PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

จากฆ่า ‘คอมมิวนิสต์ไม่บาป’ ถึง ‘พระตาย 1 เผา 1 มัสยิด’

1พฤศจิกายน 2558 มติชน

สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา

เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักในโลกโซเชียล   เมื่อพระรูปหนึ่ง  ผู้เคยออกมาคัดค้านภาพยนตร์เรื่อง “อาบัติ” ด้วยตรรกะที่ว่า “ภาพยนตร์สื่อความหมายของอาบัติไม่ตรงตามพระไตรปิฎก อาจทำให้คนดูเข้าใจผิดต่อพระธรรมวินัยได้” ได้ผุดไอเดีย“พระตาย 1 เผา 1 มัสยิด” เพื่อตอบโต้ความรุนแรงต่อพระสงฆ์ในสามจังหวัดภาคใต้ ด้วยข้อเสนอ(ตามที่ปรากฏเป็นข่าว) ที่ว่า


"ถ้าพระใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกระเบิดหรือถูกยิงตาย 1 รูป ด้วยน้ำมือของโจรก่อการร้ายมลายู ต้องแลกกับการไปเผามัสยิดทิ้งไป 1 มัสยิด โดยเริ่มจากภาคเหนือลงมาเรื่อยๆ แล้วก็ขับไล่ลัทธินั้นออกไปจากพื้นที่ทุกวิถีทางจนกว่าจะไม่เหลือคนที่นับถือลัทธินั่นเลยแม้แต่คนเดียวในพื้นที่นั่นๆและต่อต้านการเข้ามาของลัทธินี้ทุกอย่างในจังหวัดนั้นๆโดยกระทำการต่อต้านทุกวิถีทาง"
น่าประหลาดตรงที่ข้อเสนอดังกล่าว กลับไม่ได้ถูกต่อต้านอย่างหนักจากพระสงฆ์, นักวิชาการพุทธศาสนา, องค์กรพุทธต่างๆ เหมือนที่รวมพลังกันออกมาต่อต้านภาพยนตร์เรื่องอาบัติ 


หากย้อนประวัติศาสตร์ hate speech ของพระไปจนถึงวาทะ “ฆ่าคอมมิวนิสต์ได้บุญมากกว่าบาป” หรือ “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ของกิตติวุฑโฒภิกขุ ช่วงประวัติศาสตร์ 6 ตุลา เราไม่พบว่าองค์กรปกครองสงฆ์, นักวิชาการพุทธศาสนา, องค์กรพุทธต่างๆ เคยออกมาท้วงติง เรียกร้อง หรือดำเนินการใดๆ เพื่อให้พระที่ออกมาแสดงความเห็นสนับสนุนความรุนแรงเช่นนั้นต้องแสดงรับผิดชอบใดๆ (เช่นออกมา “ขอโทษประชาชน” เป็นต้น)

ผิดกับองค์กรคริสต์ศาสนาที่ในระยะหลัง เรามักเห็นการออกมาขอโทษเกี่ยวกับความผิดในอดีต (เช่นที่เคยกระทำกับกาลิเลโอ) หรือสั่งแบนการเทศนาของบาทหลวงที่ออกมาพูดในเชิงไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็กที่ถูกนักบวชล่วงละเมิดทางเพศเป็นต้น


สำหรับองค์กรสงฆ์และองค์กรพุทธต่างๆในไทย ไม่ว่าจะเกิดกรณีรัฐกระทำรุนแรงต่อพระสงฆ์ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่นกรณี “การปฏิวัติชายจีวร” ที่พระพม่าถูกฆ่าเป็นจำนวนมาก หรือกรณีที่พระในประเทศเพื่อนบ้านและพระไทยแสดงความเห็น แสดงออกในเชิงสนับสนุนความรุนแรง องค์กรสงฆ์ไทยและองค์กรพุทธต่างๆ เลือกที่จะ “วางอุเบกขา” ตลอดมา

ที่น่าสนใจก็คือ ไม่ว่าพระที่ออกมาพูดว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ได้บุญมากกว่าบาป” “ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน” หรือ “พระตาย 1 เผา 1 มัสยิด” ล้วนเป็นพระที่มีการศึกษาดี มีชื่อเสียง เป็นเซเลบ อยู่ในวัดใหญ่ระดับ “พระอารามหลวง” มีประชาชนศรัทธาเลื่อมใสจำนวนมากทั้งนั้น

โดยเฉพาะจุดยืนสำคัญอย่างหนึ่งของพระเจ้าของวาทกรรมเช่นนั้นคือการปกป้องอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมพระเซเลบบางรูปถึงขนาดกล่าวว่า “ค่านิยม 12 ประการ คล้ายธรรมะของพระพุทธเจ้า” และโดยที่พระที่พูดเช่นนี้มีการศึกษาระดับสูงทางด้านปริยัติธรรมและทางโลก เป็นนักเทศนาที่มีชื่อเสียง คำพูดทำนองนี้ในสถานการณ์ทางการเมือง/ทางศาสนาในช่วงนั้นๆ จึงไม่ใช่คำพูดของผู้ไม่รู้ หรือไร้เดียงสาทางศาสนาและทางการเมือง

สิ่งที่เรามักพูดกันตลอดเวลาว่า ต้องแยก “บุคคล” และ “องค์กรทางศาสนา” ออกจาก “ตัวศาสนา” หรือ “หลักคำสอนที่แท้” นั้น แม้จะฟังดูมีเหตุผล แต่ในทางความเป็นจริงเราสามารถแยกขาดจากกันอย่างสิ้นเชิงได้จริงๆหรือ เราพูดแบบนั้นจากการศึกษาวิจัยจนค้นพบคำตอบที่ชัดเจนแล้วจริงๆ หรือว่าตัวศาสนาหรือหลักคำสอนไม่มีส่วนใดๆ ในการผลิตสร้างบุคลิกภาพแบบนิยมเผด็จการ, ความรุนแรง, ทัศนคติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเสรีภาพ ความเสมอภาค สิทธิมนุษยชนขึ้นในตัวบุคคลทางศาสนา และไม่มีส่วนใดๆ ในการผลิตสร้างองค์กรศาสนาที่ยึดติดกับสถานะ อำนาจ ผลประโยชน์จากรัฐเลย

หากอ่านบทความ “เปิดทองหลังพระ” ของมุกหอม วงษ์เทศในวารสาร “อ่าน” (ฉบับ “อ่าน-บอดใบ้”) ที่วิเคราะห์พระไตรปิฎกและคัมภีร์อื่นๆ จะเห็นว่าวาทกรรมสนุบสนุนความรุนแรงเช่นฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป, การประจบผู้มีอำนาจ, การมองคนไม่เท่ากัน, การเอาเป็นเอาตายกับเรื่องเล็กๆ ยิบย่อยที่เห็นว่า “กระทบศรัทธาประชาชน” ล้วนเป็นวิถีพุทธเถรวาทที่มีมานาน อย่างเช่นที่ปรากฏในคัมภีร์ทีปวงศ์, มหาวงศ์, ชินกาลมาลีปกรณ์ เป็นต้น คัมภีร์สำคัญเหล่านั้นมีเนื้อหาให้ความชอบธรรมกับสงคราม การฆ่าชาวทมิฬที่เป็นพวกมิจฉาทิฐิ กษัตริย์ทุฏฐคามินีอภัยแห่งศรีลังกาทำสงครามฆ่าคนมหาศาล เมื่อหันมาบำรุงพุทธศาสนา ก็จะได้รับการการันตีจาก “พระอรหันต์” ว่าจะได้ขึ้นสวรรค์ ไปเกิดเป็นสาวกของพระศรีอาริยเมตไตรย์ในอนาคต

ที่ว่าพุทธศาสนาเถรวาท “อยู่เหนือการเมือง” เป็นศาสนาแห่งสันติภาพ ไม่สนับสนุนสงครามและความรุนแรง จึงขัดแย้งกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และเรื่องราวในคัมภีร์ รวมทั้งขัดกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองและศาสนาที่เกิดขึ้นในศรีลังกาพม่าไทย เป็นต้น ซึ่งมักจะมีพระสงฆ์ออกมาแสดงความเห็นสนับสนุนความรุนแรง และเป็นแกนนำต่อสู้ทางการเมืองสนับสนุนอุดมการณ์ชาตินิยม อนุรักษ์นิยมเสมอมา

แปลว่า ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาก็เหมือนศาสนาอื่นๆ ที่มีความรุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชนในนามศาสนามาก่อนกันทั้งนั้น ไม่ว่าประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสต์ หรืออิสลาม การเกิดขึ้นของความคิดศีลธรรมสมัยใหม่ (modern morality) ที่ถือว่าศีลธรรมต้องอยู่บนฐานของการเคารพเสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์ ก็คือการหลุดออกมาจากอิทธิพลครอบงำของความเชื่อแบบศาสนาในมิติที่สนับสนุนอำนาจเผด็จการและความรุนแรง มาตรฐานขั้นต่ำสุดของศีลธรรมสมัยใหม่คือการ “เคารพสิทธิมนุษยชน” ซึ่งแม้ในปัจจุบันก็ยังเป็นมาตรฐานที่ท้าทายว่า ศาสนาต่างๆ จะสามารถ “สอบผ่าน” มาตรฐานของศีลธรรมขั้นต่ำสุดนี้ได้หรือไม่

ถ้าศาสนาไม่สามารถสอบผ่านมาตรฐานของศีลธรรมขั้นต่ำสุดของโลกสมัยใหม่การอ้างว่าศาสนามีบุญคุณต่อสังคมให้รากฐานศีลธรรมและความสงบสุขแก่สังคม ก็ย่อมเป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอย 

ปรากฏการณ์ที่บุคคลที่มีความรู้หลักศาสนาเป็นอย่างดีแสดงออกในทางสนับสนุนความรุนแรง การละเมิดเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนในลักษณะต่างๆ อยู่บ่อยๆ และสถานะ อำนาจขององค์กรศาสนาเองก็ขัดกับหลักเสรีภาพ ความเสมอภาคตามมาตรฐานของระบบประชาธิปไตย คือปรากฏการณ์ที่ชี้ว่า ศาสนาสอบไม่ผ่านมาตรฐานขั้นต่ำสุดของศีลธรรมสมัยใหม่

เมื่อศาสนา (ศาสนิก,องค์กรศาสนา,การประยุกต์คำสอน,แนวโน้มพฤติกรรมและการแสดงออกในนามศาสนา) สอบไม่ผ่านมาตรฐานขั้นต่ำสุดของศีลธรรมสมัยใหม่ คือไม่สามารถเคารพหรือปฏิบัติอยู่ในกรอบของหลักสิทธิมนุษยชนได้ มิติด้านบวกของศาสนาต่างๆ เช่นคำสอนของพระศาสดาเรื่องความรัก การให้อภัย ปัญญา กรุณา ความเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ฯลฯ ก็ไม่มีความหมายหรือไม่มีพลังใดๆ ต่อการส่งเสริมขันติธรรม,การมีชีวิตที่ดี, สังคมที่ดีในโลกสมัยใหม่ แม้แต่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและเป็นมิตรระหว่างศาสนาต่างๆ ก็เป็นไปไม่ได้

ศาสนาก็จะกลายเป็นอุปสรรคของเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสันติภาพไปอีกนาน! 

ไม่มีความคิดเห็น: