PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2558

"ตัดสิทธิตลอดชีวิต สะท้านการเมือง

12/10/58

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การเดินหน้าจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเฟสสองได้เริ่มต้นขึ้นมาอย่างเป็นทางการแล้ว ภายหลัง มีชัย ฤชุพันธุ์  อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการร่าง
รัฐธรรมนูญ (กรธ.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

เวลาร่วมๆ สัปดาห์ที่เพิ่งผ่านไป อาจจะยังไม่เห็นเค้าโครงของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่าไหร่นัก แต่ถือว่ามีความคืบหน้าอยู่พอสมควร

การทำงานของ กรธ.เริ่มต้นจากการพิจารณากรอบการร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 35ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 จำนวน 10 ข้อ และกรอบการร่างรัฐธรรมนูญ ตามความมุ่งหมายของ
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 5 ข้อ ซึ่ง กรธ.ได้พิจารณาเสร็จสิ้นหมดแล้ว

กระบวนการทำงานที่เริ่มจากขั้นตอนดังกล่าวเป็นความต้องการของประธาน กรธ.ที่อยากให้ กรธ.มีโอกาสแสดงความคิดเห็นว่าแต่ละคนมองกรอบการทำงานดังกล่าวอย่างไร รวมไปถึงแสดงจุดมุ่งหมายส่วนตัวว่าอยากให้ประเทศไทยในอนาคตมีรูปร่างหน้าตาออกมาเป็นแบบไหน จากนั้นฝ่ายเลขานุการ กรธ.จะนำความคิดเห็นทั้งหมดไปประมวลเพื่อจัดทำเป็นบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราต่อไป

ทั้งนี้ กรธ.ได้พิจารณาตามขั้นตอนข้างต้นเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งมีความน่าสนใจตรงที่ กรธ.นำประเด็นที่ว่าด้วยการกลั่นกรองบุคคลเข้าสู่อำนาจมาพิจารณาอย่างจริงจังด้วย

มาตรา 35 (4) ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวบัญญัติว่าการจัดทําร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมเรื่องกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคําพิพากษาหรือคําสั่งที่ชอบด้วย
กฎหมายว่ากระทําการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทําการอันทําให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดํารงตําแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด

โดยมีรายงานว่า กรธ.เห็นตรงกันแล้วว่าในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรมีมาตรการจัดการกับกระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองให้มีความโปร่งใสมากที่สุด ซึ่งจะเน้นไปที่ตัวบุคคลเป็นหลัก

สัญญาณกับการปฏิรูปการเมืองตั้งแต่ระดับตัวบุคคลเริ่มชัดเจนและแรงมากขึ้นด้วยท่าทีของมีชัยเอง

ข้าราชการตัวเล็กๆ ไปโกงข้อสอบยังถูกห้ามไม่ให้เป็นข้าราชการตลอดชีวิต นักศึกษาที่โกงการสอบก็ไม่มีทางได้เข้ามาในมหาวิทยาลัยได้เลย แล้วทำไมคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ถ้าผิด

ต่อหน้าที่กลับบอกว่า 5 ปีผ่านไปแล้วเอามาเถอะ เบื้องหลังของเหตุผลมันคืออะไร ผมก็พร้อมรับฟังและช่วยยืนยันได้หรือไม่ว่าจะไม่มีการทุจริตอีก

ตรงนี้ กรธ.กำลังคุยกันอยู่ว่าเรื่องบางเรื่องอาจจำเป็นต้องให้มีผลย้อนหลัง คนที่จะมาปกครองต้องมีความโปร่งใสทุกด้านเพื่อให้ประชาชนสามารถยกมือไหว้ได้อย่างสนิทใจท่าทีที่ออกมาจากประธาน
กรธ.

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวอาจไม่ใช่ประเด็นใหม่ในทางการเมืองเสียทีเดียว เนื่องจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดที่แล้ว ก็ได้เขียนร่างรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะของการห้ามนักการเมืองที่มีรอยตำหนิกลับสู่อำนาจอีก แต่ไม่ได้ระบุชัดว่าจะให้มีย้อนหลังหรือไม่

เวลานั้นถึง กมธ.ยกร่างฯ จะไม่ระบุชัดในเรื่องการมีผลย้อนหลัง แต่มีผลให้เกิดแรงเสียดทานทางการเมืองอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการที่ กมธ.ยกร่างฯ ถูกกล่าวหาว่าจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

มาครั้งนี้เมื่อดูจากที่ประธาน กรธ.ลั่นวาจาเอาไว้พอจะเริ่มเดาออกว่ารอบนี้ เอาจริง ซึ่งน่าจะมีความเป็นไปได้อย่างน้อย 2 รูปแบบ ระหว่าง สุดซอย กับ ไม่สุดซอย 

สุดซอยในที่นี้หมายถึงการตัดสิทธิกลุ่มบุคคลทุกกลุ่มย้อนหลังตลอดชีวิตไม่ว่าจะเป็น "กลุ่มบ้านเลขที่ 111-109"ที่ต้องโทษเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคการเมือง เพราะมีผู้บริหารพรรคทุจริตการเลือกตั้ง"กลุ่มอดีตนักการเมืองที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งให้ใบแดง" ต่อด้วย "กลุ่มบุคคลที่ถูกถอดถอน" ทั้ง"ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"อดีตนายกรัฐมนตรี "บุญทรง เตริยาภิรมย์"อดีต รมว.พาณิชย์ ในคดีโครงการรับจำนำข้าว เช่นเดียวกับ "กลุ่มคนที่ศาลพิพากษาว่ามีความผิดฐานทุจริต" เช่น ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นต้น

ขณะที่รูปแบบ "ไม่สุดซอย" มีแนวโน้มที่อาจจะออกมาใน 2 ทิศทางด้วยกัน

ทิศทางที่หนึ่ง คือ ตัดสิทธิย้อนหลังตลอดชีวิต เฉพาะกลุ่มบุคคลที่ถูกใบแดง คดีถอดถอน และคดีทุจริต โดยปล่อยให้พวกกลุ่มอดีตกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีสิทธิกลับมาสู่ตำแหน่งทางการเมืองได้ ภายใต้เหตุผลที่ว่าในเมื่อได้รับโทษการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งครบ 5 ปีแล้วก็ควรได้สิทธิดังกล่าวคื

ส่วนทิศทางที่สอง คือ การระบุถึงคุณสมบัติของ สส.ที่ต้องไม่เป็นบุคคลที่เคยถูกถอดถอน ไม่เคยต้องโทษทุจริตเลือกตั้ง และต้องไม่เคยถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ไว้ในรัฐธรรมนูญให้หมด เพียงแต่ไม่ให้มีผลย้อนหลัง

ดังนั้น อำนาจการเขียนรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ในมือของ กรธ.ทั้ง 21 คน ไม่ต่างอะไรกับการเป็นตัวกำหนดทิศทางการเมืองในวันข้างหน้า ถ้าเขียนได้ดีและจัดวางเนื้อหาได้อย่างสมดุลและเหมาะสม อุณหภูมิของประเทศก็คงไม่สูง แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นเท่ากับว่าประเทศกำลังเข้าสู่สถานการณ์ของการเผชิญหน้าอีกครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น: