ขุดคอคอดกระ, กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501
ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน (Ma vie mouvementee et mes 21 ans d' exil en Chine Populaire)
ความเป็นมาของชื่อ “ประเทศสยาม” กับ “ประเทศไทย”
จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม
ประชาธิปไตย เบื้องต้นสำหรับสามัญชน
ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ
ปรัชญาคืออะไร
“ความเป็นไปบางประการในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ใน บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์…
บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย
ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับเอกภาพของชาติและประชาธิปไตย
ความเป็นเอกภาพกับปัญหาสามจังหวัดภาคใต้, สหพันธ์นิสิตนักศึกษาชาวปักษ์ใต้แห่งประเทศไทย, 2517
อนาคตของเมืองไทยกับสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน, ประจักษ์การพิมพ์, 2518

ไม่มีความคิดเห็น: