PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แก้วสรร:เรียกเงินค่าข้าวใครว่าตู่รังแกปู

12102558 เรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว ...ใครว่า:“ตู่”รังแก“ปู” ?
โดย : แก้วสรร อติโพธิ

๑. “ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะมีคำสั่งทางปกครองให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าเสียหายในโครงการจำนำข้าว กำลังฟ้องเขาเป็นคดีอาญาอยู่ในศาลแล้วทำไมไม่รอศาล มาสั่งให้ใช้เงินทันทีเลยได้อย่างไร? ระบบการเมืองการปกครองทุกวันนี้ยังไม่ปกติ นี่คือเจตนาแจ้งชัดมุ่งกำจัดกันทางการเมืองใช่หรือไม่?”
@ ชวลิต วิชัยสุทธิ์ รักษาการรองเลขา พรรคเพื่อไทย

๒. “ คดีนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐบาลซึ่งดำเนินการตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ไม่ใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายในสถานการณ์ปกติ แต่เป็นการใช้อำนาจของนายกฯที่ยึดอำนาจกระทำต่อนายกฯที่ถูกยึดอำนาจ ควรใช้ช่องทางฟ้องศาลแพ่งตามปกติ ไม่ให้เกิดเสียงสะท้อนเรื่องการทำลายฝ่ายตรงกันข้ามทางการเมือง”
@ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.

ข้อความข้างต้นนี้ผลิตออกมา
เพื่อบิดเบือนการทำงานตามกฎหมายของรัฐบาลทั้งสิ้น

ในฐานะที่ผมได้ร่วมผลักดันยื่นข้อเรียกร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบเรื่องนี้มา 
ก็ขอชี้บ่งเหตุผลทางกฎหมายเพื่อชำระล้างความเข้าใจผิดๆ จากลมปากข้ารับใช้เผด็จการ (จากหีบเลือกตั้งที่คอร์รัปชั่น) 
ดังต่อไปนี้

1. รู้จักกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

๑. ถาม : ทำไมในปี ๒๕๓๙ ถึงต้องมีพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดทางละเมิด ของพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ เกิดขึ้นมาโดยเฉพาะ
ตอบ : เมื่อคนของรัฐไปปฏิบัติงานแล้วเกิดความเสียหายแก่รัฐ 
เช่นตำรวจไปยิงกับผู้ต้องหาค้ายาบ้าแล้วกระสุนพลาดไปถูกชาวบ้านตายจนรัฐต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้เขา 
หรือตำรวจหลับยามจนปืนถูกขโมยทั้งโรงพัก 
ทั้งหมดนี้ตำรวจต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้รัฐทั้งสิ้น 
เขาจึงมีกฎหมายมาจัดการให้รัฐใช้อำนาจปกครองออกคำสั่งให้ชดใช้เงินได้ 
ถ้าไม่ยอมชดใช้รัฐก็บังคับยึดทรัพย์ได้ด้วยตนเองเลย 
ถ้าตำรวจไม่ยอมเพราะเห็นว่าตนไม่ได้ประมาทร้ายแรง หรือค่าเสียหายมากเกินจริงก็ต้องฟ้องศาลปกครองให้ชี้ขาด โดยขอทุเลาการบังคับคดีไว้ก่อน

๒. ถาม : ถ้าเป็นลูกจ้างเอกชน ทำนายจ้างเสียหายอย่างนี้เหมือนกัน กฎหมายจะว่าอย่างไร
ตอบ : ก็เป็นผิดตามสัญญาจ้าง นายจ้างได้
แต่เอาความเสียหายไปฟ้องให้ศาลแพ่งตัดสินและบังคับคดีให้ ตนต่อไป 
นายจ้างจะไม่มีอำนาจสั่งและบังคับยึดทรัพย์ด้วยตนเองไม่ได้

๓. ถาม : แต่คดีก็ไปถึงศาลเหมือนกันอยู่ดี
ตอบ : ถ้าเป็นเอกชนต้องฟ้องศาลแพ่งและเสียค่าฤชาธรรมเนียม 
หากชนะคดีก็บังคับยึดทรัพย์ด้วยหมายศาล 
ถ้าเป็นรัฐ รัฐสั่งและยึดทรัพย์ได้เลย 
เอกชนได้แต่รีบไปอุทธรณ์ต่อศาลปกครองให้ตรวจสอบคำสั่งรัฐเท่านั้น 
คดีปกครองอย่างนี้ไม่มีใครเสียค่าฤชาธรรมเนียมตามวงเงินค่าเสียหาย
ไม่มีฝ่ายใดแบกหน้าที่นำสืบ 
ศาลปกครองไต่สวนความถูกต้องเองทั้งหมด

๔. ถาม : ยังงี้ถือว่ารัฐมีอภิสิทธิ์กว่าเอกชนไหมครับ 
คนของตนทำผิดอะไรก็บังคับเอาได้ตามชอบ 
ไปถึงศาลก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเหมือนนายจ้างฟ้องลูกจ้าง
ตอบ : คุณเข้าใจผิดมาก...กฎหมายนี้มีไว้เพื่อคุ้มครองสภาพการงานของรัฐเองครับ ระบุให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดเฉพาะกรณีประมาทเลินเล่อร้ายแรงเท่านั้น 
ระบุอย่างนี้เขาจะได้ทำงานกันโดยไม่ต้องเกร็งมากนัก
ค่าเสียหายก็ไม่ต้องใช้ทั้งหมด
ถ้าระบบของรัฐมันมีส่วนบกพร่องด้วย ก็ใช้เพียงบางส่วน 
คนที่ร่วมกระทำผิดก็เฉลี่ยกันรับผิดไป ไม่ใช่ลูกหนี้ร่วมที่ฟ้องใครให้รับผิดหมดก็ได้ แล้วไปไล่เบี้ยกันเอง 
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นหลักที่มีขึ้นมาตามเหตุผลตามสภาพราชการ ไม่ใช่ถืออภิสิทธิ์อะไร

๕. ถาม : กระบวนการตรวจสอบความรับผิดเป็นอย่างไรครับ
ตอบ : ราชการมันเป็นงานบริหารที่ใหญ่มาก ต้องวางระบบการตรวจสอบไว้โดยเฉพาะ 
กำหนดให้ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ต้องตรวจสอบโดยพลัน 
พอตรวจสอบมีความเห็นแล้วก็ยังสั่งเลยไม่ได้ ต้องให้กรมบัญชีกลางตรวจทานความถูกต้องอีกทีหนึ่ง 
อายุความแทนที่จะเป็น ๑ ปีนับแต่ทราบความเสียหายเหมือนระบบกฎหมายเอกชน ก็กำหนดให้รัฐมากกว่า คือ ๒ ปี 
นี่ก็เป็นความจำเป็นตามสภาพราชการ ไม่ใช่อภิสิทธิ์อะไรอีกเหมือนกัน

2. การบิดเบือนของข้ารับใช้

๑. ถาม : เรื่องจำนำข้าวในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ต่างจากโครงการประกันราคาข้าวของรัฐบาลก่อนๆอย่างไร
ตอบ : มันไม่ใช่ประกันราคา แต่เป็นการที่รัฐเข้าไปผูกขาดค้าข้าวเลย 
อย่างนี้มันอยู่นอกแนวนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ 
เมื่อขาดทุนก็ต้องถือเป็น “ความเสียหาย” ไม่ใช่ “ค่าใช้จ่าย”
ในการปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่ 
จะมาพูดแบบนายณัฐวุฒิว่าเป็นนโยบายที่ผ่านสภาแล้วต้องมีเอกสิทธิ์ถือเป็นผิดไม่ได้เลยนั้น
ไม่ถูกต้อง แม้จะชนะเลือกตั้ง แม้จะผ่านสภา 
แต่ถ้าเป็นนโยบายเถื่อนนอกรัฐธรรมนูญและขาดทุน ก็ต้องถือเป็นความเสียหาย 
ที่คนรับผิดชอบต้องตรวจสอบความรับผิดและใช้ค่าเสียหายเสมอ

๒. ถาม : กฎหมายกำหนดให้ใครมีหน้าที่ตรวจสอบ ตั้งคณะกรรมการรายงานผลให้ตนสั่งการ
ตอบ : กรณีนี้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเป็นระดับ รัฐมนตรี 
กฎหมายกำหนดให้ นายกรัฐมนตรีต้องสั่งการโดยพลัน 
ถ้าไม่สั่งการก็โดน ๑๕๗ ถ้าปล่อยจนขาดอายุความ 
นายกฯตู่ก็ต้องใช้เงิน เป็นแสนล้านแทนยิ่งลักษณ์

๓. ถาม : เขาบอกว่า นายกฯตู่ทำไปโดยมุ่งกำจัดทางการเมือง
เป็นเรื่องไม่ชอบธรรมที่นายกฯยึดอำนาจ กระทำต่อนายกฯที่ถูกยึดอำนาจ
ตอบ : นี่เป็นการทำหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ไม่ใช่การใช้อำนาจรัฐประหาร เป็นหน้าที่ที่ต้องทำไม่ทำนายกฯตู่ก็ติดคุกเองใช้ค่าเสียหายเอง 
จะเป็นนายกฯมาจากเลือกตั้งหรือรัฐประหารก็ต้องทำหน้าที่นี้ทั้งนั้น 
ขี้ข้าเหล่านี้จะไปบิดเบือนให้เป็นเรื่องการเมืองไม่ได้

๔. ถามเขาอาจเป็นเสรีชนที่วิพากษ์โดยสุจริต ไม่ได้นึกรับใช้เจ้านายชินวัตรเลย
ก็ได้นะครับอาจารย์
ตอบ : ถ้ายังงั้นก็เป็นเสรีชนที่ไม่รู้จักผิดรู้จักถูก ไม่รู้จักการทำหน้าที่ตามกฎหมาย โลกในสายตาคนพวกนี้มีแต่การต่อสู้ทางการเมืองระหว่างพวกเขา พวกเราเท่านั้น นายณัฐวุฒินั่นประกาศชวนคนเผาเมืองกลางบ้านเมืองมาแล้ว 
ส่วนนายชวลิตนั่นก็เป็นแกนนำคนสำคัญที่ผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรม 
ในกมธ.แล้วช่วยกันดันให้ลักหลับตอน ตี ๔ จนขัดแย้งกันทั้งบ้านทั้งเมืองมาแล้ว

๕. ถาม : เขาบอกอีกว่า ฟ้องปูต่อศาลอาญาแล้ว
ทำไมไม่รอผลในคดีอาญา มาสั่งการให้รับผิดทางละเมิดเลยได้หรือ?
ตอบ : รอไม่ได้...อายุความละเมิดมันเดินแล้ว เดินตลอดเวลาด้วย
จะให้ นายกฯตู่ รอผลคดีอาญาจนขาดอายุความได้อย่างไร 
ยิ่งไปกว่านั้นมูลคดีละเมิดนั้นก็เป็นเรื่องประมาทเลินเล่อร้ายแรงเล็งเห็นความชิบหายเป็นแสนล้านงอกเงยทุกวี่ทุกวัน แล้วไม่ยอมหยุดหรือปรับแก้โครงการ 
มันไม่ใช่เรื่องทุจริตเหมือนในคดีอาญา แล้วจะให้ไปรอกันทำไม 
คุณเห็นว่า ยิ่งลักษณ์ไม่ผิด ก็อุทธรณ์ต่อศาลปกครองไปสิครับ
จะมาห้ามเขาทำงานจนตัวเขาติดคุกหรือคดีขาดอายุความได้อย่างไร 
ถ้าอยากให้รอผลคดีอาญาก็ร้องขอต่อศาลในคดปกครองสิครับ

มาพูดเหมาพูดสาดเสียให้รัฐบาลผิดไปหมดทุกอย่างอย่างนี้ได้อย่างไร 
คนฟังเขามีความคิดทั้งนั้น นี่ไม่ใช่เวที นปช.นะคุณ

ถาม : พอออกมาสาดกันอย่างนี้ ..
.อาจารย์กลัวนายกฯประยุทธ์ จะมืออ่อนตีนอ่อนไหม
ตอบ : คดีนี้เป็นจุดชี้ขาดที่สำคัญมาก ว่า 
ท่านจะรู้จักแยกออกหรือไม่ระหว่างจินตนาการที่ท่านมุ่งมั่นเอาเองว่า
จะเป็นกรรมการปรองดอง กับเรื่องจริงๆที่เดินมาเป็นรัฐบาลแล้ว 
ต้องทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองชี้ถูกผิดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ 
ประการหลังนี้จะผิดถูกอย่างไร 
ท่านก็ต้องชี้ไปตามเหตุผล ไม่ผิดก็อธิบายมา ผิดก็อธิบายมา

ไม่ต้องกลัวเสียงสะท้อนจากใครทั้งสิ้น โดยเฉพาะคนอย่างนายณัฐวุฒิ

..................................

ไม่มีความคิดเห็น: