PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เปิดตัวรถเกราะไทยทำ

DTI กลาโหม ไทย จะเปิดตัว “ยานเกราะล้อยาง 8x8” สายพันธุ์ไทยคันแรก Black Widow Spider
พร้อมยุทโธปกรณ์ ในงาน Defense & Security 2015
สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI) เผยโฉมผลงานวิจัย “ยานเกราะล้อยาง 8x8” รุ่น Black Widow Spider ที่ผลิตขึ้นเองคันแรกของประเทศ โดยถือเป็นก้าวสำคัญสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เกิดความเข้มแข็งมีศักยภาพเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเอง พร้อมนำทัพอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ โชว์ฝีมือนักวิจัยไทย ในงาน Defense & Security 2015
พลเอกสมพงศ์ มุกดาสกุล ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI) เปิดเผยว่า การจัดงานแสดงผลงานวิจัยและพัฒนาในงานนิทรรศการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (Defense & Security 2015) ครั้งนี้ DTI ได้ร่วมกับกระทรวงกลาโหมและภาคเอกชนในการเผยแพร่และจัดแสดงผลงานวิจัยด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้กับหน่วยผู้ใช้และผู้เข้าร่วมงาน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้ชมศักยภาพ เกิดการแลกเปลี่ยนความคิด องค์ความรู้และประสบการณ์ในการวิจัย กับผู้เข้าร่วมชมงาน ซึ่งจะได้นำไปปรับใช้กับการปฏิบัติงานต่อไป
ประสิทธิภาพของยานเกราะล้อยาง DTI 8x8 นี้เป็นไปตามมาตรฐานทางทหารของกลุ่มประเทศนาโต้ (NATO STANAG) ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลก
สำหรับในปีนี้ DTI มีความภูมิใจในการนำเสนอผลงานที่เป็นนวัตกรรมชิ้นสำคัญคือ “ยานเกราะล้อยาง DT 8x8” คันแรกของเมืองไทย ชื่อรุ่นBlack Widow Spider ที่พัฒนาโดยนักวิจัยไทยของ DTI บูรณาการความร่วมมือกับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC และภาคเอกชนทีความเชี่ยวชาญในด้านนิรภัยยานยนต์ ทำให้ เกิดต้นแบบยานเกราะนี้ขึ้นมา โดยใช้เทคโนโลยีของตัวเองมากกว่า 60% และใช้ระยะเวลาเพียง 2 ปี ซึ่งถือเป็นก้าวกระโดดสำคัญของโครงการพัฒนายุทธยานยนต์เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี
โดยที่คุณสมบัติสำคัญของยานเกราะล้อยาง DTI 8x8 คือ สามารถขับเคลื่อนได้ทั้งบนบกและในน้ำ รองรับผู้ปฏิบัติงานได้ 12 นาย ติดตั้งป้อมปืนได้ถึงขนาด 30 มม. มีกล้องตรวจการณ์รอบคันรถจึงปฏิบัติภารกิจได้หลากหลายรูปแบบ เช่น เป็นยานบัญชาการ มีตัวถังเกราะได้มาตรฐานนาโต้
STANAG 4569 ระดับ 4 คือ ทนทานต่อกระสุนปืนเล็กทุกขนาด ทนต่อกระสุนปืนกลหนักขนาด 14.5 x 114 มม. หรือ 0.57 คาลิเบอร์ ที่ยิงระยะ 200 เมตร และยังทนต่อแรงระเบิดของกระสุนปืนใหญ่ขนาด 155 มม.ที่ตกระยะ 30 เมตรอีกด้วย
อีกทั้งยังมีสมรรถนะสูงที่เหมาะสมต่อการ ปฏิบัติงานในสภาพภูมิประเทศที่แตกต่างได้เป็นอย่างดียิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการไต่ลาดชันได้ไม่น้อยกว่า 60% การไต่ลาดเอียงได้ไม่น้อยกว่า 30%
ปัจจุบันอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยถือว่ามีความรุดหน้าไปมาก โดย DTI ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีความสามารถและมีความตั้งใจ ในการพัฒนาและผลักดันให้เกิดการวิจัยและสร้างยุทโธปกรณ์ของไทยให้กับกองทัพ ซึ่งเมื่อเกิดความเข้มแข็งแล้วในอนาคตก็จะมีโอกาสในการร่วมมือพัฒนาด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศระหว่างชาติ ในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน
“ช่วงปี 2558 - 2559 DTI ซึ่งเป็นหน่วยงานด้าน R & D อาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองทัพไทย ได้สร้างผลงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศไปแล้วกว่า 20โครงการ โดยหลายโครงการที่นำมาจัดแสดงนั้นได้มีการส่งมอบให้กองทัพไปใช้งานแล้ว ซึ่งต้องขอบคุณหน่วยผู้ใช้ที่ให้การสนับสนุนและร่วมผลักดันอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ สะท้อนได้ว่าDTI กำลังพัฒนาไปถูกทาง สามารถสร้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เติบโต ได้สร้างประโยชน์ ต่อภาคเศรษฐกิจ นำรายได้เข้าสู่ประเทศและสร้างงานให้แก่ประชาชนได้เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมประเภทอื่น”
นอกจากนี้ ภายในงาน DTI ยังมีผลงานพัฒนาอื่น ๆ ที่นำมาจัดแสดงอีกมากมายเช่น ระบบอากาศยาน ไร้คนขับ ระบบจำลองยุทธ์ จรวดขนาด 122 มม.
ความพิเศษอีกอย่างคือการแสดงแบบจำลองของรถสายพานType 85 ที่ติดตั้งแท่นยิงจรวดขนาด 122 มม. เป็นครั้งแรกที่นี่อีกด้วย
สำหรับงาน Defense & Security 2015 เป็นงานแสดงอาวุธ ยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีทางด้านการรักษาความปลอดภัย หัวใจสำคัญของงานก็คือการนำผู้แทนด้านอาวุธชั้นนำจากประเทศต่าง ๆ เกือบ 100 บริษัท มาจัดแสดงให้หน่วยงานทางด้านการทหารได้ชมเทคโนโลยี สมรรถนะ ของอุปกรณ์แต่ละชนิดที่จะนำมาใช้งานด้านรักษาความปลอดภัย ป้องกันประเทศของแต่ละประเทศกัน ซึ่งปีนี้จัดงานภายใต้แนวคิด “The Power of Partnership” ให้น้ำหนักกับการร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนาวิจัยงานด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ เทคโนโลยีป้องกันประเทศ
นวัตกรรมด้านยุทโธปกรณ์ที่ DTI จัดแสดง มีดังนี้
1.ยานเกราะล้อยาง DTI 8x8 (Black Widow Spider)ถือเป็นกำลังหลักสำคัญของการรบภาคพื้นดิน ตอบสนองภารกิจที่หลากหลาย อาทิ ลำเลียงพล ยิงสนับสนุน และต่อสู้รถถัง ระบบขับเคลื่อนแบบ 8x8 และช่วงล่าง ควบคุมการทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ช่วยอำนวยความสะดวก และให้ความแม่นยำในการขับเคลื่อน ป้องกันกำลังพลภายในรถ ด้วยมาตรฐาน STANAG 4569 ระดับ 4 ไต่ลาดชันได้มากกว่า 60% ไต่ลาดเอียงได้มากกว่า 30% ลุยน้ำลึกได้ ไม่น้อยกว่า 0.8 เมตร : ข้ามสิ่งกีดขวาง 0.5 เมตร กล้อง EO (Electro Optical) เพิ่มความตระหนักรู้ในสถานการณ์ทั้งในเวลา กลางวันและกลางคืน
2.อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle:UAV) สามารถนำไปใช้งานด้านพลเรือนได้และเป็นที่นิยมมาก ไม่ว่าจะเป็นการบินในด้านการเกษตร เช่น การฉีดพ่นยาฆ่าแมลง การตรวจแปลงเกษตรที่มีบริเวณกว้าง การบินเพื่อการอนุรักษ์ การสำรวจไฟป่า การสำรวจการทำลายป่าไม้ ซึ่งมีข้อดีที่หลากหลาย ไมว่าจะเป็นการลดความเสี่ยงภัยของมนุษย์ การใช้งานในระยะเวลาที่ยาวนาน การควบคุมโดยระยะไกล การประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ฯลฯ
โดยรุ่นที่นำมาจัดแสดง มีดังนี้ 1) อากาศยานไร้คนขับแบบปีกนิ่ง 2)อากาศยานไร้คนขับแบบขึ้น-ลงทางดิ่ง 3) อากาศยานไร้คนขับ แบบ Medium Range Tactical 4)อากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก 5)อากาศยานไร้คนขับแบบ Multi Rotor
3.ระบบจำลองยุทธ์ (UAV Simulator) ระบบลำลองยุทธ์เพื่อการฝึกนักบินภายนอกที่จะทำการบินกับอากาศยาน ไร้คนขับหรือ UAV โดยระบบจะจำลองท่าทางการบิน รวมถึงสภาพแวดล้อม และสภาพอากาศที่เหมาะสมและอ้างอิง จากภูมิประเทศจริงของประเทศไทย เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกคุ้นเคยกับสภาวะในการปฏิบัติการบินที่สมจริง ก่อนที่จะทำการบินกับอากาศยานไร้คนขับจริง ซึ่งจะทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่าย เพิ่มความปลอดภัย และความพร้อมในการปฏิบัติการของนักบินและเจ้าหน้าที่
4.จรวดขนาด 122 ม.ม. สำหรับฝึก D10A โครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบท่อรองในจรวดขนาด 122 ม.ม. สำหรับฝึกยิง สาธิตระบบจรวดหลายลำกล้อง DTI-1 ลักษณะการยิงแบบยิงเป็นชุด หรือยิงทีละนัด ระยะยิงใกล้สุด 5 กม. ความยาวลำตัวจรวด 2,520 มม. น้ำหนักจรวด 70 กก. น้ำหนักหัวรบ 20 กก.เป็นชนิดระเบิด กระทบแตกหรือชนิดควัน
5.รถสายพาน Type 85 รถสายพาน Type 85 เป็นรถสายพานลำเลียงพลที่ผลิตในประเทศจีน ติดตั้งจรวดหลาย ลำกล้องขนาด 130 มม. ภารกิจเพื่อใช้ยิงสนับสนุนและยิงทำลายเป็นพื้นที่ อย่างไรก็ตาม จรวดหลายลำกล้องขนาด 130 มม. และมีระยะยิงสั้นเพียง 10 กม. ซึ่งทำให้เกิดข้อจำกัดในการปฏิบัติภารกิจ กองทัพบกจึงมอบหมายให้ DTI ทำการพัฒนาจรวดขนาด 122 มม. ให้สามารถติดตั้งใช้งานกับรถสายพาน Type 85 ได้ และเพิ่มระยะยิงสูงสุดที่ 40 กม ซึ่งช่วยประหยัดงบประมาณและสะดวกในการส่งกำลังบำรุง
6. กระสุนขนาด 30 มม. เป็นการศึกษา วิจัย และพัฒนาการออกแบบและกระบวนการผลิตกระสุนขนาด 30 ม.ที่จำเป็นจะต้องใช้งานในหลายหน่วยงาน แต่ประเทศไทยยังไม่มีศักยภาพในการผลิตเพื่อใช้เองในประเทศ ทำให้ ต้องจัดซื้อกระสุนจากต่างประเทศ ซึ่งเมื่อโครงการสำเร็จจะทำให้สามารถผลิตกระสุนขนาด 30 มม. ในเชิงพาณิชย์ ช่วยลดงบประมาณในการจัดหา และเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย

ไม่มีความคิดเห็น: