PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

รสนา โพสFBเจอหมายเรียกตกเป็นผู้ต้องหาคดีปตท.ฟ้อง

"ถึงเวลาต้องปฏิรูปวงการตำรวจอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้กระบวนการสอบสวนเป็นเครื่องมือผู้มีอำนาจ"
เมื่อวันพฤหัสบดีที่7พฤษภาคม 2558 ตำรวจจากสภอ.โพธิ์แก้ว จ.นครปฐม ได้เอาหมายผู้ต้องหามาหาดิฉันที่บ้าน เพื่อให้เซ็นรับการเป็นผู้ต้องหาตามหมายเรียกของสน.ชนะสงคราม ที่บ้านก็ตกอกตกใจกันว่าเกิดอะไรขึ้น
สาเหตุของเรื่องหมายเรียกผู้ต้องหาของสน.ชนะสงครามมาจากบริษัทปตท.แจ้งความว่าดิฉันหมิ่นประมาทบริษัทปตท. จากการพูดให้ข้อมูลของดิฉันในงานเสวนาเรื่อง ปฏิรูปพลังงาน ครั้งที่ ๒ หัวข้อ “น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติของประชาชน ใครปล้นไป เมื่อ 2มีนาคม2557 ที่อนุสรณ์สถาน14ตุลา ในตอนท้ายรายการพิธีกรได้เชิญดิฉัน ที่เป็นผู้ฟังให้แสดงความเห็น ดิฉันเพิ่งกลับจากดูงานบริษัทปิโตรนัสที่มาเลเซีย เลยเล่าข้อมูลให้ที่ประชุมฟังเรื่องที่ได้ ฟังจากอดีตประธานปิโตรนัสว่าบริษัทปิโตรนัสของมาเลเซียเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่มีรัฐเป็นเจ้าของ100% ทำให้การส่งรายได้ให้รัฐเท่ากับ 40% ของงบประมาณแผ่นดิน ข้อความที่ปตท.หาว่าหมิ่นประมาทเขาให้ถูกเกลียดชังคือข้อความต่อไปนี้
"ส่วนบมจ.ปตท.หลังแปรรูปแล้วส่งเงินปันผลน้อยลง อย่างปี 2555 ปตท.ส่งเงินเข้ารัฐ เป็นเงินส่วนที่เราเรียกว่า ส่วนแบ่งกำไร ปันผลจากเงินกำไร แค่ 17,000ล้าน ในขณะที่ กฟผ.ส่งให้ 22,000บาทนะคะ แล้วจะเห็นได้เลยว่า ปตท.ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ส่งเงินเข้าหลวงน้อยลงเรื่อย ๆ คือ กำไร 170,000ล้านบาทนะคะ แต่ส่งเงินเข้ารัฐแค่ 17,000ล้าน คือประมาณ 10%”
ปตท.จำกัด(มหาชน) ไปแจ้งความที่สน.ชนะสงครามว่าดิฉันหมิ่นประมาทบริษัทปตท.ด้วยข้อความดังกล่าว
เมื่อได้หมายเรียกผู้ต้องหา ดิฉันให้ทนายติดต่อทางพนักงานสอบสวนจนได้ทราบข้อมูลว่า บริษัท ปตท. แจ้งความข้อหาหมิ่นประมาทในข้อความดังกล่าว ดิฉันได้ทำหนังสือแจ้งไปที่พนักงานสอบสวนว่าข้อมูลที่ดิฉันพูดมาจากข้อมูลเงินนำส่งรายได้แผ่นดินของรัฐวิสาหกิจฯ ประจำปี 2551-2555 มาจาก เว็บไซต์ ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ชื่อ http://www.sepo.go.th/design/category/333-2551-2555.htm และ แบบ ๕๖-๑ สิ้นสุด ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๕ ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หน้า 302 ส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ ปี ๒๕๕๕ (ตรวจสอบ) เป็นเงิน ๑๗๒,๑๓๒.๓๓ ล้านบาท จาก เว็บไซต์ ชื่อ http://ptt.listedcompany.com/…/20130330-PTT-Form561-2012-TH… ซึ่งเป็นเอกสารที่เผยแพร่และบุคคลทั่วไปก็สามารถดูได้ และขอให้พนักงานสอบสวนยกเลิกข้อกล่าวหาดิฉันเสียเพราะประเด็นที่ บมจ.ปตท.กล่าวหาดิฉันหมิ่นประมาทนั้น ดิฉันได้พูดให้ข้อมูลจากแหล่งที่มาที่แน่นอน และไม่เป็นกระทำความผิดต่อบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) แต่อย่างใด
แต่พนักงานสอบสวนท่านนั้นยังคงส่งหมายเรียกครั้งที่ 2, 3 มาให้ดิฉันไปรับทราบข้อกล่าวหาไม่หยุดหย่อน ดิฉันจึงทำหนังสือร้องเรียนไปที่บชน.เมื่อวันที่27 เมษายนที่ผ่านมาว่า การกระทำของพนักงานสอบสวนดังกล่าวเป็นการจงใจกลั่นแกล้งดำเนินคดีอาญากับดิฉันด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๑ ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ และขอให้โปรดสอบสวนการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม และมีคำสั่งยกเลิกการตั้งข้อกล่าวหากับดิฉัน
แต่ยังไม่ทันจะได้รับคำตอบจากบชน. ดิฉันก็ได้หมายเรียกครั้งที่4 จากพนักงานสอบสวนคนเดิมให้ไปพบในวันศุกร์ที่8 พฤษภาคม ดิฉันให้ทนายโทรไปหาพนักงานสอบสวนท่านนั้นและแจ้งว่า ได้ส่งเรื่องร้องเรียนไปที่บชน.แล้ว และจะรอผลการพิจารณาของบชน.ก่อน โดยจะไม่ไปพบในวันศุกร์ที่8 พฤษภาคม เพราะวันนั้นดิฉันมีนัดหมายไปพบผู้ว่าสตง.เพื่อส่งหลักฐานเพิ่มเติมคือคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินเรื่องการคืนท่อก๊าซไม่ครบถ้วน
แม้จะโทรชี้แจงเหตุผลกับพนักงานสอบสวนแล้ว แต่แทนที่พนักงานสอบสวนจะรอการพิจารณาจากบชน.ก่อน ปรากฎว่าวันรุ่งขึ้นวันที่7พฤษภาคม พนักงานสอบสวนสน.ชนะสงครามก็ส่งตำรวจจากสภอ.โพธิ์แก้วบุกไปหาดิฉันที่บ้าน เพื่อให้ดิฉันหรือคนในบ้านเซ็นรับหมายเรียกผู้ต้องหา
นี่เป็นการคุกคามดิฉันโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่?
พนักงานสอบสวนเป็นต้นทางของระบบยุติธรรม แต่พฤติกรรมดังกล่าวทำให้เกิดคำถามว่า พนักงานสอบสวนยอมเป็นเครื่องมือของนักการเมืองหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งที่มีอิทธิพล ที่จะใช้พนักงานสอบสวนเป็นเครื่องมือคุกคามประชาชนที่วิจารณ์หรือตรวจสอบนักการเมือง และองค์กรเหล่านั้นใช่หรือไม่?
เห็นได้จากการที่พนักงานสอบสวนไม่ได้ใช้วิจารณญานที่เป็นอิสระในการพิจารณาว่าข้อกล่าวหาใดต่อบุคคลใดเป็นกรณีที่เข้าข่ายการหมิ่นประมาทหรือไม่? สมควรออกหมายเรียกบุคคลนั้นเป็นผู้ต้องหาหรือไม่?
ขอให้เพื่อนมิตรลองเปรียบเทียบกรณีการร้องทุกข์กล่าวโทษที่ดิฉันเคยร้องเรียนผ่านพนักงานสอบสวนเมื่อปี2547 กรณีอดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก15ปีจากการรับสินบนบริษัทยาบริษัทหนึ่ง ในคดีนั้้นศาลฎีกานักการเมืองไม่สามารถเอาบริษัทยามาลงโทษพร้อมกับนักการเมือง แต่คำพิพากษามีความชัดเจนที่ตำรวจสามารถดำเนินการสั่งเรื่องฟ้องได้ ดิฉันได้ร้องทุกข์กล่าวโทษทั้งรัฐมนตรีที่ไม่ดำเนินคดีกับบริษัทยา และบริษัทยาที่ให้สินบนอดีตรัฐมนตรีต่อพนักงานสอบสวน แต่จากปี2547 จนถึงปัจจุบัน ไม่ปรากฎว่าพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการอย่างกระตือรือร้นที่จะแจ้งข้อกล่าวหาต่อทั้งรัฐมนตรีที่ละเว้น และบริษัทยาอย่างเอาจริงเอาจังเหมือนที่กำลังปฏิบัติต่อดิฉัน
ผ่านมาแล้ว 11ปี คดีที่ดิฉันร้องทุกข์กล่าวโทษในฐานะประชาชนที่ไม่มีอำนาจทุนและอำนาจทางการเมืองหนุนหลังอยู่ ไม่ได้รับติดตามอย่างกระตือรือร้นจากพนักงานสอบสวนในการนำผู้กระทำผิดมารับผิดแต่ประการใด
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะมีการปฏิรูปกระบวนการสอบสวนของตำรวจให้ปลอดพ้นจากการครอบงำของผู้มีอำนาจรัฐและอำนาจทุน เพื่อให้กระบวนการสอบสวนของตำรวจเป็นต้นทางของระบบยุติธรรมอย่างแท้จริง


ไม่มีความคิดเห็น: